วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2562


พระสงฆ์กับประชาธิปไตยและสิทธิที่หายไป
พระชาย วรธัมโม
คมชัดลึก อังคาร 9 เมษายน 2562





ในขณะที่หลายคนตื่นเต้นกับการได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันมีบุคคลอย่างน้อยสามประเภทที่ถึงแม้จะอายุ 18 ปีขึ้นไปก็ไม่มีสิทธิ์ไปเลือกตั้ง นั่นก็คือ พระภิกษุ สามเณร และแม่ชี ทั้งนี้อาจจะรวมไปถึงภิกษุณีด้วยก็ได้


การที่นักบวชในพุทธศาสนาทั้งสาม-สี่ประเภทถูกจำกัดสิทธิเนื่องจากรัฐถือว่านักบวชเป็นบุคคลที่ไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยเรื่องทางโลก ทางกฎหมายอ้างว่าเป็นบุคคลที่อยู่นอกเหนือกฎหมาย แต่ในเชิงปฏิบัติก็ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราจะเห็นได้ว่าพระภิกษุสามเณรก็ถูกบังคับให้เข้ารับการเกณฑ์ทหารแบบเดียวกับฆราวาส นี่จึงเป็นการให้คำนิยามเรื่องสิทธิและหน้าที่ของพระสงฆ์โดยรัฐที่ดูขัดแย้งกันอย่างไรชอบกล


พอจะไปเลือกตั้งก็บอกว่าเราเป็นนักบวชไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก แต่พอถึงเวลาเกณฑ์ทหารก็จะเอาเราไปเป็นทหารให้ได้ ในที่สุดก็เป็นการดึงนักบวชให้เข้าไปยุ่งกับเรื่องทางโลกผ่านกฎหมายที่คิดว่าชอบธรรม จึงดูเป็นวิธีการจัดการที่ขัดแย้งกันเองระหว่าง “สิทธิ” กับ “หน้าที่” ที่รัฐมอบให้ ปากก็บอกว่านักบวชห้ามเลือกตั้ง แต่พอถึงเวลาเกณฑ์ทหารก็จะให้พระไปทำหน้าที่รับใช้ชาติ


สิทธิและหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กัน  มิใช่มอบหน้าที่ให้อย่างหนึ่งแล้วลิดรอนสิทธิอย่างหนึ่ง


หากมีการเปรียบเทียบกันระหว่างสถานะของความเป็น “ผู้นำศาสนา” สิทธิการได้เลือกตั้งก็ยิ่งไม่เท่าเทียมกันอย่างเห็นได้ชัดว่าเหตุใดผู้นำศาสนาอื่น ๆ จึงมีโอกาสได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ยกตัวอย่างเช่น บาทหลวงผู้นำศาสนาคริสต์ อิหม่ามผู้นำศาสนาอิสลาม พราหมณ์ผู้นำศาสนาฮินดู ผู้นำศาสนาซิกข์ ทั้งนี้อาจจะรวมไปถึงผู้นำทางความเชื่ออื่น ๆ เช่น คนทรงเจ้าก็ยังมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ แต่พระสงฆ์ในฐานะผู้นำศาสนาพุทธกลับไม่มีสิทธิ์ไปเลือกตั้งเฉกเช่นผู้นำศาสนาอื่น ๆ จึงดูเป็นอะไรที่เหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจน


พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง แต่นักการเมืองที่ถูกเลือกมาจะออกแบบการบริหารประเทศให้ขึ้นภูเขาหรือลงนรกไปในรูปแบบใดนักบวชทั้งสามประเภทที่กล่าวมาข้างต้นก็ต้องใช้ชีวิตร่วมชะตากรรมร่วมไปกับพลเมืองคนอื่น ๆ  เข้าตำรา ฉันไม่ได้มีสิทธิ์เลือกแต่ฉันก็ต้องรับเคราะห์กรรมไปด้วย ยกตัวอย่าง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 อันเป็นผลงานอันโด่งดังของนักการเมืองไทยที่พระเณรชีไม่ได้เลือกแต่พระเณรชีก็ต้องใช้ชีวิตร่วมชะตากรรมไปกับวิกฤติของประเทศครั้งนั้น หรือ ณ เวลานี้กรณีฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมบ้านเมืองไปหลายจังหวัดก็ไม่เห็นว่าผู้นำประเทศจะทำอะไรให้ดีขึ้นมานอกจากฉีดน้ำไปวัน ๆ หรือบางจังหวัดอย่างเช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่เห็นจะมีมาตรการอะไรมาช่วยเหลือประชาชน ปล่อยให้คนเผาไร่เผานาทำให้เกิดฝุ่นควันกันไป นักบวชที่มีวัดอยู่ในโซนที่มีฝุ่นควันอันตรายก็ต้องรับกรรมกันไป อย่างดีก็ไปหาซื้อหน้ากากมาใส่เพื่อเอาชีวิตรอดไปวัน ๆ  นี่เป็นสิ่งที่นักบวชไม่ได้เลือกแต่าก็ต้องรับกรรมกันไป


