ไม่เคยคิดว่าในชีวิตจะกลายเป็นคนที่หยุดบริโภคเนื้อสัตว์ไปได้เพราะในหัวมีอาหารคาวเมนูโปรดอยู่หลายรายการด้วยกัน แต่ในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเราต้องการสร้างเหตุปัจจัยด้านบวกให้เกิดกับตนเองมากขึ้นจึงเปลี่ยนแปลงตัวเองหันไปฉันมังสวิรัติ อันที่จริงการฉันเนื้อสัตว์ก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรมที่ง่ายไม่ต้องทำตัวให้ลำบาก ไม่ต้องมานั่งพินิจพิเคราะห์สงสัยลังเลว่าอาหารในจานที่ตั้งอยู่ตรงหน้าเรามีเนื้อสัตว์ปนมาหรือเปล่า โยมที่นำอาหารมาถวายจะรู้หรือไม่ว่าเราไม่ฉันเนื้อสัตว์ แต่ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปเราก็ไม่ต้องมานั่งฟุ้งซ่านลังเลสงสัยอะไรแบบนั้นอีก เพราะ “วิจิกิจฉา” ก็เป็นกิเลสตัวหนึ่งที่เราทุกคนต้องก้าวข้ามผ่านกันไป
ตอนที่เริ่มหันมาฉันมังสวิรัติใหม่ ๆ
ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไรนัก มีโยมทำถวายให้ ส่วนที่ยากน่าจะเป็นความรู้สึกอยากฉันอาหารคาวเมนูโปรดมากกว่า
อย่างเช่น ไก่ชุบแป้งทอด ข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู ยำกุนเชียง เหล่านี้จะคอยมากวนความรู้สึกอยู่เป็นระยะ
แม้จะผ่านไปแล้วประมาณ ๓-๕ ปีก็ยังรู้สึกอยากฉันอยู่
บางครั้งไปงานที่บังเอิญมีอาหารคาวตั้งอยู่ตรงหน้าก็ต้องทำใจหลีกเลี่ยง
การหันมาทานมังสวิรัติหรือทานอาหารเจจึงเป็นการทำตัวเองให้มีระเบียบวินัยในเรื่องการรับประทานอาหารไปอีกขั้นหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการห้ามกิเลสเรื่องการกินโดยตรงซึ่งทำได้ยาก
แต่ถ้าสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ก็ถือว่าเราชนะกิเลสไปได้อีกตัวหนึ่ง
สมัยที่ผู้เขียนเป็นฆราวาสเคยกินข้าวขาหมูที่มีมันหมูหนา
ๆ มัน ๆ ได้อย่างเอร็ดอร่อย ตอนนั้นมีคนที่ทานมังสวิรัติมานั่งใกล้ ๆ
แล้วพูดว่าเธอไม่สามารถกินมันหมูแบบนั้นได้อีกเพราะเหม็นคาว
ได้ยินแล้วก็นึกในใจว่ามันจะยากขนาดไหนเชียวกับการกินมันหมูแบบนี้
ต่อให้เรากินมังสวิรัติเราก็ยังคงกินมันหมูแบบนี้ได้แหละน่า แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึงได้รู้ว่าสิ่งที่เราคิดตอนนั้นมันผิด
เพราะทุกวันนี้เราไม่สามารถกลับไปกินข้าวขาหมูอย่างเคยได้อีกแล้ว การกินมังสวิรัติเป็นเวลา
๒๒ ปีทำให้จมูกมีปฏิกิริยากับของคาวทันทีคือรู้สึกเหม็นและทานไม่ลง ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกกะปิ
หรือแม้แต่ผัดไทยใส่กุ้งแห้งเพียงไม่กี่ตัวก็ยังรู้สึกเหม็น
คนที่กินมังสวิรัติหรือกินอาหารเจมานานจะรู้สึกคล้าย ๆ กันทุกคน
