วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คอยคุณปุณ : การรอคอยที่ไร้จุดหมายและไม่มีวันสิ้นสุด





          ตอนที่ไปดูละครเรื่องนี้เป็นความ "บังเอิญ" มากกว่า เพราะวันนั้น (15 พฤศจิกายน) เปิดดู facebook ในห้องคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย แล้วหน้าโฆษณาละคร "คอยคุณปุณ" ก็กระเด้งดึ๋งขึ้นมาที่หน้าจอก็เลยรีบอ่านด้วยความสนใจว่ามันคืออะไร ที่แท้ก็คือละครนั่นเอง

          วันนั้นข้าพเจ้ายังอยู่ที่มหาวิทยาลัย (มจร. วังน้อย อยุธยา) แต่บังเอิญช่วงบ่ายไม่มีเรียน (รู้สึกคุณครูจะไม่มาสอนพอดี) ก็เลยเป็นโอกาสอันดีพร้อมกับเป็นเรื่องฟลุ๊คที่วันที่เห็นโฆษณาบังเอิญเป็นวันสุดท้ายของการแสดงในเดือนพฤศจิกายนพอดี เพราะมันเหลือการแสดงในเดือนธันวาคมอีกครั้ง และรู้ว่าถ้าไม่ดูวันนี้คงไม่ได้ดูอีกแล้วเพราะช่วงเดือนธันวาคมไม่ว่าง ในที่สุดก็จึงไปดูในตอนเย็นของวันนั้น และไม่นึกเลยว่าละครจะมีความยาวถึง 3 ชั่วโมง  !

          หลังจากดูละครจบก็คิดว่าน่าจะเขียนอะไรสักหน่อย เพราะเป็นละครมีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่น่าพูดถึง ปรากฏว่ามีงานเขียนค้างส่งอยู่หลายเจ้าด้วยกัน พร้อมทั้งมีบทความเร่งด่วนแทรกเข้ามา ก็เลยผลัดการเขียนมาเรื่อย จนเกือบจะไม่ได้เขียนอยู่แล้ว... จนวินาทีสุดท้ายของวันที่ 16 ธันวาคม ที่ต้องไปเข้ากัมมัฏฐาน บทความก็ถูกเขียนจนสำเร็จในเช้าวันนั้น แล้วก็รีบส่งทางอีเมล์ทันใด

(คือถ้าไม่ได้ส่งในเช้าวันนั้นก็จะพลาดอะไรหลาย ๆ อย่าง เนื่องจากกว่าจะออกจากกัมมัฏฐานก็คือ 27 ธันวาคม แล้วกว่าจะได้เขียนกว่าจะได้ลงก็คงจะเลื่อนไปอีกหลายวาระ เพราะฉะนั้นอย่าให้มันเลื่อนลอยไปกว่านี้เลย รีบเขียนและรีบส่งดีกว่า)

          แต่พอมาอ่านบทความตอนหลังก็พบว่ามีความผิดพลาดบางประการ ตอนดูละครรู้สึกจะหูเพี้ยน ได้ยินชื่อตัวละคร "ปารมี" เป็น "บารมี" และมาเช็คดูในสูจิบัตรละครเค๊าก็เขียนว่า "ปารมี" เหมือนกัน  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ว่าตัวละครจะชื่อ "ปารมี"  แล้วได้ยินผิดเป็น "บารมี"  ความจริงคำว่า "ปารมี"  ก็คือคำว่า "บารมี" นั่นเอง เพียงแต่คำว่า "ปารมี" เป็นคำดั้งเดิมมาจากภาษาบาลี ซึ่งพอมาเป็นคำไทยก็จะกลายเป็นคำว่า "บารมี"  

          แต่ไม่แน่ใจว่าผู้กำกับเค๊าจงใจสื่อคำว่า "ปารมี" ในเชิงล้อเลียน เสียดสี วิพากษ์วิจารณ์คำว่า "บารมี" ในทางพุทธศาสนาอย่างที่เราเข้าใจหรือเปล่า  แต่ก็ถือว่าเป็นมุมมองจากคนดูละครคนหนึ่งละกัน

          ในบทความที่เอามาลงใน Blog ก็เลยไม่ได้เปลี่ยนคำว่า "บารมี" เป็น "ปารมี"  เพราะถือว่าเขียนผิดไปแล้วก็แล้วกันไป และอย่างที่บอกก็คือ คำว่า "บารมี" กับคำว่า "ปารมี"  ก็เป็นคำๆ เดียวกันอยู่แล้ว

          มีหลายตอนทีเดียวที่ข้าพเจ้าดูไม่รู้เรื่อง - ไม่เข้าใจเหมือนกัน   แต่อาศัยว่าละครเป็นจินตนาการร่วมของคนดู หากดูไม่เข้าใจยังไงก็อาศัยช่วงไม่เข้าใจนั้นแหละตีความตามความเข้าใจของคนดูก็แล้วกัน จะได้ดูแล้วรู้เรื่อง ไม่เก็บไปปวดหัวต่อที่บ้าน

          สำหรับบทความวิเคราะห์ละครเรื่องนี้  คิดว่าใครที่ไม่ได้ดูละครเรื่องนี้ หลังจากได้อ่านก็เหมือนได้นั่งดูละครด้วยกันแหละเพราะบทความเปิดเผยเรื่องราวหมดเลย ไม่มีแอ๊บ ไม่มีแอบ และถึงจะอ่านไปก็คงไม่เป็นการเสียบรรยากาศและอรรถรสเพราะคุณผู้อ่านก็คงไม่มีโอกาสได้ดูละคระเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะเขาปิดการแสดงรอบสุดท้ายไปเมื่อบ่ายวันที่ 27 ธันวาคม ไปเรียบร้อยโรงเรียนบาลีแล้ว

          ฉะนั้นถึงจะรู้เรื่องตอนจบก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรส เพราะคุณก็ไม่มีโอกาสได้ดูละครเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะละครแสดงจบไปเรียบร้อยโรงเรียนบาลีแล้ว

          สุดท้าย ใครที่สนใจประเด็นพุทธศาสนา ถึงจะไม่ได้ดูละครเรื่องนี้  แต่ก็สามารถเก็บข้อมูล เนื้อหา และความรู้จากบทความนี้ได้เหมือนกัน....
ส่วนคอลัมน์ที่เขียนส่งไปลงเป็นคอลัมน์ "สนามวิจารณ์" เป็นคอลัมน์เปิดให้ใครส่งบทความวิจารณ์มหรสพไปลงก็ได้ ...  ...




................................................
................................................


คอยคุณปุณ : การรอคอยที่ ไร้จุดหมายและไม่มีวันสิ้นสุด
พระชาย วรธัมโม
กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 25 ธันวาคม 2555 คอลัมน์ สนามวิจารณ์






            ตอนที่ได้ยินชื่อละคร คอยคุณปุณ รู้สึกสงสัยว่าใครคือ คุณปุณ และ คุณปุณ มีความหมายอะไรให้รอคอย หลังชมละครเรื่องนี้จบถึงได้เข้าใจว่า คุณปุณคือใคร

            ทราบมาว่าละครเรื่องนี้เป็นละครดัดแปลงจากต้นฉบับบทประพันธ์ของฝรั่งเรื่อง Waiting for Godot และเคยมีการนำมาแสดงในภาคภาษาไทยหลายครั้งด้วยกัน แต่ข้าพเจ้าไม่เคยชมแม้แต่ครั้งเดียว นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ชมและเป็นการแสดงที่ผ่านการแปลงบทละครให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาด้วย หากไม่ทราบมาก่อนว่าละครเรื่องนี้เป็นละครดัดแปลงมาจากต้นฉบับต่างประเทศคงต้องบอกว่าละครเรื่องนี้มีเนื้อหาท้าทาย เสียดสี และวิพากษ์วิจารณ์อะไรๆ ในพุทธศาสนาไม่น้อย

            แต่เมื่อทราบว่าละครเรื่องนี้เป็นละครดัดแปลงจากต้นฉบับอีกทีก็ยิ่งรู้สึกประหลาดใจที่คนเขียนบทมีจินตนาการในแปลงบทให้สอดรับกับบริบทของพุทธศาสนาในบ้านเรา หลังจากดูละครเรื่องนี้จบอาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าแท้จริงแล้วไม่ว่าศาสนาไหนๆ ก็มี คุณปุณ อยู่ทุกศาสนานั่นเอง


ดุษฎี (ซ้าย) กับ ก้องเกียรติ (ขวา) ปรากฏตัวในฉากแรก กับบทสนทนาที่่แฝงเลศนัย ?


