วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทะเบียนสมรสนั้น ... สำคัญไฉน


ทะเบียนสมรสนั้น ... สำคัญไฉน
พระชาย  วรธัมโม               เผยแพร่เว็ปไซต์ ประชาไท    จันทร์  18  กุมภาพันธ์  2556




ขณะนี้กำลังมีการร่างกฎหมายการจดทะเบียนสมรสสำหรับคู่รักเพศเดียวกันขึ้นมาเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภารอวาระการโหวตคะแนนเสียงเพื่อออกเป็นกฎหมาย ภาษาทางการเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า พระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตเนื้อหาไม่ได้มีอะไรใหม่เพียงแต่เป็นการนำกฎหมายการจดทะเบียนสมรสชายหญิงที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้กับคู่สมรสชายกับชาย หญิงกับหญิง เป็นการเพิ่มชุดกฎหมายขึ้นเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันให้มีสิทธิเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ

บางคนสงสัยว่ากฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญอย่างไร ขั้นพื้นฐานเลยก็คือกฎหมายฉบับนี้ช่วยเหลือในกรณีที่คู่รักเพศเดียวกันไม่ว่าจะเป็นคู่รัก ชายกับชาย หรือคู่รัก หญิงกับหญิง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงไป ทรัพย์สินที่ทั้งสองฝ่ายต่างช่วยสร้างสมกันมาระหว่างที่อยู่ด้วยกันจะตกเป็นของฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่มีทรัพย์สินไว้ดำรงชีพ มีบ้านอยู่ต่อไป ไม่กลายเป็นคนไร้ทรัพย์หรือตกอับกลายเป็นคนไร้บ้าน
แต่ทุกวันนี้สิ่งที่คู่รักเพศเดียวกันที่ ชายกับชาย หรือ หญิงกับหญิง ต้องเผชิญก็คือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงไป ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่จะกลายเป็นคนหลักลอยไปในทันทีเพราะทรัพย์สินของฝ่ายที่เสียชีวิตไปจะตกเป็นของญาติๆ  ในขณะที่ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่จะกลายเป็นคนไร้บ้านไปในบัดดลเพราะทรัพย์สินที่ทั้งสองต่างร่วมสร้างกันมาไม่ถือว่าเป็น สินสมรสเนื่องจากรัฐไทยไม่มีกฎหมายรองรับชีวิตคู่ของเพศเดียวกันมาตั้งแต่แรก ฉะนั้นอะไรที่ร่วมสร้างกันมาถือว่าเป็นสมบัติที่แยกความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของกันไป ไม่ได้เกี่ยวกันในความหมายของสินสมรส  ดังนั้นจึงมีคู่รักเพศเดียวกันหลายคู่ทีเดียวเมื่อฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไปฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องถูกเชิญออกจากบ้านที่ตนเองเคยอยู่อาศัย เพราะบ้านหลังนั้นได้ตกเป็นสมบัติของญาติผู้ตายไปเรียบร้อยแล้ว
กฎหมายฉบับนี้ยังช่วยอีกหลายเรื่อง เช่น การทำนิติกรรมร่วมกันเพื่อกู้เงินซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกระทำได้เฉพาะสามีภริยาเท่านั้นแต่เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา การทำนิติกรรมร่วมกันในฐานะคู่รักเพศเดียวกันเพื่อกู้เงินซื้อบ้านหรือทำธุรกรรมใดๆ ก็จะไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป บ้านที่ซื้อก็จะกลายเป็นสองเจ้าของ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไป อีกฝ่ายก็ยังมีสิทธิอยู่ต่อเพราะเป็นสินสมรสที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา
นั่นเป็นประเด็นทางวัตถุภายนอกอันเป็นประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองทุกคนควรได้รับ แต่ผู้เขียนมองเห็นประเด็นอื่นๆ ที่อาจเป็นประโยชน์มากกว่านั้น



