วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แม้แต่พระพุทธเจ้ายังละอาย Buddha Collapsed Out of Shame

คมชัดลึก         25 พฤศจิกายน 2556
พระชาย วรธัมโม เขียน
email : shine6819 [@] gmail.com

บทความเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนต์หมดเปลือก



            ตอนที่เห็นชื่อหนังเรื่องนี้รู้สึกแปลกใจที่มีคำว่า Buddha อยู่ในชื่อหนัง เมื่อแรกเห็นใบปิดก็สงสัยในใจว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าตรงไหน เพราะเป็นภาพเด็กผู้หญิงที่ดูคล้ายชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง แต่หลังจากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็เข้าใจ สาร ที่ผู้กำกับพยายามสื่อมากขึ้นว่าผู้กำกับต้องการบอกอะไรกับคนดู




            “แม้แต่พระพุทธเจ้ายังละอาย” หรือ Buddha Collapsed Out of Shame เป็นหนังจากประเทศอิหร่านแต่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศอัฟกานิสถาน ออกฉายเมื่อปี ๒๕๕๐ หนังเริ่มต้นด้วยฉากระเบิดพระพุทธรูปยักษ์แห่งบามิยัน จากนั้นก็เล่าเรื่องราวของเด็กหญิงบัคเตย (Baktay) วัย ๖ ขวบกำลังเลี้ยงน้องอยู่ในถ้ำเชิงผาซึ่งในอดีตกาลเคยเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอัฟกันโดยมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปยักษ์ที่ถูกทำลายวางกองเป็นเศษหินอยู่ใกล้ ๆ เป็นฉากหลัง หนูน้อยบัคเตยอยากไปโรงเรียนเหมือนเด็กชายแอ็บบัส (Abbas) ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านอยู่ในถ้ำถัดไป เธอจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะไปเรียนหนังสือให้ได้ ก่อนอื่นเธอต้องมีสมุดกับดินสอเสียก่อนแต่เธอไม่มีอะไรสักอย่าง

            การที่เด็กหญิงในประเทศแถบตะวันออกกลางจะไปโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะเด็กผู้หญิงในประเทศแถบนี้ถูกกีดกันออกจากการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเด็กหญิงชนชั้นล่างที่ยากจน  หนูน้อยบัคเตยจึงเริ่มต้นด้วยการนำไข่ไปขายที่ตลาดเพื่อนำเงินไปซื้อสมุดและดินสอ เมื่อเธอนำไข่ไปขายที่ตลาดกลับไม่มีใครช่วยซื้อไข่ของเธอเลยแม้ว่าผู้ใหญ่หลายคนจะมีเงินอยู่ในมือก็ตาม เธอจึงต้องเปลี่ยนวิธีหาเงินด้วยการนำขนมปังไปขาย เมื่อได้เงินมาเธอจึงนำไปซื้อสมุดแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะซื้อดินสอ เธอจึงต้องแอบเอาลิปสติกของแม่ไปใช้แทนดินสอ

            เมื่อมีอุปกรณ์การเรียนครบแล้วแอ็บบัสจึงพาบัคเตยไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือด้วยกัน แต่เมื่อไปถึงโรงเรียนบัคเตยพบว่ามันเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้ชาย โรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงต้องเดินไปตามลำธารซึ่งอยู่ห่างออกไปเธอจึงเดินไปตามลำพัง ระหว่างทางเธอต้องเผชิญกับก๊วนเด็กเกเรที่ชอบเล่น เกมสงครามเด็กเกเรสมมติแก๊งตัวเองว่าเป็นพวก ตอลีบันคอยรังแกเด็กที่เดินผ่านมาไม่ว่าเด็กคนนั้นจะสมัครใจเล่นเกมนี้หรือไม่ก็ตาม

            เมื่อบัคเตยผ่านมาพวกแก๊งเด็กทโมนตอลีบันก็พากันแย่งสมุดของเธอไปฉีกเล่นจนเธอร้องไห้ แล้วคลุมศีรษะเธอด้วยถุงกระดาษพร้อมกับบังคับว่าเธอเป็นผู้หญิงต้องคลุมศรีษะห้ามเอาออก จากนั้นก็พาเธอไปกักไว้ในถ้ำ ในขณะที่แอ็บบัสถูกก๊วนเด็กตอลีบันหลอกให้เดินตกลงไปในบ่อโคลนจนเนื้อตัวสกปรกมอมแมม 





