วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

Pop Aye การเปลี่ยนผ่านของทุกข์

พระชาย วรธัมโม เขียน
น.ส.พ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดี 20 กรกฎาคม 2560







ก่อนวันสมาทานเข้าพรรษาไม่กี่วันผู้เขียนมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Pop Aye มายเฟรนด์ ที่สมาคมฝรั่งเศสในค่ำคืนหนึ่งอันเป็นการฉายรอบพิเศษหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกจากโรงไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  และเป็นค่ำคืนที่นักแสดงนำคือคุณธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ได้มาพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้หลังจากหนังฉายจบ

            หนังเรื่องนี้กำลังพูดถึงวิกฤตชีวิตวัยกลางคน (หรือวัยเกษียณ ?) ของสถาปนิกชื่อ “ธนา” ที่กำลังถูกสถาปนิกรุ่นหลานอันเป็นคลื่นลูกใหม่กำลังซัดเข้าแทนที่คลื่นลูกเก่าอย่างเขา

            ธนาต้องหลุดออกมาจากโปรเจ็คการสร้างตึกใหม่ในแบบที่ไม่คิดว่าจะ “กลายเป็นหมาตัวหนึ่ง”  ดังคำตอบที่เขาพูดกับคนขับสิบล้อในฉากต่อมา

          วิกฤตเรื่องถัดมาที่ธนาต้องเผชิญก็คือการที่เมียของเขาไม่สนใจที่จะมีความสุขทางเพศกับเขาซึ่งก็ดูเหมือนว่าเขาเองก็ขาดการ “ทำการบ้าน” มาระยะหนึ่งแล้ว  หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือเขากำลังเผชิญกับช่วงวัยทองของชีวิตที่แม้แต่ความสุขทางเพศก็ไม่สามารถมีให้กับภริยาได้จนภริยาต้องไปพึ่งเซ็กทอย

            ในเมื่ออะไรที่แย่ ๆ ต่างก็ประดังประเดเข้ามาในชีวิต ทางเดียวที่เขาจะมีความสุขได้ก็คือการกลับไปไขว่คว้าหาอดีตเพื่อเยียวยาตัวเอง  ด้วยความบังเอิญธนาไปพบกับช้างตัวใหญ่ตัวหนึ่งที่ควาญช้างพามาหากินในเมือง  เขาคิดว่ามันคือ “เจ้าป๊อปอาย” ช้างข้างบ้านสมัยที่เขาเคยอยู่บ้านนอกที่ จ.เลย ในสมัยเด็ก ๆ ในที่สุดธนาจึงขอซื้อ “ป๊อปอาย” เพียงเพื่อจะพามันกลับไปอยู่ในที่ ๆ มันจากมา  เพื่อไขว่คว้ากลับไปหา “วันวาน” ที่เป็นมิตรและอบอุ่นกว่าปัจจุบัน

            ระหว่างทางเขาพบกับผู้คนและเหตุการณ์ต่าง ๆ สุดจะคาดเดา ไม่ว่าจะเป็น “ชายไร้บ้าน” ที่มีความใฝ่ฝันว่าอยากไปพบกับ “พี่ชาย” บนสวรวงสวรรค์ในวันใดวันหนึ่ง  โดยที่สถานะของชายไร้บ้านคนนั้นก็แทบจะไม่มีอะไรเหลือเมื่อเทียบกับเขาแต่ชายไร้บ้านคนนั้นยังมีความใฝ่ฝัน ในขณะที่ตัวเขาชีวิตตกต่ำแต่ยังไม่ถึงศูนย์แต่เหตุไฉนเขาจึงสิ้นหวังได้เพียงนี้