กฎหมายช่วยเรื่องพัฒนาการด้านใน
เพราะการเป็นคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทยยังเป็นเรื่องประหลาด ตลกขบขันทำให้คนที่รักเพศเดียวกันจำนวนหนึ่งต้องหลบซ่อนตัวเองไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ เพราะเมื่อใดที่เปิดเผยตัวว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันก็จะถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดหรือตัวตลก ไม่ได้รับการยอมรับ จึงทำให้พวกเขาบางคนไม่สามารถบอกกับสาธารณะได้ว่าตนเป็นคนรักเพศเดียวกัน เพราะหากเปิดเผยไปก็จะถูกล้อเลียนหรือไม่ได้รับการยอมรับ

การมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาสนับสนุนอย่างน้อยน่าจะทำให้คนที่รักเพศเดียวกันมองเห็นมากขึ้นว่าตนเองไม่ใช่ตัวตลกของสังคมแต่เป็นบุคคลที่มีสิทธิตามกฎหมาย แต่กฎหมายฉบับนี้ก็อาจจะช่วยเหลือคนรักเพศเดียวกันที่มีคู่รักเท่านั้น หากเป็นคนรักเพศเดียวกันที่เป็นโสดก็อาจจะช่วยแค่ความรู้สึกว่าการเป็นคนรักเพศเดียวกันก็พอจะมีตัวตนในกฎหมายไทยอยู่บ้าง และดูเหมือนคนรักเพศเดียวกันที่เป็นโสดยังไม่มีกฎหมายตัวใดมาช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินชีวิตแบบโสดๆ ของตน

นั่นคือพัฒนาการด้านในเรื่องความมั่นใจที่จะเกิดขึ้นกับคนรักเพศเดียวกัน เมื่อเทียบกับทางธรรม การบรรลุธรรมก็ต้องอาศัยความมั่นใจในตัวเองเช่นกัน ศรัทธาหรือ ความมั่นใจในตัวเองจึงเป็นคุณธรรมข้อแรกในพละ หากเรามีความมั่นใจในตัวเองว่าเราสามารถบรรลุธรรมได้ เมื่อนั้นความเข้าใจในธรรมที่ลึกซึ้งขึ้นก็จะเกิดตามมา เห็นได้ว่าความมั่นใจในตัวเองมีความสำคัญในโลกทั้งสองใบที่ซ้อนทับกันอยู่ ความมั่นใจในการเป็นอะไรในโลกของฆราวาสจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความมั่นใจในทางธรรม
ความมั่นใจตัวเองในทางโลกสนับสนุนให้คนๆ นั้นมีชีวิตอยู่ฉันใด ความมั่นใจในทางธรรมก็สนับสนุนให้คนๆ นั้นมีชีวิตในโลกทางธรรมที่เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไปฉันนั้น เราไม่ควรมองว่าความมั่นใจในตัวเองของบุคคลไม่มีความสำคัญ ความมั่นใจในตัวเองเป็นคุณธรรมที่สนับสนุนให้บุคคลประสบความสำเร็จในทุกๆ เรื่อง

ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายนของปี 2553 มีวัยรุ่นเกย์ฆ่าตัวตายในเดือนเดียวกันถึง 5 คน สาเหตุเพราะถูกเพื่อนในโรงเรียนนำความเป็นเกย์ของพวกเขามาล้อเลียนกลั่นแกล้งทำให้พวกเขารู้สึกอับอายไม่ภาคภูมิใจในตัวเองจนต้องปลิดชีวิตตัวเองในที่สุด เราคงเห็นแล้วว่าความภาคภูมิใจในตัวเองหรือความมั่นใจในตัวเองมีความสำคัญต่อบุคคลมากมายเพียงใด