จะดีกว่านี้หรือไม่หากนักบวชในพุทธศาสนาทั้งสามประเภทมีโอกาสร่วมเลือกตั้งไปด้วยกันเพราะอย่างน้อยนักบวชก็ต้องร่วมชะตากรรมไปกับพลเมืองและประชาชนคนอื่น ๆ พวกเขาจะได้ไม่ต้องมาคิดว่าเราไม่มีสิทธิ์เลือกแต่เราก็ต้องรับกรรมกันไปด้วยซึ่งไม่ยุติธรรม อีกทั้งนักบวชก็เป็นบุคคลที่มีสติปัญญา มีความคิด มีความอ่าน แยกแยะได้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี นักบวชมิได้เป็นบุคคลวิกลจริต อย่างน้อยนักบวชก็ควรมีโอกาสกำหนดชะตากรรมของประเทศด้วยการมีสิทธิ์ออกไปเลือกตั้งเฉกเช่นประชาชนพลเมืองคนอื่น ๆ


ข้อมูลจากเว็ปไซต์ www.tcijthai.com  รายงานว่าในปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีพระภิกษุจำนวน 290,015 รูป สามเณรจำนวน 58,418 รูป รวมพระภิกษุและสามเณรเข้าด้วยกันแล้วประมาณสามแสนกว่ารูป นักบวชจำนวนมากมายขนาดนี้ถ้ามีสิทธิเลือกตั้งก็น่าจะสามารถมีส่วนร่วมกำหนดความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไม่น้อยทีเดียว ทั้งนี้สามเณรอาจจะไม่ได้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดแต่อย่างน้อยก็ย่อมมีสามเณรที่อายุ 18 ปีขึ้นไปอยู่จำนวนไม่น้อย และยังไม่นับแม่ชีที่มีจำนวนทั้งประเทศอยู่ในจำนวนหลักพันถึงหลักหมื่น


ประเด็นที่คนส่วนมากไม่ค่อยได้คิดกันก็คือ ในทะเบียนบ้านชื่อของพระภิกษุสามเณรยังเป็นนาย รวมทั้งชื่อของแม่ชีก็ยังอยู่ในทะเบียนบ้าน เมื่อถึงคราวเลือกตั้งชื่อของท่านเหล่านั้นไปปรากฏในรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จะมีใครสงสัยบ้างหรือไม่ว่าชื่อของท่านเหล่านั้นจะโดนสวมรอยไปใช้สิทธิ์กันบ้างไหม เพราะเมื่อเช็คดูจะพบว่าชื่อพระสงฆ์ยังมีสิทธิ์เลือกตั้งที่สถานะเป็น “นาย” เพียงแต่ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้เพราะตัวจริงเป็นพระภิกษุไปแล้ว และบ้านเราก็ไม่มีหน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบตรงจุดนี้ ที่ผ่านมาจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าอาจมีการสวมรอยชื่อพระภิกษุที่ยังเป็น “นาย” ไปใช้สิทธิ์กันบ้างหรือไม่รวมทั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาด้วย


เวลาที่พระสงฆ์ลุกขึ้นพูดเรื่องสิทธิในการเลือกตั้งมักมีคำพูดมาจากหมู่สงฆ์ด้วยกันและในหมู่ฆราวาสว่า “อยากเลือกตั้งก็สึกไปเลือกสิ” ถ้ามีคนพูดประโยคนี้เมื่อสัก 30 ปีที่แล้วก็ยังพอฟังได้ แต่ปีนี้เป็นปี พ.ศ. 2562 เป็นช่วงเวลาที่ความรู้เรื่องสิทธิ์แทรกซึมเข้าไปในหัวใจของประชาชนมากขึ้น คำพูดนี้จึงดูล้าสมัยไปโดยปริยาย ถ้าใครยังพูดอีกก็ถือว่าเชยมากทีเดียว เหมือนกับว่าคนพูดไม่รู้จะตอบโต้อย่างไรแล้วก็ต้องพูดประชดกันด้วยวิธีนี้ซึ่งเป็นคำพูดที่สุดแสนจะล้าสมัย และคนที่พูดก็ดูจะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “สิทธิ” จริง ๆ เสียด้วยสิ


หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็อาจจะก็มีคำพูดประมาณว่า “เป็นพระไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็ดีอยู่แล้วไม่ต้องวุ่นวาย” แต่ความจริงก็คือแม้ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งพระก็มีโอกาสวุ่นวายไปกับเรื่องต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวอยู่แล้วไม่จำเป็นว่าพระมีสิทธิ์เลือกตั้งแล้วชีวิตจะต้องวุ่นวาย  มันเป็นเรื่องของการจัดการสิทธิของพระสงฆ์รูปนั้น ๆ มากกว่า


การมีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเรื่องของดุลยวินิจของแต่ละคนว่าจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ การที่พระไปเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าชีวิตของพระรูปนั้นจะต้องวุ่นวายไปด้วย แค่ไปที่จุดเลือกตั้งแล้วกาเบอร์ที่ต้องการแล้วกลับวัดแค่นี้ก็จบ หรือบางรูปอาจจะไม่ไปเลือกตั้งก็ได้เพราะมันเป็นสิทธิของท่านว่าท่านจะจัดการอย่างไรกับสิทธิที่มีอยู่ ดังนั้นจึงไม่ได้แปลว่าการให้สิทธิ์พระเถรเณรชีไปเลือกตั้งแล้วจะทำให้ชีวิตของท่านเกิดความสับสนวุ่นวาย มีหลายประเทศที่ให้สิทธิ์พระสงฆ์เลือกตั้งก็ไม่เห็นว่าพระสงฆ์ในประเทศนั้นจะวุ่นวายอะไร อย่างเช่น ลาว กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี


แต่การไม่ได้สิทธิไปเลือกตั้งนั่นแหละเป็นเรื่องวุ่นวายเพราะทำให้ขาดเสียงที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมเปลี่ยนชะตากรรมของประเทศ แทนที่จะได้คนมีความสามารถไปบริหารประเทศเรากลับได้ในสิ่งที่ตรงกันข้าม


สังคมไทยกับเรื่อง “สิทธิ” เป็นเรื่องที่เรียนรู้กันอย่างยากลำบากทั้ง ๆ ที่เราใช้ระบอบประชาธิปไตยในการปกครองประเทศมานาน 87 ปีแล้ว เรื่องสิทธิควรมีสอนกันในโรงเรียนว่าเรามีสิทธิอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่เราไม่ควรถูกลิดรอนตั้งแต่ปลายเส้นผมไปจนถึงเล็บเท้า


คำพูดหนึ่งที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ “คนเราจะเอาแต่สิทธิ แต่ไม่เอาหน้าที่” แต่เอาเข้าจริง ๆ เรากลับพบว่าคนไทยรู้เรื่อง “สิทธิ” กันน้อยมากจนน่าตกใจ เรามีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่ใครจะมาบังคับให้เราไว้ผมทรงนั้นทรงนี้ไม่ได้ เรามีสิทธิในอวัยวะทุกส่วนบนร่างกายของเรา แต่สิทธิเหล่านี้เราถูกละเมิดถูกละเลยกันตั้งแต่เราอยู่ในโรงเรียนโดยกฎของโรงเรียนที่บอกให้เราไว้ผมทรงนั้นได้ ไว้ผมทรงนี้ไม่ได้ แล้วกำหนดหน้าที่เราว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ โดยมีสโลแกนว่า “เดี๋ยวโตไปจะไม่เคารพกฎกติกาของสังคม” โดยหารู้ไม่ว่ากฎกติกาของสังคมได้ละเมิดเนื้อตัวร่างกายของเราตั้งแต่เราอยู่ชั้นประถมแล้ว กฎกติกาของโรงเรียนได้ละเมิดเนื้อตัวร่างกายของเราเกิน 50% โดยที่เรายังไม่ได้ไปละเมิดกฎกติกาของโรงเรียนตรงไหนเลย


ในโรงเรียนไม่ได้สอนเรื่องสิทธิแต่กลับไปละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก เราจึงไม่รู้ว่าในชีวิตประจำวันเราถูกละเมิดสิทธิ์อะไรกันบ้าง ยิ่งพอหันไปดูเรื่องสิทธิของพระสงฆ์กับการเลือกตั้ง คนจำนวนมากจึงมองไม่ออกว่าการที่พระสงฆ์ถูกห้ามมิให้ไปเลือกตั้งนั้นเป็นการถูกลิดรอนสิทธิอย่างไร เพราะเราถูกละเมิดสิทธิกันตั้งแต่ในโรงเรียนแล้ว

