วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

พ.ร.บ.อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา...รักษาหรือทำลาย ? (ตอบจบ)

คมชัดลึก  วันพระ ศุกร์ 17 เมษายน 2558





                  คราวที่แล้วเราพูดถึงพุทธศาสนาจะตกอยู่ในความดูแลของรัฐ-ประชาชนห้ามแตะ  ผ่านเนื้อหามาตรา ๔ ใน พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งระบุว่า “ให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” คราวนี้เราจะพูดถึงประเด็นอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาว่ามีกลไกการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานทางพุทธศาสนาของภาครัฐที่มีอยู่แล้วอย่างไรบ้าง


          ในร่าง พ.ร.บ. อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาฉบับที่กำลังมีการนำเข้าสู่การพิจารณาในครั้งนี้ประกอบไปด้วย ๓๑ มาตรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” โดยระบุหน้าที่ให้กับคณะกรรมการชุดนี้ว่าให้มีหน้าที่ดูแล สอดส่อง ตรวจตราการกระทำละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยามต่อพระพุทธศาสนา รวมถึงการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ  มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงต่างๆ อีกจำนวน ๘ กระทรวง อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขึ้นมาเป็นคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา  นอกจากนี้ยังมีกรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรทางพุทธศาสนาจำนวน ๔ คน กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหน้าที่แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดสำนักงานจำนวน ๒ คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ  ในฝ่ายบรรพชิตมีกรรมการซึ่งมหาเถรสมาคมแต่งตั้งจากพระภิกษุหรือคฤหัสถ์จำนวน ๓ รูปหรือคน 


ทั้งนี้ มีการกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา  ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด  กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธานกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด โดยมีกรรมการ ได้แก่ ประชาสัมพันธ์จังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา อัยการจังหวัด ฯลฯ กรรมการฝ่ายบรรพชิต มีภิกษุฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติฝ่ายละ ๑ รูป


          ในที่สุดเราจะพบว่าทั้งหมดนั้นเป็นการแต่งตั้งบุคลากรขึ้นมาทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วแต่เดิมนั่นก็คือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด  ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้นก็ทำหน้าที่ดูแลกิจการพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว จึงเป็นประเด็นที่น่าตั้งคำถามตามมาว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาขึ้นมาเพื่อทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วแต่เดิมให้สิ้นเปลืองงบประมาณทำไม เพราะสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดต่างก็ทำหน้าที่ดูแลอุปถัมภ์กิจการพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว 


เมื่อมีการแต่งตั้งบุคลากรและมอบตำแหน่งงานขึ้นมาใหม่ก็ต้องมีเงินเดือน  มีงบประมาณที่ต้องจ่ายไปกับวาระการประชุมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่จังหวัดสองจังหวัดเท่านั้นแต่มีถึง ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศ  อีกทั้งคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาก็ไม่ได้เป็นใครอื่นแต่เป็นข้าราชการที่มีงานมีหน้าที่อยู่แล้วในหน่วยงานราชการของตนจึงดูเหมือนว่าเป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ  จะมองได้ไหมว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อกินงบประมาณขึ้นมาแบบไม่ค่อยมีเหตุผล ในขณะที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดก็ทำหน้าที่อุปถัมภ์ดูแลกิจการพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว


            บางท่านให้ความเห็นว่า พ.ร.บ. อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาฉบับนี้มิใช่การแต่งตั้งกำหนดหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนเท่านั้นแต่เป็นการเปิดช่องให้รัฐเข้ามามีบทบาทและอำนาจในกิจการพระพุทธศาสนาได้อย่างเต็มที่โดยมาตรา ๒๖ ระบุว่า “พระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่สอดส่อง ดูแล ตรวจตรา และตรวจสอบการกระทำละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยามต่อพระพุทธศาสนา, ตรวจสอบการเป็นพระภิกษุหรือสามเณร สังกัดและวัดหรือสำนักสงฆ์โดยให้แสดงหนังสือสุทธิและชี้แจงข้อเท็จจริง, ตรวจสอบความประพฤติของพระภิกษุสามเณรให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาเถรสมาคม, นำพระภิกษุหรือสามเณรผู้ประพฤติฝ่าฝืนพระธรรมวินัย กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาเถรสมาคมมอบให้กับเจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะผู้ปกครองในเขตนั้นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่หรือช่วยเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ดำเนินการสอบสวนตามควรแก่กรณี”  


ทั้งนี้ การใส่คำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” ลงไปในเนื้อความจะทำให้ตัวแทนฝ่ายรัฐเข้ามามีบทบาทและอำนาจในการจัดการกิจการพระศาสนาและจัดการพระภิกษุสามเณรได้อย่างเต็มไม้เต็มมือมากยิ่งขึ้น  ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่า