            จากนั้นธนาต้องเผชิญหน้ากับตำรวจเมื่อเขาถูกตำรวจตรวจสอบใบขนย้ายสัตว์ใหญ่ข้ามจังหวัดแล้วพบว่าใบขนย้ายสัตว์ที่ได้มาจากควาญช้างคือใบขนย้ายสัตว์เก๊  ในที่สุดเขากับป๊อปอายช้างจึงถูกตำรวจซิว แต่จนแล้วจนรอดธนากับช้างน้อยตัวใหญ่ก็รอดพ้นจากการซิวของตำรวจด้วยความช่วยเหลือจากกะเทยขายบริการในร้านคาราโอเกะริมถนน กะเทยที่สังคมตีตราว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ปกติ แต่ภายใต้สิ่งที่สังคมตีตราว่าไม่ปกติธนากลับได้รับในสิ่งที่เป็นหนี้บุญคุณจากบุคคลที่สังคมผลักออกไปสู่ชายขอบ ในขณะที่บุคคลปกติ “ในเครื่องแบบ” กลับดูเป็นศรัตรูมากกว่า

            แต่ในที่สุดธนาต้องเผชิญกับความผิดหวังที่ทำให้ความพยายามของเขาพังทลายเมื่อพบว่า “ป๊อปอาย” ช้างตัวใหญ่ที่เขาคาดหวังจะพากลับไปบ้านเกิดที่ จ.เลย เป็นคนละตัวกับ “ป๊อปอาย” ช้างข้างบ้านในวัยเด็ก เพราะ “เจ้าป๊อปอาย” ในวัยเด็กนั้นได้ตายจากไปนานแล้ว

            ถึงตอนนี้ธนาได้มาถึงก้นบึ้งของความทุกข์ที่เขาต้องยอมรับความจริงเสียทีเพราะที่ผ่านมาเขาเพียงแต่ยื้อความทุกข์เอาไว้ไม่ยอมรับว่าเขาเป็นสถาปนิกตกรุ่นไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งยังดันทุรังจินตนาการถึง “ป๊อปอาย” ในวัยเด็ก  คิดเอาเองว่าช้างที่ตนกำลังช่วยเหลือเป็นช้างตัวเดียวกันกับช้างข้างบ้านในวัยเด็กตัวนั้น

            คงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากหากเราเป็นคนที่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตแล้ววันหนึ่งเราตกต่ำลงจนเกือบไม่เหลืออะไรให้คนอื่นได้มองเห็นและยำเกรงในตัวเรา  ธนาก็เป็นเช่นนั้น 

            เมื่อมนุษย์มีความทุกข์  มนุษย์มักโหยหาสิ่งอื่นมาทดแทนโดยมนุษย์หวาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง  ธนาไม่มีแม้แต่เพื่อนสนิทสักคนที่จะให้ระบายความทุกข์ใจ  เขาจึงมองหา “วันวานเก่า ๆ” ที่จะไขว่คว้าเอาไว้  ด้วยความบังเอิญเขาไปเจอช้างตัวหนึ่งแล้วทึกทักเอาว่ามันคือ “เจ้าป๊อปอาย” ช้างที่เขาคุ้นเคยในวัยเด็ก แต่อันที่จริงระหว่างนั้นเขาก็ดูเหมือนว่าเขาได้เจอเพื่อนอยู่บ้าง เช่น ชายไร้บ้านที่เกือบจะจุดประกายให้เขาได้เห็นว่าแม้จะไม่มีอะไรเลยแค่เรามีความหวังเราก็มีความสุขได้ไม่ว่าความหวังนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่  แต่แรงบันดาลใจจากชายไร้บ้านคนนั้นอาจยังไม่เพียงพอต่อความทุกข์ที่ท่วมท้นที่มีอยู่ภายในใจของธนาจึงทำให้ธนาดิ้นรนไม่ยอมรับความทุกข์นั้น

            คุณธเนศได้เล่าให้ฟังว่าตอนที่เขาเข้าฉากแสดงเป็น “ธนา” สถาปนิกตกยากที่กำลังเผชิญกับขาลงของชีวิตเขาถึงกับน้ำตาไหลออกมาจริง ๆ ถึงสามฉากด้วยกัน คือ ฉากที่โทรศัพท์กลับไปหาเมีย  ฉากที่พาป๊อปอายไปอาบน้ำในหนองแล้วพูดว่าป๊อปอายก็เหมือนกับเขาทั้งแก่ทั้งอ้วนและยังไม่มีบ้านจะอยู่  และฉากที่ธนาเปลี่ยนใจจะพาป๊อปอายไปส่งมูลนิธิอนุรักษ์ช้างเพื่อช่วยให้ป๊อปอายมีที่อยู่ที่ปลอดภัยโดยเขาตะโกนใส่ป๊อปอายว่าถ้าเราพลัดหลงกันก็ให้เดินตรงไปข้างหน้าอย่าหันหลังกลับมา