นี่ยังไม่ได้พูดถึงผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เลยว่าเราถูกลิดรอนสิทธิ์ที่ได้เลือกตั้งไปแล้วอย่าไรบ้าง

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

Pop Aye การเปลี่ยนผ่านของทุกข์

พระชาย วรธัมโม เขียน
น.ส.พ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดี 20 กรกฎาคม 2560







ก่อนวันสมาทานเข้าพรรษาไม่กี่วันผู้เขียนมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Pop Aye มายเฟรนด์ ที่สมาคมฝรั่งเศสในค่ำคืนหนึ่งอันเป็นการฉายรอบพิเศษหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกจากโรงไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  และเป็นค่ำคืนที่นักแสดงนำคือคุณธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ได้มาพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้หลังจากหนังฉายจบ

            หนังเรื่องนี้กำลังพูดถึงวิกฤตชีวิตวัยกลางคน (หรือวัยเกษียณ ?) ของสถาปนิกชื่อ “ธนา” ที่กำลังถูกสถาปนิกรุ่นหลานอันเป็นคลื่นลูกใหม่กำลังซัดเข้าแทนที่คลื่นลูกเก่าอย่างเขา

            ธนาต้องหลุดออกมาจากโปรเจ็คการสร้างตึกใหม่ในแบบที่ไม่คิดว่าจะ “กลายเป็นหมาตัวหนึ่ง”  ดังคำตอบที่เขาพูดกับคนขับสิบล้อในฉากต่อมา

          วิกฤตเรื่องถัดมาที่ธนาต้องเผชิญก็คือการที่เมียของเขาไม่สนใจที่จะมีความสุขทางเพศกับเขาซึ่งก็ดูเหมือนว่าเขาเองก็ขาดการ “ทำการบ้าน” มาระยะหนึ่งแล้ว  หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือเขากำลังเผชิญกับช่วงวัยทองของชีวิตที่แม้แต่ความสุขทางเพศก็ไม่สามารถมีให้กับภริยาได้จนภริยาต้องไปพึ่งเซ็กทอย

            ในเมื่ออะไรที่แย่ ๆ ต่างก็ประดังประเดเข้ามาในชีวิต ทางเดียวที่เขาจะมีความสุขได้ก็คือการกลับไปไขว่คว้าหาอดีตเพื่อเยียวยาตัวเอง  ด้วยความบังเอิญธนาไปพบกับช้างตัวใหญ่ตัวหนึ่งที่ควาญช้างพามาหากินในเมือง  เขาคิดว่ามันคือ “เจ้าป๊อปอาย” ช้างข้างบ้านสมัยที่เขาเคยอยู่บ้านนอกที่ จ.เลย ในสมัยเด็ก ๆ ในที่สุดธนาจึงขอซื้อ “ป๊อปอาย” เพียงเพื่อจะพามันกลับไปอยู่ในที่ ๆ มันจากมา  เพื่อไขว่คว้ากลับไปหา “วันวาน” ที่เป็นมิตรและอบอุ่นกว่าปัจจุบัน

            ระหว่างทางเขาพบกับผู้คนและเหตุการณ์ต่าง ๆ สุดจะคาดเดา ไม่ว่าจะเป็น “ชายไร้บ้าน” ที่มีความใฝ่ฝันว่าอยากไปพบกับ “พี่ชาย” บนสวรวงสวรรค์ในวันใดวันหนึ่ง  โดยที่สถานะของชายไร้บ้านคนนั้นก็แทบจะไม่มีอะไรเหลือเมื่อเทียบกับเขาแต่ชายไร้บ้านคนนั้นยังมีความใฝ่ฝัน ในขณะที่ตัวเขาชีวิตตกต่ำแต่ยังไม่ถึงศูนย์แต่เหตุไฉนเขาจึงสิ้นหวังได้เพียงนี้

            จากนั้นธนาต้องเผชิญหน้ากับตำรวจเมื่อเขาถูกตำรวจตรวจสอบใบขนย้ายสัตว์ใหญ่ข้ามจังหวัดแล้วพบว่าใบขนย้ายสัตว์ที่ได้มาจากควาญช้างคือใบขนย้ายสัตว์เก๊  ในที่สุดเขากับป๊อปอายช้างจึงถูกตำรวจซิว แต่จนแล้วจนรอดธนากับช้างน้อยตัวใหญ่ก็รอดพ้นจากการซิวของตำรวจด้วยความช่วยเหลือจากกะเทยขายบริการในร้านคาราโอเกะริมถนน กะเทยที่สังคมตีตราว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ปกติ แต่ภายใต้สิ่งที่สังคมตีตราว่าไม่ปกติธนากลับได้รับในสิ่งที่เป็นหนี้บุญคุณจากบุคคลที่สังคมผลักออกไปสู่ชายขอบ ในขณะที่บุคคลปกติ “ในเครื่องแบบ” กลับดูเป็นศรัตรูมากกว่า

