วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2562


พระสงฆ์กับประชาธิปไตยและสิทธิที่หายไป
พระชาย วรธัมโม
คมชัดลึก อังคาร 9 เมษายน 2562





ในขณะที่หลายคนตื่นเต้นกับการได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันมีบุคคลอย่างน้อยสามประเภทที่ถึงแม้จะอายุ 18 ปีขึ้นไปก็ไม่มีสิทธิ์ไปเลือกตั้ง นั่นก็คือ พระภิกษุ สามเณร และแม่ชี ทั้งนี้อาจจะรวมไปถึงภิกษุณีด้วยก็ได้


การที่นักบวชในพุทธศาสนาทั้งสาม-สี่ประเภทถูกจำกัดสิทธิเนื่องจากรัฐถือว่านักบวชเป็นบุคคลที่ไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยเรื่องทางโลก ทางกฎหมายอ้างว่าเป็นบุคคลที่อยู่นอกเหนือกฎหมาย แต่ในเชิงปฏิบัติก็ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราจะเห็นได้ว่าพระภิกษุสามเณรก็ถูกบังคับให้เข้ารับการเกณฑ์ทหารแบบเดียวกับฆราวาส นี่จึงเป็นการให้คำนิยามเรื่องสิทธิและหน้าที่ของพระสงฆ์โดยรัฐที่ดูขัดแย้งกันอย่างไรชอบกล


พอจะไปเลือกตั้งก็บอกว่าเราเป็นนักบวชไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก แต่พอถึงเวลาเกณฑ์ทหารก็จะเอาเราไปเป็นทหารให้ได้ ในที่สุดก็เป็นการดึงนักบวชให้เข้าไปยุ่งกับเรื่องทางโลกผ่านกฎหมายที่คิดว่าชอบธรรม จึงดูเป็นวิธีการจัดการที่ขัดแย้งกันเองระหว่าง “สิทธิ” กับ “หน้าที่” ที่รัฐมอบให้ ปากก็บอกว่านักบวชห้ามเลือกตั้ง แต่พอถึงเวลาเกณฑ์ทหารก็จะให้พระไปทำหน้าที่รับใช้ชาติ


สิทธิและหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กัน  มิใช่มอบหน้าที่ให้อย่างหนึ่งแล้วลิดรอนสิทธิอย่างหนึ่ง


หากมีการเปรียบเทียบกันระหว่างสถานะของความเป็น “ผู้นำศาสนา” สิทธิการได้เลือกตั้งก็ยิ่งไม่เท่าเทียมกันอย่างเห็นได้ชัดว่าเหตุใดผู้นำศาสนาอื่น ๆ จึงมีโอกาสได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ยกตัวอย่างเช่น บาทหลวงผู้นำศาสนาคริสต์ อิหม่ามผู้นำศาสนาอิสลาม พราหมณ์ผู้นำศาสนาฮินดู ผู้นำศาสนาซิกข์ ทั้งนี้อาจจะรวมไปถึงผู้นำทางความเชื่ออื่น ๆ เช่น คนทรงเจ้าก็ยังมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ แต่พระสงฆ์ในฐานะผู้นำศาสนาพุทธกลับไม่มีสิทธิ์ไปเลือกตั้งเฉกเช่นผู้นำศาสนาอื่น ๆ จึงดูเป็นอะไรที่เหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจน


พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง แต่นักการเมืองที่ถูกเลือกมาจะออกแบบการบริหารประเทศให้ขึ้นภูเขาหรือลงนรกไปในรูปแบบใดนักบวชทั้งสามประเภทที่กล่าวมาข้างต้นก็ต้องใช้ชีวิตร่วมชะตากรรมร่วมไปกับพลเมืองคนอื่น ๆ  เข้าตำรา ฉันไม่ได้มีสิทธิ์เลือกแต่ฉันก็ต้องรับเคราะห์กรรมไปด้วย ยกตัวอย่าง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 อันเป็นผลงานอันโด่งดังของนักการเมืองไทยที่พระเณรชีไม่ได้เลือกแต่พระเณรชีก็ต้องใช้ชีวิตร่วมชะตากรรมไปกับวิกฤติของประเทศครั้งนั้น หรือ ณ เวลานี้กรณีฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมบ้านเมืองไปหลายจังหวัดก็ไม่เห็นว่าผู้นำประเทศจะทำอะไรให้ดีขึ้นมานอกจากฉีดน้ำไปวัน ๆ หรือบางจังหวัดอย่างเช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่เห็นจะมีมาตรการอะไรมาช่วยเหลือประชาชน ปล่อยให้คนเผาไร่เผานาทำให้เกิดฝุ่นควันกันไป นักบวชที่มีวัดอยู่ในโซนที่มีฝุ่นควันอันตรายก็ต้องรับกรรมกันไป อย่างดีก็ไปหาซื้อหน้ากากมาใส่เพื่อเอาชีวิตรอดไปวัน ๆ  นี่เป็นสิ่งที่นักบวชไม่ได้เลือกแต่าก็ต้องรับกรรมกันไป