            เช้าวันหนึ่งก้องเกียรติกับดุษฎีพบกันที่สี่แยกมีต้นไม้ยืนต้นตายโดดเด่นเป็นที่สังเกต การปรากฏตัวของทั้งคู่ด้วยเสื้อผ้าสกปรกมอมแมมมีรอยปะทำให้คนดูอย่างข้าพเจ้ารู้สึกงงๆ ที่การแต่งตัวของตัวละครสองตัวนี้ขัดกับในภาพโฆษณาซึ่งทั้งสองแต่งกายด้วยชุดสูทสวยหรูสะอาดสะอ้าน

ก้องเกียรติกับดุษฎีเป็นเพื่อนกัน เขาทั้งสองพูดคุยกันด้วยเรื่องราวที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไรแต่บางครั้งก็แฝงเลศนัยผ่านคำถามที่ชวนให้คนดูคิดตามอย่างน่าฉงน ดุษฏีเอ่ยถามก้องเกียรติว่า ทำไมองคุลิมาลฆ่าคนมากมายและเกือบจะฆ่าพระพุทธเจ้าแต่ได้เป็นพระอรหันต์ ในขณะที่พระเทวทัตแค่คิดจะฆ่าพระพุทธเจ้าก็ตกนรกเสียแล้วหรือ เหตุใดนายจุนทะถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้าด้วยสุกรมัทวะจนพระพุทธเจ้าอาพาธและปรินิพพานจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ถวายทานอันมีผลบุญยิ่งใหญ่

คำถามแปลกๆ จากดุษฎีน่าจะทำให้คนดูถูกกระตุกด้วยความคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องราวในพุทธประวัติที่เคยเรียนรู้กันมา สนทนากันไปได้สักพักทั้งดุษฎีและก้องเกียรติก็ทำให้คนดูทราบว่าทั้งคู่นัดเจอกันที่นี่เพื่อมาพบ คุณปุณ ตามที่ได้นัดกันไว้

เวลาผ่านไปครู่ใหญ่คุณปุณไม่ได้มาตามนัด มีแต่ชายหนุ่มรูปร่างอ้วนท้วน ผิวพรรณดี แต่งกายภูมิฐานในชุดสูทสีน้ำเงินสดใส พิจารณาดูแล้วเขามีฐานะกว่าก้องเกียรติและดุษฎี เขาเดินผ่านสี่แยกแห่งนั้นพร้อมด้วยคนรับใช้ชื่อ บุญโชคที่เขาใช้เชือกลากจูงราวกับเป็นสัตว์เลี้ยง


"บารมี" (หรือ "ปารมี") เดินทางผ่าน 4 แยกแห่งนั้นพร้อมด้วย "บุญโชค" คนรับใช้


           ก้องเกียรติและดุษฎีเข้าใจผิดคิดว่าเขาคือ คุณปุณ ชายวัยกลางคนรูปร่างอ้วนท้วนดูดีมีสง่าราศีแนะนำตัวเองว่าเขาชื่อ บารมี ไม่ใช่ คุณปุณ อย่างที่คนทั้งสองคิด ด้วยการแต่งกายของ บารมี ที่ดูมีฐานะคนละเกรดกับก้องเกียรติและดุษฎี และด้วยชื่อ บารมี ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าตัวละครตัวนี้เป็นภาพแทนคำว่า บารมี ในความหมายของชาวพุทธที่มักจะหมายถึงคนรูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์แต่งตัวดี  มีอำนาจ มีเงิน มีฐานะ มีบริวาร ด้วยนัยยะของ บารมี ในความหมายนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าละครเรื่องนี้กำลังวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีความหมายของ บารมี ได้อย่างแสบสันต์

เหตุการณ์ถัดจากนี้ไป บารมี ก็โชว์ บารมี ในการมี บุญโชค ซึ่งเป็นคนรับใช้ให้ดูว่า บุญโชค ไม่ได้เป็นแค่คนรับใช้แบกสิ่งของให้เขาหรือเป็นเก้าอี้ที่แสนดีให้เขานั่งทับเท่านั้น แต่ บุญโชค ยังมีความสามารถพิเศษเมื่อมีการพยายามจับ บุญโชค ใส่เสื้อกันฝนสีส้มสด บุญโชค ก็จะสาธยายข้อมูลต่างๆ นานาแต่ไม่ใช่ข้อมูลที่จะฟังรู้เรื่องนัก นอกจาก บุญโชค จะเป็นคนรับใช้แล้วเขายังดูเป็น สัตว์เลี้ยง หรือไม่ก็ ของเล่นของ บารมี  จนเราแทบจะลืมไปเลยว่าบุญโชคก็เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีคนหนึ่ง


"บุญโชค" ในชุดเสื้อกันฝนสีส้มสดกำลังแสดงความสามารถพิเศษ


















          ดูเหมือนละครกำลังสะท้อนภาพ คนมีบารมีใช้อำนาจกดขี่ คนที่ไม่มีบารมี ได้อย่างน่าขบขันปนสมเพชเวทนาและน่าเจ็บปวดในเวลาเดียวกัน ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งเรามักจะเห็นภาพเช่นนี้ในสังคมของเราเอง บุญโชค อาจจะเป็นใครก็ได้ที่เป็นชนชั้นล่าง ในขณะที่คนแต่งตัวภูมิฐานอย่าง บารมี ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย

แล้ว บารมี กับ บุญโชค ก็เดินจากไปปล่อยให้ก้องเกียรติกับดุษฎีนั่งคอย คุณปุณ อยู่ ณ สี่แยกแห่งนั้น ไม่นานนักก็มีชายชราเดินผ่านมา ก้องเกียรติกับดุษฎีรู้สึกดีใจที่มีคนเดินผ่านมาอีก พวกเขาคิดว่าอาจจะเป็น คุณปุณ ที่รอคอยก็ได้ แต่ชายชราปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่ คุณปุณ แต่ คุณปุณ ได้ฝากเขาให้มาบอกชายหนุ่มทั้งสองว่า เย็นนี้คุณปุณมาไม่ได้ แต่พรุ่งนี้มาแน่


แล้วชายชราก็เดินผ่าน 4 แยกแห่งนั้น



















          ก้องเกียรติและดุษฎีถามชายชราว่า แล้วคุณปุณได้มอบหนังสือเดินทางให้ลุงด้วยหรือไม่ดูเหมือน คุณปุณ จะมีอำนาจหน้าที่บางอย่างที่สามารถพาใครๆ ไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการได้ผ่านการมอบ หนังสือเดินทาง และดูเหมือนว่าก้องเกียรติกับดุษฎีต้องการ หนังสือเดินทาง จาก คุณปุณ เพื่อเดินทางไปไหนสักแห่ง

แต่คำตอบของชายชราก็ทำให้บุคคลทั้งสองคนต้องงุนงงไปพร้อมๆ กับคนดูเมื่อชายชราตอบว่า ลุงก็ไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับคุณปุณหรอกแล้วชายชราก็เดินจากไปปล่อยให้ก้องเกียติกับดุษฎีรอคอยคุณปุณ ณ สี่แยกนั้นจนกระทั่งเวลาหมดไปอีกหนึ่งวัน











          เช้าวันถัดมาก้องเกียรติกับดุษฎียังคงรอคอย คุณปุณ ณ สี่แยกแห่งนั้น เหตุการณ์เหมือนเดิม แต่คราวนี้ต้นไม้ที่ยืนต้นตายกลับมีใบสีเขียวปลิออกมาจากยอดที่แห้งเหี่ยว หรือพวกเขามีความหวังจะได้เจอ คุณปุณ เหมือนกับซากต้นไม้ยืนต้นตายที่จู่ๆ วันนี้แตกหน่อเขียวออกมาให้เห็น

