วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

Boundary พรมแดนที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า



คมชัดลึก  วันพระ พุธ 4 กันยายน 2556
พระชาย วรธัมโม เขียน

เป็นไปได้ไหมที่จะมีใครสักคนในชีวิตต้องพบเจอกับสถานการณ์ความไม่สงบของบ้านเมืองถึงสามเหตุการณ์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เหตุการณ์ทั้งสามนั้นคือ ๑) ความไม่สงบในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ๒) การชุมนุมของชาวเสื้อแดงที่สี่แยกคอกวัวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และ ๓) การปะทะกันที่เขตชายแดนไทยกัมพูชาด้วยเหตุเขาพระวิหารในปี พ.ศ. ๒๕๕๔  แล้วก็มีคนที่ประสบกับเหตุการณ์ทั้งสามจริงๆ จุดประกายให้ นนทวัฒน์ นำเบญจพล อยากทำหนังสารคดีที่รวมความขัดแย้งทั้งสามเหตุการณ์ให้อยู่ในเรื่องเดียวกัน ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) หนังสารคดีความยาว ๑ ชั่วโมง ๓๕ นาทีคือหนังเรื่องนั้น 






อ๊อด เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง เขาคืออดีตพลทหารชาวศรีษะเกษที่ต้องผ่านเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศทั้งสามเหตุการณ์ อ๊อดเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่าหลังจากจบ ป.๖ เขาก็ไปบวชเป็นสามเณรอยู่ ๔ ปีเพื่ออาศัยการบวชเป็นหนทางในการศึกษา เดือนเมษายน ปี ๒๕๕๑ เขาเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ เขาจับได้ใบแดงจึงเป็นทหารอยู่ ๒ ปี ช่วงแรกเขาถูกส่งตัวไปประจำการที่จังหวัดสระแก้ว ระหว่างนั้นในกองร้อยมีการเปิดรับสมัครพลทหารอาสาไปประจำการในเขต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงวันหยุดเขาจึงลากลับไปบ้านที่ศรีษะเกษขออนุญาตพ่อแม่เสนอตัวไปเป็นพลทหารอาสาเพื่อไปประจำการที่ภาคใต้ พ่อบอกว่าแล้วแต่เขา ส่วนแม่สนับสนุนเขาด้วยคำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเขาควรไปดูโลกข้างนอกว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ไปเผชิญกับความไม่สงบลำดับที่ ๑

อ๊อดถูกส่งตัวไปประจำการที่เขตตำบลโต๊ะโมะ จังหวัดนราธิวาส ที่นั่นเขาได้สัมผัสความขัดแย้งของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริงระหว่างฝ่าย แนวร่วมกับฝ่ายรัฐบาลหนังแทนภาพด้วยการสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์ ให้ความรู้สึกราวกับว่าน้ำที่สาดเข้าหากล้องคือห่ากระสุนที่พยายามพุ่งเข้าหาคนดู




หลังจากประจำการอยู่ที่นั่นได้ ๘ เดือนเขาก็ถูกส่งตัวกลับ ต่อมาในเดือนเมษายนปี ๒๕๕๓ เขาถูกส่งตัวไปสลายการชุมนุมของชาวเสื้อแดงที่สี่แยกคอกวัวอันเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบลำดับที่ ๒ ที่เข้ามาในชีวิต และหลังจากปลดจากทหารเขาเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ศรีษะเกษในเดือนเมษายน ปี ๒๕๕๔ ที่นั่นเขาต้องพบกับความขัดแย้งที่ชายแดนไทย-กัมพูชาอันเนื่องมาจากกรณีเขาพระวิหารเป็นการต้อนรับการกลับบ้านเกิดของเขาพร้อมกับเป็นการส่งท้ายการเผชิญความไม่สงบลำดับที่ ๓ ในชีวิต

ความน่าสนใจของหนังอยู่ที่การผูกเรื่องให้ ๓ สถานการณ์ความขัดแย้งมาอยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน แม้ว่า ๓ เหตุการณ์จะมีความขัดแย้งที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ทั้งสามเหตุการณ์ต่างก็มีจุดร่วมเดียวกันตรงที่การแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขา เมื่อไรก็ตามที่เราต่างมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเสียแล้ว เมื่อนั้นทั้งเราและเขาต่างก็เริ่มกลายเป็นอื่น แม้ว่าโดยพื้นฐานเราจะมีมือ มีเท้า มีศีรษะเหมือนกัน เป็นคนเอเชียเหมือนกัน เป็นคนไทยเหมือนกัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เตือนสติให้ตระหนักรู้เลยว่าเราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน



อ๊อดเผยความรู้สึกตอนเป็นทหารที่ต้องไปเผชิญกับชาวเสื้อแดงที่สี่แยกคอกวัวว่าเขาไม่อยากลงมือกระทำเลยเพราะเขารู้ดีกว่าชาวเสื้อแดงที่มาชุมนุมไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นคนอีสานบ้านเดียวกันนั่นเองแต่เขาต้องทำไปตามหน้าที่ที่ถูกสั่งการมาอีกที เขาเล่าให้ฟังว่าเช้าวันนั้นเขาอยู่ในชุดนอกเครื่องแบบ เขากับเพื่อนทหารคนอื่นๆ ต้องไล่ฝูงชนจากแยกคอกวัวไปที่บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการใช้กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้า หากมีการยิงไปที่ประชาชนจริงๆ คงมีคนตายไม่น้อยและเขาคงต้องเป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน หนังแทนภาพด้วยคนเอามือตะปบจิ้งหรีดและกบเป็นภาพที่สื่อความรู้สึกได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ภาพเหตุการณ์จริง 

หนังค่อยๆ พาเราไปสำรวจความขัดแย้งระหว่างไทยกับพูชาซึ่งเป็นประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ มีตัวหนังสือขึ้นที่หน้าจอบอกเล่าที่มาที่ไปกรณีเขาพระวิหารว่า

เขาพระวิหารเกิดเป็นกรณีขึ้นในช่วงปี ๒๕๐๑ - ๒๕๐๒ ในปี ๒๕๐๕ ศาลโลกตัดสินให้เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ข้อพิพาทกรณีอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารถือเป็นอันสิ้นสุดลง
 
          อีก ๔๕ ปีต่อมา (๒๕๕๐) รัฐบาลกัมพูชาเสนอขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ปัญหาปราสาทพระวิหารหันกลับมาสู่ความสนใจของสังคมไทยอีกครั้ง แต่การหวนคืนของปัญหาพระวิหารครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์การเมืองไทยที่เป็นปัญหา เพราะเป็นการเมืองหลังการยึดอำนาจในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ในช่วงเวลาที่ประชาชนคนไทยแบ่งฝ่ายเหลืองแดงกันอย่างชัดเจน
          ปีถัดมา วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา และผู้แทนยูเนสโกได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ฝ่ายเสื้อเหลืองยกประเด็นการเสียดินแดนของรัฐบาลขึ้นมาประท้วง ทำให้กรณีเขาพระวิหารเป็นวิกฤติการเมือง จนกระทั่งรัฐบาลไทยเปลี่ยนขั้วหันมาคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เหตุการณ์บานปลายเกิดการสู้รบขึ้นบริเวณแนวตะเข็บชายแดนของประเทศทั้งสอง

          มีการยิงกันที่ปราสาทตาควาย อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ทหารกัมพูชาเสียชีวิต ๖ นาย ส่วนทหารไทยปลอดภัย ในขณะที่ชาวบ้านจำนวน ๑๘,๖๒๗ คน ต้องอพยพหนีออกจากหมู่บ้านมาอยู่รวมกันที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย  หนังพาเราไปสำรวจหมู่บ้านที่ปราศจากผู้คน โรงเรียนถูกระเบิดเสียหาย กระจกหน้าต่างแตกละเอียด โต๊ะเก้าอี้กลายเป็นเศษเหล็ก ห้องเรียนต้องซ่อมแซมใหม่หมด บางคนบ้านถูกระเบิดไฟไหม้จนไม่เหลืออะไรเลย ในขณะที่บางคนต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก คราบน้ำตา ความโศกเศร้าของคนที่ยังอยู่ แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน ชาวนาเผาหญ้าแห้งในนาเพื่อเตรียมการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ บางคนเริ่มไถนาในขณะที่บางคนเริ่มหว่านเมล็ด แต่ละภาพแต่ละเฟรมในหนังมีความหมายเราไม่อาจมองผ่านไปเฉยๆ 




        