ช่วยลดความรุนแรงเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องกรรม
แนวคิดเรื่องกรรมกับคนรักเพศเดียวกันเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งที่ติดข้องอยู่ในวิธีคิดของชาวพุทธ มีคำพูดว่าเกิดมารักเพศเดียวกันเป็นกรรมให้ได้ยินบ่อยๆ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่ารักเพศเดียวกันเป็นกรรมหรือเกิดเป็นกะเทยเป็นกรรม แต่เป็นการตีความกันเอาเองของสาวกรุ่นหลัง
แท้จริงแล้วความรู้สึกว่าเป็นกรรมเกิดจากสังคมขาดความเข้าใจที่ดีและขาดระบบการสนับสนุนด้านสาธารณะให้กับคนที่เกิดมาแตกต่าง คนที่เกิดมาแตกต่างจึงไม่ได้รับความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตแล้วพลอยคิดไปว่าเป็นกรรม หากคนที่แตกต่างในสังคมได้รับการสนับสนุนได้รับความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต หรือได้รับความเข้าใจที่ดีจากสังคมรอบข้าง ความรู้สึกว่าเป็นกรรมนั้นก็จะหายไป

กรณีคนรักเพศเดียวกันก็เช่นเดียวกัน คนรักเพศเดียวกันไม่มีกฎหมายหรือการสนับสนุนด้านสาธารณะจากสังคมหรือภาครัฐ หากกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันชนะการออกคะแนนเสียงในรัฐสภา อย่างน้อยความรู้สึกว่าเป็นกรรมของคนที่รักเพศเดียวกันก็อาจเจือจางลงไปบ้างเพราะการใช้ชีวิตคู่ได้รับการรับรองจากรัฐรวมทั้งความมั่นคงทางด้านสินสมรสก็ได้รับการคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ต้องให้บริการประชาชนก็มีมุมมองต่อคนรักเพศเดียวกันในทางที่ดีขึ้น มองเห็นคนรักเพศเดียวกันว่าเป็นมนุษย์ ปฏิบัติต่อคู่รักเพศเดียวกันที่มาขอจดทะเบียนสมรสอย่างให้เกียรติ เมื่อนั้นความรู้สึกว่ารักเพศเดียวกันเป็นกรรมก็อาจจะค่อยๆ หมดไปเพราะสังคมให้การยอมรับสนับสนุนมากขึ้น



โลกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว
แท้จริงแล้วกฎหมายทะเบียนสมรสสำหรับคู่รักเพศเดียวกันไม่ได้ช่วยเหลือแค่คนสองคนเท่านั้นแต่ยังช่วยเหลือคนอื่นๆ ด้วย เช่น พ่อแม่ที่มีลูกรักเพศเดียวกันแต่เดิมอาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจรับไม่ได้ แต่เมื่อกฎหมายรับรองชีวิตคู่ของเพศเดียวกันถูกประกาศใช้ ความเข้าใจของพ่อแม่ย่อมพัฒนาไปสู่การยอมรับและเข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น รวมถึงพี่ๆ น้องๆ หรือญาติๆ ของคู่รักเพศเดียวกันก็จะค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติเพราะมีกฎหมายออกมารองรับ

ในระดับโรงเรียนและสถาบันการศึกษา การรับรู้สำหรับครูอาจารย์และนักเรียนก็ย่อมเปลี่ยนไป มีการยอมรับและเข้าใจประเด็นคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น ในระดับสังคมที่ใหญ่ออกไปเป็นหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ประเทศ นักการเมือง ประชาชน ก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ เราไม่อาจพูดได้ว่ากฎหมายช่วยเหลือแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กฎหมายได้ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนอื่นๆ ในสังคม ทำให้โลกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว

พัฒนาการความมั่นใจในตัวเองและความภาคภูมิใจในตัวเองของมนุษย์ทุกคนล้วนมีความสำคัญ ความรักเป็นสิ่งสวยงามไม่ว่าคู่รักนั้นจะเป็นเพศใด แต่สิ่งสำคัญกว่าอื่นใดก็คือความเข้าใจ การยอมรับ และการสนับสนุนจากสังคมรอบข้าง เพราะเราอยู่ในสังคมเดียวกัน ความเข้าใจในความแตกต่างจึงเป็นเรื่องจำเป็น.