แล้ว บารมี กับ บุญโชค ก็เดินทางผ่านมายังสี่แยกแห่งนั้นอีกครั้งเช่นเดียวกับเมื่อวาน แต่วันนี้แปลกกว่าวันวานตรงที่ บารมี กลายเป็นคนตาบอด บุญโชค กลายเป็นใบ้ นี่เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาทั้งสอง มันช่างเป็นอะไรที่ดู อนิจจังสิ้นดี เหตุการณ์กลับดูสับสนยิ่งขึ้นเมื่อก้องเกียรติจำบารมีและบุญโชคไม่ได้ เขาแค่คับคล้ายคับคลาว่าเหมือนเคยเจอกันที่ไหนสักแห่งทั้งๆ ที่เขาเพิ่งเจอกันเมื่อวาน บารมีบอกว่าเขาตาบอดมานานแล้ว ส่วนบุญโชคก็เป็นใบ้มานานแล้วด้วย หรือเมื่อวานคืออดีตชาติ ส่วนวันนี้คือชาติใหม่ที่ บารมี และ บุญโชค ก็ไม่ได้เกิดมามีอาการครบ ๓๒ เหมือนชาติที่แล้ว แต่ บารมี ก็ยังมี บารมี เหมือนเดิม ในขณะที่ก้องเกียรติก็ไม่สามารถจำคนทั้งสองได้เพราะนี่คือชาติใหม่ แต่ถึงจะเป็นภพใหม่ชาติใหม่ทั้งก้องเกียรติและดุษฎีก็ต้องกลับมาคอย คุณปุณ ณ สี่แยกแห่งนี้เหมือนเดิมทุกประการ

ด้วยอาการที่ก้องเกียรติบอกว่าเหมือนเคยเจอบารมีกับบุญโชคที่ไหนสักแห่งแต่จำไม่ได้ ในสังสารวัฏอันยาวไกลนี้หรือเปล่าที่บ่อยครั้งคนเรามักมีความรู้สึกเหมือนกับเคยพบเจอใครคนหนึ่งมาก่อน หรือรู้สึกเหมือนเคยทำอะไรบางอย่างซ้ำๆ แล้วตัวละครก็ต้องทำในสิ่งซ้ำๆ เดิมๆ ก้องเกียรติกับดุษฎีมาคอยคุณปุณอยู่ที่สี่แยกเดิม บารมีกับบุญโชคก็เดินผ่านมายังสี่แยกเดิม ชายชราคนเดิมผ่านมาอีกครั้งเพียงเพื่อจะบอกคนทั้งสองเช่นเดิมว่า วันนี้คุณปุณมาไม่ได้ วันพรุ่งนี้เขาจะมาแน่นอน


ชายชราเดินผ่าน 4 แยกแห่งนั้นอีกครั้ง เพื่อจะมาบอกดุษฎีว่า . . .


 
เมื่อละครจบลงข้าพเจ้าเข้าใจมากขึ้นว่า คุณปุณ ในละครเป็นสัญลักษณ์ของคุณค่าบางอย่างที่ชาวพุทธเฝ้าหวังว่าจะไปให้ถึง ในที่นี้อาจหมายถึง นิพพาน ที่ชาวพุทธรอคอยแต่ไม่มีวันไปถึงได้จริง เหมือนกับที่ชาวพุทธอธิษฐานก่อนการทำบุญทุกครั้งว่า ขอให้เข้าถึงนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ ด้วยคำอธิษฐานเช่นนี้จึงทำให้เราไม่สามารถเข้าถึง นิพพาน ที่แท้จริงได้สักที เกิดภพใหม่ชาติใหม่เราก็รอคอย นิพพาน ในชาติหน้าอยู่ร่ำไป

ละครยังกระตุก ธาตุตื่นรู้ ของคนดูด้วยการให้แง่คิดคล้ายๆ จะเสียดสีหรือสะท้อนอะไรบางอย่างออกมา อย่างเช่นตอนที่ก้องเกียรติกับดุษฎีเห็นชะตากรรมอันเลวร้ายของ บุญโชคที่ถูกใช้งานเยี่ยงสัตว์ แล้วทั้งสองก็สนทนากันว่าเห็นบุญโชคแล้วดีใจที่ยังมีคนที่แย่กว่าเรา เวลาที่เรามองดูคนอื่นที่ย่ำแย่กว่าเราแล้วเรารู้สึกดีขึ้นนั้น ตกลงอาการเช่นนี้เท่ากับว่าเรากำลังดีใจที่เห็นคนอื่นทุกข์กว่าเราอย่างนั้นหรือ นี่เหมือนเป็นการตรวจสอบคำพูดปลอบโยนที่เราชอบพูดกันอยู่เสมอเวลามีความทุกข์

ละครยังมีกลิ่นไอคำสอนของท่านพุทธทาสที่พูดว่าวันหนึ่งๆ เราเกิด ภพชาติกันหลายครั้ง เกิดกิเลสครั้งหนึ่งเท่ากับเกิดภพชาติขึ้นมาครั้งหนึ่งโดยไม่ต้องรอให้ตายแล้วไปเกิดใหม่ เพราะนี่คือภพชาติที่เกิดขึ้นหลายครั้งในวันเดียวซึ่งน่าจะย้ำเตือนให้คนเข้าใจ ภพชาติในความหมายใหม่มากขึ้น

ละครยังสะท้อนกำเนิด ๔ จำพวก คือ ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ อัณฑชะ เกิดในไข่ สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคลที่ชื้นแฉะสกปรก โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้นทันที เมื่อจู่ๆ ตัวละครทั้ง ๔ คือ ก้องเกียรติ ดุษฎี บารมี และบุญโชคต้องลงไปนอนเกือกกลั้วกับพื้นลุกขึ้นไม่ได้ ดูราวกับพวกเขาไปเกิดในเถ้าไคลเมื่อดุษฎีพูดถึงกำเนิดทั้ง ๔






          “สี่แยก จุดเกิดเหตุที่ก้องเกียรติและดุษฎีมาพบกันเพื่อรอคอย คุณปุณ  เลข ๔ เป็นสัญลักษณ์หมายถึง อริยสัจ ๔ ที่พูดถึงการวนเวียนอยู่ในความทุกข์แต่ยังไปไม่ถึง การหลุดพ้นจากความทุกข์ การที่ละครจับเอาด้านทุกข์มานำเสนอเพียงด้านเดียวเข้าใจว่าละครต้องการสะท้อนโศกนาฏกรรมของมนุษย์ และต้องการบทจบที่มีผลสะเทือนต่อความรู้สึกทางใจของคนดู ละครอาจจะจบแบบแฮ้ปปี้เอนดิ้งก็ได้โดยให้ คุณปุณ ปรากฏตัวในตอนท้าย แล้วให้ก้องเกียรติกับดุษฎีก็พบกับความสมหวัง แต่การจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งอาจไม่ทำให้เกิดผลสะเทือนทางความคิดกับคนดูมากเท่ากับปล่อยให้ตัวละครทั้งสองต้องรอคอยต่อไป

 “คอยคุณปุณ ละครความยาว ๓ ชั่วโมงเป็นละครที่นำเสนอผ่านการซ่อนคติทางพุทธศาสนาไว้อย่างน่าสนใจ แต่ความจริงแล้ว คุณปุณ อาจจะไม่จำเป็นต้องหมายถึง นิพพาน ก็ได้ คุณปุณ อาจหมายถึงอะไรบางอย่างที่มนุษย์เราเฝ้ารอคอยมาเป็นเวลายาวนานแต่ไม่เคยมีวันสมหวังหรือเป็นจริงสักที

เมื่อละครเรื่องนี้จบลงข้าพเจ้ารู้สึกได้ว่าก้องเกียรติกับดุษฎีไม่ได้รอคุณปุณที่สี่แยกแห่งนี้เพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น แต่ก้องเกียรติกับดุษฎีมารอ คุณปุณ หลายครั้งหลายหนแล้วเมื่อก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะเข้าไปนั่งชมละครเรื่องนี้เสียอีก และเมื่อข้าพเจ้าลุกออกจากโรงละครไป ทั้งก้องเกียรติและดุษฎีก็ยังคงรอคอย คุณปุณ อยู่ ณ สี่แยกแห่งนั้นตลอดมา...และเขาทั้งสองไม่เคยพบเจอ คุณปุณ ตัวจริงเลยสักที ...






