'ทุกอย่างไม่เคยว่างเปล่า' จาก บันทึกถึงพ่อ
พระชาย
วรธัมโม
คมชัดลึก พุธ 21 พฤศจิกายน 2555
เมื่อเร็วๆ
นี้ผู้เขียนเพิ่งสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งไปคือโยมพ่อ ก่อนนี้เคยคิดและจินตนาการอยู่เหมือนกันว่าหากวันใดเราสูญเสียท่านไปคงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและทุกข์ทรมาน
และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อวันลาจากมาถึงก็เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและทุกข์ทรมาน
ทรมานทั้งผู้ที่กำลังจะจากไปและทรมานทั้งผู้ที่ยังอยู่
ผู้เขียนเคยมีความสงสัยอยู่ลึกๆ
เช่นกันว่าหากเราตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งแล้วพบว่าสมาชิกในบ้านคนหนึ่งหายไปไม่กลับมา
การดำเนินชีวิตของสมาชิกที่เหลือและบรรยากาศในบ้านจะเป็นอย่างไร ในที่สุดความสงสัยนั้นก็ถูกทำให้หายไปเมื่อเราต้องประสบกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง
เราพบว่ามันคือความว่างเปล่า คือห้วงเวลาของความคิดคำนึง
อาลัยอาวรณ์ เศร้าสลด กึ่งหลับกึ่งตื่น คล้ายกับกำลังตกอยู่ในห้วงของความฝัน ทางกายก็มีอาการรับประทานอาหารไม่ลง
ทางจิตก็มีภาวะหดหู่ซึมเศร้าไม่เบิกบาน
ภาวะของการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเป็นอย่างนี้นี่เอง
แต่ประสบการณ์การลาจากสำหรับแต่ละคนก็แตกต่างกันไป
บางคนบอกว่าตอนพ่อแม่เสียก็สามารถยอมรับและผ่านสถานการณ์นั้นไปได้ด้วยดีไม่มีร้องไห้
ไม่หดหู่ซึมเศร้า แต่ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าเราจะผ่านไปได้ด้วยดีหรือผ่านไปด้วยความยากลำบาก
ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังผ่านไปก็คือการเรียนรู้
การลาจากเป็นความทุกข์ทรมานก็จริงแต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปทุกสิ่งทุกอย่างก็เข้าที่เข้าทางของมันเอง
ไม่มีความทุกข์ทรมานใดจะคงทนอยู่อย่างถาวรตราบเท่าที่เราไม่ยึดติดมันไว้
เมื่อถึงเวลาความทุกข์นั้นก็ต้องสูญสลายไปเหลือไว้แต่ความทรงจำและภาพของความรู้สึกดีๆ
และชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป
ที่ผ่านมาผู้เขียนมีเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับพ่อที่อยากแบ่งปัน
ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน
แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ของผู้เขียนกับโยมพ่อเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นเท่าไรเพราะโยมพ่อไม่เคยยอมรับการออกบวชของผู้เขียนเลย
โยมพ่อเกิดที่เมืองจีนลงเรือหนีความยากจนจากประเทศจีนมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ
ถ้าไม่หนีมาอยู่เมืองไทยก็ต้องเป็นลูกชาวนายากจนอยู่ที่นั่น เวลานั้นญาติๆ ของพ่อก็สนับสนุนให้อพยพไปอยู่เมืองไทยกัน
เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็มีชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ ต้องดิ้นรนขายผักตั้งแต่เล็ก พ่ออ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้แต่พูดไทยได้และเขียนภาษาจีนเก่ง
เมื่อโตขึ้นแต่งงานกับแม่ก็หันไปขายก๋วยเตี๋ยว แล้วก็ไปเป็นหัวหน้าคนงานดูแลสวนส้มรังสิตของมหาเศรษฐีท่านหนึ่ง
จากนั้นก็ออกมาเช่าที่ดินทำไร่ส้มด้วยตนเองจนกระทั่งได้กำไรมีที่ดินเป็นของตนเองไว้เป็นสมบัติให้ลูกหลาน
จะได้ไม่ต้องไปเช่าที่เขาอยู่จนสามารถสร้างหลักปักฐานได้อย่างมั่นคงหวังให้ลูกๆ ขยันทำมาหากิน
แต่เมื่อมีลูก จู่ๆ ลูกก็ออกไปบวชถึงสองคน
ในความคิดของพ่อจึงมองว่าพ่ออุตส่าห์หนีความยากจนมาอยู่เมืองไทย เหตุไฉนลูกจึงไม่บากบั่นเหมือนพ่อ
