พระชาย วรธัมโม เขียน
email : shine6819 [@] gmail.com
บทความเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนต์หมดเปลือก
ตอนที่เห็นชื่อหนังเรื่องนี้รู้สึกแปลกใจที่มีคำว่า
“Buddha” อยู่ในชื่อหนัง เมื่อแรกเห็นใบปิดก็สงสัยในใจว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าตรงไหน
เพราะเป็นภาพเด็กผู้หญิงที่ดูคล้ายชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง
แต่หลังจากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็เข้าใจ ‘สาร’ ที่ผู้กำกับพยายามสื่อมากขึ้นว่าผู้กำกับต้องการบอกอะไรกับคนดู
“แม้แต่พระพุทธเจ้ายังละอาย” หรือ
Buddha
Collapsed Out of Shame เป็นหนังจากประเทศอิหร่านแต่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศอัฟกานิสถาน
ออกฉายเมื่อปี ๒๕๕๐ หนังเริ่มต้นด้วยฉากระเบิดพระพุทธรูปยักษ์แห่งบามิยัน จากนั้นก็เล่าเรื่องราวของเด็กหญิงบัคเตย
(Baktay) วัย ๖ ขวบกำลังเลี้ยงน้องอยู่ในถ้ำเชิงผาซึ่งในอดีตกาลเคยเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์
แต่ปัจจุบันกลายเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอัฟกันโดยมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปยักษ์ที่ถูกทำลายวางกองเป็นเศษหินอยู่ใกล้
ๆ เป็นฉากหลัง หนูน้อยบัคเตยอยากไปโรงเรียนเหมือนเด็กชายแอ็บบัส (Abbas) ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านอยู่ในถ้ำถัดไป เธอจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะไปเรียนหนังสือให้ได้
ก่อนอื่นเธอต้องมีสมุดกับดินสอเสียก่อนแต่เธอไม่มีอะไรสักอย่าง
การที่เด็กหญิงในประเทศแถบตะวันออกกลางจะไปโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะเด็กผู้หญิงในประเทศแถบนี้ถูกกีดกันออกจากการศึกษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเด็กหญิงชนชั้นล่างที่ยากจน หนูน้อยบัคเตยจึงเริ่มต้นด้วยการนำไข่ไปขายที่ตลาดเพื่อนำเงินไปซื้อสมุดและดินสอ
เมื่อเธอนำไข่ไปขายที่ตลาดกลับไม่มีใครช่วยซื้อไข่ของเธอเลยแม้ว่าผู้ใหญ่หลายคนจะมีเงินอยู่ในมือก็ตาม
เธอจึงต้องเปลี่ยนวิธีหาเงินด้วยการนำขนมปังไปขาย
เมื่อได้เงินมาเธอจึงนำไปซื้อสมุดแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะซื้อดินสอ เธอจึงต้องแอบเอาลิปสติกของแม่ไปใช้แทนดินสอ
เมื่อมีอุปกรณ์การเรียนครบแล้วแอ็บบัสจึงพาบัคเตยไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือด้วยกัน
แต่เมื่อไปถึงโรงเรียนบัคเตยพบว่ามันเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้ชาย โรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงต้องเดินไปตามลำธารซึ่งอยู่ห่างออกไปเธอจึงเดินไปตามลำพัง ระหว่างทางเธอต้องเผชิญกับก๊วนเด็กเกเรที่ชอบเล่น
‘เกมสงคราม’ เด็กเกเรสมมติแก๊งตัวเองว่าเป็นพวก
‘ตอลีบัน’ คอยรังแกเด็กที่เดินผ่านมาไม่ว่าเด็กคนนั้นจะสมัครใจเล่นเกมนี้หรือไม่ก็ตาม
