วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

ภิกษุณีก็เป็นน้องสาวของเรา




คมชัดลึก  วัน (พระ) จันทร์ 12 มกราคม 2558
พระชาย วรธัมโม / เรื่อง
Gaja Seni / ภาพ




          ผู้เขียนไม่รู้สึกแปลกใจที่มหาเถรสมาคมมีมติต่อกรณีการบวชภิกษุณีที่เกิดขึ้นที่ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม เกาะยอ จ.สงขลา ว่าเป็นโมฆะโดยอ้างว่าภิกษุณีสงฆ์ได้ขาดสูญไปแล้ว ทั้งนี้มหาเถรสมาคมได้นำเอาคำประกาศของ “กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์เรื่องห้ามพระเณรบวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ. ๒๔๗๑” มาเป็นเหตุผลประกอบ 



แต่สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจมากกว่าก็คือมติของมหาเถรสมาคมที่ประกาศต่อท้ายว่าให้มีการควบคุมพระสงฆ์จากต่างประเทศที่จะเข้ามาประกอบพิธีการบวชโดยกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศในการควบคุมพระสงฆ์ต่างประเทศที่จะเข้ามาจัดพิธีบรรพชาอุปสมบทภิกษุณีในประเทศไทยต้องแจ้งให้มหาเถรสมาคมทราบและได้รับหนังสืออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน พูดให้เข้าใจก็คือมหาเถรสมาคมห้ามพระสงฆ์ไทยบวชภิกษุณีแล้วยังห้ามพระสงฆ์จากต่างประเทศเข้ามาประกอบพิธีบวชให้อีกด้วย คือไม่ยอมให้มีภิกษุณีเกิดขึ้นเลยไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ



ผู้เขียนกังวลว่าการประกาศควบคุมพระสงฆ์จากต่างประเทศมิให้เข้ามาประกอบพิธีบวชภิกษุณีในประเทศไทยของมหาเถรสมาคมน่าจะเป็นคำประกาศที่ด่วนเกินไป คำประกาศเช่นนั้นเท่ากับไม่เหลือทางเลือกให้สตรีได้มีโอกาสบวชเป็นภิกษุณีเลย แม้บางคนจะบอกว่าไม่ต้องบวชก็ปฏิบัติธรรมได้ แต่ความเป็นจริงก็คือการเป็นฆราวาสไม่ได้มีเวลาปฏิบัติธรรมเต็มร้อยเหมือนกับการเป็นนักบวชซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัวกว่าทำให้มีเวลาปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการเป็นนักบวชจะได้รับผลการปฏิบัติที่ไวกว่าการเป็นฆราวาสเพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม แม้บางท่านจะบอกว่าให้ผู้หญิงไปบวชเป็นแม่ชีสิ แต่ความเป็นจริงก็คือสถานภาพของการเป็นแม่ชีนั้นเมื่อเข้าไปบวชแล้วกลับกลายเป็นคนรับใช้พระ เช่น ต้องทำกับข้าวถวายพระ ต้องไปล้างจาน หรือกลายเป็นพนักงานขายเครื่องบูชาดอกไม้ธูปเทียนให้กับวัดแทนที่จะได้ปฏิบัติธรรมเต็มร้อย ซึ่งในที่สุดการบวชเป็นแม่ชีจึงมิใช่หนทางที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงที่ต้องการบวชเพื่อปฏิบัติธรรม








ผู้เขียนมองว่าทางออกอันเหมาะสมที่มหาเถรสมาคมน่าจะทำได้ในเวลานี้คือการย้อนกลับมาพิจารณาประเด็นภิกษุณีด้วยความเมตตาอย่างลึกซึ้ง แก่นคำสอนทางพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์ เมื่อผู้หญิงประสบทุกข์ ต้องการพ้นทุกข์ด้วยการใช้ชีวิตเป็นนักบวชเราควรเปิดโอกาสให้เธอได้เป็นนักบวชอย่างเต็มภาคภูมิ มิใช่บวชเข้ามาแล้วกลายเป็นคนล้างจานหรือกลายเป็นพนักงานขายของให้กับวัด การเป็นนักบวชที่มีสถานะชัดเจนจะทำให้สตรีมีโอกาสเข้าถึงความจริงเช่นเดียวกับชายมีโอกาสบวชเป็นพระภิกษุ



