วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ออกพรรษา ... ออกศึก

คมชัดลึก  / วัน (พระ) อังคาร 27 ตุลาคม 2558
เขียน / พระชาย วรธัมโม 
ภาพ / ความสุข และความสุข






เมื่อวันออกพรรษามาถึง นั่นหมายถึงช่วงเวลาอยู่กับที่ของพระภิกษุได้สิ้นสุดลง และช่วงเวลาแห่งการลาสิกขาของพระบวชใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น 




ลาสิกขาคืออะไร

          ภาษาทางการของคำว่า “ลาสึก” คือ “ลาสิกขา” ไม่ใช่ ลาสิกขาบท อย่างที่ชอบเขียนกันผิดๆ

            สิกขา หมายถึง การศึกษา แต่เป็นการศึกษาที่รวมถึงการปฏิบัติด้วย ลาสิกขาจึงหมายถึง “การบอกลาการปฏิบัติในศีล ๒๒๗ ข้อ” พระภิกษุผู้ไม่อาจปฏิบัติในศีล ๒๒๗ ข้อได้อีกต่อไปหรือมีเหตุจำเป็นต้องลาสึกจึงขอลาศีล ๒๒๗ ไปสู่ศีล ๕ ใช้ชีวิตแบบคฤหัสถ์ เราจึงเรียกว่า “ลาสิกขา”

            ลาสิกขาไม่ได้หมายถึง “ลาไตรสิกขา”   ถ้าหากหมายถึง “ลาไตรสิกขา” ละก็เรื่องใหญ่เลย เพราะนั่นหมายถึงการบอกลาการปฏิบัติใน “ศีล สมาธิ ปัญญา” อันเป็นหัวใจของการศึกษาพุทธศาสนา นั่นเท่ากับเป็นการหยุดปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งไม่น่าจะใช่ความหมายนี้




วิธีการลาสิกขาทำอย่างไร

            พระภิกษุผู้ลาสิกขากล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเพียงรูปเดียวก็สามารถลาสิกขาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สงฆ์เป็นหมู่คณะ และไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในโบสถ์หรือในเขตพัทธสีมา ลาสิกขาที่ไหนก็ได้


            แท้จริงแล้วการลาสิกขาเป็นการประกาศยุติการเป็นนักบวชด้วยตนเอง คนอื่นเป็นเพียงผู้รับรู้เหตุการณ์เท่านั้น ในกรณีที่ไม่มีพระภิกษุ ในพระวินัยท่านอนุญาตให้คฤหัสถ์เป็นสักขีพยานให้ได้ โดยพระภิกษุผู้ลาสิกขาหันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปพร้อมกล่าวคำลาสิกขาต่อหน้าพระพุทธรูป โดยมีคฤหัสถ์นั่งเป็นสักขีพยานอยู่เบื้องหลังพระภิกษุ

            การลาสิกขาถือเป็นพิธีกรรมที่ง่ายมาก ขอเพียงมีผู้รู้เห็นเป็นพยานเท่านั้นก็สำเร็จพิธี




คำลาสิกขา   

          คำลาสิกขากล่าวว่า “สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติมัง ธาเรถะ” เมื่อกล่าวคำนี้ต่อหน้าพระสงฆ์หรือบุคคลที่เป็นพยานถือว่าภิกษุผู้ลาสิกขาได้กลายเป็นคฤหัสถ์ไปในทันทีเพราะคำลาสิกขาแปลว่า “ข้าพเจ้าลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์”




 


ทำใจอย่างไรเมื่อลาสิกขา

          โดยทั่วไปเมื่อลาสิกขาต่อหน้าอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านมักจะให้โอวาทแก่เราด้วยการตั้งจิตให้มั่นว่าเราต้องการละจากเพศสมณะจริงๆ ขณะกล่าวคำลาสิกขาต้องทำจิตตั้งมั่นว่าบัดนี้เรากำลังจะกลายเป็นฆราวาสแล้วไม่ใช่พระอีกต่อไป หากเรายังรู้สึกตัวว่าเป็นพระจะกลายเป็นเรื่องยุ่งเหยิงเนื่องจากเราตัดความเป็นพระไม่ขาด เมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตฆราวาสทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำจะกลายเป็นอาบัติโดยไม่รู้ตัวและมีความผิดเนื่องจากความเป็นพระยังคงอยู่