แก๊งเด็กทโมนพาบัคเตยไปกักในถ้ำซึ่งมีเด็กหญิงอีก ๓-๔ คนถูกจับไว้ก่อนแล้ว เด็กทุกคนถูกคลุมศีรษะด้วยถุงกระดาษราวกับเป็นตัวตลก เมื่อได้โอกาสบัคเตยจึงพาทุกคนหนีออกจากถ้ำ เธอรีบวิ่งไปโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงทันที เมื่อไปถึงหนูน้อยบัคเตยพบว่าที่นั่นมีแต่เด็กที่มาจากครอบครัวดีมีฐานะ ไม่มีใครแบ่งเก้าอี้ให้เธอนั่ง เธอถูกรังแกถูกแย่งสมุดไปฉีกและถูกแย่งลิปสติกไปทาเล่น เมื่อครูเห็นบัคเตยเป็นเด็กที่แปลกปลอมเข้ามาคุณครูก็ขับไล่เธอออกไปจากห้องเรียน แม้จะมีสมุดและมาถึงโรงเรียนแล้วแต่บัคเตยก็ไมมีโอกาสได้เรียนหนังสือตามที่ฝันไว้

เมื่อไม่ได้เรียนหนังสือบัคเตยจึงเดินกลับบ้านพร้อมกับแอ็บบัส ระหว่างทางเด็กทั้งสองต้องเผชิญกับแก๊งเด็กทโมนอีกครั้งคราวนี้พวกเด็กทโมนสวมบทบาททหารอเมริกันที่ชอบทำตัวเป็นมือที่สามใช้ความรุนแรงกับประเทศต่าง ๆ  แอ็บบัสจึงแกล้งทำเป็นตายเพื่อจะได้ไม่ถูกรังแกอีก คราวนี้ได้ผลแก๊งเด็กทโมนไม่สนใจแอ็บบัสแต่วิ่งตามบัคเตยไปติด ๆ เมื่อแอ็บบัสปลอดภัยจึงลุกขึ้นตะโกนไล่หลังบัคเตยไปว่า “บัคเตย...เธอต้องตายแล้วเธอจะได้รับอิสรภาพ” บัคเตยได้ยินจึงล้มตัวลงนอนกับพื้นเพื่อให้เด็กเกเรเห็นว่าเธอตายแล้ว แล้วบัคเตยก็ได้รับอิสรภาพจริง ๆ แต่เป็นอิสรภาพที่ตายแล้ว ไม่ใช่อิสรภาพที่มีชีวิต




                                                ฮานา มัคมัลบัฟ ผู้กำกับ

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของ Buddha Collapsed Out of Shame ที่แสดงโดยเด็ก ๆ ชาวอัฟกัน กำกับโดยฮานา มัคมัลบัฟ (Hana Makhmalbaf) เยาวชนหญิงชาวอิหร่านวัย ๑๘  ฮานาให้สัมภาษณ์ว่าภาพยนตร์ที่เธอถ่ายทำเรื่องนี้พยายามสะท้อนให้เห็นว่าสงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถานได้ส่งผลกระทบกับเด็ก ๆ อย่างไรบ้าง

“หากเด็ก ๆ อยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง โลกก็ตกอยู่ในอันตรายเพราะเด็ก ๆ คือผู้ใหญ่ในอนาคต เหมือนกับเด็กชายแอ็บบัสเมื่อถูกเด็กทโมนรังแกจนสุดจะทนเขาก็ตะโกนออกมาว่า หากฉันโตขึ้นฉันจะฆ่าพวกแกเมื่อเด็กอยู่กับความรุนแรงในที่สุดความรุนแรงก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา”