หมายเหตุคุณปุณ :

            คอยคุณปุณ เป็นละครที่ดัดแปลงมาจากละครตะวันตกเรื่อง Waiting for Godot จากบทประพันธ์ของ Samuel Beckett ชาวไอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นละครคลาสสิคที่ ขึ้นหิ้งในเรื่องความเป็นอมตะของบทประพันธ์ด้วยการที่ละครได้รับการยอมรับในวงกว้างทั้งในแวดวงวิชาการและในกลุ่มนักการละคร มีการนำบทประพันธ์ไปแปลเป็นภาษาต่างๆ และมีการแสดงซ้ำในหลายประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เคยมีการนำละครเรื่องนี้มาแสดงซ้ำหลายครั้งหลายหนมาแล้ว
            ละคร Waiting for Godot แสดงครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ Theatre de Babylone กรุงปารีส ฝรั่งเศส จนกระทั่งล่าสุด พ.ศ. ๒๕๕๕  ผศ.ชุติมา มณีวัฒนา แห่งภาควิชาศิลปะการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้นำมาดัดแปลงตีความใหม่ในบริบทพุทธศาสนาแต่ยังคงโครงเรื่องเดิมไว้ในชื่อไทยว่า คอยคุณปุณ โดยจัดแสดงที่ หอจดหมายเหตุพุทธทาส (สวนรถไฟ) The Style by Toyota ระหว่างพฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๕๕ 
            และรอบสุดท้าย 27 ธันวาคม 2555 ที่ Blue Box Studio
           ขอบคุณภาพประกอบมากมายก่ายกอง จาก Facebook/SSRUPA 


วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ตามติดศิษย์ตถาคตกับชีวิตติดล้อ "ปั่นเพื่อโลก"




ตามติดศิษย์ตถาคตกับชีวิตติดล้อ  "ปั่นเพื่อโลก"
พระชาย วรธัมโม / เรื่อง
เสือออย และ นนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล / ภาพ           คมชัดลึก 13 ธันวาคม 2555


          หากใครสัญจรบนถนนราชดำเนินในบ่ายวันอังคารที่ ๔ ธันวาคมที่ผ่านมาคงต้องประหลาดใจที่เห็นพระภิกษุ ๒ รูปกับแม่ชีอีก ๑ ท่าน กำลังปั่นและนำขบวนจักรยานอีกประมาณ ๓๐๐ คัน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าไปยังโรงพยาบาลศิริราชอย่างช้าๆ

          ขบวนจักรยานมากมายเกือบ ๓๐๐ คันโดยมีพระภิกษุและแม่ชีนำขบวนครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันของนักปั่นจักรยานที่มาจาก ๔ ทิศ คือ เหนือ ใต้ อีสาน และกลาง เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานแทนการใช้น้ำมันและก๊าซ ภายใต้ โครงการ ๔ ทิศรวมใจไทยเป็นหนึ่งเดียว เพื่อนัดพบกัน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนจะมุ่งหน้าสู่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อถวายพระพรแด่ในหลวงเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวามหาราช ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว แต่ที่พิเศษกว่าปีอื่นๆ เพราะปีนี้ขบวนจักรยานนำโดยพระภิกษุและแม่ชี ซึ่งเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีคุณสัจจา ขุทรานนท์ ประธานเครือข่ายชุมชนคนใช้จักรยานแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานและเป็นผู้คิดโครงการนี้ขึ้นมา





          สำหรับ พระอาจารย์สมบูรณ์ สุมังคโล อายุ ๕๔ ปี พรรษา ๒๗ แห่งวัดป่าลานหินตัด จ.บุรีรัมย์ เราทราบกันดีว่าท่านหันมาใช้จักรยานได้ ๙ ปีแล้ว เนื่องจากต้องไปสอนธรรมะในโรงเรียนที่ห่างไกล ท่านไม่มีรถยนต์และไม่ได้ร่ำรวยเหมือนวัดอื่นๆ ทางเดียวที่สะดวกคือต้องพึ่งตนเอง จักรยานจึงเป็นคำตอบ

          พระอาจารย์สมบูรณ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ใช้เวลา ๕ วันกว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วไม่อยากเข้ามาเพราะเสี่ยงกับวิธีคิดที่ไม่เปิดกว้างของญาติโยมที่นี่ เคยมีโยมนิมนต์เหมือนกันแต่ก็ปฏิเสธไป แต่คราวนี้เห็นว่าเป็นการรวมตัวกันของนักปั่นจาก ๔ ภาคซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ หากเราไม่มาก็คงพลาดโอกาสในการพบเจอนักปั่นที่มีอุดมการณ์ต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน รวมทั้งเป็นการปั่นเพื่อถวายพระพรแด่ในหลวงก็เลยยอมเสี่ยงเข้ามา ถึงจะเสี่ยงแต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ถ้าเราไม่มาก็คงไม่มีวันนี้
          พระอาจารย์สมบูรณ์เผยถึงความรู้สึกขณะปั่นจักรยานในกรุงให้ฟังว่า รู้สึกดี สุดยอด การปั่นเข้ามาในกรุงเทพฯ ต้องมีสติเต็มร้อย ตอนแรกเรารู้สึกวิตกกังวล กลัวนู่น กลัวนี่ กลัวคนประท้วงไม่ยอมรับ พอเอาเข้าจริงก็ไม่มีอะไร เราตีตนไปก่อนไข้เอง บางคนก็ตาค้าง บางคนพนมมือไหว้ก็มี

                   พระอาจารย์สมบูรณ์ (ซ้าย) พระศุภชัย (ขวา) และ แม่ชีสมสวัสดิ์

          พระสงฆ์รูปถัดมา หลวงพี่หมู หรือ พระศุภชัย สิริปัญโญ อายุ ๔๐ ปี พรรษา ๑๔ แห่งวัดเชิงผา จ.สุโขทัย เป็นพระภิกษุอีกรูปหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ ๔ ทิศรวมใจไทยเป็นหนึ่งเดียว หลวงพี่หมูรู้จักพระอาจารย์สมบูรณ์จากการเข้าไปเป็นนักเรียนของกลุ่มเสขิยธรรม รุ่นปี ๒๕๔๐ ท่านให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกที่มีต่อพระอาจารย์สมบูรณ์ว่า ผมศรัทธาพระที่ทำจริง ท่านจับแล้วไม่ปล่อย พระที่ลงมือทำเพื่อสังคมแล้วมีคำตอบให้กับสังคมชัดเจนแบบนี้หายาก ผมจึงศรัทธา

          กับคำถามว่าเหนื่อยไหมกับระยะทาง ๔๕๐ กิโลเมตรกว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ หลวงพี่หมูตอบว่า ทรมานมากกว่า โดนแดดเผาทั้งวัน ผมไม่ได้สวมหมวกกันน็อคเพราะเห็นว่าหมวกมันป้องกันผิวทำให้เกิดความสบาย เราออกธุดงค์ด้วยจักรยานควรจะเรียนรู้ความทุกข์ เราควรเผชิญกับความทุกข์ ไม่หวั่นไหวไปกับความทุกข์ แต่ในที่สุดก็ต้องใส่หมวกเพราะมันทุกข์จนเกินจะทน

          เมื่อถามถึงความรู้สึกเมื่อตอนปั่นจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังโรงพยาบาลศิริราช หลวงพี่หมูเล่าว่า รู้สึกกดดัน ในเมืองใหญ่ๆ ไม่เคยมีวัฒนธรรมให้พระปั่นจักรยาน มันเสี่ยงกับความเข้าใจของชาวพุทธที่นี่ ผมต้องรู้สึกกดดันถึง ๓ ครั้งทีเดียว คือ กับวัดที่เราเข้าไปพัก ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และที่โรงพยาบาลศิริราช ผมได้ยินเสียงพูดว่า เฮ้ย นั่นพระรึเปล่า ?และมีเสียงตอบว่าไม่ใช่ ๆและบางคนก็มองตาค้างด้วยความงง ทำให้ผู้คนมีแต่ความสงสัยไม่ได้คำตอบ

          ผมอยากสื่อสารว่าสังคมต้องการคนรับผิดชอบร่วมกันในทุกส่วน เช่น การพึ่งตนเอง ทุกวันนี้คนติดเทคโนโลยีกันมากติดสบายกัน การปั่นจักรยานเป็นการทำให้ชาวพุทธหันกลับมาพึ่งตนเอง เราควรพึ่งตนเองในทุกมิติของชีวิต การที่พระออกมาปั่นจักรยานก็เพื่อกระตุกสังคมให้หันกลับมาทบทวนหลักธรรมเรื่องการพึ่งตนเอง ผมจำคำพูดของพระพรหมคุณาภรณ์ได้ว่า ชาวพุทธสูญเสียความสามารถในการพึ่งตนเอง จักรยานเป็นเครื่องมือหนึ่งในการกลับมาพึ่งตน มันคือจิตสำนึก ทุกฝ่ายต้องหันกลับมาดูแลโลก หากพระสงฆ์เราหันมารณรงค์เรื่องจักรยานจะช่วยสังคมได้มาก พระสงฆ์ก็ยังเป็นหนี้บุญคุณโลก หากมีคำถามว่านี่ใช่กิจสงฆ์หรือไม่ ผมตอบได้ทันทีว่านี่แหละเป็นหน้าที่ของสงฆ์โดยตรงเลย