            เวลาได้ยินคำสอนลักษณะนี้แล้วก็นึกขำอยู่ในใจ จะเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะสามารถละวางความรู้สึกว่าเป็นพระได้ในทันทีหลังจากกล่าวคำลาสิกขาเช่นนั้น เพราะความเป็นพระที่อุตส่าห์สั่งสมบ่มเพาะมาตลอด ๓ เดือนยังติดตรึงอยู่ในความรู้สึกอย่างแน่นแฟ้น เป็นไปไม่ได้ที่จู่ๆ เราจะละวางความรู้สึกว่าเป็นพระได้ในทันทีนอกเสียจากตอนบวชเป็นพระเคยปฏิบัติสติปัฏฐานกำหนดความเป็น “อนัตตา” ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนว่าตนเองไม่ใช่อะไรแม้แต่การเป็นพระก็เป็นเรื่องปรุงแต่ง ถ้ากำหนดเช่นนี้มาตลอด ๓ เดือนก็เชื่อว่าขณะลาสิกขาไม่จำเป็นต้องทำใจอะไรมากมาย เป็นเรื่องสบายๆ ไม่ต้องคิดปรุงแต่งว่าตนเองกำลังจะหลุดจากความเป็นพระ เพราะปกติเราก็ไม่ได้เป็นพระหรือเป็นอะไรกันอยู่แล้ว


            แต่ความจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยทั่วไปเวลาเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุเราก็มักกำหนดความเป็นตัวเป็นตนว่า “ข้าพเจ้าเป็นพระภิกษุ” ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครมากำหนดว่าตนเองเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ครั้นเมื่อถึงเวลาลาสิกขาจึงเป็นไปไม่ได้หรอกที่จู่ๆ เราจะละวางความเป็นพระได้ในทันทีโดยอัตโนมัติ


            ในทางเดียวกันพระที่บวชระยะสั้น ๗ วัน ๑๐ วันแล้วลาสิกขา จู่ ๆ จะให้ละวางความเป็นพระก็ดูเป็นเรื่องที่น่าสับสนอย่างไรชอบกล เพราะลำพังชั่วเวลา ๗ วัน ๑๐ วัน จะทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นพระได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้น้อยมาก การจะรู้สึกตัวว่าตนเองเป็นพระได้นั้นต้องใช้เวลาบ่มเพาะกันนานเป็นเดือนกว่าจะรู้สึกตัวว่าเป็นพระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระที่บวชระยะสั้นเมื่อถึงเวลาลาสิกขาคงทำใจกันสับสนเพราะตนเองเพิ่งบวชได้ไม่นานยังรู้สึกตัวว่าเป็นฆราวาส จู่ๆ จะให้รู้สึกตัวว่าเป็นพระแล้วก็สลับมาให้รู้สึกตัวว่าเป็นฆราวาสอีกทีในตอนสึกก็ดูจะเป็นเรื่องที่น่าจะทำให้สับสนภายใน


            คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็คือ “ทำใจให้เป็นปกติ” เพียงแค่กำหนดรู้ว่าขณะนี้กำลังเปลี่ยนสถานะจากพระเป็นคฤหัสถ์ก็เท่านั้นเอง หากยังรู้สึกตัวว่าตนเองเป็นพระก็ไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาอะไรในเมื่อความรู้สึกตัวว่าเป็นพระเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปละวางอะไร อาจจะดีเสียอีกตรงที่ความรู้สึกว่าเป็นพระที่ยังคงมีอยู่นั้นจะได้ต่อเนื่องเป็นกำลังใจแก่เราในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในเพศฆราวาสสืบต่อไป




ออกพรรษา ออกศึก

          สมัยก่อนเมื่อลาสิกขาแล้วทิดสึกใหม่มักจะลดศีลตนเองลงมาให้เหลือศีล ๘ และอยู่วัดสัก ๒-๓ วันก่อนจะออกจากวัดไปผจญโลกอีกครั้งเพื่อที่ว่าใจและกายจะได้ค่อยๆ ปรับตัว ไม่ใช่ว่าพอสึกแล้วออกจากวัดทันทีด้วยศีล ๕ อันนั้นจะทำให้ออกไปผจญโลกแบบเอ๋อๆ


            ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป คนมีเวลาน้อยลงพอสึกแล้วก็ต้องรีบออกไปหางานทำ จึงทำให้บางคนปรับสภาพจิตไม่ทันเนื่องจากที่ผ่านมาอยู่ในวัดมีแต่ความสงบ เมื่อต้องออกไปทำงานข้างนอกก็พบกับความสับสนวุ่นวายปรับสภาพจิตตนเองไม่ทัน คนโบราณจึงกำหนดให้ทิดสึกใหม่อยู่วัดถือศีลก่อนแล้วค่อยออกไปผจญโลก


            การลาสึกในอีกความหมายหนึ่งจึงหมายถึง “การออกศึก” คือการออกไปเผชิญทุกข์ หลักธรรมต่างๆ ที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาในช่วงที่บวช เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เกิดเป็นความยินดียินร้ายขึ้นมาก็ต้องมีสติสัมปชัญญะประคับประคองจิตมิให้เตลิดเปิดเปิงไปกับสิ่งปรุงแต่ง มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสุขย่อมมีทุกข์ มีสรรเสริญย่อมมีนินทา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นธรรมดาของโลกที่มีอยู่แล้ว การใช้ชีวิตเป็นนักบวชในช่วง ๓ เดือนฤดูฝนจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการฝึกตนก่อนจะออกศึกไปผจญโลก


            การสวด “ชะยันโต” ให้พระที่ลาสิกขาจึงเป็นการให้กำลังใจกับท่านว่าต้องออกไปเผชิญหน้ากับข้าศึกคือความทุกข์ในโลกฆราวาส จงอย่าได้พ่ายแพ้กลับมา.















วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เกิดเป็นกะเทย เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กช่วล คนข้ามเพศ ไม่ได้เป็นกรรมอย่างที่คิด / พระวรธรรม เขียน



      










ในทางพุทธศาสนามีการพูดให้ได้ยินอยู่เสมอว่าการเกิดเป็นกะเทย เกย์  เลสเบี้ยน  ไบเซ็กซ์ชวล  ทอม  ดี้ คนข้ามเพศ หรือเกิดมามีอวัยวะเพศไม่ชัดเจนเป็นผลกรรมจากการผิดศีลข้อ 3 ในอดีตชาติ หมายความว่าบุคคลคนนั้นเคยลักลอบเป็นชู้กับสามีภริยาของคนอื่นในชาติก่อนมาชาตินี้จึงเกิดเป็นกะเทย เกย์  เลสเบี้ยน  ไบเซ็กซ์ชวล  ทอม  ดี้  หรือมีอวัยวะเพศไม่ชัดเจน

          ผู้เขียนอยากเชิญชวนคุณผู้อ่านมาร่วมกันวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นนี้ให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นว่าแท้จริงแล้วมีอะไรอยู่เบื้องหลังคำสอนเหล่านี้ เราควรตั้งคำถามหรือมีมุมมองอย่างไรต่อคำสอนดังกล่าว เพื่อที่เราจะได้ก้าวข้ามไปสู่การหลุดพ้นต่อแนวคิดเรื่องกรรม ไม่หลงติดอยู่แค่ส่วนเสี้ยวที่เป็นเปลือกกระพี้ของคำสอนจนทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงแก่นคำสอนทางพุทธศาสนาสักที





ประเด็นที่ 1  เหตุใดคำสอนในศาสนาพุทธต้องทำให้คนที่แตกต่างรู้สึกโดดเดี่ยวหรือด้อยค่าในตัวเอง