ในช่วงที่ผ่านมาอัฟกานิสถานถูกประเทศรัสเซียกระทำรุนแรงในนามคอมมิวนิสต์ ตามด้วยกลุ่มตอลีบันกระทำรุนแรงในนามของผู้จงรักภัคดีต่อพระเจ้า ตบท้ายด้วยฝ่ายอเมริกันกระทำรุนแรงในนามกองกำลังรักษาสันติภาพ ทั้งสามฝ่ายกระทำรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าให้กับผู้คนในประเทศนี้ จนเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ผู้หญิงและเด็กจำนวนไม่น้อยต้องทนเห็นพ่อ พี่ชาย หรือสามีถูกฆ่าตัดคอต่อหน้าต่อตา แม้ฝ่ายอเมริกาที่เข้ามาช่วยเหลือก็ใช้ความรุนแรงในแบบเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ทั้งสามฝ่ายกระทำชำเราผู้คนในประเทศนี้สะท้อนผ่านบุคลิกตัวละครแก๊งเด็กเกเรในหนังเรื่องนี้ที่ชอบเล่นเกมสงคราม มีการสมมติบทบาทว่าฉันเป็นพวกตอลีบัน เธอเป็นพวกอเมริกา แกเป็นพวกก่อการร้าย เด็ก ๆ ซึมซับเอาความรุนแรงเข้าไปในจิตวิญญาณจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันเมื่อพวกเขาเห็นคนใกล้ตัวถูกฆ่าตายไปต่อหน้าต่อตา พวกเขาก็ปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความรุนแรงเป็นการตอบแทน

ในหนังเรื่องนี้จึงไม่มีใครเป็นฮีโร่หรือพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย ตัวละครเด็กทุกตัวในหนังกำลังสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นกับอัฟกานิสถาน เด็กผู้ชายเจริญรอยตามพ่อที่ต้องถือปืนออกไปรบ เด็กผู้หญิงสูญเสียบทบาทของแม่ด้วยการสนใจแต่เมคอัพและการทาลิปสติก ในขณะที่เมืองถูกถล่มด้วยระเบิดพลีชีพจากจรวดบนท้องฟ้าอย่างที่ในหนังแทนภาพด้วยว่าวที่ตกลงมาแล้วไหม้ไฟในทันที หนังเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นว่าอัฟกานิสถานกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเพียงใด สงครามภายในประเทศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ทำลายจิตวิญญาณของเด็ก ๆ พร้อมกับระเบิดปมปัญหาที่ซับซ้อนมากมาย แม้ว่ากลุ่มตอลีบันจะจากไปแล้วแต่ผลกระทบยังคงอยู่ คงมีเพียงความตายเท่านั้นที่จะทำให้เด็ก ๆ เป็นอิสระจากความรุนแรงเหมือนอย่างที่บัคเตยได้รับในตอนจบ

ฮานาเล่าว่าตอนที่เธอถ่ายทำหนังเรื่องนี้เธอรู้สึกว่าโลกไม่ได้รับรู้ปัญหาความรุนแรงในอัฟกานิสถานอย่างที่ควรจะเป็น เราจะคาดหวังอนาคตที่ดีให้กับอัฟกานิสถานได้อย่างไรในเมื่อความรุนแรงได้ถูกปลูกฝังซึมลึกไปทั่วผืนแผ่นดินของประเทศนี้ทุกอณู ในฐานะที่เธอเป็นชาวอิหร่านเธอต้องการสื่อสารให้โลกได้รับรู้ว่าความรุนแรงในอัฟกานิสถานไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประเทศของเธอเลย

ฮานาพยายามทำหนังเรื่องนี้ให้มีประเด็นที่เชื่อมโยงกันระหว่างพุทธกับอิสลามโดยนำจุดร่วมของความรุนแรงที่ทั้งสองศาสนาได้รับมานำเสนอ กล่าวคือในขณะที่พระพุทธรูปบามิยันถูกทำลาย เด็ก ๆ ชาวอัฟกันก็ได้รับผลกระทบจากสงครามไปด้วย ความรุนแรงในอัฟกานิสถานจึงไม่ได้เลือกเกิดกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

ฮานาปิดท้ายฉากจบของหนังด้วยฉากพระพุทธรูปยักษ์ถูกระเบิดกลายเป็นฝุ่นฟุ้งกระจายเหมือนกับฉากแรกตอนเปิดเรื่องเพื่อสะท้อนว่าหากพระพุทธรูปยักษ์ที่ถูกทำลายลงมากองกับพื้นกำลังเฝ้าดูความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ พระพุทธรูปคงรู้สึกละอายใจไปกับความรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อกัน อันเป็นความหมายของชื่อหนังเรื่องนี้. 









วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Car Free Day หยุดใช้น้ำมันแล้วไปถีบจักรยานกับหลวงพ่อกัน




 คมชัดลึก
 เสาร์ 2 พฤศจิกายน 2556 
 พระชาย วรธัมโม เขียน


เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายนที่ผ่านมาเป็นวัน Car Free Day รณรงค์ลดการใช้รถยนต์เพื่อประหยัดการใช้พลังงานน้ำมัน ดูเหมือนหลวงพ่อสมบูรณ์ สุมังคโล แห่ง วัดป่าลานหินตัด อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ จะเป็นพระสงฆ์เพียงรูปเดียวในประเทศไทยในเวลานี้ที่ใช้จักรยานในการทำงานสื่อสารกับสังคมให้ตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดงาน Car Free Day  ท่านเล่าที่มาที่ไปของการจัดงานในครั้งนี้ให้ฟังว่า 


 


“วันนี้เป็นวันรณรงค์ลดการใช้รถยนต์ทั่วโลกเพื่อหยุดการใช้น้ำมัน ที่บ้านเรามีการจัดกันที่ส่วนกลางคือที่กรุงเทพฯ ในฐานะที่เราเป็นพระสงฆ์ที่สนับสนุนการขับขี่จักรยานเพื่อลดการใช้พลังงานน้ำมันเลยถือโอกาสนี้จัดงานกับเขาด้วย ทุกคนรู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีน้ำมันใช้อย่างถาวร สักวันหนึ่งน้ำมันต้องหมดไปจากโลกนี้แน่ๆ แต่บ้านเรากลับส่งเสริมการซื้อรถด้วยนโยบายรถคันแรกลดภาษีให้ ๑ แสนบาท ผลก็คือมีรถออกมาเต็มท้องถนนไปหมดแล้วรถก็ติดกันยาวเหยียดยิ่งเป็นการเผาผลาญพลังงานน้ำมันโดยใช่เหตุ เราจึงอยากให้ทุกคนหันมามีสติกับการประหยัดน้ำมันด้วยการหันมาปั่นจักรยานกัน ซึ่งงาน  Car Free Day เราจัดมาปีนี้เป็นปีที่ ๓ แล้ว” 
 

แม้จะเป็นงานรณรงค์เพียงวันเดียวแต่เป็นงานที่น่าสนใจสำหรับเด็กๆ ในชนบทที่อยู่ไกลปืนเที่ยงอย่างเช่น อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทยกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานนี้เป็นการลุกขึ้นมาจัดโดยพระสงฆ์ หลวงพ่อสมบูรณ์ได้เล่าให้ฟังว่ามีการประชาสัมพันธ์งานด้วยการนำป้ายโฆษณาไปติดตามจุดต่างๆ มีการแจกใบปลิวที่ตลาดบ้านกรวดเพื่อเชิญชวนเยาวชนและผู้สนใจนำจักรยานมาร่วมขับขี่กันในวันนั้น มีการประสานงานกับนายอำเภอบ้านกรวดแล้วกระจายข่าวไปยัง ๔ เทศบาลในเขต อ.บ้านกรวด เชื่อมโยงกับอีก ๑๖ โรงเรียนที่หลวงพ่อมีเครือข่ายอยู่แล้ว อีกทั้งพระสงฆ์ในวัดปราสาททองและวัดตลาดนิคม ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงก็ให้การสนับสนุนด้วยการมาร่วมขับขี่จักรยานในกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้พลังงานในครั้งนี้


เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน มีการเปิดงานที่หอประชุม อ.บ้านกรวดซึ่งอยู่ใจกลางตลาด พระสงฆ์ ๘ รูป พร้อมด้วยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ ๓ ชมรม คือ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพอำเภอประโคนชัย ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพอำเภอลำปลายมาศ และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพอำเภอบ้านกรวด น่าเสียดายที่วันนี้ฝนตกจึงมีเยาวชนและผู้สนใจมาร่วมขับขี่จักรยานประมาณ ๒๕๐ คนไม่เช่นนั้นคงมีจำนวนมากกว่านี้ 