3 นิกาย สติเดียว

3 นิกาย สติเดียว
พระชาย วรธัมโม                                   คมชัดลึก  อาทิตย์  3  กุมภาพันธ์  2556




          อาจารย์คนแรกที่สอนผู้เขียนให้รู้จักสติเป็นพระธรรมดาที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร ท่านชื่อพระอาจารย์มหาดี ติสสเทโว ตอนที่ผู้เขียนบวชได้สองเดือนอาจารย์ดีได้ย้ายมาสอนบาลีในวัดที่ผู้เขียนบวชอยู่ วันที่อาจารย์ย้ายมาช่วงนั้นผู้เขียนไปธุระที่อื่น พอกลับมาถึงวัด พี่สาวซึ่งบวชเป็นแม่ชีบอกกับผู้เขียนว่าพระอาจารย์สอนบาลีที่ย้ายมาใหม่บอกว่าผู้เขียนจิตใจเหม่อลอยไม่ค่อยมีสติ มีอาการน่าเป็นห่วง ท่านฝากบอกมาว่าหากมีเวลาว่างให้ไปพบท่านด้วย

          เมื่อกลับมาถึงวัดผู้เขียนจึงหาเวลาไปสนทนาธรรมกับท่านที่กุฏิ ผู้เขียนพบว่าท่านเป็นพระที่มีอัธยาศัยดีถึงแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่ก็เหมือนกับเรารู้จักกันมานาน ท่านรู้ว่าผู้เขียนไม่มีสติตั้งแต่ยังไม่รู้จักหน้าค่ากันด้วยซ้ำ เมื่อสนทนากันผู้เขียนจึงได้โอกาสถามท่านว่าแล้วความมีสติคืออะไร ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเป็นคนมีสติ อาจารย์ดีตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า "ทำอะไรก็ให้รู้ลมหายใจเข้า-รู้ลมหายใจออกแค่นั้นก็พอ" ผู้เขียนได้ฟังแค่นั้นก็เข้าใจทันทีว่าอาจารย์ดีหมายความว่าให้เรามีการระลึกรู้ตัวตลอดเวลานั่นเองโดยใช้ "ลมหายใจ" เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกฝนให้ตัวเรามีสติรู้ตัวต่อเนื่องตลอดเวลา



                                             พระอาจารย์ดี ติสสเทโว นิกายเถรวาท

          ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาผู้เขียนก็เฝ้าปฏิบัติตนให้มีการระลึกรู้ตัวตลอดเวลาไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน ซักผ้า เข้าห้องน้ำ สรงน้ำ เดินไปนู่นมานี่ และรู้สึกสนุกที่ตัวเองได้เฝ้าระวังจับจ้องตัวเองให้มีสติตื่นรู้อยู่ตลอดเวลามิได้ขาดจนอาจารย์ดีต้องมาเตือนว่า "ท่านตั้งใจมากเกินไปแล้ว พอสติหายไปท่านก็พยายามจับจ้องให้มีมันอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องการให้มันหายไปไหน"  ผู้เขียนได้ฟังแค่นั้นก็เข้าใจทันทีว่าตัวเองกำลังปฏิบัติผิด เมื่อไรที่ "การระลึกรู้" หายไปเราก็เฝ้ากำหนดจับจ้องให้มันคงอยู่กับเราไม่ให้คลาดสายตาไปไหน พอสติหายไปเราก็ผิดหวังจนรู้สึกเกร็งไม่เป็นไปตามธรรมชาติเพราะพยายามจับจ้องให้มันคงอยู่กับเราไปนานๆ ซึ่งแท้จริงแล้วสติหรือการระลึกรู้ของเราในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาสามารถสูญหายลืมเลือนไปได้ซึ่งเป็นเรื่องปกติ การพยายามจับจ้องและเฝ้าระวังไม่ให้สติหายไปจึงเป็นเรื่องผิดปกติและเป็นการปฏิบัติที่ตึงเกินไป