หากมหาเถรสมาคมรู้สึกลำบากใจไม่พร้อมจะยอมรับภิกษุณี ทางออกก็มีอยู่คืออาจจะจัดภิกษุณีให้เป็น “นักบวชพุทธศาสนาเถรวาทนิกายผู้หญิง” เป็นเอกเทศไปเลยโดยเปิดโอกาสให้พระสงฆ์จากต่างประเทศเข้ามาช่วยอุปสมบทให้  ดีกว่าการกีดกันด้วยการห้ามบวชซึ่งบทบาทและท่าทีของมหาเถรสมาคมต่อสตรีในเวลานี้ควรเปิดใจกว้างมีเมตตาเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่อยากบวชได้มีพื้นที่บ้าง เพราะหากเรากีดกันสตรีทุกหนทางจะทำให้ภาพลักษณ์ของมหาเถรสมาคมดูเป็นพระเถระที่ปราศจากความเมตตา ในที่สุดอาจเสียความศรัทธาจากฆราวาสชาวพุทธบางกลุ่มไป



เวลานี้สถานะของสตรีในแต่ละประเทศกำลังเป็นที่จับตามอง หากประเทศใดมีการกดขี่สตรีย่อมกลายเป็นเป้านิ่งต่อการถูกมองว่าเป็นประเทศไม่พัฒนาดังเช่นประเทศที่มีความรุนแรงต่อสตรีมักถูกประณามจากนานาชาติ ประเทศที่พัฒนาแล้ววัดได้จากคุณภาพชีวิตของประชากรเพศหญิง หากประชากรเพศหญิงในประเทศได้รับการส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐานนั่นถือว่าประเทศนั้นได้พัฒนาแล้ว ประเด็นภิกษุณีก็เช่นเดียวกัน การบวชภิกษุณีถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสติปัญญาให้กับผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสพัฒนาศักยภาพผ่านกระบวนการทางศาสนาแล้วยังเป็นการสร้างบุคลากรหญิงให้ทำหน้าที่เผยแผ่คำสอนศาสนาไปสู่ประชาชนนั่นย่อมเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้หญิงซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ


สถานการณ์คุณภาพชีวิตของผู้หญิงในประเทศไทยเวลานี้ใช่ว่าจะดี แม้เราจะพูดว่าทุกวันนี้ผู้หญิงไทยเข้าถึงการศึกษามีทางเลือกในการออกมาทำงานนอกบ้าน มีรายได้ ดูแลตัวเองได้ไม่ต้องพึ่งพิงผู้ชาย แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่เหล่านั้นคือชนชั้นกลางที่มีการศึกษาสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แต่ยังมีผู้หญิงจำนวนมากอยู่ในฐานะยากจนไม่อาจเข้าถึงการศึกษา ทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นถูกผลักเข้าไปสู่กระบวนการค้าบริการทางเพศโดยมีชายเป็นผู้ซื้อ เรายังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ต้องออกมาระเหเร่ร่อนขอทานกลายเป็นคนไร้บ้านสาเหตุเพราะถูกสามีทิ้งหลังจากตั้งครรภ์ทำให้เธอเหล่านั้นต้องออกมาขอทานพร้อมกับลูกน้อยซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปบนท้องถนน บางคนตัดสินใจทำแท้ง และเรายังมีข่าวการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงที่รุนแรงไม่เว้นแต่ละวันล่าสุดข่มขืนแล้วทิ้งศพลงจากรถไฟ ทั้งหมดเป็นชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับหญิงไทยในเวลานี้ การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้บวชอย่างเต็มภาคภูมิจึงเป็นทางออกที่ดีที่จะทำให้ผู้หญิงไม่ต้องตกไปสู่วงจรแห่งความทุกข์ที่ไม่รู้ว่าจะมีวิธีใดแก้ไขปัญหานี้ได้ดีไปกว่าหนทางของการเปิดโอกาสให้พวกเธอได้เข้ามาบวช หากมีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้บวชโดยไม่กีดกันเชื่อว่าจะมีผู้หญิงจำนวนมากทีเดียวที่จะได้พบทางสว่างในชีวิต