          นักบวชท่านสุดท้ายของโครงการ ๔ ทิศรวมใจไทยเป็นหนึ่งเดียวครั้งนี้เป็นนักบวชหญิงและเป็นสุภาพสตรีคนเดียวในกลุ่มที่ปั่นมาจากภาคอีสาน เธอชื่อแม่ชีต้อยหรือแม่ชีสมสวัสดิ์ มหาโคตร อายุ ๓๖ ปี พรรษา ๕ แม่ชีรู้จักพระอาจารย์สมบูรณ์เมื่อปี ๒๕๕๒ โดยเพื่อนแม่ชีแนะนำให้มาจำพรรษาที่วัดป่าลานหินตัด ครั้งแรกที่รู้จักพระอาจารย์สมบูรณ์แม่ชีเล่าว่า รู้สึกแปลกใจ ที่มีพระทำกิจกรรมกับเยาวชน ปกติเคยเห็นแต่พระประกอบพิธีกรรม สวดมนต์ แล้วก็เทศน์ 

           แม่ชีต้อย หรือ แม่ชีสมสวัสดิ์ มหาโคตร กับจักรยานคู่ใจที่ปั่นมาจาก จ.บุรีรัมย์

          แม่ชีให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนจักรยาตราถวายพระพรครั้งนี้ว่า ตัดสินใจว่าไม่กลัวลำบากเป็นไงเป็นกัน ไปธุดงค์อยู่ป่าอยู่เขาก็เคยมาแล้ว ปั่นจักรยานธุดงค์คงไม่ยากเท่าไหร่ ปกติแม่ชีปั่น ๒๐ กม.ต่อชั่วโมง พอปั่นเข้ากลุ่มใหญ่ช่วงถึงชานเมืองก่อนเข้ากรุงเทพฯ ต้องเร่งเป็น ๓๐ กม.ต่อชั่วโมงเพราะกลุ่มใหญ่เขาปั่นกันเร็วมากก็เลยปวดขาบ้างแต่ก็อยู่ตัว โดยเฉพาะเส้นทางในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยคุ้นเหมือนในชนบท

          กับคำถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการปั่นที่พระบรมรูปทรงม้าไปยังโรงพยาบาลศิริราชในวันนั้น แม่ชีตอบว่า ไม่ได้รู้สึกกดดันเหมือนกับพระอาจารย์ทั้งสอง คงเพราะแม่ชีไม่ได้ถูกคาดหวังอะไรจากสังคม เป็นแค่นักบวชชั้นสองคล้ายๆ กับพลเมืองชั้นสองเหมือนบางคนบอกว่าเป็นไส้ติ่งของศาสนาก็เลยไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่ถามว่าเป็นพระเป็นชีปั่นจักรยานผิดหรือไม่ ก็ตอบได้ว่ามันไม่ผิด ขอให้มองย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาลนักบวชอาจมีการขี่ช้างขี่ม้าเป็นพาหนะ ถ้าสมัยพุทธกาลมีจักรยานก็น่าจะขี่ได้เพราะใช้พลังงานจากกายเราเอง ถ้าเราไปขี่หลังสัตว์ก็ทำให้สัตว์ต้องทรมานอีก

แต่วันนั้นกลับรู้สึกตื่นเต้น สนุกดี ใครๆ ก็เห็นเราชัดเจน มีแต่คนมองมาที่พระและแม่ชีเป็นจุดเดียวแถมมีจักรยานตามมาอีกเป็นฝูงมีรถตำรวจนำอีกต่างหากเลยกลายเป็นจุดสนใจ รู้สึกภูมิใจและเป็นวาระพิเศษที่ได้ปั่นจักรยานถวายพระพรแด่ในหลวงและน่าจะเป็นตัวอย่างให้แม่ชีในชนบทได้หันมาใช้จักรยานกัน มีเพื่อนแม่ชีที่สุรินทร์เห็นพระอาจารย์สมบูรณ์ขี่จักรยาน ก็เลยกลับไปสร้างความเข้าใจกับญาติโยมในหมู่บ้านว่าแม่ชีจะขี่จักรยานกลับไปดูแลแม่ชราภาพที่บ้านทุกวัน แม่ชีไม่มีรายได้ไม่มีกิจนิมนต์การสัญจรในชนบทก็ลำบาก จึงขอให้ญาติโยมเข้าใจในกิจอันนี้ญาติโยมก็เข้าใจยอมรับได้ เพื่อนแม่ชีจึงขี่จักรยานกลับไปดูแลแม่ทุกวัน

นั่นเป็นประสบการณ์และความรู้สึกของนักบวชทั้งสามท่านกับการปั่นจักรยานถวายพระพรแด่ในหลวงเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ภารกิจของทั้งสามท่านยังไม่จบเท่านี้ พวกท่านยังมีสถิติ ๒,๖๐๐ กิโลเมตรรอสะสมให้ครบเนื่องในโอกาสโคตมะพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐ ปี พวกเขาวางเส้นทางไปสู่ภาคตะวันออกแล้ววกขึ้นสู่ภาคอีสานเพื่อกลับถึงวัดในที่สุด

เราขอให้คณะธุดงค์จักรยาตราคณะนี้เดินทางโดยสะดวกปลอดภัย และกลับถึงวัดโดยสวัสดิภาพ.

คำถามของชีวิต ... กับจิตที่สงบ


คำถามของชีวิต กับ จิตที่สงบ
พระชาย วรธัมโม                                คมชัดลึก  6  ธันวาคม 2555








                สมัยเรียน ม.๑ ในชั่วโมงแนะแนวคุณครูแจกกระดาษให้คนละ ๑ แผ่นพร้อมกับถามว่า ถ้าเปิดโอกาสให้นักเรียนตั้งคำถาม ๑ คำถาม นักเรียนจะถามว่าอะไร ให้นักเรียนเขียนคำถามนั้นลงในกระดาษ จำได้ว่าผู้เขียนเขียนลงไปในกระดาษว่า คนเราเกิดมาทำไม

            พอคุณครูได้รับกระดาษไปอ่านก็ถามว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังคำถามนี้หรือเปล่า ก็ตอบคุณครูไปตรงๆ ว่า รู้สึกว่าช่วงที่ผ่านมาชีวิตมันยุ่งเหยิง พอจบ ป.๖ ก็ต้องจากเพื่อนเก่าๆ ที่สนิทกันเพื่อไปสอบเข้า ม.๑ ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ พอเข้าโรงเรียนใหม่ก็ต้องเจอกับระบบระเบียบของโรงเรียนที่เคร่งครัดไปจากเดิม ต้องเจอเพื่อนที่มีนิสัยแตกต่างไปจากเพื่อนตอน ป.๖ ต้องปรับตัวหลายอย่างกับเพื่อนใหม่ ครูคนใหม่ และโรงเรียนใหม่ หนำซ้ำยังต้องเรียนแผนการเรียนที่ตัวเองไม่ชอบ อยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไม่ได้ อยากไปเรียนโรงเรียนที่ชอบก็ไม่ได้ไป  

คุณครูคงรู้สึกว่าเด็ก ม.๑ ไม่น่าถามอะไรซีเรียสจริงจังขนาดนั้น แต่ด้วยความที่ชีวิตในช่วงนั้นถือว่าเป็นอะไรที่สับสนและยุ่งเหยิงสุดๆ คำถามว่า เกิดมาทำไม จึงผุดขึ้นมาในความคิดทันที

