คมชัดลึก วันพระ
30 มิถุนายน 2558
เรามีโอกาสไปดูงานพุทธศาสนาที่เกาหลีใต้ภายใต้การทำงานของ
“เครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม” International Network of Engage
Buddhists (INEB) มีผู้ร่วมเดินทางเป็นพระภิกษุ
๙ รูป แม่ชี ๔ ท่าน ฆราวาส ๓ คน ก่อนไปเราไม่มีภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่นั่นเลย เรียกว่าเป็นจินตนาการที่ว่างเปล่า
การไปดูงานครั้งนี้ถือเป็นการเปิดหูเปิดตาให้รู้จักพุทธศาสนาที่นั่นเป็นครั้งแรกเลยทีเดียว
คนไทยหลายคนคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่เกาหลีมีพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองไม่แพ้เมืองไทย
ก่อนจะรู้จักกับพุทธศาสนาในประเทศเกาหลีเราน่าจะรู้จักอดีตของประเทศเกาหลีโดยสังเขปเสียก่อน
ระหว่างปี
พ.ศ. ๒๔๕๓ – ๒๔๘๘ เป็นช่วงเวลา ๓๖ ปีที่เกาหลีถูกญี่ปุ่นบุกรุกและครอบครอง
ด้วยเหตุนี้เวลาที่คนเกาหลีได้ยินคำว่า “ญี่ปุ่น” จึงมักมีปฏิกิริยาโดยอัตโนมัติซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่
๒ จบสิ้น
ญี่ปุ่นแพ้สงครามเป็นผลให้ญี่ปุ่นต้องถอนทัพออกจากเกาหลีซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดี
แต่โชคร้ายโซเวียตได้เข้ามายึดครองส่วนเหนือในขณะที่อเมริกาเข้ายึดครองส่วนใต้
ทั้งสองมหาอำนาจเข้าแย่งการปกครองเกาหลี ในที่สุดทำให้ประเทศเกาหลีถูกแบ่งออกเป็น
๒ ส่วน
บัดนี้กาลเวลาผ่านไป ๗๐ ปีแล้วทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต่างเจ็บช้ำไปกับสงครามที่ผ่านมาราวกับแผลเป็นที่ไม่เคยลบเลือนหายไป
การเปลี่ยนผ่านด้านศาสนธรรมที่เกิดขึ้นกับเกาหลีจากอดีตกาลประชาชนเคยนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
ผลของการยึดครองโดยญี่ปุ่นและผลของสงครามทำให้พุทธศาสนาล่มสลายจำนวนผู้นับถือพุทธศาสนาลดลงอย่างน่าตกใจ
หินแกะสลักเป็นรูปพระศากยมุนี ที่วัดโจเกซา
มีการวาดเป็นการ์ตูนโปสการ์ด ราคาภาพละ 1,000 วอน (คิดเป็นเงินไทย 37 บาท)
ในภาวะหลังสงครามและการถูกแบ่งประเทศประชาชนอดอยากยากแค้น
คริสต์ศาสนาโดยการนำของชนชาติตะวันตกถูกนำเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ด้วยการมอบสิ่งอำนวยความสะดวกและชีวิตที่ดีกว่า
นั่นย่อมทำให้คนเกาหลีจำนวนไม่น้อยหันไปเป็นคริสเตียน จนชาวเกาหลีที่นับถือคริสต์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
มากขึ้น และมากขึ้น ในที่สุดจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ก็มีมากกว่าพุทธ ปัจจุบันมีชาวเกาหลีที่นับถือพุทธเหลืออยู่
๒๓ เปอร์เซ็นต์ คาทอลิก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ โปรเตสแตนท์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์