หากมหาเถรสมาคมรู้สึกลำบากใจที่จะจัดภิกษุณีที่มีอยู่ในเวลานี้ให้เป็น “พุทธศาสนาเถรวาทนิกายผู้หญิง” ซึ่งอาจจะกลายเป็นการบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้บัญญัติตามที่หลายท่านหวั่นเกรง อยากให้เราหันมาพิจารณา “คณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย” และ “คณะสงฆ์มหานิกาย” กันดูซึ่งเป็นนิกายสงฆ์ที่ถูกบัญญัติขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ โดยที่แต่เดิมเราเป็น “คณะสงฆ์เถรวาทลังกาวงศ์” ต่อมาเราแยกออกเป็นมหานิกายและธรรมยุติในภายหลัง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาเราได้บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้บัญญัติไว้เช่นกัน ดังนั้นการยกภิกษุณีให้เป็นคณะสงฆ์อีกนิกายหนึ่งต่างหากจึงไม่น่าจะเสียหายอะไร หากเราไม่ประสงฆ์จะให้เธอเป็นนิกายเดียวกันกับเราก็แยกเธอออกไปเป็นนิกายต่างหากอย่างน้อยเธอจะได้มีที่เหยียบที่ยืน



ในครุธรรม ๘ ประการกำหนดว่าภิกษุณีต้องอยู่ในวัดเดียวกันกับภิกษุ ปัจจุบันนี้มิใช่ประเทศไทยเท่านั้นที่ภิกษุณีมีวัดแยกออกมาต่างหาก เวลานี้ภิกษุณีทั่วโลกต่างมีวัดหรือสำนักของตนเองเป็นเอกเทศ ไม่ว่าจะเป็นทิเบต จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี ศรีลังกา หรือแม้แต่ไต้หวันซึ่งมีจำนวนภิกษุณีมากกว่าภิกษุก็ยังแยกวัดออกมาเป็นของตนเอง  เราพบว่าไม่มีภิกษุณีประเทศใดอยู่อารามเดียวกันกับภิกษุตามที่ครุธรรม ๘ กำหนดไว้อีกแล้ว มันกลับเป็นเรื่องดีเมื่อการอยู่กันคนละวัดทำให้เกิดความสะดวกต่อการปฏิบัติธรรมและปลอดภัยจากเรื่องชู้สาวอย่างที่หลาย ๆ คนวิตกกังวล เราอย่าเพิ่งด่วนผูกมัดครุธรรม ๘ ว่าไม่อาจปรับเปลี่ยน เพราะศีล ๒๒๗ ข้อของภิกษุยังปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น การจับเงิน เป็นต้น



เมื่อภิกษุณีมิได้บวชกับคณะสงฆ์ไทยแต่บวชกับคณะสงฆ์อื่นบวกกับครุธรรม ๘ ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาตามความเหมาะสม การจัดภิกษุณีให้เป็นนิกายผู้หญิงเอกเทศโดยเฉพาะน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมในเวลานี้ เหมือนกับที่คณะสงฆ์แยกตัวออกมาเป็นธรรมยุติ-มหานิกายแยกโบสถ์ทำสังฆกรรมกันเมื่อ ๑๘๒ ปีมาแล้ว



การเป็นนักบวชน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการสื่อสารให้ชาวโลกได้เห็นว่านักบวชเราแม้จะมีความเห็นที่ไม่เหมือนกัน แต่เราก็สามารถทำความเข้าใจกันได้ สามารถยอมรับความแตกต่างกันได้ ไม่น่าจะถึงกับปิดกั้นหนทางแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีเมตตาต่อนักบวชหญิงซึ่งเปรียบเสมือนน้องสาวของเรา.         