         หลวงพ่อสมบูรณ์ กับเยาวชนนักปั่นประมาณ 250 คน ที่ตลาดบ้านกรวด บุรีรัมย์


หลังจากเปิดงานมีกิจกรรม เกม และสันทนาการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างสนุกสนานและผ่อนคลายไปกับกิจกรรม หลังจากนั้นมีการขับขี่จักรยานเป็นหมู่ใหญ่ประมาณ ๒๕๐ คันจาก อ.บ้านกรวด ไปยังเขื่อนเมฆาซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒๐-๓๐ กิโลเมตรแล้วไปจบที่วัดป่าลานหินตัดด้วยกิจกรรมการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นเพียงกิจกรรมวันเดียวแต่อย่างน้อยก็ทำให้เยาวชนที่นี่ตระหนักรู้ถึงการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองของมนุษย์ซึ่งมีความสำคัญกับเยาวชนรุ่นนี้ หากเยาวชนรุ่นนี้ไม่ตระหนักรู้ก็คงไม่ต้องกล่าวถึงเยาวชนรุ่นถัดไปว่าจะเป็นอย่างไร ไม่แน่นักว่าทรัพยากรธรรมชาติจะมีหลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังๆ ได้ใช้หรือไม่ นี่เป็นคำถามที่น่าคิด


ผู้เขียนถามหลวงพ่อสมบูรณ์ว่าปกติต่างจังหวัดมีรถยนต์น้อยอยู่แล้ว การจัดงาน Car Free Day จะมีผลอะไร เพราะถนนในต่างจังหวัดโดยปกติก็มีรถราวิ่งกันน้อยอยู่แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ อ.บ้านกรวดถนนโล่งมาก หลวงพ่อสมบูรณ์ให้คำตอบว่า 


“เป็นคำถามที่ดี แต่ก่อนนี้หลวงพ่อมาอยู่ใหม่ๆ ชาวบ้านยังมีรถยนต์ใช้กันน้อย ในหมู่บ้านหนึ่งมีเพียงไม่กี่คันเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้เราสังเกตว่าในหมู่บ้านเริ่มมีรถยนต์เพิ่มจำนวนมากขึ้น บางบ้านมีถึง ๓ คัน ยิ่งมีนโยบายลดหย่อนภาษีให้กับคนที่ซื้อรถยนต์คันแรกจำนวนรถในหมู่บ้านก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยปกติชาวบ้านต้องการมอเตอร์ไซด์กันเป็นความต้องการพื้นฐานอยู่แล้ว ยิ่งมีนโยบายแบบนี้ออกมาก็ยิ่งกระตุ้นความอยากของคน ส่งผลให้ชาวบ้านหันมาซื้อรถยนต์ใช้กันมากขึ้น น้ำมันก็ถูกนำมาใช้เผาผลาญมากยิ่งขึ้น เราจึงต้องออกมากระตุ้นเตือนด้วยการทำให้ชาวบ้านดูเป็นตัวอย่างว่าเรายังมียานพาหนะรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ต้องเผาผลาญพลังงานจากธรรมชาติและไม่ต้องเผาผลาญเงินในกระเป๋าของพวกเขามากเกินไปด้วยการรณรงค์ให้หันมาใช้จักรยานกัน ถึงแม้เราจะอยู่ต่างจังหวัด มีรถราบนถนนน้อยอยู่แล้วแต่เชื่อว่าการออกมารณรงค์ Car Free Day น่าจะเตือนสติผู้คนในชนบทให้ตระหนักรู้ถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและน่าจะเป็นวิธีการเตือนสติชาวบ้านได้ดี อย่างน้อยก็ถือว่าเราได้เตือนล่วงหน้าแล้วก่อนที่หายนะจะมาถึงอย่างช้าๆ”


