วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

ธรรมะวันเด็ก สำหรับผู้ใหญ่


       
พระชาย วรธัมโม                                        คมชัดลึก  ศุกร์ 11  มกราคม 2556
         

          "ดูเหมือนวันเด็กคือวันที่ผู้ใหญ่พาเด็กๆ ไปเที่ยวจนเราลืมไปแล้วว่าแก่นแท้ของวันเด็กคืออะไร"


          วันเด็กกำลังจะมาถึงในวันพรุ่งนี้อีกแล้ว มีใครทราบบ้างหรือไม่ว่าวันเด็กมีที่มาที่ไปอย่างไรและอะไรคือแก่นแท้ของวันเด็ก

          วันเด็กเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ โดยนายวี เอ็มกุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศมองเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็กและต้องการกระตุ้นให้เด็กเห็นความสำคัญของตนเองต่อสังคม ในปีนั้นมีประเทศที่ร่วมจัดงานวันเด็กพร้อมกันประมาณ ๔๐ กว่าประเทศโดยถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมเป็นวันเด็กสากล ในเมืองไทยจัดติดต่อกันมาได้ ๙ ปีก็เห็นอุปสรรคเพราะเดือนตุลาคมยังเป็นฤดูฝนการจัดงานจึงไม่สะดวก อีกทั้งวันจันทร์เป็นวันที่พ่อแม่ผู้ปกครองยังต้องไปทำงาน รัฐบาลจึงเปลี่ยนการจัดงานวันเด็กเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นต้นมา สถานที่สำคัญต่างๆ เปิดให้เด็กๆ เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าผ่านประตู เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ สวนสนุก ฯลฯ นายกรัฐมนตรีมีคำขวัญให้เด็กทุกปี เด็กๆ ได้รับโอกาสในวันนั้นอย่างเต็มที่จนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าวันเด็กคือวันที่ผู้ใหญ่ต้องพาเด็กๆ ไปเที่ยวโดยลืมไปว่าแท้จริงแล้ววันเด็กถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใหญ่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเด็ก ไม่กดขี่เด็ก ไม่เอาเปรียบเด็ก ไม่ใช้อำนาจกับเด็ก แต่ทุกวันนี้วันเด็กกลายเป็นวันพาเด็กไปเที่ยวแค่นั้นเอง หลังจากนั้นเด็กก็ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อีกเลยจนกว่าจะถึงวันเด็กในปีถัดไป เราควรบูรณาการวันเด็กกันเสียใหม่ วันเด็กไม่ใช่แค่พาเด็กไปเที่ยว ไม่ใช่แค่วันเด็กเท่านั้นที่เราต้องเอาใจใส่เด็ก แต่เราควรเอาใจใส่เด็กทุกวัน





ลดการเปรียบเทียบ มอบคำชมเชย
            ในชีวิตประจำวันเด็กๆ มักไม่ได้รับคำชมเชยแต่มักได้รับคำเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ เปรียบเทียบกับพี่ๆ น้องๆ ในบ้าน หรือแม้แต่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับลูกของคนข้างบ้านว่าดีกว่า ฉลาดกว่า ผู้ใหญ่ควรตระหนักรู้ว่าการเปรียบเทียบทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง รู้สึกตนเองไม่เป็นที่คาดหวังหรือไม่เป็นที่สมหวังของผู้ใหญ่ นำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นในตนเองและการไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง

          ผู้ใหญ่ควรหยุดเปรียบเทียบหยุดใช้คำพูดด้านลบกับเด็กๆ หยุดการให้ฉายาประชดประชัน เพราะคำพูดเหล่านั้นบั่นทอนกำลังใจและการมีชีวิตอยู่ของเด็ก ผู้ใหญ่ควรเรียนรู้ที่จะชมเชยเด็ก คำชมเชยจะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเองทำให้เด็กรู้สึกดีกับตัวเองมองเห็นคุณค่าในตัวเองไม่รู้สึกเป็นปมด้อย ถ้าเราหวังจะให้เด็กช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติได้เราต้องสร้างพื้นฐานให้เขารักตัวเองเห็นคุณค่าในตัวเองเสียก่อน เมื่อเขารักตัวเองเห็นคุณค่าในตัวเองเมื่อนั้นเขาจะสามารถเผื่อแผ่ความรักและคุณค่าภายในที่เขามีสู่บุคคลและสังคมรอบๆ ตัว แต่ถ้าเรามัวแต่เปรียบเทียบเขากับเด็กคนอื่นๆ โอกาสที่เขาจะกลายเป็นเด็กมีปมด้อยแล้วสร้างปัญหาย่อมเกิดขึ้นได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบแล้วหันมามอบคำชมเชยให้เด็ก


หยุดคำตวาดคำรุนแรง
            ผู้ใหญ่ไม่ชอบคำตวาดหรือคำรุนแรงเช่นไร เด็กๆ ก็ไม่ชอบคำดุด่ารุนแรงเช่นนั้นเหมือนกัน เราทราบกันดีคำตวาดหรือคำรุนแรงสร้างความขุ่นเคืองให้กับผู้ที่ถูกว่าถูกตวาด คำตวาดไม่ได้สร้างสรรค์ให้คนเป็นคนดีแต่คำตวาดสร้างสถานการณ์อันเลวร้ายภายในบ้าน ทำให้บ้านไม่อบอุ่น ถ้าบรรยากาศภายในบ้านไม่อบอุ่นสมาชิกในบ้านจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะได้อย่างไร ควรหันมาใช้คำแนะนำอย่างสุภาพและมีเหตุผลกับเด็กๆ เมื่อเราใช้คำสุภาพและมีเหตุผลเด็กจะรู้สึกว่าเขาได้รับความรักและความเอาใจใส่ เมื่อนั้นเขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่พร้อมจะตวาดคนอื่นต่อไป




ลดความคาดหวัง มองหาจุดเด่น
            พึงเข้าใจว่าเด็กก็คือเด็ก เด็กไม่ได้มีความสามารถที่จะทำตามความคาดหวังของผู้ใหญ่ไปเสียทุกเรื่อง บางครั้งเด็กทำอะไรไม่ได้อย่างใจก็ถูกลงโทษด้วยการดุด่าหรือตบตีอย่างรุนแรง ผู้ใหญ่ควรพยายามลดความคาดหวังพยายามเข้าใจอารมณ์ของตนเองและพยายามเข้าใจเด็กๆ เด็กแต่ละคนมีจุดเด่นมีความเก่งที่ไม่เหมือนกัน เด็กบางคนเก่งคณิต เด็กบางคนเก่งศิลปะ เด็กบางคนเก่งกีฬา บางครั้งผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้ที่จะละความคาดหวังของตนเองแล้วหันกลับมามองดูว่าเด็กของเราเก่งเรื่องใด ผู้ใหญ่บางคนอยากให้เด็กเป็นหมอ อยากให้เด็กเป็นทหาร อยากให้เด็กเป็นครู อยากให้เด็กเป็นนู่นเป็นนี่แต่ไม่เคยถามเด็กเลยว่าเด็กอยากเป็นอะไร พยายามมองให้เห็นว่าเด็กถนัดเรื่องใดแล้วสนับสนุนเขาในเรื่องนั้น ทุกวันนี้เด็กๆ ถูกคาดหวังให้เก่งวิชาการเหมือนกันหมด นอกจากจะต้องไปโรงเรียนจันทร์ถึงศุกร์แล้ว เสาร์อาทิตย์ยังต้องไปเรียนกวดวิชาอีก เด็กไม่มีวันหยุดแล้วสุขภาพจิตจะดีได้อย่างไร สังคมเรากำลังทำร้ายเด็กด้วยการพยายามสร้างเด็กให้เก่ง แต่เด็กที่มีความสุขกำลังมีจำนวนน้อยลง


