วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ออกพรรษา ... ออกศึก

คมชัดลึก  / วัน (พระ) อังคาร 27 ตุลาคม 2558
เขียน / พระชาย วรธัมโม 
ภาพ / ความสุข และความสุข






เมื่อวันออกพรรษามาถึง นั่นหมายถึงช่วงเวลาอยู่กับที่ของพระภิกษุได้สิ้นสุดลง และช่วงเวลาแห่งการลาสิกขาของพระบวชใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น 




ลาสิกขาคืออะไร

          ภาษาทางการของคำว่า “ลาสึก” คือ “ลาสิกขา” ไม่ใช่ ลาสิกขาบท อย่างที่ชอบเขียนกันผิดๆ

            สิกขา หมายถึง การศึกษา แต่เป็นการศึกษาที่รวมถึงการปฏิบัติด้วย ลาสิกขาจึงหมายถึง “การบอกลาการปฏิบัติในศีล ๒๒๗ ข้อ” พระภิกษุผู้ไม่อาจปฏิบัติในศีล ๒๒๗ ข้อได้อีกต่อไปหรือมีเหตุจำเป็นต้องลาสึกจึงขอลาศีล ๒๒๗ ไปสู่ศีล ๕ ใช้ชีวิตแบบคฤหัสถ์ เราจึงเรียกว่า “ลาสิกขา”

            ลาสิกขาไม่ได้หมายถึง “ลาไตรสิกขา”   ถ้าหากหมายถึง “ลาไตรสิกขา” ละก็เรื่องใหญ่เลย เพราะนั่นหมายถึงการบอกลาการปฏิบัติใน “ศีล สมาธิ ปัญญา” อันเป็นหัวใจของการศึกษาพุทธศาสนา นั่นเท่ากับเป็นการหยุดปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งไม่น่าจะใช่ความหมายนี้




วิธีการลาสิกขาทำอย่างไร

            พระภิกษุผู้ลาสิกขากล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเพียงรูปเดียวก็สามารถลาสิกขาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สงฆ์เป็นหมู่คณะ และไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในโบสถ์หรือในเขตพัทธสีมา ลาสิกขาที่ไหนก็ได้


            แท้จริงแล้วการลาสิกขาเป็นการประกาศยุติการเป็นนักบวชด้วยตนเอง คนอื่นเป็นเพียงผู้รับรู้เหตุการณ์เท่านั้น ในกรณีที่ไม่มีพระภิกษุ ในพระวินัยท่านอนุญาตให้คฤหัสถ์เป็นสักขีพยานให้ได้ โดยพระภิกษุผู้ลาสิกขาหันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปพร้อมกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระพุทธรูป โดยมีคฤหัสถ์นั่งเป็นสักขีพยานอยู่เบื้องหลังพระภิกษุ

            การลาสิกขาถือเป็นพิธีกรรมที่ง่ายมาก ขอเพียงมีผู้รู้เห็นเป็นพยานเท่านั้นก็สำเร็จพิธี




คำลาสิกขา   

          คำลาสิกขากล่าวว่า “สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติมัง ธาเรถะ” เมื่อกล่าวคำนี้ต่อหน้าพระสงฆ์หรือบุคคลที่เป็นพยานถือว่าภิกษุผู้ลาสิกขาได้กลายเป็นคฤหัสถ์ไปในทันทีเพราะคำลาสิกขาแปลว่า “ข้าพเจ้าลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์”




 


ทำใจอย่างไรเมื่อลาสิกขา

          โดยทั่วไปเมื่อลาสิกขาต่อหน้าอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านมักจะให้โอวาทแก่เราด้วยการตั้งจิตให้มั่นว่าเราต้องการละจากเพศสมณะจริงๆ ขณะกล่าวคำลาสิกขาต้องทำจิตตั้งมั่นว่าบัดนี้เรากำลังจะกลายเป็นฆราวาสแล้วไม่ใช่พระอีกต่อไป หากเรายังรู้สึกตัวว่าเป็นพระจะกลายเป็นเรื่องยุ่งเหยิงเนื่องจากเราตัดความเป็นพระไม่ขาด เมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตฆราวาสทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำจะกลายเป็นอาบัติโดยไม่รู้ตัวและมีความผิดเนื่องจากความเป็นพระยังคงอยู่


            เวลาได้ยินคำสอนลักษณะนี้แล้วก็นึกขำอยู่ในใจ จะเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะสามารถละวางความรู้สึกว่าเป็นพระได้ในทันทีหลังจากกล่าวคำลาสิกขาเช่นนั้น เพราะความเป็นพระที่อุตส่าห์สั่งสมบ่มเพาะมาตลอด ๓ เดือนยังติดตรึงอยู่ในความรู้สึกอย่างแน่นแฟ้น เป็นไปไม่ได้ที่จู่ๆ เราจะละวางความรู้สึกว่าเป็นพระได้ในทันทีนอกเสียจากตอนบวชเป็นพระเคยปฏิบัติสติปัฏฐานกำหนดความเป็น “อนัตตา” ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนว่าตนเองไม่ใช่อะไรแม้แต่การเป็นพระก็เป็นเรื่องปรุงแต่ง ถ้ากำหนดเช่นนี้มาตลอด ๓ เดือนก็เชื่อว่าขณะลาสิกขาไม่จำเป็นต้องทำใจอะไรมากมาย เป็นเรื่องสบายๆ ไม่ต้องคิดปรุงแต่งว่าตนเองกำลังจะหลุดจากความเป็นพระ เพราะปกติเราก็ไม่ได้เป็นพระหรือเป็นอะไรกันอยู่แล้ว