    กิจกรรมภาคบ่ายก่อนปิดการรณรงค์  Car Free Day  ที่วัดป่าลานหินตัด บุรีรัมย์



กับคำถามที่ว่าชาวบ้านมีความคิดเห็นอย่างไรกรณีพระขับขี่จักรยาน หลวงพ่อตอบว่า “เราเริ่มขับขี่จักรยานมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ บัดนี้ผ่านมา ๙ ปีแล้ว มันก็มี ๓ แบบด้วยกัน คือ ทั้งชื่นชม ก่นด่า และเฉยๆ แต่ในโลกใบนี้ขอให้รู้ไว้เถิดว่าเราคงไม่สามารถทำอะไรให้ถูกใจคนได้ทุกคน ไม่มีใครทำอะไรแล้วได้รับคำชมเชยล้วนๆ หรือโดนด่าล้วนๆเพียงอย่างเดียว มันต้องมีทั้งสองแบบ เหมือนคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่อง “โลกธรรม ๘ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุขก็ต้องมีทุกข์” แต่ทั้งหมดนี้เรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่ว่าเราทำไปเพราะอยากเด่นดัง เราต้องการให้ผู้คนหันมาตระหนักรู้วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่กำลังคืบคลานเข้ามาต่างหากซึ่งก็ได้เสียงตอบรับที่ดีไม่เช่นนั้นคงไม่มาร่วมงานกันเป็นร้อยๆ คนเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานราชการแถวนี้ต่างก็ยอมรับได้ไม่มีปัญหา”


แล้วในส่วนของคณะสงฆ์จังหวัดบุรีรัมย์คิดอย่างไร หลวงพ่อตอบว่า “คิดว่าท่านกำลังเรียนรู้อยู่นะ แต่ในละแวกวัดที่อยู่ใกล้ๆ ต่างก็เห็นด้วยกับการที่พระสงฆ์หันมาขับขี่จักรยานกันเพราะเราอยู่ต่างจังหวัดแบบนี้การเดินทางไปธุระต่างๆ มีความลำบาก เวลามีงานประชุมคณะสงฆ์ ประชุมเจ้าอาวาส หรือไปสอนเด็กๆ ที่โรงเรียนแต่ละครั้งถ้าวัดไหนไม่มีรถยนต์ก็ต้องรบกวนญาติโยมให้ขับรถไปส่งให้ ทุกวัดจึงต้องมีรถยนต์ประจำวัด ๑ คันกับโยมคนขับที่เป็นผู้ชายอีก ๑ คน ทางวัดต้องมีเงินเดือนให้คนขับรถด้วยไม่งั้นเขาจะเอาเงินที่ไหนไปหาเลี้ยงครอบครัว แล้ววัดต้องมีเงินจ่ายค่าน้ำมันอีก มันก็เสียค่าใช้จ่ายกันเป็นทอดๆ แต่ถ้าเรารณรงค์ให้พระสงฆ์หันมาใช้จักรยานกัน เมื่อนั้นเราไม่ต้องเสียเงินทองมากมายและยังได้ออกกำลังกายให้เหงื่อออกอีกด้วย


อย่างในช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมาการฟังปาฏิโมกข์เป็นพิธีกรรมที่แต่ละวัดจะสวดและฟังกันเอง แต่คณะสงฆ์ที่ อ.บ้านกรวด มีการฟังร่วมกันเป็นสังฆกรรมใหญ่ซึ่งมีอยู่ ๖๐ วัด ประมาณ ๔๐๐ รูป เราก็ขี่จักรยานไปร่วมสังฆกรรมซึ่งเป็นที่รับรู้ของสงฆ์หมู่ใหญ่ที่นี่ หรือในช่วงสอบนักธรรมตรีที่ผ่านมาเราไปคุมสอบเราก็ขี่จักยานไปพร้อมกับนำป้ายรณรงค์ไปตั้งโชว์ที่สนามสอบถือเป็นการประชาสัมพันธ์ว่าเราขับขี่อย่างเปิดเผย ไม่ได้ขับขี่แบบหลบๆ ซ่อนๆ เวลานี้มีพระสงฆ์ในเครือข่าย พระนักพัฒนาภาคอีสานเครือข่ายพุทธชยันตีเพื่อสังคมที่เป็นเพื่อนสหธรรมิกก็เริ่มหันมาใช้จักรยานที่วัดของท่านเองบ้างแล้วอย่างเช่นพระเพื่อนที่ จ.อุดรธานี และเพื่อนพระที่ จ.นครราชสีมา ท่านก็หันไปริเริ่มการขับขี่จักรยานที่วัดท่านซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดี”


         ใช่แล้ว เป็นเรื่องน่ายินดีทีเดียวที่เรามีพระสงฆ์หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพิ่มจำนวนมากขึ้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้นี้พระสงฆ์ในต่างจังหวัดจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น นอกจากจะประหยัดพลังงานและทุ่นค่าใช้จ่ายแล้ว สิ่งที่ได้ตามมาคือสุขภาพที่แข็งแรง.


"