สุรีย์พร ยุติธรรม / ภาพ
คมชัดลึก วัน (พระ) อาทิตย์ 14 ธันวาคม 2557
เมื่อวันเสาร์ที่
๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ มีงานอุปสมบทภิกษุณีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เกาะยอ จ.สงขลา พร้อมด้วยการบรรพชาสามเณรีอีก
๔๗ รูปตามโครงการบรรพชาสามเณรีของทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม
หากนับตามประวัติศาสตร์แล้วนี่ไม่ใช่การบวชภิกษุณีที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย
หากแต่ครั้งแรกนั้นเคยเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยลูกสาวสองคนของนายนรินทร์
ภาษิต คือจงดีวัย ๑๓ และสาระวัย ๑๘ ได้บวชเป็นสามเณรี หลังจากนั้นสองปีสามเณรีสาระอายุครบ
๒๐ ได้บวชเป็นภิกษุณีในกาลต่อมา นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ๘๖ ปีมาแล้ว
แต่อย่างไรก็ตามการบวชภิกษุณีที่เกาะยอก็มิใช่การบวชภิกษุณีครั้งที่ ๒ ในดินแดนสยามประเทศแห่งนี้
หากแต่ช่วงเวลาที่ผ่านมามีการอุปสมบทภิกษุณีเกิดขึ้นหลายวาระด้วยกัน
เพียงแต่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ให้เป็นข่าวเท่านั้นเอง
งานอุปสมบทครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการบวชภิกษุณีอย่างเป็นทางการ
มีการเชิญหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ทั้งภาครัฐระดับท้องถิ่นได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอบต.)
มีท่านศุภณัฐ สิรันทวิเนติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสมาร่วมเปิดงานในฐานะตัวแทน
ศอบต. รวมทั้งภาครัฐจากศูนย์กลางมีการส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งก็มีคำขอบคุณจากสำนักนายกรัฐมนตรีตอบกลับมา
อีกทั้งมีการทำหนังสือขอพระราชทานพระกรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทางสำนักพระราชวังก็มีจดหมายตอบกลับมาเช่นกัน นี่จึงไม่ใช่การบวชแบบเงียบ ๆ แต่เป็นบวชที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการทีเดียว
พิธีอุปสมบทภิกษุณีจำนวน 8 รูป (เข้าพิธีคราวละ 4 รูป)
คณะภิกษุนั่งปีกขวาของพระประธาน คณะภิกษุณีนั่งปีกซ้ายของพระประธาน
เป็นการอุปสมบทที่ครบสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
คณะภิกษุนั่งปีกขวาของพระประธาน คณะภิกษุณีนั่งปีกซ้ายของพระประธาน
เป็นการอุปสมบทที่ครบสงฆ์ทั้งสองฝ่าย
การอุปสมบทภิกษุณีครั้งนี้เกิดขึ้น
ณ เขตพัทธสีมา ของ “ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม” อันเป็นสำนักภิกษุณีตั้งอยู่ที่เกาะยอ
จ.สงขลา มีคณะสงฆ์สองฝ่ายทั้งอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุและอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีมาร่วมประกอบพิธีการบวชอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย
อุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุคือ
พระมหาสังฆนายกมหินทวังสะ สังฆราชแห่งนิกายอมรปุระจากประเทศศรีลังกา
พระกรรมวาจาจารย์หรือพระคู่สวดได้แก่ ท่านคาลุปาหนะ ปิยรตนะ และท่านธลังกาเล
สุธรรมะ ทั้งสองท่านมาจากศรีลังกา ในขณะที่ปวัตตินีหรืออุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณี คือ
ท่านสุมิตราเถรี จากศรีลังกา ภิกษุณีกรรมวาจาจารย์ได้แก่ ท่านสุมนปาลีจากศรีลังกา
ท่านสันตินีจากอินโดนีเซีย และท่านวิธิตาธรรมมาจากเวียดนาม มีพระภิกษุร่วมนั่งหัตถบาส
๑๓ รูป พระภิกษุณี ๑๕ รูป
การบวชเป็นพระภิกษุต้องบวชเป็นสามเณรก่อนฉันใด สุภาพสตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณีก็ต้องผ่านการบวชเป็นสามเณรีก่อนฉันนั้น
สามเณรีคือหญิงผู้ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ถือศีล ๑๐ ข้อเช่นเดียวกับสามเณร
เมื่อบวชเป็นสามเณรีแล้วก่อนจะบวชเป็นภิกษุณีต้องถือปฏิบัติเป็นสิกขมานาเป็นเวลา ๒
ปี สิกขมานาคือสามเณรีผู้ถือศีล ๑๐ แต่ปฏิบัติศีล ๖ ข้อแรกอย่างเคร่งครัด
เมื่อปฏิบัติเป็นสิกขมานาครบ ๒ ปีแล้วและมีอายุครบ ๒๐ ปีขึ้นไปจึงจะอุปสมบทเป็นภิกษุณี
สามเณรีจำนวน 47 รูป หลังบรรพชาเสร็จกำลังเดินลงมาจากอุโบสถ
สำหรับพิธีอุปสมบทภิกษุณีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เริ่มต้นด้วยคณะภิกษุณีสงฆ์เข้านั่งครบองค์ประชุมในเขตพัทธสีมา
มีอุปัชฌาย์ฝ่ายหญิงคือปวัตตินีนั่งเป็นประธาน มีพระกรรมวาจาริณี ๓ รูปและพระภิกษุณีร่วมนั่งหัตถบาส
๑๕ รูป จากนั้นสิกขมานา ๘ รูป เข้าสู่เขตพัทธสีมา
ทำความเคารพปวัตตินีแล้วเริ่มกระบวนการสอบถามอันตรายิกธรรม ๒๔ ข้อโดยมีพระกรรมวาจาริณีเป็นผู้สอบถาม
“อันตรายิกธรรม” คือคุณสมบัติของผู้ที่จะบวชภิกษุณีมี ๒๔ ข้อ (พระภิกษุมี
๑๓ ข้อ) การสอบถามอันตรายิกธรรมของภิกษุณีเป็นที่มาที่ทำให้เกิดการอุปสมบทในสงฆ์สองฝ่ายขึ้น
กล่าวคือในยุคแรกของการบวชภิกษุณีนั้นพระพุทธเจ้ามอบภาระการบวชภิกษุณีให้คณะภิกษุสงฆ์เป็นฝ่ายจัดการทั้งหมด
แม้การสอบถามอันตรายิกธรรมก็ดำเนินการโดยภิกษุ เมื่อภิกษุเป็นฝ่ายสอบถามอันตรายิกธรรมกับนางสิกขมานาจึงเกิดความขลุกขลัก
เพราะคำถามประกอบไปด้วยเรื่องอวัยวะเพศและรอบเดือนของสตรี เช่นถามว่า
ท่านมีรอบเดือนหรือไม่ ท่านมีอวัยวะเพศสมบูรณ์แบบผู้หญิงหรือไม่
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้นางสิกขมานารู้สึกเขินอายที่จะตอบเพราะผู้ถามเป็นบุรุษเพศ
ในที่สุดพระพุทธเจ้าจึงแก้ปัญหานี้ด้วยการให้คณะภิกษุณีสงฆ์เข้ามามีส่วนในการสอบถามอันตรายิกธรรมด้วยการจัดให้มีปวัตตินีเป็นอุปัชฌาย์ฝ่ายหญิงและมีกรรมวาจาริณีฝ่ายหญิงเพื่อสอบถามอันตรายิกธรรมกับนางสิกขมานาโดยตรง