เมื่อเรามีสติปัญญาเพียงพอ เราก็จะเริ่มตั้งคำถามว่าเหตุใดพุทธศาสนาจึงมีคำสอนที่ไม่สนับสนุนตัวตนหรือไม่สนับสนุนความรู้สึกของคนที่เกิดมาแตกต่างให้พวกเขารู้สึกดีกับตัวเองบ้างเลย   ตรงกันข้ามพุทธศาสนากลับมีคำสอนที่ทำร้ายจิตใจคนที่แตกต่างให้รู้สึกแปลกแยกกับตัวเองทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว ในขณะเดียวกันพุทธศาสนากลับมีคำสอนที่สนับสนุนคนกลุ่มใหญ่ให้รู้สึกปกติกับตัวเอง


            ยกตัวอย่าง พุทธศาสนาไม่ตำหนิความรักต่างเพศระหว่างชายกับหญิง พุทธศาสนามีหลักคำสอนที่สนับสนุนบทบาทชายหญิงในการเป็นคู่ชีวิตให้เอาใจใส่กันดูแลกันและกันในฐานะสามี-ภริยา  แต่ถ้าเป็นความรักระหว่างเพศเดียวกันเรากลับพบว่ามีการตีความโดยคณาจารย์ทั้งที่เป็นคฤหัสถ์และพระภิกษุว่ารักเพศเดียวกันเป็นกรรม ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ปรากฏว่าในพระไตรปิฎกส่วนไหนมีการกล่าวอ้างว่ารักเพศเดียวกันเป็นกรรมเลย   หรือการเกิดเป็นเพศชาย-เพศหญิงจะไม่ถูกบอกว่าเป็นกรรมมากเท่ากับการเกิดมาเป็นกะเทย สำหรับกะเทยจะถูกบอกว่าเป็นกรรมทันที ทำไมพุทธจึงต้องจองจำคนที่แตกต่างไว้กับความหมายของคำว่ากรรมเพียงสถานเดียว


            แทนที่ศาสนาจะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของคนที่เกิดมาแตกต่างให้รู้สึกดีมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ศาสนากลับซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไป ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?





ประเด็นที่ 2  เมื่อพุทธศาสนาสอนว่าเกิดเป็นกะเทย เกย์  เลสเบี้ยน เป็นกรรม คำสอนนี้ก็จะสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับประสบการณ์ชีวิตของคนที่เป็นกะเทย เกย์  เลสเบี้ยน คนข้ามเพศไปโดยอัตโนมัติ ทำให้พวกเขาเชื่อว่ามันเป็นกรรมของพวกเขาจริงๆ ที่เกิดมาไม่เหมือนคนอื่น

          โดยที่คนกลุ่มนี้อาจจะต้องประสบพบเจอกับการไม่ยอมรับและเผชิญหน้ากับความรุนแรงตั้งแต่ในบ้าน ในโรงเรียน ในที่ทำงาน จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการคล้อยตามได้ไม่ยากว่าเกิดเป็นกะเทย เกย์  เลสเบี้ยน  ไบเซ็กซ์ชวล  คนข้ามเพศเป็นกรรมไปโดยอัตโนมัติ  เนื่องจากระบบสังคมไม่มีกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยให้กับคนที่เกิดมาแตกต่าง คนในสังคมก็ไม่มีการให้เกียรติคนที่แตกต่าง สังคมก็ไม่มีกฎหมายสนับสนุนชีวิตคู่ของเพศเดียวกัน เมื่อใช้ชีวิตร่วมกันก็ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับคู่รักชายหญิงที่มีกฎหมายคุ้มครอง  ปราศจากการมองให้ลึกซึ้งว่าแท้จริงแล้วการไม่ยอมรับ การรังเกียจ การกระทำรุนแรงนั่นแหละเป็นกรรมของฝ่ายที่ไม่ยอมรับนั่นเอง มิได้เป็นกรรมของคนที่เกิดมาเป็นเกย์  เลสเบี้ยน กะเทย หรือคนข้ามเพศ  


            หรือถ้าพูดให้เห็นภาพชัดก็คือเป็นปัญหาในระดับโครงสร้างสังคมที่ไม่ให้สิทธิ พื้นที่ และโอกาสแก่คนที่เป็นกะเทย เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กซ์ชวล คนข้ามเพศ ได้เจริญเติบโต กล่าวคือ ในโรงเรียนไม่มีการพูดสนับสนุนเด็กที่เป็นกะเทย ทอม หรือเด็กที่รักเพศเดียวกันให้เกิดความรู้สึกดีกับตัวเอง เมื่อโตขึ้นคนที่เป็นกะเทยหรือคนข้ามเพศก็หางานทำลำบากกว่าคนที่มีเพศสภาพเป็นชาย-หญิง ในสังคมเองก็มีบรรยากาศของการรังเกียจกะเทย ทอม  รังเกียจคนที่มีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ในทางกฎหมายก็ไม่มีกฎหมายรองรับชีวิตคู่ของเพศเดียวกัน 


ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาในระดับโครงสร้างสังคม เมื่อปัญหาในระดับโครงสร้างสังคมมาพบกับพุทธศาสนาที่พูดเรื่องกรรมของกะเทย เกย์ เลสเบี้ยน ก็ทำให้ผู้คนเข้าใจไปได้ว่าเกิดเป็นกะเทย เกย์ เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ เป็นกรรมไปได้ไม่ยาก





ประการที่ 3  ทำไมพุทธศาสนาจึงพยายามทำคนให้เหมือนกัน แทนที่จะยอมรับความแตกต่างหลากหลาย

          พุทธศาสนาพยายามทำคนให้เหมือนกันผ่านการให้คุณค่าเรื่องกรรม เมื่อมีการพูดว่ารักเพศเดียวกันเป็นกรรม เกิดเป็นเกย์  เลสเบี้ยน กะเทยเป็นกรรม ก็ทำให้คนไม่อยากเกิดเป็นกะเทย เกย์  เลสเบี้ยน ใครเกิดเป็นกะเทย เกย์  เลสเบี้ยนอยู่แล้วก็จะรู้สึกไร้คุณค่า ทำให้เกย์บางคน กะเทยบางคน เลสเบี้ยนบางคน รู้สึกไม่ดีกับตัวเองที่ถูกบอกว่าเป็นกรรมจนทำให้พวกเขาบางคนอยากเกิดเป็นเพศชาย-เพศหญิงตามแบบแผนของสังคม เพราะการเกิดเป็นเพศชายหรือเพศหญิงได้รับการยอมรับและไม่ได้ถูกบอกว่าเป็นกรรมจนอาจมีการอธิษฐานเวลาทำบุญว่าเกิดชาติหน้าฉันใดขอให้เกิดเป็นชาย-หญิงที่สมบูรณ์


คำถามก็คือทำไมพุทธศาสนาจึงต้องทำคนให้เหมือนกันผ่านการให้คุณค่าเรื่องกรรม ทั้งๆ ที่ความจริงก็คือเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะรักเพศตรงข้ามเหมือนกันหมด  เป็นไปไม่ได้ที่สังคมจะมีแต่เพศชาย-เพศหญิงที่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์เพราะเพศชาย-เพศหญิงที่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีจะมีก็แต่ในทฤษฎีเท่านั้นเอง  จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะเหมือนกันหมดทุกคน 


ถ้าเรายอมรับว่าในสังสารวัฏแห่งนี้เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย เราก็น่าจะยอมรับได้ว่ามนุษย์เรามีความแตกต่างหลากหลายในความรักและความเป็นเพศเช่นเดียวกัน





ประการที่  4  คำสอนเรื่องกรรมทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นวรรณะทางเพศสภาพ

            พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายระบบชนชั้นวรรณะ ระบบชนชั้นวรรณะทั้ง 4 ประกอบไปด้วย กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร ระบบชนชั้นวรรณะเป็นเหตุให้คนเป็นทุกข์เนื่องจากแต่ละชนชั้นก็จะรังเกียจชนชั้นที่ต่ำกว่า ชนชั้นต่ำสุดที่ถูกรังเกียจมากที่สุดและมีความทุกข์มากที่สุดคือศูทรและจัณฑาล พระพุทธเจ้าจึงพยายามลบล้างระบบนี้เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่คนเราจะมาแบ่งแยกกดขี่กันด้วยชนชั้นวรรณะ ในคำสอนของท่านจึงไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะให้เห็น