            คุณครูยังอุตส่าห์ถามว่าในชีวิตชอบอ่านหนังสือธรรมะหรือเปล่า เพราะคนที่ตั้งคำถามว่า เกิดมาทำไมมักถูกมองว่าเป็นคนสนใจธรรมะ ซึ่งการตั้งคำถามว่าเกิดมาทำไมอาจจะไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการสนใจหรือไม่สนใจธรรมะก็ได้ แค่รู้สึกข้องใจเฉยๆ แค่นั้นเองว่าทำไมคนเราต้องเกิดมาเพื่อมาเจอกับความสับสนวุ่นวายบนโลกนี้ด้วย จึงตอบคุณครูไปตามความจริงว่าไม่ได้ชอบอ่านหนังสือธรรมะเลย

            หลังจากนั้นคำถามว่า คนเราเกิดมาทำไมก็ค่อยๆ จางหายไปจากชีวิตประจำวันของผู้เขียน เพราะชีวิตในช่วงถัดมาก็มีอะไร ๆ เปลี่ยนผ่านเข้ามาในชีวิตตลอดเวลาทั้งสุขและทุกข์ จนทำให้ผู้เขียนลืมคำถามคาใจนั้นไปในที่สุด   

จากนั้นผ่านไป ๘ ปี ชีวิตของผู้เขียนก็หันเหเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา การเข้ามาบวชทำให้ได้พบกับสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต สิ่งแปลกใหม่ที่ว่าก็คือพุทธศาสนาภาคปฏิบัติที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน ต้องโกนหัว ต้องนุ่งห่มผ้าเหลือง ต้องถือศีลวัตรปฏิบัติ ๒๒๗ ข้อในแบบที่เราเองก็ไม่คุ้นเคย ต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในวัด วันๆ ไม่ได้ไปไหน การที่กิจวัตรประจำวันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการบิณฑบาต ฉัน สวดมนต์ ปฏิบัติสมาธิภาวนาแล้วก็จำวัตรในเวลาค่ำ เป็นวงจรชีวิตที่วนเวียนอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เราอยู่ในภาวะที่สงบ เพียงระยะเวลาอันสั้นของการเข้ามาบวชก็หล่อหลอมให้จิตของเรารู้สึกสงบไปโดยอัตโนมัติ เมื่อเทียบกับตอนเป็นฆราวาสผู้เขียนก็เคยฝึกสมาธิภาวนาอยู่บ้างแต่จิตใจก็ไม่เคยเข้าถึงความสงบเลย คงเพราะตอนเป็นฆราวาสเราไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมและสถานะที่เอื้อให้จิตใจของเราได้สัมผัสกับความสงบนั่นเอง

สิ่งแวดล้อมที่สงบกับศีลวัตรปฏิบัติที่มากขึ้นมีผลให้จิตสงบได้เหมือนกัน




การที่จิตเปลี่ยนภาวะจากความสนุกสนานลิงโลดในภาคฆราวาสมาเป็นความสงบในแบบนักบวช ทำให้เกิดการสัมผัสความสุขภายในในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความสุขทางโลกที่เคยสัมผัสมา ทำให้เกิดการรับรู้อย่างแจ่มชัดว่าความสุขที่มีเหตุปัจจัยมาจากความสงบทางจิตนั้นเป็นความสุขที่ประณีต ซึ่งไม่สามารถอธิบายผ่านตัวหนังสือให้คุณผู้อ่านที่ไม่เคยสัมผัสกับความสุขสงบชนิดนี้ให้เข้าใจได้ แต่อยากอธิบายว่าเป็นความสุขภายในที่ทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าแท้จริงแล้วความสุขของชีวิตก็คือ จิตที่สงบ นี่เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขทางโลกที่เราเสพๆ กันอยู่เทียบกันไม่ได้เลย

ผู้เขียนระลึกย้อนหลังกลับไปตอน ม.๑ ที่เคยเขียนคำถามลงในกระดาษว่า คนเราเกิดมาทำไมจึงค้นพบว่าแท้จริงแล้วคนเราเกิดมาเพื่อค้นพบ จิตสงบนี่เอง ชีวิตคนเราเกิดมากว่าจะได้พบเจอกับความสงบทางจิตก็ต้องติดข้องกับการดิ้นรนเรื่องปากท้องและความอยากมากมายในชีวิตที่แทรกตัวเข้ามา บางคนเกิดมาไม่นานก็พบกับจิตสงบทันที บางคนกว่าจะพบจิตสงบก็ในบั้นปลายชีวิต แต่บางคนก็ไม่เจอและไม่เคยรู้เลยว่าจิตสงบคืออะไร

            เมื่อมองย้อนกลับไปตอน ม.๑ หากเทียบกับ อริยสัจ ๔  ผู้เขียนเข้าใจตัวเองในตอนนั้นมากขึ้นว่าเวลานั้นเรากำลังเจอ ความทุกข์นั่นเอง ความทุกข์ ซึ่งเป็นข้อที่ ๑ ในอริยสัจ ๔ แต่เวลานั้นเรายังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจอริยสัจอีก ๓ ข้อที่เหลือ คือ สมุทัย นิโรธ และมรรค

            ในช่วงเวลานั้นเรารู้สึกทุกข์เพราะมีหลายเรื่องที่ไม่ได้ดังใจหวังทำให้ชีวิตดูสับสนวุ่นวาย เมื่อเจออะไรที่ไม่สมหวังเยอะเข้าๆ จึงทนไม่ไหวเกิดความข้องใจสุดขีดว่าตกลงชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไร เพื่อมาเจอกับความทุกข์เท่านั้นหรือ
            สมุทัย แปลว่า สาเหตุของทุกข์ คือจิตที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดติดกับความคาดหวังต่างๆ นานา ยึดติดเพื่อน ยึดติดโรงเรียนเก่า คาดหวังกับแผนการเรียนที่อยากเรียน คาดหวังไปกับโรงเรียนในฝันที่ตัวเองอยากไปเรียน เมื่อจิตยึดติดกับความคาดหวังเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสมหวังไปเสียทุกเรื่อง เมื่อผิดความคาดหวังขึ้นมาจิตก็เสียศูนย์ มีการซัดส่ายไปตามความผิดหวังหลายเรื่องที่ประดังประเดเข้ามา

            นิโรธ แปลว่า ความดับไปแห่งทุกข์ คือภาวะจิตที่ไร้ทุกข์ มีแต่ความสงบ ซึ่งในเวลานั้นผู้เขียนก็ยังไม่รู้จักว่าเป็นอย่างไร

            มรรค แปลว่า หนทางแห่งการดับทุกข์ คือ การฝึกจิตให้ละคลายจากการยึดติดต่างๆ เมื่อจิตคลายความยึดติดไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นจิตที่อิสระ ซึ่งในเวลานั้นผู้เขียนก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าการฝึกจิตต้องทำอย่างไร




            ณ เวลานั้นถึงแม้ความทุกข์ของเด็ก ม.๑ จะไม่ได้รับการเยียวยาด้วยสมาธิภาวนา แต่เมื่อเวลาผ่านไปความทุกข์เหล่านั้นก็จางคลายเลือนหายไปเองเหลือไว้แต่ความทรงจำ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเด็กคนนั้นก็จบ ม.๓ มีการเปลี่ยนโรงเรียนใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนโรงเรียนใหม่ความทุกข์เก่าหายไปความทุกข์ใหม่เข้ามาแทนที่ เมื่อเราโตขึ้น กิเลส ความต้องการ ความใฝ่ฝันของเราก็เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไป ความทุกข์ก็มีพัฒนาการเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปตามการเติบโตของเรา ความทุกข์ในวัยเด็กไม่สามารถทำให้เราทุกข์ได้อีกต่อไปเพราะกิเลสและความต้องการของเราเปลี่ยนแปลงหน้าตาไปแล้วแต่ก็ยังคงมีความทุกข์อันใหม่สัญจรเข้ามาเหมือนเดิม ใครหลายคนต่างก็ตกอยู่ในสังสารวัฏแห่งการเกิดดับของความทุกข์ลักษณะนี้เรื่อยมา และไม่สามารถค้นหาวิธีการดับทุกข์ที่ชะงัดได้สักที 

วิธีการดับทุกข์ที่ชะงัดก็คือการทำจิตให้สงบ เมื่อนั้นเราจะรู้เองว่าทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามหน้าที่ของมัน มีเพียงจิตใจของเราเท่านั้นที่เข้าไปยึดติดข้องเกี่ยว