.

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

บวชภิกษุณีครั้งแรกที่เกาะยอ จ.สงขลา

พระวรธรรม / เรื่อง
สุรีย์พร ยุติธรรม / ภาพ
คมชัดลึก  วัน (พระ) อาทิตย์ 14 ธันวาคม 2557













          เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ มีงานอุปสมบทภิกษุณีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เกาะยอ จ.สงขลา พร้อมด้วยการบรรพชาสามเณรีอีก ๔๗ รูปตามโครงการบรรพชาสามเณรีของทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม


          หากนับตามประวัติศาสตร์แล้วนี่ไม่ใช่การบวชภิกษุณีที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย หากแต่ครั้งแรกนั้นเคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยลูกสาวสองคนของนายนรินทร์ ภาษิต คือจงดีวัย ๑๓ และสาระวัย ๑๘ ได้บวชเป็นสามเณรี หลังจากนั้นสองปีสามเณรีสาระอายุครบ ๒๐ ได้บวชเป็นภิกษุณีในกาลต่อมา นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ๘๖ ปีมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการบวชภิกษุณีที่เกาะยอก็มิใช่การบวชภิกษุณีครั้งที่ ๒ ในดินแดนสยามประเทศแห่งนี้ หากแต่ช่วงเวลาที่ผ่านมามีการอุปสมบทภิกษุณีเกิดขึ้นหลายวาระด้วยกัน เพียงแต่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ให้เป็นข่าวเท่านั้นเอง



            งานอุปสมบทครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการบวชภิกษุณีอย่างเป็นทางการ มีการเชิญหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ทั้งภาครัฐระดับท้องถิ่นได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอบต.) มีท่านศุภณัฐ สิรันทวิเนติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสมาร่วมเปิดงานในฐานะตัวแทน ศอบต.  รวมทั้งภาครัฐจากศูนย์กลางมีการส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งก็มีคำขอบคุณจากสำนักนายกรัฐมนตรีตอบกลับมา อีกทั้งมีการทำหนังสือขอพระราชทานพระกรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทางสำนักพระราชวังก็มีจดหมายตอบกลับมาเช่นกัน นี่จึงไม่ใช่การบวชแบบเงียบ ๆ แต่เป็นบวชที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการทีเดียว


                                        พิธีอุปสมบทภิกษุณีจำนวน 8 รูป  (เข้าพิธีคราวละ 4 รูป)
                           คณะภิกษุนั่งปีกขวาของพระประธาน คณะภิกษุณีนั่งปีกซ้ายของพระประธาน
                                                  เป็นการอุปสมบทที่ครบสงฆ์ทั้งสองฝ่าย


            การอุปสมบทภิกษุณีครั้งนี้เกิดขึ้น ณ เขตพัทธสีมา ของ “ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม” อันเป็นสำนักภิกษุณีตั้งอยู่ที่เกาะยอ จ.สงขลา มีคณะสงฆ์สองฝ่ายทั้งอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุและอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีมาร่วมประกอบพิธีการบวชอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย



          อุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุคือ พระมหาสังฆนายกมหินทวังสะ สังฆราชแห่งนิกายอมรปุระจากประเทศศรีลังกา พระกรรมวาจาจารย์หรือพระคู่สวดได้แก่ ท่านคาลุปาหนะ ปิยรตนะ และท่านธลังกาเล สุธรรมะ ทั้งสองท่านมาจากศรีลังกา ในขณะที่ปวัตตินีหรืออุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณี คือ ท่านสุมิตราเถรี จากศรีลังกา ภิกษุณีกรรมวาจาจารย์ได้แก่ ท่านสุมนปาลีจากศรีลังกา ท่านสันตินีจากอินโดนีเซีย และท่านวิธิตาธรรมมาจากเวียดนาม มีพระภิกษุร่วมนั่งหัตถบาส ๑๓ รูป พระภิกษุณี ๑๕ รูป