เหตุไฉนลูกจึงสิ้นไร้ไม้ตอกต้องไปบวชอยู่วัดขอเขากินไม่ขยันทำมาหากิน นั่นเป็นสิ่งที่พ่อไม่สามารถรับได้
ในขณะที่ลูกเห็นว่าครอบครัวมีวิบากกรรมบางอย่างที่คอยสนองผล
การมีบุคคลในบ้านออกบวชน่าจะช่วยลดทอนวิบากกรรมนั้นได้บ้าง แต่นี่ก็เป็นเรื่องยากที่พ่อจะเข้าใจ
โยมพ่อกับโยมแม่และลูกสองคนแรก
เด็กชายที่ยืนคือพี่ชายคนโต ส่วนโยมแม่กำลังอุ้มลูกสาวคนที่สอง หลังจากภาพนี้ผ่านไปหลายปียังมีน้องๆ
คลานตามมาอีก ๘ คน ผู้เขียนเป็นคนเล็กสุด โยมแม่ยังมีชีวิตอยู่ปัจจุบันอายุ ๘๕ ปี
เมื่อมุมมองชีวิตของเราเป็นไปคนละแนวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่เราจะเข้าใจกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างเราสองคนพ่อลูกเปรียบเหมือนกับ “รางรถไฟ”
อันเป็นเส้นขนานที่ยากจะมาบรรจบกัน เมื่อเราไปบ้านเราเห็นหน้ากันเราไม่เคยพูดจาปราศรัยกันเลยจนแทบจะนับได้ว่าในปีหนึ่งๆ
เราคุยกันกี่ครั้ง หลังจากบวชบางช่วงผู้เขียนก็ไม่ได้กลับบ้านเป็นปีๆ เพราะเราพูดกันคนละภาษา
ความสัมพันธ์ของเราเหมือนกับรางรถไฟจริงๆ
แต่ในที่สุดก็มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อวันเวลาผ่านไปโยมพ่อชราภาพมากขึ้น
มีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน
เริ่มจากโรคถุงลมโป่งพองอันเนื่องมาจากบุหรี่ที่พ่อสูบมาตั้งแต่วัยรุ่นจนทำให้พ่อตัดสินใจเลิกบุหรี่เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้
ตามด้วยโรคต่อมลูกหมากโตพร้อมด้วยโรคนอนไม่หลับและมีอาการชาที่ช่วงขา บางครั้งก็เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
นี่จึงเป็นเหตุให้พ่อกับลูกมีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น
เราพยายามกลับบ้านให้บ่อยเพื่อเยี่ยมพ่อถามถึงสารทุกข์สุขดิบของพ่อ
พ่อก็มีโอกาสถามถึงสารทุกข์สุขดิบของลูก วันหนึ่งเราเห็นพ่อต้องกินยานอนหลับทุกวันจึงถามถึงอาการนอนไม่หลับของพ่อ
เพราะยาไม่ใช่อาหารหากไม่จำเป็นเราไม่ควรกินยาบ่อยๆ แต่ด้วยอาการนอนไม่หลับพ่อจึงต้องพึ่งยานอนหลับทุกวัน
วันนั้นเราถามพ่อว่าเป็นอะไรทำไมนอนไม่หลับ
คำตอบของพ่อทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจเมื่อพ่อตอบว่าเหตุที่พ่อนอนไม่หลับเพราะตั้งแต่อาเฮีย
(พี่ชายคนโตของผู้เขียน) เสียชีวิต ก็ไม่มีใครขับรถออกไปช่วยขายปุ๋ยเลย (การขายปุ๋ยของพ่อในช่วงเวลานั้นเป็นรายได้หลักเข้าบ้านทางหนึ่ง)
แม้ลูกคนอื่นจะช่วยขับรถแทนให้แต่ก็ไม่ดีเท่ากับพี่ชายคนโต เมื่อขาด ‘มือขวา’ ที่สำคัญของการทำมาหากินพ่อจึงนอนไม่หลับ
เพราะเป็นห่วงครอบครัวกลัวว่าครอบครัวจะลำบากและยังมีหนี้สินพะรุงพะรัง
พ่อจึงเริ่มคิดมากและนอนไม่หลับมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นเวลา ๙ ปีแล้วที่พ่อต้องพึ่งยานอนหลับ
สิ่งที่พ่อเล่าให้ฟังทำให้เรามองเห็นความรักความห่วงใยของพ่อที่มีต่อครอบครัว
เพราะความรักความห่วงใยทำให้พ่อกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ วันไหนไม่ได้กินยาก็จะนอนไม่หลับ
การนอนไม่หลับเป็นสิ่งที่ทรมานแต่พ่อก็ต้องอดทนไปกับมัน
การที่บทบาทของพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวถูกกำหนดให้ต้องออกไปทำหน้าที่หาเงินนอกบ้าน
ทำให้เป็นเรื่องยากที่ใครๆ จะสามารถมองเห็นความรักของพ่อที่มีต่อครอบครัวได้
๕ ปีสุดท้ายก่อนที่พ่อจะเสียชีวิตความสัมพันธ์ของเราดีขึ้นเป็นลำดับ
เราพยายามหาเวลาไปเยี่ยมท่านให้บ่อยขึ้น พยายามหาเรื่องชวนคุย
เราได้เห็นสังขารของพ่อที่ร่วงโรยไปอย่างรวดเร็ว จากคนที่เคยแข็งแรงเป็นหัวหน้าครอบครัวเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่ว