            แต่ในที่สุดธนาต้องเผชิญกับความผิดหวังที่ทำให้ความพยายามของเขาพังทลายเมื่อพบว่า “ป๊อปอาย” ช้างตัวใหญ่ที่เขาคาดหวังจะพากลับไปบ้านเกิดที่ จ.เลย เป็นคนละตัวกับ “ป๊อปอาย” ช้างข้างบ้านในวัยเด็ก เพราะ “เจ้าป๊อปอาย” ในวัยเด็กนั้นได้ตายจากไปนานแล้ว

            ถึงตอนนี้ธนาได้มาถึงก้นบึ้งของความทุกข์ที่เขาต้องยอมรับความจริงเสียทีเพราะที่ผ่านมาเขาเพียงแต่ยื้อความทุกข์เอาไว้ไม่ยอมรับว่าเขาเป็นสถาปนิกตกรุ่นไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งยังดันทุรังจินตนาการถึง “ป๊อปอาย” ในวัยเด็ก  คิดเอาเองว่าช้างที่ตนกำลังช่วยเหลือเป็นช้างตัวเดียวกันกับช้างข้างบ้านในวัยเด็กตัวนั้น

            คงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากหากเราเป็นคนที่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตแล้ววันหนึ่งเราตกต่ำลงจนเกือบไม่เหลืออะไรให้คนอื่นได้มองเห็นและยำเกรงในตัวเรา  ธนาก็เป็นเช่นนั้น 

            เมื่อมนุษย์มีความทุกข์  มนุษย์มักโหยหาสิ่งอื่นมาทดแทนโดยมนุษย์หวาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง  ธนาไม่มีแม้แต่เพื่อนสนิทสักคนที่จะให้ระบายความทุกข์ใจ  เขาจึงมองหา “วันวานเก่า ๆ” ที่จะไขว่คว้าเอาไว้  ด้วยความบังเอิญเขาไปเจอช้างตัวหนึ่งแล้วทึกทักเอาว่ามันคือ “เจ้าป๊อปอาย” ช้างที่เขาคุ้นเคยในวัยเด็ก แต่อันที่จริงระหว่างนั้นเขาก็ดูเหมือนว่าเขาได้เจอเพื่อนอยู่บ้าง เช่น ชายไร้บ้านที่เกือบจะจุดประกายให้เขาได้เห็นว่าแม้จะไม่มีอะไรเลยแค่เรามีความหวังเราก็มีความสุขได้ไม่ว่าความหวังนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่  แต่แรงบันดาลใจจากชายไร้บ้านคนนั้นอาจยังไม่เพียงพอต่อความทุกข์ที่ท่วมท้นที่มีอยู่ภายในใจของธนาจึงทำให้ธนาดิ้นรนไม่ยอมรับความทุกข์นั้น

            คุณธเนศได้เล่าให้ฟังว่าตอนที่เขาเข้าฉากแสดงเป็น “ธนา” สถาปนิกตกยากที่กำลังเผชิญกับขาลงของชีวิตเขาถึงกับน้ำตาไหลออกมาจริง ๆ ถึงสามฉากด้วยกัน คือ ฉากที่โทรศัพท์กลับไปหาเมีย  ฉากที่พาป๊อปอายไปอาบน้ำในหนองแล้วพูดว่าป๊อปอายก็เหมือนกับเขาทั้งแก่ทั้งอ้วนและยังไม่มีบ้านจะอยู่  และฉากที่ธนาเปลี่ยนใจจะพาป๊อปอายไปส่งมูลนิธิอนุรักษ์ช้างเพื่อช่วยให้ป๊อปอายมีที่อยู่ที่ปลอดภัยโดยเขาตะโกนใส่ป๊อปอายว่าถ้าเราพลัดหลงกันก็ให้เดินตรงไปข้างหน้าอย่าหันหลังกลับมา