แต่จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามเมื่อพุทธศาสนามีการตีความว่าเกิดเป็นกะเทย เกย์  เลสเบี้ยน เป็นกรรม ก็ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นวรรณะทางเพศขึ้นมาโดยอัตโนมัติทำให้เกิดการตีตราว่าเกิดเป็นกะเทยมีกรรม ในขณะที่เพศชายเพศหญิงไม่มีกรรมซึ่งเมื่อเราเข้าไปดูรายละเอียดก็จะพบการแยกย่อยลงไปอีกว่า เกิดเป็นเพศหญิงมีกรรมมากกว่าเพศชาย ในขณะที่เกิดเป็นเพศชายแทบจะไม่เป็นกรรมอะไรเลย เพราะการเกิดเป็นเพศชายได้รับสิทธิต่าง ๆ ทางศาสนาและสังคม เช่น ได้บวชเป็นพระ ได้เป็นผู้นำของชุมชน ในขณะที่ผู้หญิงกับกะเทยถูกบอกว่าห้ามบวช หรือหากจะได้บวชก็ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเพศชายพอบวชแล้วก็ไม่วายถูกสังคมว่ากล่าวเสียดสี หรือเป็นไปได้ยากที่ผู้หญิงกับกะเทยจะมีโอกาสได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ



            จึงสรุปได้ว่า เพศที่อยู่บนสุดคือ เพศชาย ตามด้วย เพศหญิง และตามด้วยกะเทย

                                                   

                                         เพศชาย   >>  เพศหญิง  >>  กะเทย



            โดยหลักการทางพุทธศาสนาแล้ว คนเราไม่ควรถูกแบ่งชนชั้นด้วยความเป็นเพศว่าใครมีคุณค่ามากกว่าใครเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าพยายามลบล้างระบบวรรณะ แต่ในเมื่อพุทธศาสนามีการสอนเรื่องกรรมกับเพศสภาพ ก็ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นวรรณะทางเพศสภาพขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

            หากพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ พระพุทธองค์จะตรัสอย่างไรกับการแบ่งชนชั้นวรรณะด้วยเพศสภาพอันเกิดจากคำสอนของครูอาจารย์รุ่นหลัง ?





ประการที่ 5  ความจริงเกี่ยวกับคำสอนเรื่อง “กรรม”ในพระไตรปิฎก

ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้ามิเคยตรัสว่ารักเพศเดียวกันเป็นกรรม และมิเคยตรัสว่าเกิดเป็นกะเทยเป็นกรรม จะมีก็แต่ในส่วนของการอธิบายความซึ่งถูกเรียบเรียงขึ้นโดยพระเถระรุ่นต่อมา (เราเรียกส่วนนี้ว่า “อรรถกถา”)หรือไม่ก็อาจารย์ธรรมะพูดขึ้นมาเองด้วยการฟังตามๆ กันมาหรือเพียงแต่อ่านพระไตรปิฎกแล้วนำมาตีความกันเอง



ในมหานารทกัสสปชาดก (545) พระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทย เล่ม 28 พระบาลีสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิบาตชาดก หน้า 296-297 ฉบับสังคายนาในพระบรมราชูปถัมภ์ พุทธศักราช 2530 มีบทสนทนาระหว่างพระเจ้าวิเทหราชผู้เป็นบิดากับพระนางรุจาราชธิดาผู้เป็นราชธิดา ในบทสนทนานั้นพระนางรุจาราชธิดากล่าวกับพระเจ้าวิเทหราชผู้เป็นราชบิดาว่า


“หม่อมฉันระลึกชาติได้ว่าชาติที่ 7 ในอดีต หม่อมฉันเกิดเป็นบุตรชายนายช่างทองคบเพื่อนผู้เป็นคนพาลแล้วพากันคบชู้กับภรรยาของชายอื่น ผลกรรมนั้นทำให้ไปตกนรกเป็นเวลานาน เมื่อพ้นจากนรกก็ไปเกิดเป็นลาที่ถูกตอน จบจากชาตินั้นก็ไปเกิดเป็นลิงแล้วถูกหัวหน้าลิงกัดลูกอัณฑะ จบจากชาตินั้นก็ไปเกิดเป็นโคที่ถูกตอน จากนั้นจึงไปเกิดเป็นกะเทยในตระกูลที่ร่ำรวย การจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากจริง ๆ นั่นคือผลกรรมที่หม่อมฉันคบชู้ภรรยาผู้อื่น”