            การทำจิตให้สงบไม่ได้หมายความว่าเราต้องละทิ้งการงานแล้วออกบวช จิตที่สงบมีได้ทั้งในเพศนักบวชและเพศฆราวาส นักบวชบางท่านบวชมานานแต่ไม่รู้จักจิตสงบก็เป็นไปได้ ฆราวาสบางคนมีจิตที่สงบกว่านักบวชก็มี

วิธีการทำจิตให้สงบเพียงแค่เราจัดช่วงเวลาสั้นๆ ให้ชีวิตได้อยู่ในที่ๆ สงบหรือไปเรียนรู้กัมมัฏฐานที่วัด ที่นั่นเราอาจได้ลิ้มรสของจิตสงบว่าเป็นอย่างไร เราไม่จำเป็นต้องมีจิตสงบแบบถาวรในทันที เพียงแค่รับรู้ประสบการณ์จิตสงบแบบชิมลางเพื่อเป็นจุดเปรียบเทียบให้เรารู้จักมากขึ้นว่าจิตสงบมีรสชาติเป็นความสุขที่ประณีตกว่าความสุขทางโลก เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของความสุขอย่างโลกๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาหลอกเราทุกเมื่อเชื่อวัน เพื่อที่เราจะได้มีจิตสงบแบบถาวรในที่สุด

            จิตสงบไม่ได้หมายความว่าเราต้องหันไปใช้ชีวิตในชนบทหรือใช้ชีวิตอยู่แต่ในวัดเท่านั้น แต่จิตที่สงบยังสามารถทำงานอยู่ในเมืองที่ยุ่งเหยิงได้ เมื่อเราผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีจิตสงบก็สามารถอยู่กับเราและไปกับเราได้ทุกๆ ที่ เพียงแค่เราจัดเวลาชีวิตให้มีช่วงเวลาฝึกปฏิบัติให้จิตได้รู้วิธีสงบอย่างชำนาญ

            จิตสงบยังเป็น ๑ ในมงคล ๓๘ ประการ และใช่ว่าจิตสงบจะมีในพุทธศาสนาเท่านั้น จิตสงบมีอยู่ในทุกศาสนา จิตสงบเป็นสิ่งสากลไม่ว่าชนชาติใดหรือศาสนาใดก็สามารถเข้าถึงจิตสงบได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

            สำหรับผู้เขียนแล้วจิตที่สงบไม่ได้ให้คำตอบแค่ว่า เกิดมาทำไมเท่านั้น แต่จิตสงบยังให้คำตอบที่กว้างขวางกว่านั้นมาก

คำตอบที่กว้างกว่านั้นคืออะไร อยากให้คุณผู้อ่านได้ค้นหาด้วยตนเอง...

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ทุกอย่างไม่เคยว่างเปล่า...จาก บันทึกถึงพ่อ



'ทุกอย่างไม่เคยว่างเปล่า'  จาก  บันทึกถึงพ่อ

พระชาย วรธัมโม                          

                                                                   คมชัดลึก  พุธ  21  พฤศจิกายน  2555



          เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนเพิ่งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งไปคือโยมพ่อ ก่อนนี้เคยคิดและจินตนาการอยู่เหมือนกันว่าหากวันใดเราสูญเสียท่านไปคงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและทุกข์ทรมาน และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อวันลาจากมาถึงก็เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและทุกข์ทรมาน ทรมานทั้งผู้ที่กำลังจะจากไปและทรมานทั้งผู้ที่ยังอยู่

          ผู้เขียนเคยมีความสงสัยอยู่ลึกๆ เช่นกันว่าหากเราตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งแล้วพบว่าสมาชิกในบ้านคนหนึ่งหายไปไม่กลับมา การดำเนินชีวิตของสมาชิกที่เหลือและบรรยากาศในบ้านจะเป็นอย่างไร ในที่สุดความสงสัยนั้นก็ถูกทำให้หายไปเมื่อเราต้องประสบกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง

          เราพบว่ามันคือความว่างเปล่า คือห้วงเวลาของความคิดคำนึง อาลัยอาวรณ์ เศร้าสลด กึ่งหลับกึ่งตื่น คล้ายกับกำลังตกอยู่ในห้วงของความฝัน ทางกายก็มีอาการรับประทานอาหารไม่ลง ทางจิตก็มีภาวะหดหู่ซึมเศร้าไม่เบิกบาน ภาวะของการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นอย่างนี้นี่เอง

          แต่ประสบการณ์การลาจากสำหรับแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนบอกว่าตอนพ่อแม่เสียก็สามารถยอมรับและผ่านสถานการณ์นั้นไปได้ด้วยดีไม่มีร้องไห้ ไม่หดหู่ซึมเศร้า แต่ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าเราจะผ่านไปได้ด้วยดีหรือผ่านไปด้วยความยากลำบาก ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังผ่านไปก็คือการเรียนรู้

การลาจากเป็นความทุกข์ทรมานก็จริงแต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปทุกสิ่งทุกอย่างก็เข้าที่เข้าทางของมันเอง ไม่มีความทุกข์ทรมานใดจะคงทนอยู่อย่างถาวรตราบเท่าที่เราไม่ยึดติดมันไว้ เมื่อถึงเวลาความทุกข์นั้นก็ต้องสูญสลายไปเหลือไว้แต่ความทรงจำและภาพของความรู้สึกดีๆ และชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

          ที่ผ่านมาผู้เขียนมีเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับพ่อที่อยากแบ่งปัน ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน

          แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ของผู้เขียนกับโยมพ่อเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นเท่าไรเพราะโยมพ่อไม่เคยยอมรับการออกบวชของผู้เขียนเลย

โยมพ่อเกิดที่เมืองจีนลงเรือหนีความยากจนจากประเทศจีนมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ ถ้าไม่หนีมาอยู่เมืองไทยก็ต้องเป็นลูกชาวนายากจนอยู่ที่นั่น เวลานั้นญาติๆ ของพ่อก็สนับสนุนให้อพยพไปอยู่เมืองไทยกัน เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็มีชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ ต้องดิ้นรนขายผักตั้งแต่เล็ก พ่ออ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้แต่พูดไทยได้และเขียนภาษาจีนเก่ง  เมื่อโตขึ้นแต่งงานกับแม่ก็หันไปขายก๋วยเตี๋ยว แล้วก็ไปเป็นหัวหน้าคนงานดูแลสวนส้มรังสิตของมหาเศรษฐีท่านหนึ่ง จากนั้นก็ออกมาเช่าที่ดินทำไร่ส้มด้วยตนเองจนกระทั่งได้กำไรมีที่ดินเป็นของตนเองไว้เป็นสมบัติให้ลูกหลาน จะได้ไม่ต้องไปเช่าที่เขาอยู่จนสามารถสร้างหลักปักฐานได้อย่างมั่นคงหวังให้ลูกๆ ขยันทำมาหากิน แต่เมื่อมีลูก จู่ๆ ลูกก็ออกไปบวชถึงสองคน ในความคิดของพ่อจึงมองว่าพ่ออุตส่าห์หนีความยากจนมาอยู่เมืองไทย เหตุไฉนลูกจึงไม่บากบั่นเหมือนพ่อ เหตุไฉนลูกจึงสิ้นไร้ไม้ตอกต้องไปบวชอยู่วัดขอเขากินไม่ขยันทำมาหากิน นั่นเป็นสิ่งที่พ่อไม่สามารถรับได้  ในขณะที่ลูกเห็นว่าครอบครัวมีวิบากกรรมบางอย่างที่คอยสนองผล การมีบุคคลในบ้านออกบวชน่าจะช่วยลดทอนวิบากกรรมนั้นได้บ้าง แต่นี่ก็เป็นเรื่องยากที่พ่อจะเข้าใจ

โยมพ่อกับโยมแม่และลูกสองคนแรก เด็กชายที่ยืนคือพี่ชายคนโต ส่วนโยมแม่กำลังอุ้มลูกสาวคนที่สอง หลังจากภาพนี้ผ่านไปหลายปียังมีน้องๆ คลานตามมาอีก ๘ คน ผู้เขียนเป็นคนเล็กสุด โยมแม่ยังมีชีวิตอยู่ปัจจุบันอายุ ๘๕ ปี