            ทั้งสามฉากนี้คุณธเนศได้เปิดเผยให้ฟังว่าเขาสัมผัสถึงความเหงาของธนาจนถึงกับร้องไห้ออกมาจริง ๆ นั่นหมายความว่าภาวะภายในของธนา ณ ขณะนั้นได้ตกต่ำถึงขีดสุด  แม้ว่าธนาจะยังมีบ้านและเมียแต่บ้านและเมียก็ไม่สามารถเป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้เขาได้จางคลายจากความทุกข์คุณธเนศจึงน้ำตาไหลออกมาทั้งสามฉาก
            การมีอาชีพเป็นนักแสดงที่คนทั่วไปมักมองอย่างผิวเผินว่าเป็นโลกมายามีแต่ความลุ่มหลงมัวเมาและลวงหลอก แต่ในมุมหนึ่งการเป็นนักแสดงก็เป็นหนทางในการเข้าถึงความจริงของชีวิตได้เช่นกันเมื่อการเป็นนักแสดงต้องเข้าไปสัมผัสกับภาวะทุกข์ของตัวละครแล้วแสดงภาวะทุกข์นั้นออกมา  ไม่ว่าจะเป็นการแสดงภาพยนตร์หรือละครนักแสดงจึงสามารถเข้าถึงความทุกข์ของมนุษย์ได้  รู้ว่าทุกข์มาจากไหนและทางออกของทุกข์คืออะไรเหมือนอย่างที่คุณธเนศได้สัมผัสได้ถึงความทุกข์ใจของตัวละคร

            คุณธเนศได้บอกกับคนดูว่าภาพยนตร์เรื่อง Pop Aye ได้เข้าไปแตะประเด็นทางสังคมในหลากหลายประเด็นด้วยกัน  แต่ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ไม่ต้องการเข้าไปลงลึกกับประเด็นต่าง ๆ จึงเพียงแค่ใส่ประเด็นทางสังคมเข้าไปในหนังเป็นส่วนประกอบให้คนดูได้มองเห็นแบบสะกิดในใจ  เช่น คนไร้บ้าน คนหลากหลายทางเพศ เด็กกับการเห็นผู้ใหญ่มีเพศสัมพันธ์กัน  การขายบริการทางเพศในร้านคาราโอเกะ  หรือแม้แต่ฉากที่ลูกแตงโมเนื้อสีแดงและสีเหลืองตกลงมาจากรถจนถนนเลอะเทอะ  โดยที่ประเด็นทางสังคมทั้งหมดนั้นถูกร้อยเรียงผ่านตัวละครหลักสองตัวคือ “ธนา” กับ “ป๊อปอาย” ซึ่งอันที่จริงตัวละครสองตัวนี้ก็เป็นประเด็นทางสังคมเช่นกัน

             ในที่สุดธนาก็ยอมรับความทุกข์ที่เข้ามาในชีวิต  เมื่อเขายอมรับมันความทุกข์นั้นก็ค่อย ๆ ทุเลาเบาบางจางลงไป อาจเรียกได้ว่า Pop Aye เป็นภาพยนตร์แนว Coming of Age คือการเปลี่ยนผ่านชีวิตหรือการค้นพบตัวเอง Coming of Age อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นหนังวัยรุ่นก็ได้  เพราะการเปลี่ยนผ่านหรือการค้นพบตัวเองมีอยู่ทุกช่วงวัยของชีวิตเหมือนกับที่ธนาค้นพบว่าตนเองยึดติดกับสิ่งที่ผ่านมามากเกินไป เมื่อเขาละวางมันลงนั่นก็คือเขากำลังเปลี่ยนผ่านความทุกข์ที่มีอยู่ในใจให้สูญสลายหายไปนั่นเอง.
.
.