การปกครองคณะสงฆ์เรามีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานฝ่ายบรรพชิตทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและดูแลความประพฤติของพระภิกษุสามเณรครอบคลุมส่วนท้องถิ่นทั้ง ๗๖ จังหวัดอยู่แล้ว  จึงเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะทำการแต่งตั้งบุคลากรขึ้นมาทำงานซ้ำซ้อนกับการปกครองคณะสงฆ์ทำไม อันทำให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณชาติแทนที่จะนำงบประมาณนั้นไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เราน่าจะเห็นอะไรบางอย่างใน พ.ร.บ. ฉบับนี้มากขึ้นว่ามีการพยายามเปิดทางให้รัฐเข้ามาก้าวก่ายกำกับควบคุมพระศาสนาอย่างแนบเนียนและไม่ชอบมาพากลอย่างไรบ้าง

 
ที่น่าสังเกตก็คือคณะกรรมการประกอบไปด้วยคฤหัสถ์เสียเป็นส่วนใหญ่  มีบรรพชิตเข้ามามีส่วนร่วมในสัดส่วนที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราน่าจะเห็นเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาฉบับนี้ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้มีเป้าหมายในการพยายามเข้าครอบงำพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง ยังมิต้องคำนึงถึงงบประมาณที่ต้องถูกจัดสรรอย่างสิ้นเปลืองไปกับกิจการดูแลปกป้องพระศาสนาในครั้งนี้ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินมากมายมหาศาลพร้อมไปกับการรวบอำนาจโดยฝ่ายอาณาจักรผ่าน พ.ร.บ. อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาฉบับนี้  เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว


ถ้าหากเราเป็นห่วงศาสนาจริง กลัวศาสนาจะถูกทำลาย กลัวคำสอนจะถูกทำให้ผิดเพี้ยน ทำไมเราไม่หันไปปรับปรุงกลไกอื่นๆ ในศาสนาให้ดีขึ้นแทนที่จะหันมาแต่งตั้งคณะกรรมการให้มาเฝ้าดูศาสนาให้เปลืองงบประมาณชาติ ยกตัวอย่างเช่นพัฒนาหลักสูตรผู้บวชเป็นภิกษุสามเณรระยะสั้น ๗ วัน ๑๐ วัน  ให้ผู้บวชระยะสั้นได้รับการอบรมถวายความรู้อย่างจริงจัง เพราะปัญหาเร่งด่วนเกี่ยวกับพุทธศาสนาเวลานี้คือบุคคลที่เข้ามาบวชระยะสั้นมักถูกปล่อยปละละเลยโดยอุปัชฌาย์ก็ไม่สนใจใยดีในการให้การอบรมผู้บวชใหม่ ทำให้การบวชของพวกเขากลายเป็นช่วงเวลาที่สูญเปล่า หรือการออกกฎระเบียบเอาผิดกับอุปัชฌาย์ที่ปล่อยปละละเลยไม่อบรมดูแลพระภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ให้ได้รับความรู้อย่างที่ควรจะได้รับ อย่างนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ควรหันมาเอาใจใส่ดูแลแก้ไขกันมากกว่า


หรือการหันไปจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชาวพุทธรู้จักการเจริญสติ เมื่อชาวพุทธรู้จักการเจริญสติก็จะเข้าใจแก่นคำสอนทางพุทธศาสนามากขึ้นแทนที่จะไปตั้งคณะกรรมการมาปกปักรักษาพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นการจัดการที่ปลายเหตุ 


อาจเป็นเพราะจุดประสงค์ของเราไม่ตรง เมื่อจุดประสงค์ของเราไม่ตรงและไม่ได้จริงใจกับการแก้ปัญหา รูปแบบการแก้ปัญหาจึงไขว้เขว เมื่อความเข้าใจไขว้เขววิธีการแก้ปัญหาย่อมผิดเพี้ยนไปหมด        


การแก้ไขปัญหาเรื่องกลัวศาสนาจะถูกทำลายไม่ใช่การไปเขียนกฎหมายขึ้นมาปกปักรักษาหรือไปตั้งคณะกรรมการมานั่งเฝ้าศาสนา ทางแก้ที่ถูกต้องคือการหันกลับมาแก้ไขที่ต้นเหตุคือการเผยแพร่หลักธรรมแก่ชาวพุทธและการเผยแพร่การปฏิบัติ เมื่อชาวพุทธเข้าใจหลักธรรมเข้าใจการปฏิบัติก็จะเข้าถึงแก่นศาสนา ศาสนาก็จะคงอยู่ไม่ถูกทำลาย  นอกเหนือจากนี้แล้วเป็นการแก้ที่ปลายเหตุอันเป็นการแก้ไขที่ไม่ตรงจุดแต่กลับจะเป็นการสร้างปัญหาอย่างใหม่ที่ซับซ้อนขึ้นมาอีก.