กลายเป็นคนแก่วัยชราผมขาวจนบางครั้งแทบไม่มีเรี่ยวแรงเดินแม้แต่จะไปห้องน้ำก็ต้องคอยพยุง
ผู้เขียนเริ่มรู้แล้วว่าเวลาที่เราใกล้ชิดกันเริ่มเหลือน้อยลง มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญจริงๆ
เมื่อความสัมพันธ์ของเราพัฒนามาถึงขีดสุดเมื่อวันหนึ่งพ่อถามว่า “พระฉันข้าวหรือยัง” ในชีวิตพ่อไม่เคยทักทายผู้เขียนเลยว่าฉันข้าวหรือยัง
คำถามนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งว่าพ่อยอมรับการใช้ชีวิตเป็นนักบวชของลูกแล้ว
ในที่สุดผู้เขียนจึงมีโอกาสสอนท่านให้รู้จักการเจริญสติในลมหายใจเข้าออกด้วยการภาวนาพุทโธ
แต่คนแก่ในวัย ๘๕ ปีจะเข้าใจการกำหนดลมหายใจได้มากมายอะไร
อย่างมากก็ทำได้เพียงประเดี๋ยวประด๋าว แม้แต่การจะสอนในช่วงเวลาที่ท่านยังเป็นหนุ่มก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะโยมพ่อไม่ได้ศรัทธาชีวิตนักบวชของลูกมาตั้งแต่ต้น
จึงเป็นเรื่องยากที่ท่านจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีที่สุด
แท้จริงแล้วการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่ดีที่สุดคือการนำพาท่านให้เกิดศรัทธาและปัญญาในพระศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนำพาท่านให้เข้าใจใน
‘ไตรสิกขา’ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา การเลี้ยงดูท่านเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ดี
แต่จะดีเลิศหากเราสามารถนำพาท่านให้รู้จักการปฏิบัติภาวนาทำใจให้สงบและปล่อยวาง
นี่ถือเป็นการตอบแทนท่านทางจิตวิญญาณทีเดียวเพราะทำให้ท่านได้เรียนรู้พัฒนาจิตใจตนเอง
แม้ละสังขารไปแล้วหากยังไม่ไปนิพพานอย่างน้อยจิตย่อมไปสู่สุคติ
ผู้เขียนไม่เสียใจที่ไม่สามารถสอนโยมพ่อให้รู้จักการภาวนาได้อย่างที่คาดหวังเพราะเข้าใจในเหตุปัจจัยดี
แต่อย่างน้อยเราสามารถทำให้ท่านยอมรับการบวชพระของเราได้นี่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
จะเป็นเรื่องน่าเสียดายขนาดไหนหากเราไม่ได้ใช้เวลาช่วงสุดท้ายด้วยกันเพื่อเรียนรู้ที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีถึงขั้นนี้
ต้องบอกว่าเป็นการ “เลือกใช้โอกาส” ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากกว่า
ถึงตรงนี้ผู้เขียนอยากบอกว่าเรามีเวลาเหลือน้อยแล้วสำหรับการดูแลปรนนิบัติพ่อแม่
คุณผู้อ่านมีพ่อแม่ที่ทิ้งไว้ข้างหลังหรือไม่ หากมีก็ควรใช้โอกาสที่เหลือใกล้ชิดกับท่านให้มากที่สุดก่อนที่เวลาของคุณกับท่านจะหมดลงและไม่ควรพูดว่าไม่มีเวลา
อย่างน้อยควรหาเวลาไปเยี่ยมท่านบ้างเพื่อคุณจะได้ไม่ต้องมาตัดพ้อในภายหลังว่า “รู้อย่างนี้ฉันมาเยี่ยมมาดูแลท่านบ้างก็ดี”
สำหรับผู้เขียนเลือกใช้โอกาสสุดท้ายด้วยการกลับบ้านให้บ่อยที่สุด
บางครั้งก็นอนในห้องเดียวกับพ่อและยังรู้สึกดีที่ได้ใกล้ชิดท่านในช่วงเวลาสุดท้าย
นั่นเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราได้ปฏิบัติท่านก่อนที่จะสูญเสียท่านไปในที่สุด..คนเรามีโอกาสเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
เมื่อเวลาผ่านไปเราไม่อาจเรียกโอกาสนั้นให้กลับคืนมาได้อีก.
นอนหลับอย่างสงบนิรันดร์
** เรียบเรียงจากปาฐกถาธรรมก่อนฌาปนกิจศพโยมพ่อของผู้เขียน นายซูเหมียง แซ่อึ๊ง วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ วัดเขียนเขต ปทุมธานี
** เรียบเรียงจากปาฐกถาธรรมก่อนฌาปนกิจศพโยมพ่อของผู้เขียน นายซูเหมียง แซ่อึ๊ง วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ณ วัดเขียนเขต ปทุมธานี