จะดีกว่านี้หรือไม่หากนักบวชในพุทธศาสนาทั้งสามประเภทมีโอกาสร่วมเลือกตั้งไปด้วยกันเพราะอย่างน้อยนักบวชก็ต้องร่วมชะตากรรมไปกับพลเมืองและประชาชนคนอื่น ๆ พวกเขาจะได้ไม่ต้องมาคิดว่าเราไม่มีสิทธิ์เลือกแต่เราก็ต้องรับกรรมกันไปด้วยซึ่งไม่ยุติธรรม อีกทั้งนักบวชก็เป็นบุคคลที่มีสติปัญญา มีความคิด มีความอ่าน แยกแยะได้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี นักบวชมิได้เป็นบุคคลวิกลจริต อย่างน้อยนักบวชก็ควรมีโอกาสกำหนดชะตากรรมของประเทศด้วยการมีสิทธิ์ออกไปเลือกตั้งเฉกเช่นประชาชนพลเมืองคนอื่น ๆ


ข้อมูลจากเว็ปไซต์ www.tcijthai.com  รายงานว่าในปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีพระภิกษุจำนวน 290,015 รูป สามเณรจำนวน 58,418 รูป รวมพระภิกษุและสามเณรเข้าด้วยกันแล้วประมาณสามแสนกว่ารูป นักบวชจำนวนมากมายขนาดนี้ถ้ามีสิทธิเลือกตั้งก็น่าจะสามารถมีส่วนร่วมกำหนดความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไม่น้อยทีเดียว ทั้งนี้สามเณรอาจจะไม่ได้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดแต่อย่างน้อยก็ย่อมมีสามเณรที่อายุ 18 ปีขึ้นไปอยู่จำนวนไม่น้อย และยังไม่นับแม่ชีที่มีจำนวนทั้งประเทศอยู่ในจำนวนหลักพันถึงหลักหมื่น


ประเด็นที่คนส่วนมากไม่ค่อยได้คิดกันก็คือ ในทะเบียนบ้านชื่อของพระภิกษุสามเณรยังเป็นนาย รวมทั้งชื่อของแม่ชีก็ยังอยู่ในทะเบียนบ้าน เมื่อถึงคราวเลือกตั้งชื่อของท่านเหล่านั้นไปปรากฏในรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จะมีใครสงสัยบ้างหรือไม่ว่าชื่อของท่านเหล่านั้นจะโดนสวมรอยไปใช้สิทธิ์กันบ้างไหม เพราะเมื่อเช็คดูจะพบว่าชื่อพระสงฆ์ยังมีสิทธิ์เลือกตั้งที่สถานะเป็น “นาย” เพียงแต่ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้เพราะตัวจริงเป็นพระภิกษุไปแล้ว และบ้านเราก็ไม่มีหน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบตรงจุดนี้ ที่ผ่านมาจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าอาจมีการสวมรอยชื่อพระภิกษุที่ยังเป็น “นาย” ไปใช้สิทธิ์กันบ้างหรือไม่รวมทั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมาด้วย


เวลาที่พระสงฆ์ลุกขึ้นพูดเรื่องสิทธิในการเลือกตั้งมักมีคำพูดมาจากหมู่สงฆ์ด้วยกันและในหมู่ฆราวาสว่า “อยากเลือกตั้งก็สึกไปเลือกสิ” ถ้ามีคนพูดประโยคนี้เมื่อสัก 30 ปีที่แล้วก็ยังพอฟังได้ แต่ปีนี้เป็นปี พ.ศ. 2562 เป็นช่วงเวลาที่ความรู้เรื่องสิทธิ์แทรกซึมเข้าไปในหัวใจของประชาชนมากขึ้น คำพูดนี้จึงดูล้าสมัยไปโดยปริยาย ถ้าใครยังพูดอีกก็ถือว่าเชยมากทีเดียว เหมือนกับว่าคนพูดไม่รู้จะตอบโต้อย่างไรแล้วก็ต้องพูดประชดกันด้วยวิธีนี้ซึ่งเป็นคำพูดที่สุดแสนจะล้าสมัย และคนที่พูดก็ดูจะไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “สิทธิ” จริง ๆ เสียด้วยสิ


หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็อาจจะก็มีคำพูดประมาณว่า “เป็นพระไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็ดีอยู่แล้วไม่ต้องวุ่นวาย” แต่ความจริงก็คือแม้ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งพระก็มีโอกาสวุ่นวายไปกับเรื่องต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวอยู่แล้วไม่จำเป็นว่าพระมีสิทธิ์เลือกตั้งแล้วชีวิตจะต้องวุ่นวาย  มันเป็นเรื่องของการจัดการสิทธิของพระสงฆ์รูปนั้น ๆ มากกว่า


การมีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเรื่องของดุลยวินิจของแต่ละคนว่าจะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ การที่พระไปเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าชีวิตของพระรูปนั้นจะต้องวุ่นวายไปด้วย แค่ไปที่จุดเลือกตั้งแล้วกาเบอร์ที่ต้องการแล้วกลับวัดแค่นี้ก็จบ หรือบางรูปอาจจะไม่ไปเลือกตั้งก็ได้เพราะมันเป็นสิทธิของท่านว่าท่านจะจัดการอย่างไรกับสิทธิที่มีอยู่ ดังนั้นจึงไม่ได้แปลว่าการให้สิทธิ์พระเถรเณรชีไปเลือกตั้งแล้วจะทำให้ชีวิตของท่านเกิดความสับสนวุ่นวาย มีหลายประเทศที่ให้สิทธิ์พระสงฆ์เลือกตั้งก็ไม่เห็นว่าพระสงฆ์ในประเทศนั้นจะวุ่นวายอะไร อย่างเช่น ลาว กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี


แต่การไม่ได้สิทธิไปเลือกตั้งนั่นแหละเป็นเรื่องวุ่นวายเพราะทำให้ขาดเสียงที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมเปลี่ยนชะตากรรมของประเทศ แทนที่จะได้คนมีความสามารถไปบริหารประเทศเรากลับได้ในสิ่งที่ตรงกันข้าม


สังคมไทยกับเรื่อง “สิทธิ” เป็นเรื่องที่เรียนรู้กันอย่างยากลำบากทั้ง ๆ ที่เราใช้ระบอบประชาธิปไตยในการปกครองประเทศมานาน 87 ปีแล้ว เรื่องสิทธิควรมีสอนกันในโรงเรียนว่าเรามีสิทธิอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่เราไม่ควรถูกลิดรอนตั้งแต่ปลายเส้นผมไปจนถึงเล็บเท้า


คำพูดหนึ่งที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ “คนเราจะเอาแต่สิทธิ แต่ไม่เอาหน้าที่” แต่เอาเข้าจริง ๆ เรากลับพบว่าคนไทยรู้เรื่อง “สิทธิ” กันน้อยมากจนน่าตกใจ เรามีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่ใครจะมาบังคับให้เราไว้ผมทรงนั้นทรงนี้ไม่ได้ เรามีสิทธิในอวัยวะทุกส่วนบนร่างกายของเรา แต่สิทธิเหล่านี้เราถูกละเมิดถูกละเลยกันตั้งแต่เราอยู่ในโรงเรียนโดยกฎของโรงเรียนที่บอกให้เราไว้ผมทรงนั้นได้ ไว้ผมทรงนี้ไม่ได้ แล้วกำหนดหน้าที่เราว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ โดยมีสโลแกนว่า “เดี๋ยวโตไปจะไม่เคารพกฎกติกาของสังคม” โดยหารู้ไม่ว่ากฎกติกาของสังคมได้ละเมิดเนื้อตัวร่างกายของเราตั้งแต่เราอยู่ชั้นประถมแล้ว กฎกติกาของโรงเรียนได้ละเมิดเนื้อตัวร่างกายของเราเกิน 50% โดยที่เรายังไม่ได้ไปละเมิดกฎกติกาของโรงเรียนตรงไหนเลย


ในโรงเรียนไม่ได้สอนเรื่องสิทธิแต่กลับไปละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก เราจึงไม่รู้ว่าในชีวิตประจำวันเราถูกละเมิดสิทธิ์อะไรกันบ้าง ยิ่งพอหันไปดูเรื่องสิทธิของพระสงฆ์กับการเลือกตั้ง คนจำนวนมากจึงมองไม่ออกว่าการที่พระสงฆ์ถูกห้ามมิให้ไปเลือกตั้งนั้นเป็นการถูกลิดรอนสิทธิอย่างไร เพราะเราถูกละเมิดสิทธิกันตั้งแต่ในโรงเรียนแล้ว

นี่ยังไม่ได้พูดถึงผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เลยว่าเราถูกลิดรอนสิทธิ์ที่ได้เลือกตั้งไปแล้วอย่าไรบ้าง