          เมื่อมุมมองชีวิตของเราเป็นไปคนละแนวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่เราจะเข้าใจกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเราสองคนพ่อลูกเปรียบเหมือนกับ รางรถไฟอันเป็นเส้นขนานที่ยากจะมาบรรจบกัน เมื่อเราไปบ้านเราเห็นหน้ากันเราไม่เคยพูดจาปราศรัยกันเลยจนแทบจะนับได้ว่าในปีหนึ่งๆ เราคุยกันกี่ครั้ง หลังจากบวชบางช่วงผู้เขียนก็ไม่ได้กลับบ้านเป็นปีๆ เพราะเราพูดกันคนละภาษา ความสัมพันธ์ของเราเหมือนกับรางรถไฟจริงๆ

          แต่ในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อวันเวลาผ่านไปโยมพ่อชราภาพมากขึ้น มีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน เริ่มจากโรคถุงลมโป่งพองอันเนื่องมาจากบุหรี่ที่พ่อสูบมาตั้งแต่วัยรุ่นจนทำให้พ่อตัดสินใจเลิกบุหรี่เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ตามด้วยโรคต่อมลูกหมากโตพร้อมด้วยโรคนอนไม่หลับและมีอาการชาที่ช่วงขา บางครั้งก็เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

          นี่จึงเป็นเหตุให้พ่อกับลูกมีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น เราพยายามกลับบ้านให้บ่อยเพื่อเยี่ยมพ่อถามถึงสารทุกข์สุขดิบของพ่อ พ่อก็มีโอกาสถามถึงสารทุกข์สุขดิบของลูก วันหนึ่งเราเห็นพ่อต้องกินยานอนหลับทุกวันจึงถามถึงอาการนอนไม่หลับของพ่อ เพราะยาไม่ใช่อาหารหากไม่จำเป็นเราไม่ควรกินยาบ่อยๆ แต่ด้วยอาการนอนไม่หลับพ่อจึงต้องพึ่งยานอนหลับทุกวัน

          วันนั้นเราถามพ่อว่าเป็นอะไรทำไมนอนไม่หลับ คำตอบของพ่อทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจเมื่อพ่อตอบว่าเหตุที่พ่อนอนไม่หลับเพราะตั้งแต่อาเฮีย (พี่ชายคนโตของผู้เขียน) เสียชีวิต ก็ไม่มีใครขับรถออกไปช่วยขายปุ๋ยเลย (การขายปุ๋ยของพ่อในช่วงเวลานั้นเป็นรายได้หลักเข้าบ้านทางหนึ่ง) แม้ลูกคนอื่นจะช่วยขับรถแทนให้แต่ก็ไม่ดีเท่ากับพี่ชายคนโต เมื่อขาด มือขวา ที่สำคัญของการทำมาหากินพ่อจึงนอนไม่หลับ เพราะเป็นห่วงครอบครัวกลัวว่าครอบครัวจะลำบากและยังมีหนี้สินพะรุงพะรัง พ่อจึงเริ่มคิดมากและนอนไม่หลับมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นเวลา ๙ ปีแล้วที่พ่อต้องพึ่งยานอนหลับ

          สิ่งที่พ่อเล่าให้ฟังทำให้เรามองเห็นความรักความห่วงใยของพ่อที่มีต่อครอบครัว เพราะความรักความห่วงใยทำให้พ่อกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ วันไหนไม่ได้กินยาก็จะนอนไม่หลับ การนอนไม่หลับเป็นสิ่งที่ทรมานแต่พ่อก็ต้องอดทนไปกับมัน

          การที่บทบาทของพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวถูกกำหนดให้ต้องออกไปทำหน้าที่หาเงินนอกบ้าน ทำให้เป็นเรื่องยากที่ใครๆ จะสามารถมองเห็นความรักของพ่อที่มีต่อครอบครัวได้

          ๕ ปีสุดท้ายก่อนที่พ่อจะเสียชีวิตความสัมพันธ์ของเราดีขึ้นเป็นลำดับ เราพยายามหาเวลาไปเยี่ยมท่านให้บ่อยขึ้น พยายามหาเรื่องชวนคุย เราได้เห็นสังขารของพ่อที่ร่วงโรยไปอย่างรวดเร็ว จากคนที่เคยแข็งแรงเป็นหัวหน้าครอบครัวเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่ว กลายเป็นคนแก่วัยชราผมขาวจนบางครั้งแทบไม่มีเรี่ยวแรงเดินแม้แต่จะไปห้องน้ำก็ต้องคอยพยุง ผู้เขียนเริ่มรู้แล้วว่าเวลาที่เราใกล้ชิดกันเริ่มเหลือน้อยลง มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญจริงๆ เมื่อความสัมพันธ์ของเราพัฒนามาถึงขีดสุดเมื่อวันหนึ่งพ่อถามว่า พระฉันข้าวหรือยัง ในชีวิตพ่อไม่เคยทักทายผู้เขียนเลยว่าฉันข้าวหรือยัง คำถามนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งว่าพ่อยอมรับการใช้ชีวิตเป็นนักบวชของลูกแล้ว

ในที่สุดผู้เขียนจึงมีโอกาสสอนท่านให้รู้จักการเจริญสติในลมหายใจเข้าออกด้วยการภาวนาพุทโธ แต่คนแก่ในวัย ๘๕ ปีจะเข้าใจการกำหนดลมหายใจได้มากมายอะไร อย่างมากก็ทำได้เพียงประเดี๋ยวประด๋าว แม้แต่การจะสอนในช่วงเวลาที่ท่านยังเป็นหนุ่มก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะโยมพ่อไม่ได้ศรัทธาชีวิตนักบวชของลูกมาตั้งแต่ต้น จึงเป็นเรื่องยากที่ท่านจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีที่สุด

แท้จริงแล้วการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่ดีที่สุดคือการนำพาท่านให้เกิดศรัทธาและปัญญาในพระศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนำพาท่านให้เข้าใจใน ไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา การเลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ดี แต่จะดีเลิศหากเราสามารถนำพาท่านให้รู้จักการปฏิบัติภาวนาทำใจให้สงบและปล่อยวาง นี่ถือเป็นการตอบแทนท่านทางจิตวิญญาณทีเดียวเพราะทำให้ท่านได้เรียนรู้พัฒนาจิตใจตนเอง แม้ละสังขารไปแล้วหากยังไม่ไปนิพพานอย่างน้อยจิตย่อมไปสู่สุคติ

ผู้เขียนไม่เสียใจที่ไม่สามารถสอนโยมพ่อให้รู้จักการภาวนาได้อย่างที่คาดหวังเพราะเข้าใจในเหตุปัจจัยดี แต่อย่างน้อยเราสามารถทำให้ท่านยอมรับการบวชพระของเราได้นี่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว จะเป็นเรื่องน่าเสียดายขนาดไหนหากเราไม่ได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายด้วยกันเพื่อเรียนรู้ที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีถึงขั้นนี้ ต้องบอกว่าเป็นการ เลือกใช้โอกาส ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากกว่า

ถึงตรงนี้ผู้เขียนอยากบอกว่าเรามีเวลาเหลือน้อยแล้วสำหรับการดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ คุณผู้อ่านมีพ่อแม่ที่ทิ้งไว้ข้างหลังหรือไม่ หากมีก็ควรใช้โอกาสที่เหลือใกล้ชิดกับท่านให้มากที่สุดก่อนที่เวลาของคุณกับท่านจะหมดลงและไม่ควรพูดว่าไม่มีเวลา อย่างน้อยควรหาเวลาไปเยี่ยมท่านบ้างเพื่อคุณจะได้ไม่ต้องมาตัดพ้อในภายหลังว่า รู้อย่างนี้ฉันมาเยี่ยมมาดูแลท่านบ้างก็ดี

สำหรับผู้เขียนเลือกใช้โอกาสสุดท้ายด้วยการกลับบ้านให้บ่อยที่สุด บางครั้งก็นอนในห้องเดียวกับพ่อและยังรู้สึกดีที่ได้ใกล้ชิดท่านในช่วงเวลาสุดท้าย นั่นเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราได้ปฏิบัติท่านก่อนที่จะสูญเสียท่านไปในที่สุด..คนเรามีโอกาสเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปเราไม่อาจเรียกโอกาสนั้นให้กลับคืนมาได้อีก.

                                                  นอนหลับอย่างสงบนิรันดร์

** เรียบเรียงจากปาฐกถาธรรมก่อนฌาปนกิจศพโยมพ่อของผู้เขียน นายซูเหมียง แซ่อึ๊ง วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕  ณ วัดเขียนเขต  ปทุมธานี