            คงเป็นเพราะเนื้อหาของพระไตรปิฎกส่วนนี้กระมังที่กล่าวถึงการผิดศีลข้อ 3 แล้วทำคนให้ไปเกิดเป็นสัตว์ต่าง ๆ กว่าจะมาเกิดเป็นกะเทย จึงทำให้เกิดการตีความแบบเหมารวมไปยังกะเทย เกย์  เลสเบี้ยน  ทอม  ดี้  ไบเซ็กซ์ช่วล  คนข้ามเพศว่าเป็นกลุ่มคนที่มีกรรมจากการผิดศีลข้อ 3 ในอดีตชาติ ซึ่งโดยสภาพการณ์แล้วถือว่าเป็นวิธีการตีความที่ด่วนสรุปเกินไป


การนำเอาเหตุการณ์ตอนใดตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกมาอ้างอิงแล้วนำมาสรุปว่าคนมีบุคลิกเช่นนี้เป็นเพราะเคยทำกรรมในอดีตชาติอย่างนั้น จึงเกิดมาเป็นแบบนี้ถือว่าเป็นการตีความที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะคำสอนเรื่องกรรมในอดีตชาติเป็นสิ่งที่มิอาจนำมาตัดสินคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบเหมารวมได้อย่างง่ายดาย  อดีตชาติเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยญาณอันเกิดจากการปฏิบัติภาวนาจึงจะมองเห็น คนที่จะพูดเรื่องนี้ได้ควรเป็นผู้ที่ผ่านการภาวนาและเข้าถึงญาณที่เรียกว่า “ปุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือญาณแห่งการระลึกรู้อดีตชาติจนสามารถมองเห็นและยืนยันได้ว่าผิดศีลข้อ 3 แล้วเกิดเป็นกะเทยจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่ใครสักคนจะสามารถเข้าถึงญาณขั้นนี้แล้วออกมาพิสูจน์


ดังนั้น การจะกล่าวถึงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบเหมารวมไปเสียทั้งหมดว่าผิดศีลข้อ 3 จึงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังมิเช่นนั้นจะเป็นการตีตราเพียงเพราะพระไตรปิฎกกล่าวไว้เช่นนั้นโดยปราศจากเค้ามูลความจริง





ประการที่ 6  คำสอนเรื่องกรรมเป็นคำสอนพื้นฐานของพุทธศาสนา ยังมีคำสอนอื่นๆ ให้เรียนรู้และก้าวข้ามให้สูงขึ้นไป

คำว่า “กรรม” มี 2 ความหมาย

ความหมายที่หนึ่ง  กรรม หมายถึง การกระทำ ซึ่งมีเจตนาเป็นที่ตั้ง การกระทำที่มีเจตนาย่อมมีผลแรงกว่าการกระทำที่ปราศจากเจตนา การกระทำด้วยเจตนาจะนำไปสู่กรรมในความหมายที่ 2


ความหมายที่สอง  กรรม หมายถึง ผลของการกระทำ ไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่วผู้กระทำย่อมได้รับผลของการกระทำนั้นเสมอ ทำดีย่อมได้รับผลเป็นกรรมดี ทำชั่วย่อมได้รับผลเป็นกรรมชั่ว


คำสอนเรื่องกรรมเป็นคำสอนขั้นพื้นฐานให้คนละชั่วทำดี ไม่เบียดเบียนคนอื่นจึงต้องมีการสอนเรื่องการกระทำและผลของกรรมให้คนรู้สึกหวาดกลัวต่อการทำชั่ว แต่ข้อเสียของคำสอนเรื่องกรรมก็คือคนมักยึดติดแต่เรื่องผลกรรมแล้วนำคำสอนเรื่องผลกรรมมาตีตรากัน


            ดังนั้นการก้าวข้ามให้สูงไปกว่าการมองเห็นแค่เรื่องผลกรรมก็คือ “การยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยไม่สนใจว่าใครเคยทำกรรมอะไรมา” ถือเป็นการเจริญปัญญาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งแทนที่จะมองและยึดติดตัวตนกันแต่เรื่องกรรมในอดีตชาติแต่เพียงอย่างเดียวซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จเพียงใด