            ทั้งสามฉากนี้คุณธเนศได้เปิดเผยให้ฟังว่าเขาสัมผัสถึงความเหงาของธนาจนถึงกับร้องไห้ออกมาจริง ๆ นั่นหมายความว่าภาวะภายในของธนา ณ ขณะนั้นได้ตกต่ำถึงขีดสุด  แม้ว่าธนาจะยังมีบ้านและเมียแต่บ้านและเมียก็ไม่สามารถเป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้เขาได้จางคลายจากความทุกข์คุณธเนศจึงน้ำตาไหลออกมาทั้งสามฉาก
            การมีอาชีพเป็นนักแสดงที่คนทั่วไปมักมองอย่างผิวเผินว่าเป็นโลกมายามีแต่ความลุ่มหลงมัวเมาและลวงหลอก แต่ในมุมหนึ่งการเป็นนักแสดงก็เป็นหนทางในการเข้าถึงความจริงของชีวิตได้เช่นกันเมื่อการเป็นนักแสดงต้องเข้าไปสัมผัสกับภาวะทุกข์ของตัวละครแล้วแสดงภาวะทุกข์นั้นออกมา  ไม่ว่าจะเป็นการแสดงภาพยนตร์หรือละครนักแสดงจึงสามารถเข้าถึงความทุกข์ของมนุษย์ได้  รู้ว่าทุกข์มาจากไหนและทางออกของทุกข์คืออะไรเหมือนอย่างที่คุณธเนศได้สัมผัสได้ถึงความทุกข์ใจของตัวละคร

            คุณธเนศได้บอกกับคนดูว่าภาพยนตร์เรื่อง Pop Aye ได้เข้าไปแตะประเด็นทางสังคมในหลากหลายประเด็นด้วยกัน  แต่ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ไม่ต้องการเข้าไปลงลึกกับประเด็นต่าง ๆ จึงเพียงแค่ใส่ประเด็นทางสังคมเข้าไปในหนังเป็นส่วนประกอบให้คนดูได้มองเห็นแบบสะกิดในใจ  เช่น คนไร้บ้าน คนหลากหลายทางเพศ เด็กกับการเห็นผู้ใหญ่มีเพศสัมพันธ์กัน  การขายบริการทางเพศในร้านคาราโอเกะ  หรือแม้แต่ฉากที่ลูกแตงโมเนื้อสีแดงและสีเหลืองตกลงมาจากรถจนถนนเลอะเทอะ  โดยที่ประเด็นทางสังคมทั้งหมดนั้นถูกร้อยเรียงผ่านตัวละครหลักสองตัวคือ “ธนา” กับ “ป๊อปอาย” ซึ่งอันที่จริงตัวละครสองตัวนี้ก็เป็นประเด็นทางสังคมเช่นกัน

             ในที่สุดธนาก็ยอมรับความทุกข์ที่เข้ามาในชีวิต  เมื่อเขายอมรับมันความทุกข์นั้นก็ค่อย ๆ ทุเลาเบาบางจางลงไป อาจเรียกได้ว่า Pop Aye เป็นภาพยนตร์แนว Coming of Age คือการเปลี่ยนผ่านชีวิตหรือการค้นพบตัวเอง Coming of Age อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นหนังวัยรุ่นก็ได้  เพราะการเปลี่ยนผ่านหรือการค้นพบตัวเองมีอยู่ทุกช่วงวัยของชีวิตเหมือนกับที่ธนาค้นพบว่าตนเองยึดติดกับสิ่งที่ผ่านมามากเกินไป เมื่อเขาละวางมันลงนั่นก็คือเขากำลังเปลี่ยนผ่านความทุกข์ที่มีอยู่ในใจให้สูญสลายหายไปนั่นเอง.
.
.

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ออกพรรษา ... ออกศึก

คมชัดลึก  / วัน (พระ) อังคาร 27 ตุลาคม 2558
เขียน / พระชาย วรธัมโม 
ภาพ / ความสุข และความสุข






เมื่อวันออกพรรษามาถึง นั่นหมายถึงช่วงเวลาอยู่กับที่ของพระภิกษุได้สิ้นสุดลง และช่วงเวลาแห่งการลาสิกขาของพระบวชใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น 




ลาสิกขาคืออะไร

          ภาษาทางการของคำว่า “ลาสึก” คือ “ลาสิกขา” ไม่ใช่ ลาสิกขาบท อย่างที่ชอบเขียนกันผิดๆ

            สิกขา หมายถึง การศึกษา แต่เป็นการศึกษาที่รวมถึงการปฏิบัติด้วย ลาสิกขาจึงหมายถึง “การบอกลาการปฏิบัติในศีล ๒๒๗ ข้อ” พระภิกษุผู้ไม่อาจปฏิบัติในศีล ๒๒๗ ข้อได้อีกต่อไปหรือมีเหตุจำเป็นต้องลาสึกจึงขอลาศีล ๒๒๗ ไปสู่ศีล ๕ ใช้ชีวิตแบบคฤหัสถ์ เราจึงเรียกว่า “ลาสิกขา”