แต่ก็มีบางคนที่แตกต่างออกไปคือ หลังจากกินอาหารเจหรืออาหารมังสวิรัติได้ปีสองปีก็ยังกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้อีกโดยไม่รู้สึกเหม็นคาว
ก็เป็นไปได้เหมือนกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากหยุดกินเนื้อสัตว์เป็นระยะเวลานาน
ๆ ก็คือรู้สึกมากขึ้นว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหารของมนุษย์
และรู้สึกตัวมากขึ้นว่ามนุษย์เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อของเพื่อนร่วมโลกก็มีชีวิตอยู่ได้
และไม่ได้หมายความว่าการงดเนื้อสัตว์จะทำให้เราขาดสารอาหารบางอย่างไป
หากเราต้องการโปรตีนก็ยังมีโปรตีนจากถั่วและธัญพืชให้เลือกกิน บางคนบอกว่าถ้าไม่กินเนื้อสัตว์แล้วจะไม่มีแรง
เดี๋ยวสารอาหารจะไม่ครบ ๕ หมู่ ความจริงข้อนี้มีการโต้เถียงและเปรียบเทียบกันมานานแล้วว่าวัวควายเป็นสัตว์กินหญ้ายังมีพละกำลังมหาศาลไถนาได้อย่างแข็งขัน
การกินผักแล้วไม่มีแรงจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด
เป็นเพราะเรากินเนื้อสัตว์มานานร่างกายก็เลยคุ้นชินกับอาหารหนักย่อยยาก
พอเราเปลี่ยนเป็นอาหารผักย่อยง่ายร่างกายจึงไม่คุ้น ต่อเมื่อกินผักไปนาน ๆ ร่างกายจะปรับสมดุลไปเอง
สิ่งหนึ่งที่อยู่ในตำราเรียนวิชาสุขศึกษาคือการบอกว่าเราต้องกินอาหารให้ครบ
๕ หมู่ หนึ่งใน ๕ หมู่คือโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์ สิ่งที่วิชาสุขศึกษาไม่เคยคำนึงถึงคือการจะได้รับสารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ต้องมาจากการทำลายชีวิตสัตว์
ในที่สุดก็ไปขัดกับวิชาพุทธศาสนาที่สอนเราให้หลีกเลี่ยงการฆ่าสัตว์ แม้เราจะไปซื้อเนื้อมาจากตลาดแล้วบอกว่าเราไม่ได้ฆ่ามันโดยตรงแต่คนอื่นก็ฆ่าให้เราเรียบร้อยแล้ว
การซื้อเป็นเพียงการปฏิเสธการรับรู้ภาพทารุณกรรมที่เราไม่อยากเห็นแค่นั้นเอง
แล้วเราก็ลืมภาพทารุณกรรมเหล่านั้นไป สัตว์ก็ยังคงถูกฆ่าเพื่อนำร่างของมันมาปรุงอาหารให้มนุษย์กินอยู่ดี
ไม่ใช่แต่ในตำราเรียนเท่านั้น
แม้แต่วงการแพทย์ก็สนับสนุนให้เรากินเนื้อสัตว์โดยอ้างว่าการกินเนื้อสัตว์ทำให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง
แต่ความจริงก็คือคนกินเนื้อสัตว์ก็ยังต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่ดี
ลองไปเดินดูตามโรงพยาบาลสิคนป่วยจำนวนมากรอเข้าคิวเพื่อพบหมอด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง
ๆ นานา พวกเขากินเนื้อสัตว์แต่ทำไมยังต้องมาหาหมอกันอีกล่ะ
ไหนว่ากินเนื้อสัตว์แล้วแข็งแรงไง ?