ที่เหลือเป็นผู้ไม่ระบุว่านับถือศาสนาอะไรซึ่งมีอยู่เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด
ถึงแม้จำนวนประชาชนชาวเกาหลีที่นับถือศาสนาพุทธจะลดน้อยลงไปมากแต่พุทธศาสนาในเกาหลียังมีลมหายใจอยู่
พุทธศาสนาที่นี่เป็นนิกายมหายานที่เดินทางมาจากประเทศจีนซึ่งเข้ามาลงหลักปักฐานที่เกาหลีเมื่อ
๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันพุทธศาสนาที่นี่มีประมาณ ๓๐ นิกาย นิกายที่โดดเด่นและมีอิทธิพลมากที่สุดคือนิกายโจเกที่เรากำลังไปเยี่ยมเยือน
ท่านอาจารย์โพมงิมพระเซ็นนิกายโจเกในวัย
๖๐ ได้ก่อตั้ง “ชุมชนจ็องโต” (Jungto Society) ขึ้นมาเมื่อ ๒๗
ปีที่แล้วเพื่อปฏิวัติพุทธศาสนาให้ฆราวาสชาวพุทธเกิดการเรียนรู้และเข้าถึงแก่นคำสอนทางพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
* พระอาจารย์โพมงิม ผู้ก่อตั้งชุมชนจ็องโต
ท่านโพมงิมเล่าให้ฟังว่าช่วงที่ผ่านมาหลังจากประเทศเกาหลีถูกญี่ปุ่นยึดครองและถูกแบ่งประเทศ
วิถีชีวิตของพระสงฆ์ก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพระที่มีครอบครัว ในขณะที่พระสงฆ์ที่ประพฤติพรหมจรรย์ยังคงมีอยู่
เวลานั้นพระธรรมคำสอนถูกบดบังแปรรูป สงครามทำให้ผู้คนสูญเสียสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ
เมื่อท่านโพมงิมมองเห็นจุดนี้จึงมีความคิดที่จะรื้อฟื้นจิตวิญญาณของคนเกาหลีที่ยังคงนับถือพุทธศาสนาให้ตื่นขึ้นท่ามกลางสังคมเกาหลีที่เปลี่ยนไปสู่โลกสมัยใหม่ที่เจริญก้าวหน้าไปในด้านวัตถุและเทคโนโลยีอันทันสมัยภายหลังสงครามโลกครั้งที่
๒ สิ้นสุด
ชุมชนจ็องโตหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมจ็องโตได้แทรกตัวอยู่ในเมืองหรือไม่ก็ตั้งอยู่ร่วมกับชุมชนในชนบทซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจากวัดซึ่งมีถึง
๑๐๐ สาขากระจายอยู่ทั่วเกาหลีใต้ มีการสวดมนต์ ศึกษาพระธรรม เจริญสมาธิภาวนา
ชุมชนจ็องโตในแต่ละแห่งจึงเปรียบเสมือนวัดสำหรับฆราวาสให้ฆราวาสได้เข้ามาฝึกตนปฏิบัติธรรมและเรียนรู้พุทธศาสนา
ชุมชนจ็องโตบริหารและดำเนินการโดยฆราวาสเน้นการเป็นอาสาสมัครโดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นอาสาสมัครทำงานรับใช้ศูนย์ปฏิบัติธรรมเพื่อเผยแผ่ศาสนาในรูปแบบฆราวาสโดยไม่หวังค่าตอบแทน
สำหรับเจ้าหน้าที่ประจำจะมีเงินติดกระเป๋าให้ใช้จ่าย ๑,๕๐๐ บาทต่อเดือน โดยใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่ในศูนย์
เรียกว่าเป็นฆราวาสที่ใช้ชีวิตแบบพระภิกษุผู้สันโดษมักน้อยก็ไม่ผิดนัก
ในด้านการปฏิบัติธรรม
ท่านโพมงิมได้ออกแบบหลักสูตร “๑๐๐ วันแห่งการตรัสรู้” ขึ้นมา เป็นหลักสูตรการปฏิบัติธรรมเพื่อการแปรเปลี่ยนสำหรับคนรุ่นใหม่ให้คนหนุ่มคนสาวได้เข้ามาฝึกฝนปฏิบัติตนให้เข้าใจพุทธศาสนาผ่านการปฏิบัติธรรม