เมื่อบัคเตยผ่านมาพวกแก๊งเด็กทโมนตอลีบันก็พากันแย่งสมุดของเธอไปฉีกเล่นจนเธอร้องไห้
แล้วคลุมศีรษะเธอด้วยถุงกระดาษพร้อมกับบังคับว่าเธอเป็นผู้หญิงต้องคลุมศรีษะห้ามเอาออก
จากนั้นก็พาเธอไปกักไว้ในถ้ำ ในขณะที่แอ็บบัสถูกก๊วนเด็กตอลีบันหลอกให้เดินตกลงไปในบ่อโคลนจนเนื้อตัวสกปรกมอมแมม
แก๊งเด็กทโมนพาบัคเตยไปกักในถ้ำซึ่งมีเด็กหญิงอีก ๓-๔ คนถูกจับไว้ก่อนแล้ว
เด็กทุกคนถูกคลุมศีรษะด้วยถุงกระดาษราวกับเป็นตัวตลก เมื่อได้โอกาสบัคเตยจึงพาทุกคนหนีออกจากถ้ำ
เธอรีบวิ่งไปโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงทันที เมื่อไปถึงหนูน้อยบัคเตยพบว่าที่นั่นมีแต่เด็กที่มาจากครอบครัวดีมีฐานะ
ไม่มีใครแบ่งเก้าอี้ให้เธอนั่ง เธอถูกรังแกถูกแย่งสมุดไปฉีกและถูกแย่งลิปสติกไปทาเล่น เมื่อครูเห็นบัคเตยเป็นเด็กที่แปลกปลอมเข้ามาคุณครูก็ขับไล่เธอออกไปจากห้องเรียน แม้จะมีสมุดและมาถึงโรงเรียนแล้วแต่บัคเตยก็ไมมีโอกาสได้เรียนหนังสือตามที่ฝันไว้
เมื่อไม่ได้เรียนหนังสือบัคเตยจึงเดินกลับบ้านพร้อมกับแอ็บบัส ระหว่างทางเด็กทั้งสองต้องเผชิญกับแก๊งเด็กทโมนอีกครั้งคราวนี้พวกเด็กทโมนสวมบทบาททหารอเมริกันที่ชอบทำตัวเป็นมือที่สามใช้ความรุนแรงกับประเทศต่าง
ๆ แอ็บบัสจึงแกล้งทำเป็นตายเพื่อจะได้ไม่ถูกรังแกอีก
คราวนี้ได้ผลแก๊งเด็กทโมนไม่สนใจแอ็บบัสแต่วิ่งตามบัคเตยไปติด ๆ เมื่อแอ็บบัสปลอดภัยจึงลุกขึ้นตะโกนไล่หลังบัคเตยไปว่า
“บัคเตย...เธอต้องตายแล้วเธอจะได้รับอิสรภาพ” บัคเตยได้ยินจึงล้มตัวลงนอนกับพื้นเพื่อให้เด็กเกเรเห็นว่าเธอตายแล้ว
แล้วบัคเตยก็ได้รับอิสรภาพจริง ๆ แต่เป็นอิสรภาพที่ตายแล้ว ไม่ใช่อิสรภาพที่มีชีวิต
ฮานา มัคมัลบัฟ ผู้กำกับ
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของ Buddha Collapsed Out of Shame ที่แสดงโดยเด็ก ๆ ชาวอัฟกัน กำกับโดยฮานา มัคมัลบัฟ (Hana Makhmalbaf) เยาวชนหญิงชาวอิหร่านวัย ๑๘ ฮานาให้สัมภาษณ์ว่าภาพยนตร์ที่เธอถ่ายทำเรื่องนี้พยายามสะท้อนให้เห็นว่าสงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถานได้ส่งผลกระทบกับเด็ก ๆ อย่างไรบ้าง
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของ Buddha Collapsed Out of Shame ที่แสดงโดยเด็ก ๆ ชาวอัฟกัน กำกับโดยฮานา มัคมัลบัฟ (Hana Makhmalbaf) เยาวชนหญิงชาวอิหร่านวัย ๑๘ ฮานาให้สัมภาษณ์ว่าภาพยนตร์ที่เธอถ่ายทำเรื่องนี้พยายามสะท้อนให้เห็นว่าสงครามกลางเมืองในอัฟกานิสถานได้ส่งผลกระทบกับเด็ก ๆ อย่างไรบ้าง
“หากเด็ก ๆ อยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง
โลกก็ตกอยู่ในอันตรายเพราะเด็ก ๆ คือผู้ใหญ่ในอนาคต เหมือนกับเด็กชายแอ็บบัสเมื่อถูกเด็กทโมนรังแกจนสุดจะทนเขาก็ตะโกนออกมาว่า
‘หากฉันโตขึ้นฉันจะฆ่าพวกแก’ เมื่อเด็กอยู่กับความรุนแรงในที่สุดความรุนแรงก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา”
ในช่วงที่ผ่านมาอัฟกานิสถานถูกประเทศรัสเซียกระทำรุนแรงในนามคอมมิวนิสต์