เมื่อผู้หญิงถามผู้หญิงด้วยกันเองก็เกิดความสะดวกใจไม่ต้องเขินอาย สาเหตุที่การบวชภิกษุณีต้องบวชกับสงฆ์สองฝ่ายจึงมีด้วยประการฉะนี้
สำหรับการบวชภิกษุณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็เช่นกัน
เมื่อกรรมวาจาริณีสอบถามอันตรายิกธรรมจำนวน ๒๔ ข้อกับนางสิกขมานาเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ปิดท้ายด้วยการสวดญัตติจตุตถกรรมโดยมีคณะภิกษุณีสงฆ์จำนวน
๑๕ รูปเป็นสักขีพยาน
“ญัตติจตุตถกรรม” คือการสวดคู่โดยพระภิกษุหรือภิกษุณีที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หรือพระกรรมวาจาริณี (หรือที่เรียกว่าพระคู่สวด) เพื่อสวดขอมติยินยอมให้ผู้ขอบวชที่อยู่เบื้องหน้าสงฆ์ได้มีสถานะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีตามคำขอบวช หลังจากที่กรรมวาจาริณีสวดญัตติจตุตถกรรมจบถือว่าสิกขมานาทั้ง
๘ รูปสำเร็จเป็นพระภิกษุณีเป็นลำดับแรกแต่ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากต้องได้รับการสวดญัตติจตุตถกรรมจากฝ่ายภิกษุเป็นลำดับถัดมา
ดังนั้นจากนี้ไปจึงเป็นวาระของคณะพระภิกษุสงฆ์เข้าสู่เขตพัทธสีมาโดยคณะภิกษุนั่งฝั่งตรงข้ามกับคณะภิกษุณี
มีพระอุปัชฌาย์นั่งเป็นประธานตรงกลางพร้อมด้วยพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อนั้นภิกษุณีทั้ง
๘ รูปผู้ผ่านการบวชจากคณะภิกษุณีสงฆ์เข้าทำความเคารพพระอุปัชฌาย์ผู้เป็นประธาน จากนั้นพระกรรมวาจาจารย์ฝ่ายภิกษุทำการสวด
“ญัตติจตุตถกรรม” ให้กับภิกษุณีทั้ง ๘ เป็นลำดับ มีคณะภิกษุและภิกษุณีร่วมนั่งเป็นสักขีพยานในเขตสงฆ์
นาคินีเข้ากอดคุณพ่อ - คุณแม่ ก่อนจะเข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรี
เมื่อพระกรรมวาจาจารย์ฝ่ายภิกษุสวด
“ญัตติจตุตถกรรม” จบถือว่าภิกษุณีทั้ง ๘ รูปสำเร็จการอุปสมบทเป็นภิกษุณีอย่างสมบูรณ์ด้วยสงฆ์สองฝ่ายถูกต้องตามพระธรรมวินัย
จากนั้นปิดท้ายด้วยพระอุปัชฌาย์สวดอนุศาสน์ ๑๑ ข้อให้กับนางภิกษุณีทั้ง ๘
ได้รับฟัง อนุศาสน์ ๑๑ ข้อประกอบด้วย นิสสัย ๓ คือ บิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (ภิกษุณีไม่ต้องอยู่โคนไม้เป็นวัตรจึงเหลือเพียงนิสสัย ๓
) พร้อมด้วยอกรณียกิจ ๘ ซึ่งมาจากสิกขาบทปาราชิก ๘ ข้อของภิกษุณี (สำหรับพระภิกษุฟังอนุศาสน์ ๘ ข้อ)
ตามธรรมเนียมเมื่อเสร็จพิธี ทั้งภิกษุและภิกษุณีผู้บวชใหม่ต้องฟังอนุศาสน์จากพระอุปัชฌาย์ทันทีเพื่อภิกษุหรือภิกษุณีผู้บวชใหม่ได้ทราบว่าตนเองทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้บ้างจะได้ไม่ละเมิดสิกขาบทด้วยความไม่รู้
ทั้งหมดนี้เป็นพิธีกรรมการบวชภิกษุณีเกิดขึ้นที่เกาะยอ
จ.สงขลา เป็นวาระที่ชาวพุทธพึงอนุโมทนาที่เมืองไทยมีพุทธบริษัทครบ ๔ แล้ว.
.
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น