            เป็นเรื่องง่ายที่คนเราจะยึดติดกับคำสอนเรื่องกรรมในอดีตชาติว่าใครไปทำอะไรมาแล้วส่งผลให้ไปเกิดเป็นอะไรโดยลืมนึกไปว่าอดีตชาติเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะไปยึดติดอยู่กับอดีต ถ้าเรายังคงสอนว่าเกิดเป็นเกย์เลสเบี้ยน กะเทย คนข้ามเพศเป็นกรรมก็เท่ากับว่าเรากำลังผลักคนกลุ่มนี้ให้เข้าไปยึดติดอยู่กับอดีตซึ่งดูขัดแย้งกับคำสอนทางพุทธศาสนาว่าอย่ายึดติดกับอดีต ในที่สุดแล้วไม่ใช่ว่าเราผลักพวกเขาให้เข้าไปยึดติดกับอดีตเท่านั้น แม้ตัวผู้สอนก็นำพาตัวเองไปยึดติดอยู่กับอดีตด้วยเช่นกันเพราะตัวผู้สอนก็จะยึดติดอยู่กับคำสอนนี้จนไม่อาจก้าวข้ามไปสู่คำสอนอื่น ๆ ได้  ผลสุดท้ายคำสอนเรื่องกรรมกับกะเทย เกย์  เลสเบี้ยน ก็ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจศาสนาพุทธได้ดีขึ้นเพราะเรามัวไปยึดติดอยู่กับอดีตจนกลายเป็นอุปาทาน


            เราลองมาพิจารณากันดูว่าคำสอนเรื่องกรรมกับกะเทย เกย์  เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ และคนรักเพศเดียวกันในแนวอดีตชาตินี้ยังเข้ากันได้กับยุคสมัยอีกหรือไม่





ประการที่ 7  เพศเป็นความว่าง ปราศจากตัวตนที่จะยึดติดว่าเป็นอะไร

          หากเราต้องการจะเข้าใจพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง การละวางตัวตนนั่นแหละคือหนทาง

            หากครูบาอาจารย์ทางพุทธศาสนาหันมาสอนเรื่องเพศกันอย่างถึงแก่นว่า กะเทย เกย์  เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ ก็เป็นความว่างเช่นเดียวกับเพศชาย เพศหญิง 


ความเป็นเพศชายเพศหญิงก็ปราศจากตัวตนที่จะมายึดติดว่าเป็นนู่น เป็นนี่ เป็นนั่น เพราะทุกเพศต่างก็เป็นสมมติบัญญัติด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีเพศใดจริงแท้ มีแต่สิ่งที่ถูกสมมติขึ้นมา แต่ละเพศก็มีความเป็นกลาง ไม่ได้มีเพศใดสูงส่งไปกว่าเพศใด เพราะในที่สุดทุกเพศก็คือสมมติบัญญัติ เป็นภาวะของความว่างที่ปราศจากตัวตนที่จะยึดมั่นถือมั่น

หากเราเข้าใจและสอนกันอย่างนี้สืบเนื่องกันไป เชื่อว่าเราคงมีคนที่เข้าถึงความเป็นพุทธะมากยิ่งขึ้น



สุดท้ายนี้ ผู้เขียนมองไม่เห็นความจำเป็นอันใดที่กะเทย  เกย์  เลสเบี้ยน  ทอม  ดี้  ไบเซ็กซ์ชวล  คนข้ามเพศ คนสองเพศหรือคนที่เกิดมามีเพศไม่ชัดเจนจะต้องมารู้สึกว่าตนเองมีกรรมอะไรในอดีต เพราะนั่นยังไม่ใช่เนื้อหาสาระหรือหนทางที่จะทำให้พวกเขาเข้าถึงแก่นคำสอนทางพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริง


หากแต่การสอนให้พวกเขาหันมายอมรับตัวเอง รักตัวเอง และภาคภูมิใจในตัวเองต่างหากที่จะทำให้พวกเขาเข้าถึงความเป็นพุทธะได้ง่ายขึ้น.




.