            แต่ความจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยทั่วไปเวลาเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุเราก็มักกำหนดความเป็นตัวเป็นตนว่า “ข้าพเจ้าเป็นพระภิกษุ” ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครมากำหนดว่าตนเองเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ครั้นเมื่อถึงเวลาลาสิกขาจึงเป็นไปไม่ได้หรอกที่จู่ๆ เราจะละวางความเป็นพระได้ในทันทีโดยอัตโนมัติ


            ในทางเดียวกันพระที่บวชระยะสั้น ๗ วัน ๑๐ วันแล้วลาสิกขา จู่ ๆ จะให้ละวางความเป็นพระก็ดูเป็นเรื่องที่น่าสับสนอย่างไรชอบกล เพราะลำพังชั่วเวลา ๗ วัน ๑๐ วัน จะทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นพระได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้น้อยมาก การจะรู้สึกตัวว่าตนเองเป็นพระได้นั้นต้องใช้เวลาบ่มเพาะกันนานเป็นเดือนกว่าจะรู้สึกตัวว่าเป็นพระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระที่บวชระยะสั้นเมื่อถึงเวลาลาสิกขาคงทำใจกันสับสนเพราะตนเองเพิ่งบวชได้ไม่นานยังรู้สึกตัวว่าเป็นฆราวาส จู่ๆ จะให้รู้สึกตัวว่าเป็นพระแล้วก็สลับมาให้รู้สึกตัวว่าเป็นฆราวาสอีกทีในตอนสึกก็ดูจะเป็นเรื่องที่น่าจะทำให้สับสนภายใน


            คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือ “ทำใจให้เป็นปกติ” เพียงแค่กำหนดรู้ว่าขณะนี้กำลังเปลี่ยนสถานะจากพระเป็นคฤหัสถ์ก็เท่านั้นเอง หากยังรู้สึกตัวว่าตนเองเป็นพระก็ไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาอะไรในเมื่อความรู้สึกตัวว่าเป็นพระเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปละวางอะไร อาจจะดีเสียอีกตรงที่ความรู้สึกว่าเป็นพระที่ยังคงมีอยู่นั้นจะได้ต่อเนื่องเป็นกำลังใจแก่เราในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในเพศฆราวาสสืบต่อไป




ออกพรรษา ออกศึก

          สมัยก่อนเมื่อลาสิกขาแล้วทิดสึกใหม่มักจะลดศีลตนเองลงมาให้เหลือศีล ๘ และอยู่วัดสัก ๒-๓ วันก่อนจะออกจากวัดไปผจญโลกอีกครั้งเพื่อที่ว่าใจและกายจะได้ค่อยๆ ปรับตัว ไม่ใช่ว่าพอสึกแล้วออกจากวัดทันทีด้วยศีล ๕ อันนั้นจะทำให้ออกไปผจญโลกแบบเอ๋อๆ


            ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป คนมีเวลาน้อยลงพอสึกแล้วก็ต้องรีบออกไปหางานทำ จึงทำให้บางคนปรับสภาพจิตไม่ทันเนื่องจากที่ผ่านมาอยู่ในวัดมีแต่ความสงบ เมื่อต้องออกไปทำงานข้างนอกก็พบกับความสับสนวุ่นวายปรับสภาพจิตตนเองไม่ทัน คนโบราณจึงกำหนดให้ทิดสึกใหม่อยู่วัดถือศีลก่อนแล้วค่อยออกไปผจญโลก


            การลาสึกในอีกความหมายหนึ่งจึงหมายถึง “การออกศึก” คือการออกไปเผชิญทุกข์ หลักธรรมต่างๆ ที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาในช่วงที่บวช เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เกิดเป็นความยินดียินร้ายขึ้นมาก็ต้องมีสติสัมปชัญญะประคับประคองจิตมิให้เตลิดเปิดเปิงไปกับสิ่งปรุงแต่ง มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสุขย่อมมีทุกข์ มีสรรเสริญย่อมมีนินทา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นธรรมดาของโลกที่มีอยู่แล้ว การใช้ชีวิตเป็นนักบวชในช่วง ๓ เดือนฤดูฝนจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการฝึกตนก่อนจะออกศึกไปผจญโลก


            การสวด “ชะยันโต” ให้พระที่ลาสิกขาจึงเป็นการให้กำลังใจกับท่านว่าต้องออกไปเผชิญหน้ากับข้าศึกคือความทุกข์ในโลกฆราวาส จงอย่าได้พ่ายแพ้กลับมา.