วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เดินสันติภาพเพื่อบังคลาเทศ


                                      

                                                          เดินสันติภาพเพื่อบังคลาเทศ
                                   “เราไม่ต้องการความรุนแรง เราต้องการความสงบ

 พระชาย วรธัมโม / เรื่อง ภาพ

                                                                                       คมชัดลึก  จันทร์  8  ตุลาคม  2555

วันอังคารที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๕  
 
          ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เราเรียน (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) เพื่อนภิกษุชาวบังคลาเทศมีการพูดคุยนัดแนะกันถึงการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในเช้าวันพรุ่งนี้ว่าจะมีการ เดินสันติภาพเพื่อบังคลาเทศ ในกรุงเทพฯ ที่จริงเราคิดว่าจะเบี้ยวรายการนี้เพราะเรามีการบ้านที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันถัดไป แต่เมื่อคิดๆ ดูเพื่อนบังคลาเทศก็คือเพื่อนของเรา เมื่อเพื่อนเดือดร้อนเราน่าจะสละเวลาช่วยเพื่อนสักหน่อยและคิดเสียว่าความทุกข์ของเพื่อนมาก่อนการบ้านก็แล้วกัน

          แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่เราตัดสินใจไปร่วมเดินสันติภาพในครั้งนี้ก็คือนี่ไม่ใช่การเดินเพื่อประท้วงหรือเดินเพื่อรังเกียจเพื่อนชาวมุสลิม แต่เป็นการเดินเพื่อให้เกิดสันติภาวะระหว่างศาสนา เมื่อความคิดของเราชัดเจนเราจึงตัดสินใจไปร่วมเดินเพื่อสันติภาพในครั้งนี้
 

วันพุธที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๕

          เวลา ๘.๓๐ น. ที่สนามหลวงฝั่งตรงข้ามกับพระแม่ธรณีบีบมวยผมเรามาถึงเป็นคนแรกๆ รู้สึกแปลกใจที่เห็นพระมาแค่ ๔-๕ รูป เพื่อนบอกว่าเดี๋ยวอีกสักครู่ก็คงมากัน ผ่านไปแค่ ๕ นาทีก็เริ่มมีพระภิกษุทยอยกันมาจริงๆ การชุมนุมครั้งนี้เป็นการการนัดหมายกันง่ายๆ หลวมๆ แบบบอกต่อ ใครสนใจมาร่วมก็จงมา ใครไม่สะดวกหรือไม่ว่างก็ไม่เป็นไร ไม่ได้บังคับว่าทุกคนต้องมาหรือไม่ได้กะเกณฑ์ว่าต้องเป็นชาวบังคลาเทศเท่านั้น เพื่อนภิกษุชนชาติใดที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในบังคลาเทศก็สามารถมาร่วมได้
 
 
                               เวลา ๘.๓๐ น. ได้เวลานัด แต่มีพระภิกษุแค่ ๓ รูป
                     ----------------------------------------------------------------------------------
 
เวลาผ่านไปเดี๋ยวเดียวพระภิกษุประมาณ ๒๕๐ กว่ารูปก็มาชุมนุมกันเต็มบริเวณ นี่เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยการนำของคณะสงฆ์บังคลาเทศในประเทศไทย หรือ Buddhist Community of Bangladesh in Thailand จุดประสงค์ของการชุมนุมครั้งนี้คือ การเดินสันติภาพเพื่อสื่อสารว่าเราต้องการให้เกิดสันติภาพในบังคลาเทศ สาเหตุเนื่องมาจากปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาชาวมุสลิมในบังคลาเทศได้บุกเผาทำลายวัดพุทธอย่างน้อย ๑๐ แห่ง (บางสำนักข่าวรายงานว่าจำนวนวัดที่ถูกเผาพุ่งสูงถึง ๑๙ วัด) พร้อมกับเผาบ้านเรือนชุมชนชาวพุทธในเมืองรามูทางตอนใต้ของประเทศประมาณ ๑๐๐ หลังคาเรือน สาเหตุเพราะชาวมุสลิมไม่พอใจที่พบภาพคัมภีร์อัลกุรอ่านถูกเผาปรากฏบนโปรไฟล์ของเด็กชายชาวพุทธคนหนึ่งบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กซึ่งรายงานข่าวแจ้งว่าเด็กชายผู้นั้นไม่ได้โพสเองแต่ถูกแท็กภาพผ่านผู้อื่นอีกที

 
 
    เวลาผ่านไปแค่ ๕ นาที พระภิกษุผู้รักความสงบมาชุมนุมกันแน่นบริเวณ
---------------------------------------------------------------------------------------------------
 

การเดินสันติภาพครั้งนี้ ๙๐% เป็นพระภิกษุชาวบังกลาเทศ ที่เหลืออีกประมาณ ๑๐% เป็นเพื่อนภิกษุชาวอินเดีย พม่า และชาวไทย ป้ายรณรงค์หลากหลายขนาดและใบปลิวถูกทำเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วรอให้ทุกคนได้ถือรณรงค์และแจกจ่ายใบปลิวแก่ผู้คนริมถนนเพื่อสื่อสารถึงสันติภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นในบังคลาเทศ ทุกท่านตั้งใจถือป้ายแสดงข้อความกันอย่างเต็มที่ กว่าจะมีการเคลื่อนขบวนก็ใช้เวลาอีกนิดหน่อย 
 