           ปฏิจจสมุปบาทของเหตุการณ์ในหนังสารคดีเรื่องนี้เริ่มต้นที่การแตกแยกเป็นเหลืองแดงอย่างชัดเจนของคนไทยด้วยกัน นำไปสู่การชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงพลังว่าไม่มีใครยอมใคร ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาก็อยู่ในภาวะสุกงอมด้วยรอยร้าวพร้อมจะระเบิดได้ทันทีที่มีใครไปแตะเพียงนิดเดียว การชุมนุมของชาวเสื้อเหลืองเพื่อกดดันรัฐบาลกรณีการสูญเสียพื้นที่ทับซ้อนให้กับกัมพูชากลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่เหตุการณ์ความไม่สงบที่เขตชายแดนไทยเขมรไม่ต่างกับโดมิโน่ที่ค่อยๆ ล้มทับกันระเนระนาดไปจนตัวสุดท้ายนั่นคือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวเขตตะเข็บชายแดนฝั่งไทยต้องได้รับเคราะห์กรรมจากโดมิโน่ตัวแรกคือการแตกออกเป็นสองฝ่ายของคนไทยด้วยกัน ยังผลให้ความสัมพันธ์ที่เคยดีระหว่างคนไทยกับคนกัมพูชาตามแนวชายแดนเกิดรอยร้าว ชาวเสื้อเหลืองอาจจะไม่ได้ผิดอะไรที่ออกมากดดันรัฐบาลแต่การเข้าไปอยู่ในเหตุปัจจัยที่สภาวการณ์พร้อมจะระเบิดจึงกลายเป็นชนวนเชื่อมโยงให้ความไม่สงบเกิดต่อเนื่องกันไปเป็นปฏิจจสมุปบาท

          หนังเรื่องนี้กำลังตั้งคำถามที่สำคัญว่าผลลัพธ์จากความขัดแย้งที่เราเห็นในภาพยนตร์ที่ให้ผลเป็นความรุนแรงส่งต่อกันเป็นลูกโซ่คล้ายโดมิโน่ล้มทับกันเป็นทอดๆ จากศูนย์กลางกรุงเทพฯ ไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน แล้วกระเด็นกระดอนไปยังชาวอีสานที่อยู่ตามแนวชายแดนน่าจะสร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยมีสติมากขึ้นว่า จากนี้ไปเราจะอยู่กันอย่างไรภายใต้ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง เพื่อที่เราจะได้ไม่มีใครต้องได้รับบาดเจ็บเสียหายล้มตายจากความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกันเช่นนี้อีก เราจะอยู่กันอย่างไรโดยไม่เปิดโอกาสให้ความคิดเห็นที่แตกต่างต้องแปรสภาพเป็นชนวนระเบิดทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองให้เกิดการบาดเจ็บในแบบที่เราต่างก็ได้รับบทเรียนมาแล้วอย่างถ้วนหน้า          

     
          บางทีคำตอบน่าจะอยู่ที่ชื่อหนัง Boundary ซึ่งหมายถึง พรมแดน เรามีพรหมแดนชื่อ อคติ ที่คอยขวางกั้นไม่ให้เราเกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้กับใครสักคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง พรมแดนที่ทำให้เราไม่เข้าใจคนเสื้อแดงในฐานะที่เราเป็นคนเสื้อเหลือง พรมแดนที่ทำให้เราไม่เข้าใจคนเสื้อเหลืองในฐานะที่เราเป็นคนเสื้อแดง พรมแดนที่ทำให้เราไม่เข้าใจชาวมุสลิมในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ พรมแดนที่ทำให้เราไม่เข้าใจคนกัมพูชาในฐานะที่เราเป็นคนไทย พรมแดนที่ทำให้เราไม่เข้าใจปัญหาของคนยากจนต่างจังหวัดในฐานะที่เราเป็นชนชั้นกลางอาศัยอยู่ในเมือง พรมแดนที่ทำให้เราไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศในฐานะที่เราเป็นคนกระแสหลัก พรมแดนที่ทำให้เราไม่เข้าใจวัยรุ่นในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ พรมแดนที่ทำให้เราไม่เข้าใจคนกลุ่มน้อยในฐานะที่เราเป็นคนกลุ่มใหญ่ และเรายังมีพรมแดนภายในอีกมากมายหลายอย่าง 

          อันเป็นพรมแดนที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า...



"