โดยภาพรวมก็คือการปฏิบัติธรรม ๑๐๐ วันสำหรับฆราวาสนั่นเอง หาก ๑๐๐
วันยาวนานเกินไปก็มีหลักสูตรอื่นๆ ที่เบามือลงมาคือ ๕ วัน หรือ ๑๐ วัน
ท่านโพมงิมเล่าให้ฟังว่า
หลักสูตร ๑๐๐ วันแห่งการตรัสรู้ไม่ได้เปิดรับแค่หนุ่มสาวชาวพุทธเท่านั้นแต่เปิดรับใครก็ได้ที่พร้อมจะปฏิบัติธรรม
๑๐๐ วัน ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไร นี่เป็นเหตุให้ชาวคริสต์รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอะไรเลยให้ความสนใจเข้ามาปฏิบัติธรรมเพื่อความเปลี่ยนแปลง
โดยภาพรวมเราไม่อาจพูดได้ว่าชาวพุทธในเกาหลีมีจำนวนลดลง
เพราะจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีคนที่เข้าไปศึกษาและปฏิบัติธรรมในชุมชนจ็องโตโดยที่พวกเขายังเป็นคาทอลิกและโปรเตสแตนท์โดยไม่ได้สมาทานว่าเป็นชาวพุทธ
หรือบางทีพวกเขาอาจนับถือสองศาสนาก็เป็นได้ใครจะรู้
บรรยากาศของวัดอุมมุนซา วัดภิกษุณีท่ามกลางหุบเขา
ที่นี่มีวัดภิกษุและวัดภิกษุณีรวมกันประมาณ
๑๓,๐๐๐ วัด เราไปชมวัดทั้งในกรุงโซลและนอกเมือง หลายวัดคงความใหญ่โตสวยงามอลังการ
อย่างวัดทองโดซา (Tongdosa)
มีวิหารที่ใหญ่โตวิจิตรงดงามและยังใช้เป็นห้องเรียนสอนธรรมะให้ฆราวาสจำนวนพันๆ
คน หรือวัดบุลกุกซา (Bulguksa)
ก็มีอายุเป็นพันปีแต่ก็ยังมีพระสงฆ์พำนักอยู่และยังถูกยกให้เป็นมรดกโลก
การที่เราพูดว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาของโลกอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่
เพราะเราไม่เคยไปชมพุทธศาสนาในประเทศอื่นเราจึงทึกทักเอาว่าประเทศของเราเท่านั้นที่เป็นหนึ่งด้านพุทธศาสนา
หากเราได้เห็นพุทธศาสนาในประเทศอื่นๆ เราอาจจะต้องเปลี่ยนคำพูดใหม่
จากนั้นเราก็ไปชมสถานีโทรทัศน์พุทธที่ถ่ายทอดรายการพุทธศาสนา
ที่นั่นมี ๒ สถานีคือ BTN
และ BBS ทั้งสองสถานีมีตึกสูงตระหง่านเป็นของตนเองอยู่ใจกลางกรุงโซล
ที่น่าตื่นตาตื่นใจก็คือสถานีโทรทัศน์ทั้งสองมีห้องสวดมนต์ขนาดใหญ่ไว้ใช้สวดมนต์จุคนได้เป็นร้อย
สถานีโทรทัศน์จึงไม่ใช่แค่สถานีโทรทัศน์เท่านั้นแต่จัดเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเลยทีเดียวก็ว่าได้
สุดท้ายเราได้ไปเยี่ยมชมวัดภิกษุณีอย่างน้อย
๒ แห่ง ซึ่งเป็นวัดภิกษุณีที่ใหญ่โตมาก แห่งแรกคือวัดอุนมุนซา (Unmunsa) เป็นสำนักภิกษุณีที่ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขาในชนบทไกลออกไปจากเมือง ที่นี่ยังเป็นมหาวิทยาลัยภิกษุณี
มีภิกษุณีทั้งหมด ๑๖๐ รูป กับอีกวัดหนึ่งซึ่งถือเป็นวัดศูนย์กลางภิกษุณีแต่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโซลชื่อวัดฟบยงซา
(Phobyongsa) จัดเป็นวัดที่ใหญ่โตเช่นกัน ภายในวัดมีห้องประชุมสัมมนาที่ทันสมัย
มีห้องเย็บจีวรสำหรับแจกจ่ายจีวรที่เย็บแล้วไปยังวัดพระภิกษุและวัดภิกษุณีในเครือข่าย