ในเมื่อคนในวงการแพทย์ยังบริโภคเนื้อสัตว์และเขาก็อยู่ในโลกของความเอร็ดอร่อยจากการบริโภคเนื้อสัตว์
จึงไม่มีเหตุผลที่เขาจะต้องมาแนะนำเราให้หันไปกินผักเพราะมันไม่ใช่กงการที่สลักสำคัญอะไรในเมื่อเขายังไม่รู้เลยว่าการหยุดเนื้อสัตว์มีคุณประโยชน์อย่างไร
จริง ๆ แล้วมีประโยชน์หลายด้านเลยทีเดียวสำหรับการหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ซึ่งวงการแพทย์วางเฉยไม่ได้ให้ความสำคัญ
เช่น ทำให้โรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงบางอย่างหายไป ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็งอยู่ในอาการดีขึ้นเมื่อหยุดบริโภคเนื้อสัตว์แล้วหันไปกินผักให้มากขึ้น
ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิดมีอาการดีขึ้นอย่างเช่นเราเคยป่วยเป็นโรคไมเกรน
ปัจจุบันก็ดีขึ้น เมื่อมีบาดแผลตามร่างกายก็หายเร็วขึ้น กระเพาะอาหารทำงานเบาลง
การขับถ่ายคล่องขึ้น หน้าไม่เป็นสิว ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เราตกอยู่ในระบบโครงสร้างสังคมที่ครอบงำเราให้บริโภคเนื้อสัตว์
เขาบอกว่าถ้าเราไม่กินเนื้อสัตว์เราจะป่วยเราจะอ่อนแอ คนที่อยู่ในสังคมก็คิดเหมือนกันหมด
ในโรงเรียนครูก็พูดแบบนี้ ในมหาวิทยาลัยอาจารย์ก็พูดแบบนี้
ในโรงพยาบาลหมอก็พูดแบบนี้ ในวัดพระก็พูดแบบนี้ ไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์เลยว่าเราควรหยุดเนื้อสัตว์
เนื้อสัตว์แม้จะทำให้เราอิ่มท้องมีสารโปรตีนที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย
แต่ในขณะเดียวกันเนื้อสัตว์ก็นำโรคภัยไข้เจ็บมาสู่คนเพราะมันประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อพังผืดที่ย่อยยากและเชื้อโรคต่าง
ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ฮอร์โมนแห่งความเครียด” ที่หลั่งออกมาจากตัวสัตว์ขณะถูกฆ่า
ฮอร์โมนความเครียดจะแทรกซึมอยู่ในเนื้อที่เรากินลงไป สุดท้ายก็นำเราไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่าง
ๆ
บางทีวงการแพทย์อาจจะทราบแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าจะต้องมาบอกให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพราะวงการแพทย์มีอำนาจและอิทธิพลในการให้ข้อมูลข่าวสาร ถ้าพูดออกไปจะมีผลกระทบไปทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ภัตตาคาร ในที่สุดอาจมีผลกระเทือนไปทั้งประเทศ ที่สำคัญคือทำให้เขาอดรับประทานเมนูเนื้อสัตว์ที่ถูกปาก ผู้รับเคราะห์คือสัตว์จำนวนมากมายที่ต้องตายไปในแต่ละวัน น้อยคนที่จะรู้ว่าแม้ไม่กินเนื้อสัตว์เราก็แข็งแรงมีชีวิตอยู่ได้
*ภาพรณรงค์ต่อต้านการกินเนื้อสัตว์
ประเทศอินเดียเป็นตัวอย่างของสังคมฮินดูที่ไม่กินเนื้อสัตว์มาเป็นพัน
ๆ ปีแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้บริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลักแต่ประชากรของเขาก็ยังมีชีวิตสืบเผ่าพันธุ์มาจนทุกวันนี้
คนไทยที่ไปอินเดียเพื่อเยี่ยมชมพุทธสังเวชนียสถานบ่อย
ๆ น่าจะหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองบ้างว่า
“เรากำลังถูกหลอกให้กินเนื้อสัตว์กันอยู่หรือเปล่า ?”
*ภาพรณรงค์ต่อต้านการกินเนื้อสัตว์