            การบวชเป็นพระภิกษุต้องบวชเป็นสามเณรก่อนฉันใด สุภาพสตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณีก็ต้องผ่านการบวชเป็นสามเณรีก่อนฉันนั้น สามเณรีคือหญิงผู้ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ถือศีล ๑๐ ข้อเช่นเดียวกับสามเณร เมื่อบวชเป็นสามเณรีแล้วก่อนจะบวชเป็นภิกษุณีต้องถือปฏิบัติเป็นสิกขมานาเป็นเวลา ๒ ปี สิกขมานาคือสามเณรีผู้ถือศีล ๑๐ แต่ปฏิบัติศีล ๖ ข้อแรกอย่างเคร่งครัด เมื่อปฏิบัติเป็นสิกขมานาครบ ๒ ปีแล้วและมีอายุครบ ๒๐ ปีขึ้นไปจึงจะอุปสมบทเป็นภิกษุณี



                                 สามเณรีจำนวน 47 รูป หลังบรรพชาเสร็จกำลังเดินลงมาจากอุโบสถ



            สำหรับพิธีอุปสมบทภิกษุณีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เริ่มต้นด้วยคณะภิกษุณีสงฆ์เข้านั่งครบองค์ประชุมในเขตพัทธสีมา มีอุปัชฌาย์ฝ่ายหญิงคือปวัตตินีนั่งเป็นประธาน มีพระกรรมวาจาริณี ๓ รูปและพระภิกษุณีร่วมนั่งหัตถบาส ๑๕ รูป  จากนั้นสิกขมานา ๘ รูป เข้าสู่เขตพัทธสีมา ทำความเคารพปวัตตินีแล้วเริ่มกระบวนการสอบถามอันตรายิกธรรม ๒๔ ข้อโดยมีพระกรรมวาจาริณีเป็นผู้สอบถาม



“อันตรายิกธรรม” คือคุณสมบัติของผู้ที่จะบวชภิกษุณีมี ๒๔ ข้อ (พระภิกษุมี ๑๓ ข้อ) การสอบถามอันตรายิกธรรมของภิกษุณีเป็นที่มาที่ทำให้เกิดการอุปสมบทในสงฆ์สองฝ่ายขึ้น กล่าวคือในยุคแรกของการบวชภิกษุณีนั้นพระพุทธเจ้ามอบภาระการบวชภิกษุณีให้คณะภิกษุสงฆ์เป็นฝ่ายจัดการทั้งหมด แม้การสอบถามอันตรายิกธรรมก็ดำเนินการโดยภิกษุ เมื่อภิกษุเป็นฝ่ายสอบถามอันตรายิกธรรมกับนางสิกขมานาจึงเกิดความขลุกขลัก เพราะคำถามประกอบไปด้วยเรื่องอวัยวะเพศและรอบเดือนของสตรี เช่นถามว่า ท่านมีรอบเดือนหรือไม่ ท่านมีอวัยวะเพศสมบูรณ์แบบผู้หญิงหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้นางสิกขมานารู้สึกเขินอายที่จะตอบเพราะผู้ถามเป็นบุรุษเพศ ในที่สุดพระพุทธเจ้าจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการให้คณะภิกษุณีสงฆ์เข้ามามีส่วนในการสอบถามอันตรายิกธรรมด้วยการจัดให้มีปวัตตินีเป็นอุปัชฌาย์ฝ่ายหญิงและมีกรรมวาจาริณีฝ่ายหญิงเพื่อสอบถามอันตรายิกธรรมกับนางสิกขมานาโดยตรง เมื่อผู้หญิงถามผู้หญิงด้วยกันเองก็เกิดความสะดวกใจไม่ต้องเขินอาย สาเหตุที่การบวชภิกษุณีต้องบวชกับสงฆ์สองฝ่ายจึงมีด้วยประการฉะนี้


            สำหรับการบวชภิกษุณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อกรรมวาจาริณีสอบถามอันตรายิกธรรมจำนวน ๒๔ ข้อกับนางสิกขมานาเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ปิดท้ายด้วยการสวดญัตติจตุตถกรรมโดยมีคณะภิกษุณีสงฆ์จำนวน ๑๕ รูปเป็นสักขีพยาน


“ญัตติจตุตถกรรม” คือการสวดคู่โดยพระภิกษุหรือภิกษุณีที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หรือพระกรรมวาจาริณี (หรือที่เรียกว่าพระคู่สวด) เพื่อสวดขอมติยินยอมให้ผู้ขอบวชที่อยู่เบื้องหน้าสงฆ์ได้มีสถานะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีตามคำขอบวช  หลังจากที่กรรมวาจาริณีสวดญัตติจตุตถกรรมจบถือว่าสิกขมานาทั้ง ๘ รูปสำเร็จเป็นพระภิกษุณีเป็นลำดับแรกแต่ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากต้องได้รับการสวดญัตติจตุตถกรรมจากฝ่ายภิกษุเป็นลำดับถัดมา ดังนั้นจากนี้ไปจึงเป็นวาระของคณะพระภิกษุสงฆ์เข้าสู่เขตพัทธสีมาโดยคณะภิกษุนั่งฝั่งตรงข้ามกับคณะภิกษุณี มีพระอุปัชฌาย์นั่งเป็นประธานตรงกลางพร้อมด้วยพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อนั้นภิกษุณีทั้ง ๘ รูปผู้ผ่านการบวชจากคณะภิกษุณีสงฆ์เข้าทำความเคารพพระอุปัชฌาย์ผู้เป็นประธาน จากนั้นพระกรรมวาจาจารย์ฝ่ายภิกษุทำการสวด “ญัตติจตุตถกรรม” ให้กับภิกษุณีทั้ง ๘ เป็นลำดับ มีคณะภิกษุและภิกษุณีร่วมนั่งเป็นสักขีพยานในเขตสงฆ์

           

               

                                 นาคินีเข้ากอดคุณพ่อ - คุณแม่ ก่อนจะเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรี

           เมื่อพระกรรมวาจาจารย์ฝ่ายภิกษุสวด “ญัตติจตุตถกรรม” จบถือว่าภิกษุณีทั้ง ๘ รูปสำเร็จการอุปสมบทเป็นภิกษุณีอย่างสมบูรณ์ด้วยสงฆ์สองฝ่ายถูกต้องตามพระธรรมวินัย จากนั้นปิดท้ายด้วยพระอุปัชฌาย์สวดอนุศาสน์ ๑๑ ข้อให้กับนางภิกษุณีทั้ง ๘ ได้รับฟัง อนุศาสน์ ๑๑ ข้อประกอบด้วย นิสสัย ๓ คือ บิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (ภิกษุณีไม่ต้องอยู่โคนไม้เป็นวัตรจึงเหลือเพียงนิสสัย ๓ ) พร้อมด้วยอกรณียกิจ ๘ ซึ่งมาจากสิกขาบทปาราชิก ๘ ข้อของภิกษุณี (สำหรับพระภิกษุฟังอนุศาสน์ ๘ ข้อ)



ตามธรรมเนียมเมื่อเสร็จพิธี ทั้งภิกษุและภิกษุณีผู้บวชใหม่ต้องฟังอนุศาสน์จากพระอุปัชฌาย์ทันทีเพื่อภิกษุหรือภิกษุณีผู้บวชใหม่ได้ทราบว่าตนเองทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้บ้างจะได้ไม่ละเมิดสิกขาบทด้วยความไม่รู้  ทั้งหมดนี้เป็นพิธีกรรมการบวชภิกษุณีเกิดขึ้นที่เกาะยอ จ.สงขลา เป็นวาระที่ชาวพุทธพึงอนุโมทนาที่เมืองไทยมีพุทธบริษัทครบ ๔ แล้ว                                                                                                        

                                                                                              


.
.