เด็กนอกกระแสถูกลืม
            ถึงวันเด็กคราวใดเชื่อว่ามีเด็กนอกกระแสถูกมองข้ามความสำคัญลงไปอย่างแน่นอน เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กไร้บ้าน เด็กแว๊น เด็กในสถานพินิจ เด็กเหล่านี้แต่เดิมเขาก็เป็นเด็กมีบ้านเหมือนกับเด็กทั่วไป แต่เนื่องจากในบ้านขาดความรักความอบอุ่น ทำให้พวกเขาต้องออกมาแสวงหาความรักความอบอุ่นนอกบ้าน แสวงหาเอาจากเพื่อนที่มีความสนใจ มีความต้องการ มีความรู้สึกเดียวกัน ก่อนที่เด็กๆ ของเราจะเดินออกจากบ้านไปไม่กลับมาเราควรมอบความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจให้พวกเขา ปรับความเข้าใจกันก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นภาระที่ซับซ้อนของสังคม




เอาใจใส่เด็กพิเศษที่แตกต่าง
            เด็กพิการ เด็กออทิสติค หรือเด็กที่ต้องการแสดงออกทางบุคลิกภาพแบบข้ามเพศ เช่น เด็กกะเทย เด็กทอม ผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลเอาใจใส่พวกเขาเป็นพิเศษ เด็กที่มีความพิเศษเหล่านี้ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนคาดคิดมาก่อนว่าเขาจะเกิดมาแตกต่าง มีแต่จะต้องเตรียมพร้อมกับการยอมรับ เตรียมพร้อมสติปัญญากับการเผชิญหน้าสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต ดูแลสนับสนุนให้ความรักความเอาใจใส่ความเข้าใจแก่พวกเขา อย่ามัวแต่คิดว่าเป็นกรรมหรือสิ้นหวัง แต่ควรมีมุมมองที่ก้าวไปข้างหน้าว่าทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นบททดสอบสติปัญญาของเราที่จะฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อที่ทั้งเราและเด็กที่เกิดมาจะสามารถดำรงอยู่ในโลกนี้ได้ด้วยตนเองอย่างภาคภูมิใจ


อย่าลืมมอบ "วินัย" ให้เด็ก
            ทุกวันนี้เครื่องมือเทคโนโลยีหาก็ง่ายใช้ก็คล่องมีตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต ไอโฟน ไอแพ็ด ผู้ใหญ่มักมอบอุปกรณ์เหล่านี้ให้เด็กๆ ไว้ใช้แต่ลืมมอบ "วินัย" ให้กับเด็กไปใช้ด้วย ปัญหาเด็กติดเกมไม่ได้เกิดจากเด็กฝ่ายเดียวแต่เกิดจากผู้ใหญ่ลืมสร้างวินัยให้เด็ก ก่อนมอบเครื่องมือเหล่านี้ให้เด็กใช้ควรมีข้อตกลงร่วมกับเด็กอย่างชัดเจนว่าในหนึ่งวันเด็กสามารถเล่นเวลาไหนได้บ้าง ต้องเข้านอนกี่โมง ตื่นกี่โมง ต้องทำงานบ้านอะไรเป็นหน้าที่หลัก หากมีการละเมิดข้อตกลงต้องถูกงดค่าขนมหรือต้องทำอะไรทดแทน ปัญหาเด็กติดเกมเวลานี้เกิดขึ้นทุกบ้าน เป็นเพราะเราขาดข้อตกลงเรื่องวินัยของชีวิตร่วมกับเด็ก หากผู้ใหญ่สร้างวินัยข้อนี้ให้กับเด็กได้ปัญหาเรื่องเด็กติดเกมก็จะหมดไป

          วันเด็กกำลังจะมาถึงในวันพรุ่งนี้อีกครั้ง ผู้เขียนหวังว่าเราคงใช้โอกาสนี้ในการสร้างสรรค์พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา หยุดใช้ความรุนแรงกับเด็กแล้วปฏิบัติกับเขาด้วยความเมตตากรุณา เมื่อนั้นบ้านจะกลายเป็นบ้านที่อบอุ่นน่าอยู่ ไม่เกิดปัญหาเด็กติดเกมหรือเด็กหนีออกจากบ้านอีกต่อไป.