          อาจารย์ดีจึงแนะนำว่า "ท่านไม่ต้องเฝ้าจับจ้องจนมากเกินไปขนาดนั้น เมื่อไรที่สติหรือการระลึกรู้หายไปก็กำหนดให้เกิดขึ้นมาใหม่แค่นั้นเอง"  เมื่อนั้นผู้เขียนจึงเข้าใจวิธีการเจริญสติมากขึ้นว่าเราไม่ต้องคาดหวังให้มันอยู่กับเราไปตลอดหรือหมกมุ่นกับมันมากจนเกินไป ถ้ามันหายไปก็กำหนดมันขึ้นมาใหม่แค่นั้นเอง

          นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผู้เขียนได้รู้จักกับคำว่า 'สติ' เพราะเท่าที่ผ่านมาเรารู้จักคำว่าสติแต่ไม่เคยรู้เลยว่าสติคือ "ความระลึกได้" แค่เราระลึกได้ว่าเรากำลังทำอะไรในปัจจุบันก็คือสติอย่างแท้จริง ผู้เขียนโชคดีที่ได้รู้จักกับครูบาอาจารย์ที่มีเมตตาช่วยแนะนำการเจริญสติให้หลังจากที่บวชได้ไม่นาน ทำให้ทราบแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเจริญสติ โดยปกติผู้เขียนเป็นคนชอบฝันกลางวันปล่อยให้ความคิดล่องลอยฟุ้งกระจายไปในอากาศโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะหยุดความฟุ้งซ่านฟุ้งกระจายนั้นได้อย่างไร บังเอิญอาจารย์ดีเป็นพระที่รู้ใจ รู้ว่าจะสอนผู้เขียนให้มีสติและรู้ว่าจะแนะนำผู้เขียนให้ปฏิบัติอยู่ในทางสายกลางได้อย่างไร หากอาจารย์ดีไม่แนะนำผู้เขียนก็คงตั้งใจที่จะมีสติมากจนเกินไปและไม่รู้ว่าจะหลุดออกจากการยึดติดในสตินั้นได้อย่างไร วิธีการสอนให้เจริญสติของอาจารย์ดีก็ง่ายๆ เพียงเริ่มต้นให้มีสติกับลมหายใจเข้าออก เมื่อทำได้เราก็จะระลึกได้ถึงการมีสติกับกิจกรรมที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน อาจารย์ดียังแนะนำเพิ่มเติมว่าขณะสวดมนต์ก็ให้สติอยู่กับลิ้นหรือริมฝีปาก แต่ละวันที่ผ่านไปก็พยายามอย่าให้จิตคิดถึงเรื่องที่ไกลจากตัวเราเกินกว่าหนึ่งเมตร นั่นเป็นคำสอนของอาจารย์ดีที่ผู้เขียนยังจำได้ ท่านอยู่วัดเดียวกับผู้เขียนเพียงแค่ปีเดียวเมื่อท่านย้ายไปเราก็ไม่เคยพบท่านอีกเลย

          ๓ ปีต่อมาผู้เขียนได้พบกับลามะในสายวัชรยานท่านหนึ่งโดยบังเอิญ ท่านชื่อสมันตา ท่านบวชมาจากเนปาลเป็นนิกาย 'เกรุกปะ' หรือนิกายหมวกเหลือง ย้อนหลังกลับไปประมาณ ๒๐ ปีที่แล้วคนไทยยังรู้จักพุทธศาสนานิกายวัชรยานกันน้อย แม้ปัจจุบันพุทธศาสนานิกายวัชรยานก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก การได้สนทนาธรรมกับท่านสมันตาเป็นการเปิดโลกทัศน์ทำให้ผู้เขียนรู้จักพุทธศาสนานิกายวัชรยานมากขึ้น พุทธศาสนานิกายวัชรยานมีถิ่นกำเนิดอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยในประเทศทิเบต นิกายนี้มีความเชื่อว่าลามะคือพระโพธิสัตว์ที่กลับชาติมาเกิดเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ทุกวันนี้ประเทศทิเบตถูกจีนยึดครองทำให้ชาวทิเบตและลามะจำนวนมากต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ดาไลลามะผู้นำทิเบตยังต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอินเดีย ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาแบบทิเบตจึงกระจายออกไปเจริญเติบโตนอกประเทศทิเบต คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยหันมาให้ความสนใจพุทธศาสนาแบบทิเบตและเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นชาวพุทธหลังจากได้ปฏิบัติภาวนากับลามะที่เข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในอเมริกา คนอเมริกันจึงรู้จักพุทธศาสนานิกายวัชรยานมากกว่านิกายอื่นๆ