.
           

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2558

พ.ร.บ.อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา...รักษาหรือทำลาย ? (ตอนที่ 1)

คมชัดลึก  วันเสาร์  11  เมษายน  2558




          อะไรก็ตามเมื่อถูกตราขึ้นเป็นตัวบทกฎหมายแล้วย่อมมีอันตรายพอๆ กับปลอดภัย ขณะนี้กำลังมีการพยายามนำ “ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในคณะกรรมการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มีการออกใช้เป็นกฎหมายในการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา  แต่ใครจะรู้ว่าภายใต้ พ.ร.บ.ที่ถูกเขียนขึ้นเพื่ออุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนานี้กลับแฝงไว้ด้วยอันตรายมากว่าปลอดภัย



            อันตรายได้แฝงมาในมาตราต่อไปนี้



            มาตรา ๔  ให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาในแนวทางดังต่อไปนี้  (๘) จัดให้มีการสอดส่องดูแลและปกป้องกิจการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามิให้มีการกระทำละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำลาย ลอกเลียน ดัดแปลง หรือทำให้วิปริตไป


          มาตรา ๒๖ พระวินยาธิการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้  (๑) สอดส่อง ดูแล ตรวจตรา และตรวจสอบการกระทำละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยามต่อพระพุทธศาสนา รวมถึงการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ



            อันตรายลำดับที่หนึ่ง หาก พ.ร.บ.นี้ผ่านถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็น ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนพิธี ศาสนธรรม รวมไปถึงแนวทางการปฏิบัติ จะถูกควบคุมโดยรัฐแต่เพียงผู้เดียว นั่นหมายความว่าพุทธศาสนากำลังถูกทำให้กลายเป็นสมบัติของรัฐ ประชาชนทั่วไปห้ามแตะต้องยุ่งเกี่ยวหรือหากประชาชนจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวก็ต้องตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนธรรมคำสอนที่จำเป็นต้องมีการตีความให้เกิดความเข้าใจในมิติที่แตกต่างหลากหลายต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐแต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน  พ.ร.บ. ดังกล่าวกำลังทำให้พุทธศาสนากลายเป็นของต้องห้ามสำหรับทุกคน!



            อันตรายลำดับถัดมา  แม้ว่ามาตราทั้งสองจะเขียนไว้อย่างน่าอบอุ่นใจว่า ให้มีการสอดส่องดูแลปกป้องกิจการพระศาสนามิให้มีการละเมิด ดูหมิ่น เหยียดหยาม ทำลาย ลอกเลียน ดัดแปลง หรือทำให้วิปริต แต่ในทางปฏิบัติเมื่อพุทธศาสนาตกเป็นสมบัติของรัฐไปแล้ว รัฐจะใช้วิจารณญาณแบบไหนเข้ามาทำการตัดสินว่าการตีความแบบนี้ถือว่าสร้างสรรค์ การตีความแบบนี้ถือว่าทำลาย การตีความแบบนี้ถือว่าวิปริต เพราะสำนวนทางกฎหมายและเจตนาการตีสำนวนสามารถทำคนดีให้กลายเป็นคนร้าย สามารถทำผู้บริสุทธิ์ให้กลายเป็นโจรใจบาปไปได้



สมมติว่ามีใครสักคนมีเจตนาดีในการตีความพระธรรมวินัยให้เข้ากับยุคสมัยแต่ถูกกล่าวหาว่าตีความพระธรรมวินัยให้ผิดเพี้ยน เมื่อเข้าสู่กระบวนการไต่สวนบุคคลผู้ถูกกล่าวหาได้ตกเป็นจำเลยถูกตัดสินว่าตีความพระธรรมวินัยให้ผิดเพี้ยนจนเขาไม่มีสิทธิ์เรียกร้องขอความเป็นธรรม ในที่สุดต้องถูกตัดสินลงโทษจำคุกเพียงเพราะความเห็นต่างในการตีความ นี่จึงเป็นเรื่องน่ากลัวว่าพุทธศาสนาจะหันกลับมาทำร้ายคนแทนที่พุทธศาสนาจะปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนต่อการทำความเข้าใจในพระธรรมคำสอน 



          ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจว่าคำสอนทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตามมีลักษณะเป็นปรัชญาแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมที่ต้องการการตีความให้เกิดความคิดความเข้าใจในมิติที่แตกต่างหลากหลาย การตีความคำสอนที่แตกต่างหลากหลายนำไปสู่ความเข้าใจในธรรมที่ลึกซึ้งตามระดับสติปัญญาของแต่ละคนจนกระทั่งเข้าถึงแก่นคำสอนในที่สุด