            ลาสิกขาไม่ได้หมายถึง “ลาไตรสิกขา”   ถ้าหากหมายถึง “ลาไตรสิกขา” ละก็เรื่องใหญ่เลย เพราะนั่นหมายถึงการบอกลาการปฏิบัติใน “ศีล สมาธิ ปัญญา” อันเป็นหัวใจของการศึกษาพุทธศาสนา นั่นเท่ากับเป็นการหยุดปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งไม่น่าจะใช่ความหมายนี้




วิธีการลาสิกขาทำอย่างไร

            พระภิกษุผู้ลาสิกขากล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเพียงรูปเดียวก็สามารถลาสิกขาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สงฆ์เป็นหมู่คณะ และไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในโบสถ์หรือในเขตพัทธสีมา ลาสิกขาที่ไหนก็ได้


            แท้จริงแล้วการลาสิกขาเป็นการประกาศยุติการเป็นนักบวชด้วยตนเอง คนอื่นเป็นเพียงผู้รับรู้เหตุการณ์เท่านั้น ในกรณีที่ไม่มีพระภิกษุ ในพระวินัยท่านอนุญาตให้คฤหัสถ์เป็นสักขีพยานให้ได้ โดยพระภิกษุผู้ลาสิกขาหันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปพร้อมกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระพุทธรูป โดยมีคฤหัสถ์นั่งเป็นสักขีพยานอยู่เบื้องหลังพระภิกษุ

            การลาสิกขาถือเป็นพิธีกรรมที่ง่ายมาก ขอเพียงมีผู้รู้เห็นเป็นพยานเท่านั้นก็สำเร็จพิธี




คำลาสิกขา   

          คำลาสิกขากล่าวว่า “สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติมัง ธาเรถะ” เมื่อกล่าวคำนี้ต่อหน้าพระสงฆ์หรือบุคคลที่เป็นพยานถือว่าภิกษุผู้ลาสิกขาได้กลายเป็นคฤหัสถ์ไปในทันทีเพราะคำลาสิกขาแปลว่า “ข้าพเจ้าลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์”




 


ทำใจอย่างไรเมื่อลาสิกขา

          โดยทั่วไปเมื่อลาสิกขาต่อหน้าอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านมักจะให้โอวาทแก่เราด้วยการตั้งจิตให้มั่นว่าเราต้องการละจากเพศสมณะจริงๆ ขณะกล่าวคำลาสิกขาต้องทำจิตตั้งมั่นว่าบัดนี้เรากำลังจะกลายเป็นฆราวาสแล้วไม่ใช่พระอีกต่อไป หากเรายังรู้สึกตัวว่าเป็นพระจะกลายเป็นเรื่องยุ่งเหยิงเนื่องจากเราตัดความเป็นพระไม่ขาด เมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตฆราวาสทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำจะกลายเป็นอาบัติโดยไม่รู้ตัวและมีความผิดเนื่องจากความเป็นพระยังคงอยู่


            เวลาได้ยินคำสอนลักษณะนี้แล้วก็นึกขำอยู่ในใจ จะเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะสามารถละวางความรู้สึกว่าเป็นพระได้ในทันทีหลังจากกล่าวคำลาสิกขาเช่นนั้น เพราะความเป็นพระที่อุตส่าห์สั่งสมบ่มเพาะมาตลอด ๓ เดือนยังติดตรึงอยู่ในความรู้สึกอย่างแน่นแฟ้น เป็นไปไม่ได้ที่จู่ๆ เราจะละวางความรู้สึกว่าเป็นพระได้ในทันทีนอกเสียจากตอนบวชเป็นพระเคยปฏิบัติสติปัฏฐานกำหนดความเป็น “อนัตตา” ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนว่าตนเองไม่ใช่อะไรแม้แต่การเป็นพระก็เป็นเรื่องปรุงแต่ง ถ้ากำหนดเช่นนี้มาตลอด ๓ เดือนก็เชื่อว่าขณะลาสิกขาไม่จำเป็นต้องทำใจอะไรมากมาย เป็นเรื่องสบายๆ ไม่ต้องคิดปรุงแต่งว่าตนเองกำลังจะหลุดจากความเป็นพระ เพราะปกติเราก็ไม่ได้เป็นพระหรือเป็นอะไรกันอยู่แล้ว