                                                                  ท่านสมันตา นิกายวัชรยาน

          ผู้เขียนมีโอกาสถามท่านสมันตาว่าแนวทางการปฏิบัติธรรมของท่านเป็นอย่างไร ท่านตอบว่าแนวทางการปฏิบัติของท่านคือการเจริญสติ รู้สึกตัวตลอดเวลาหรือบางครั้งก็กำหนดให้จิตอยู่กับจิต ไม่ให้จิตฟุ้งซ่านไปไหน  นั่นเป็นครั้งที่สองที่ผู้เขียนมีโอกาสพบกับครูบาอาจารย์ที่สอนการปฏิบัติในแนวทางการเจริญสติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่มาจากนิกายวัชรยานซึ่งเป็นนิกายที่มาจากเทือกเขาหิมาลัยอันแสนไกล ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจถึงแม้เราจะมาจากคนละนิกายที่อยู่ห่างไกลกันแต่เราก็มีแนวทางการปฏิบัติแบบเดียวกันคือ "การเจริญสติ"

          ราวปี ๒๕๔๗ หรือประมาณสิบปีถัดมาคณะสงฆ์จากหมู่บ้านพลัมซึ่งเป็นสายของท่านติชนัทฮันห์เป็นพุทธศาสนาสายมหายานจากประเทศเวียดนามที่ไปเจริญเติบโตอยู่ในประเทศฝรั่งเศสได้เดินทางมาจัดงานภาวนาในเมืองไทยนำโดยภิกษุณีนิรามิสา งานภาวนาครั้งนั้นจัดที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมภาวนาครั้งนั้นด้วย รู้สึกประหลาดใจอีกครั้งเมื่อพบว่าวิถีการปฏิบัติของหมู่บ้านพลัมใช้การเจริญสติที่ลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องมือระลึกรู้ในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่อาจารย์ดีเคยสอนผู้เขียนเมื่อหลายปีก่อน พร้อมกับรู้สึกทึ่งเมื่อค้นพบว่าพุทธศาสนาทั้ง ๓ นิกาย คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน ต่างมีวิถีการปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน คือ การมีสติระลึกรู้อยู่ในปัจจุบัน


                                                               ภิกษุณีนิรามิสา นิกายมหายาน

          สิ่งที่น่าสนใจก็คือพุทธศาสนาได้ผ่านการเดินทางมาแล้วกว่า ๒,๕๐๐ ปี มีการแตกออกเป็นนิกายใหญ่ๆ ๓ นิกาย คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน แต่ละนิกายได้เดินทางแผ่กระจายไปตามจุดต่างๆ ของโลก แทรกซึมอยู่ในดินแดนที่แตกต่างกันทั้งภาษา วัฒนธรรม ประเพณี มีชื่อเรียกนิกายที่ไม่เหมือนกัน เมื่อดูจากภายนอกเราแตกต่างกันมาก

            ถึงแม้เราจะดูแตกต่างกันอย่างไร การปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้เรามีความเหมือนกันทั้งสามนิกายก็คือ "การมีสติระลึกรู้อยู่ในปัจจุบัน"  นั่นเอง.   






.