ในเมื่อมนุษย์มีสติปัญญาแตกต่างกันจึงเป็นไปไม่ได้ที่การฟังธรรมะเรื่องหนึ่งแล้วทุกคนจะเกิดความเข้าใจในธรรมเหมือนกันหมด ธรรมเรื่องหนึ่งย่อมมีคนเข้าใจแตกต่างกันไปในมิติที่หลากหลาย ไม่ได้แปลว่าหลังจากฟังธรรมะแล้วทุกคนต้องเข้าใจเหมือนกันหมดทุกคน  ไม่เช่นนั้นแล้วเราคงมีคนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เหมือนกันหมดในเวลาเดียวกัน  ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการเห็นธรรมไปตามสติปัญญาของแต่ละคนรวมไปถึงการแสดงความเห็นต่อธรรมะตามความเข้าใจของแต่ละคนจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะสติปัญญาของแต่ละคนมีหลายระดับไม่เท่ากัน นี่เป็นเรื่องเสรีภาพทางสติปัญญาที่เราควรมองให้เห็นความแตกต่าง



แต่ในขณะที่ พ.ร.บ. อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาออกมาบอกว่ารัฐมีหน้าที่ดูแลสอดส่องกิจการพระศาสนามิให้ใครมาเหยียดหยาม ทำลาย ลอกเลียน ดัดแปลง นั่นหมายความว่าแม้แต่การตีความพระธรรมคำสอนก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐเท่านั้น  ประชาชนหรือใครไม่มีสิทธิ์ตีความตามอำเภอใจ  หากเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีต่อศาสนากำลังถูกลิดรอนโดยกฎระเบียบของรัฐ  เมื่อพุทธศาสนาตกเป็นสมบัติของรัฐไปเสียแล้ว ใครจะตีความอย่างไรก็ต้องอยู่ภายใต้ความพึงพอใจของรัฐ หากมีการตีความพระธรรมนอกเหนือไปจากความพึงพอใจของรัฐ รัฐมีสิทธิลงโทษจัดการผู้ที่ตีความต่างจากรัฐ  มีความเป็นไปได้ว่ารัฐจะใช้โอกาสนี้จัดการบุคคลที่ตีความพระธรรมที่ไม่ถูกใจรัฐโดยใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้าควบคุมจัดการ    



แท้จริงแล้วการทำความเข้าใจในศาสนธรรมคำสอนเป็นการปฏิบัติอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวที่จะทำให้บุคคลคนนั้นเข้าถึงธรรมและบรรลุธรรมได้ด้วยตนเอง นี่เป็นอิสรภาพเบื้องต้นที่ศาสนิกทุกคนพึงมี



คำว่า “สันทิฏฐิโก” แปลว่า “พระธรรมเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง” ในเมื่อพระธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถปฏิบัติและพึงเห็นได้ด้วยตนเองจึงเป็นไปไม่ได้ที่คนอื่นจะมาบังคับควบคุมเราให้เห็นตามแบบที่คนอื่นเห็น  เป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะมาควบคุมให้เราเห็นธรรมในแบบที่รัฐเห็น เพราะศาสนธรรมและการพินิจพิเคราะห์ภายในเป็นเรื่องของปัญญาญาณของแต่ละบุคคล เป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน ไม่มีใครบังคับใครได้ การบรรลุธรรมจะไม่เกิดขึ้นหากพื้นที่ส่วนตัวแห่งการพินิจพิเคราะห์ถูกยึดกุมโดยคนอื่น  การบรรลุธรรมจะไม่เกิดขึ้นหากพื้นที่ส่วนตัวมีการควบคุมโดยรัฐ หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านออกมานั่นหมายความว่าพื้นที่อิสรเสรีภาพทางจิตวิญญาณของพลเมืองจะถูกควบคุมลิดรอนโดยรัฐ



            หลายคนที่ไม่ได้รู้เท่าทันกับสำนวนทางกฎหมายอาจจะคิดและมองง่ายๆ ว่าการมี พ.ร.บ. ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาน่าจะเป็นเรื่องดี  แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะพบว่าเป็นเรื่องอันตรายหาก พ.ร.บ. ชุดนี้ผ่านออกมา  ผู้ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากประชาชนชาวพุทธทุกคนนั่นเอง



            ปัญหาที่พุทธศาสนากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมาทำลายหรือทำให้คำสอนทางพุทธศาสนาผิดเพี้ยน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพุทธศาสนากำลังถูกทำให้กลายเป็นสมบัติของรัฐจนกลายเป็นสถาบันที่แตะต้องไม่ได้ โดยมี พ.ร.บ.อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาเป็นตัวทำให้พุทธศาสนาถูกแปรรูปไปเป็นสมบัติของรัฐ



แม้ประชาชนชาวพุทธที่เดินบนถนนก็อาจมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นว่า พ.ร.บ.นี้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาของพวกเขาอย่างไรบ้าง.

                       (อ่านตอนที่ 2  วันพระถัดไป  ศุกร์ 17 เมษายน 2558)

.