ตามด้วยกลุ่มตอลีบันกระทำรุนแรงในนามของผู้จงรักภัคดีต่อพระเจ้า ตบท้ายด้วยฝ่ายอเมริกันกระทำรุนแรงในนามกองกำลังรักษาสันติภาพ
ทั้งสามฝ่ายกระทำรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าให้กับผู้คนในประเทศนี้ จนเมื่อเร็ว ๆ
นี้มีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ผู้หญิงและเด็กจำนวนไม่น้อยต้องทนเห็นพ่อ
พี่ชาย หรือสามีถูกฆ่าตัดคอต่อหน้าต่อตา แม้ฝ่ายอเมริกาที่เข้ามาช่วยเหลือก็ใช้ความรุนแรงในแบบเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ทั้งสามฝ่ายกระทำชำเราผู้คนในประเทศนี้สะท้อนผ่านบุคลิกตัวละครแก๊งเด็กเกเรในหนังเรื่องนี้ที่ชอบเล่นเกมสงคราม
มีการสมมติบทบาทว่าฉันเป็นพวกตอลีบัน เธอเป็นพวกอเมริกา แกเป็นพวกก่อการร้าย เด็ก
ๆ ซึมซับเอาความรุนแรงเข้าไปในจิตวิญญาณจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันเมื่อพวกเขาเห็นคนใกล้ตัวถูกฆ่าตายไปต่อหน้าต่อตา
พวกเขาก็ปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความรุนแรงเป็นการตอบแทน
ในหนังเรื่องนี้จึงไม่มีใครเป็นฮีโร่หรือพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย ตัวละครเด็กทุกตัวในหนังกำลังสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นกับอัฟกานิสถาน
เด็กผู้ชายเจริญรอยตามพ่อที่ต้องถือปืนออกไปรบ เด็กผู้หญิงสูญเสียบทบาทของแม่ด้วยการสนใจแต่เมคอัพและการทาลิปสติก
ในขณะที่เมืองถูกถล่มด้วยระเบิดพลีชีพจากจรวดบนท้องฟ้าอย่างที่ในหนังแทนภาพด้วยว่าวที่ตกลงมาแล้วไหม้ไฟในทันที หนังเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นว่าอัฟกานิสถานกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเพียงใด
สงครามภายในประเทศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ทำลายจิตวิญญาณของเด็ก ๆ พร้อมกับระเบิดปมปัญหาที่ซับซ้อนมากมาย
แม้ว่ากลุ่มตอลีบันจะจากไปแล้วแต่ผลกระทบยังคงอยู่ คงมีเพียงความตายเท่านั้นที่จะทำให้เด็ก
ๆ เป็นอิสระจากความรุนแรงเหมือนอย่างที่บัคเตยได้รับในตอนจบ
ฮานาเล่าว่าตอนที่เธอถ่ายทำหนังเรื่องนี้เธอรู้สึกว่าโลกไม่ได้รับรู้ปัญหาความรุนแรงในอัฟกานิสถานอย่างที่ควรจะเป็น
เราจะคาดหวังอนาคตที่ดีให้กับอัฟกานิสถานได้อย่างไรในเมื่อความรุนแรงได้ถูกปลูกฝังซึมลึกไปทั่วผืนแผ่นดินของประเทศนี้ทุกอณู
ในฐานะที่เธอเป็นชาวอิหร่านเธอต้องการสื่อสารให้โลกได้รับรู้ว่าความรุนแรงในอัฟกานิสถานไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประเทศของเธอเลย
ฮานาพยายามทำหนังเรื่องนี้ให้มีประเด็นที่เชื่อมโยงกันระหว่างพุทธกับอิสลามโดยนำจุดร่วมของความรุนแรงที่ทั้งสองศาสนาได้รับมานำเสนอ
กล่าวคือในขณะที่พระพุทธรูปบามิยันถูกทำลาย เด็ก ๆ ชาวอัฟกันก็ได้รับผลกระทบจากสงครามไปด้วย ความรุนแรงในอัฟกานิสถานจึงไม่ได้เลือกเกิดกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น