            แต่ความจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยทั่วไปเวลาเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุเราก็มักกำหนดความเป็นตัวเป็นตนว่า “ข้าพเจ้าเป็นพระภิกษุ” ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครมากำหนดว่าตนเองเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ครั้นเมื่อถึงเวลาลาสิกขาจึงเป็นไปไม่ได้หรอกที่จู่ๆ เราจะละวางความเป็นพระได้ในทันทีโดยอัตโนมัติ


            ในทางเดียวกันพระที่บวชระยะสั้น ๗ วัน ๑๐ วันแล้วลาสิกขา จู่ ๆ จะให้ละวางความเป็นพระก็ดูเป็นเรื่องที่น่าสับสนอย่างไรชอบกล เพราะลำพังชั่วเวลา ๗ วัน ๑๐ วัน จะทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นพระได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้น้อยมาก การจะรู้สึกตัวว่าตนเองเป็นพระได้นั้นต้องใช้เวลาบ่มเพาะกันนานเป็นเดือนกว่าจะรู้สึกตัวว่าเป็นพระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระที่บวชระยะสั้นเมื่อถึงเวลาลาสิกขาคงทำใจกันสับสนเพราะตนเองเพิ่งบวชได้ไม่นานยังรู้สึกตัวว่าเป็นฆราวาส จู่ๆ จะให้รู้สึกตัวว่าเป็นพระแล้วก็สลับมาให้รู้สึกตัวว่าเป็นฆราวาสอีกทีในตอนสึกก็ดูจะเป็นเรื่องที่น่าจะทำให้สับสนภายใน


            คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือ “ทำใจให้เป็นปกติ” เพียงแค่กำหนดรู้ว่าขณะนี้กำลังเปลี่ยนสถานะจากพระเป็นคฤหัสถ์ก็เท่านั้นเอง หากยังรู้สึกตัวว่าตนเองเป็นพระก็ไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาอะไรในเมื่อความรู้สึกตัวว่าเป็นพระเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปละวางอะไร อาจจะดีเสียอีกตรงที่ความรู้สึกว่าเป็นพระที่ยังคงมีอยู่นั้นจะได้ต่อเนื่องเป็นกำลังใจแก่เราในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในเพศฆราวาสสืบต่อไป




ออกพรรษา ออกศึก

          สมัยก่อนเมื่อลาสิกขาแล้วทิดสึกใหม่มักจะลดศีลตนเองลงมาให้เหลือศีล ๘ และอยู่วัดสัก ๒-๓ วันก่อนจะออกจากวัดไปผจญโลกอีกครั้งเพื่อที่ว่าใจและกายจะได้ค่อยๆ ปรับตัว ไม่ใช่ว่าพอสึกแล้วออกจากวัดทันทีด้วยศีล ๕ อันนั้นจะทำให้ออกไปผจญโลกแบบเอ๋อๆ


            ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป คนมีเวลาน้อยลงพอสึกแล้วก็ต้องรีบออกไปหางานทำ จึงทำให้บางคนปรับสภาพจิตไม่ทันเนื่องจากที่ผ่านมาอยู่ในวัดมีแต่ความสงบ เมื่อต้องออกไปทำงานข้างนอกก็พบกับความสับสนวุ่นวายปรับสภาพจิตตนเองไม่ทัน คนโบราณจึงกำหนดให้ทิดสึกใหม่อยู่วัดถือศีลก่อนแล้วค่อยออกไปผจญโลก


            การลาสึกในอีกความหมายหนึ่งจึงหมายถึง “การออกศึก” คือการออกไปเผชิญทุกข์ หลักธรรมต่างๆ ที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาในช่วงที่บวช เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เกิดเป็นความยินดียินร้ายขึ้นมาก็ต้องมีสติสัมปชัญญะประคับประคองจิตมิให้เตลิดเปิดเปิงไปกับสิ่งปรุงแต่ง มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสุขย่อมมีทุกข์ มีสรรเสริญย่อมมีนินทา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นธรรมดาของโลกที่มีอยู่แล้ว การใช้ชีวิตเป็นนักบวชในช่วง ๓ เดือนฤดูฝนจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการฝึกตนก่อนจะออกศึกไปผจญโลก


            การสวด “ชะยันโต” ให้พระที่ลาสิกขาจึงเป็นการให้กำลังใจกับท่านว่าต้องออกไปเผชิญหน้ากับข้าศึกคือความทุกข์ในโลกฆราวาส จงอย่าได้พ่ายแพ้กลับมา.