 
  

ระหว่างที่ยังไม่มีการเดินก็ถ่ายรูปกันก่อน 

------------------------------------------------------------------



          สีจีวรตัดกับสีเขียวของหญ้า ด้านหลังคือ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
          เวลา ๙.๐๐ โมงกว่า คณะพระภิกษุนานาชาติเดินเพื่อสันติภาพออกเดินเท้าจากท้องสนามหลวงมีจุดหมายปลายทางคือองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และรัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกให้ตลอดเส้นทางเพราะมีการติดต่อไว้ล่วงหน้าแล้ว ระหว่างทางเดินชาวบ้านและผู้คนที่รอรถอยู่ตามป้ายรถเมล์ต่างเฝ้ามองการเดินขบวนของพระภิกษุสงฆ์ด้วยความสนใจ อาจทำให้รถติดบ้างเฉพาะช่วงข้ามถนนแต่ก็ไม่นานนักเพราะเป็นขบวนเดินสันติภาพขบวนสั้นๆ โชคดีที่เช้าวันนี้แดดไม่ร้อนทำให้ไม่เป็นอุปสรรคกับการเดิน

          ป้ายที่พระภิกษุพยายามสื่อสารมีใจความชัดเจนว่า WE WANT PEACE AND HARMONY “เราต้องการสันติภาพและความเป็นหนึ่งเดียวไม่ได้ต่อต้านเพื่อนชาวมุสลิมแต่เป็นการสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในบังคลาเทศ ระหว่างที่เดินพระผู้ทำหน้าที่คุมขบวนประกาศให้เดินเป็นสองแถว ทำให้การเดินเป็นระเบียบมากขึ้นเนื่องจากตอนแรกเดินกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีการใช้ภาษาบังกลาเทศและภาษาอังกฤษในการสื่อสารควบคุมขบวน 
 
 
                                   เราต้องการสันติภาพและความกลมเกลียว
 
          ----------------------------------------------------------------------------------------------------------

          เวลา ๑๐.๐๐ น. ขบวนเดินเพื่อสันติภาพก็มาถึงจุดหมายปลายทางคือ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีการจัดป้ายรณรงค์ให้เป็นระเบียบบริเวณหน้าตึก UN เพื่อให้สื่อเก็บภาพไปทำข่าว พระภิกษุหลายรูปทยอยกันพูดผ่านไมค์บอกเล่าถึงความรู้สึกและจุดประสงค์ที่มาร่วมเดินสันติภาพในครั้งนี้ มีพระภิกษุตัวแทนเข้ามอบจดหมายสันติภาพให้กับองค์การสหประชาชาติเพื่อให้องค์การรับทราบถึงสันติภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้นในบังคลาเทศ
 
 


 
 
          อย่างที่เราได้รายงานว่าการเดินสันติภาพครั้งนี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยพระภิกษุชาวบังคลาเทศ อินเดียและพม่า เราจะตระหนักรู้หรือไม่ว่าพระภิกษุในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียของเราที่ประเทศของท่านๆ มักเจอกับการกดขี่ เจอความรุนแรงและความไม่สงบภายในประเทศของท่านเสมอ ประสบการณ์เหล่านี้ได้บ่มเพาะให้ท่านมีความกล้าหาญในการทำงานเคลื่อนไหวกับสังคม  การชุมนุมลักษณะนี้อย่างน้อยต้องอาศัยหัวใจที่กล้าหาญเพราะนี่เป็นการเดินขบวนในดินแดนที่ไม่ใช่ประเทศของท่าน ท่านอาจจะต้องเสี่ยงกับอุปสรรคหลายเรื่อง แต่บังเอิญประเทศไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในระดับหนึ่งจึงทำให้การเดินเพื่อสันติภาพครั้งนี้ได้รับความสะดวกมากกว่าจะเจออุปสรรค
 
 
                     
       คณะสงฆ์กลุ่มนี้เป็นเพื่อนชาวพม่า  Burmese Student Association of Thailand
 
    ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
สุดท้าย เราอยากสื่อสารถึงจุดยืนต่อการเดินสันติภาพในครั้งนี้ว่าเราไม่ได้รังเกียจเพื่อนชาวมุสลิม เราไม่ได้ต้องการให้คนที่เห็นขบวนเดินสันติภาพครั้งนี้เข้าใจว่านี่คือการเดินประท้วงชาวมุสลิมในบังคลาเทศหรือประท้วงชาวมุสลิมในประเทศไหนๆ  และเราไม่ต้องการให้มีความรังเกียจกันไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาใดก็ตาม

สิ่งที่เราต้องการคือขอให้บังคลาเทศเกิดสันติภาพระหว่างศาสนา และขอให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนชาวมุสลิมและเพื่อนชาวพุทธไม่ว่าในประเทศใดก็ตามจงมีความรักใคร่ไม่รังเกียจกัน

แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว.

.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น