วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ตามติดศิษย์ตถาคตกับชีวิตติดล้อ "ปั่นเพื่อโลก"




ตามติดศิษย์ตถาคตกับชีวิตติดล้อ  "ปั่นเพื่อโลก"
พระชาย วรธัมโม / เรื่อง
เสือออย และ นนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล / ภาพ           คมชัดลึก 13 ธันวาคม 2555


          หากใครสัญจรบนถนนราชดำเนินในบ่ายวันอังคารที่ ๔ ธันวาคมที่ผ่านมาคงต้องประหลาดใจที่เห็นพระภิกษุ ๒ รูปกับแม่ชีอีก ๑ ท่าน กำลังปั่นและนำขบวนจักรยานอีกประมาณ ๓๐๐ คัน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้าไปยังโรงพยาบาลศิริราชอย่างช้าๆ

          ขบวนจักรยานมากมายเกือบ ๓๐๐ คันโดยมีพระภิกษุและแม่ชีนำขบวนครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันของนักปั่นจักรยานที่มาจาก ๔ ทิศ คือ เหนือ ใต้ อีสาน และกลาง เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานแทนการใช้น้ำมันและก๊าซ ภายใต้ โครงการ ๔ ทิศรวมใจไทยเป็นหนึ่งเดียว เพื่อนัดพบกัน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนจะมุ่งหน้าสู่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อถวายพระพรแด่ในหลวงเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวามหาราช ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว แต่ที่พิเศษกว่าปีอื่นๆ เพราะปีนี้ขบวนจักรยานนำโดยพระภิกษุและแม่ชี ซึ่งเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีคุณสัจจา ขุทรานนท์ ประธานเครือข่ายชุมชนคนใช้จักรยานแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานและเป็นผู้คิดโครงการนี้ขึ้นมา





          สำหรับ พระอาจารย์สมบูรณ์ สุมังคโล อายุ ๕๔ ปี พรรษา ๒๗ แห่งวัดป่าลานหินตัด จ.บุรีรัมย์ เราทราบกันดีว่าท่านหันมาใช้จักรยานได้ ๙ ปีแล้ว เนื่องจากต้องไปสอนธรรมะในโรงเรียนที่ห่างไกล ท่านไม่มีรถยนต์และไม่ได้ร่ำรวยเหมือนวัดอื่นๆ ทางเดียวที่สะดวกคือต้องพึ่งตนเอง จักรยานจึงเป็นคำตอบ

          พระอาจารย์สมบูรณ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ใช้เวลา ๕ วันกว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วไม่อยากเข้ามาเพราะเสี่ยงกับวิธีคิดที่ไม่เปิดกว้างของญาติโยมที่นี่ เคยมีโยมนิมนต์เหมือนกันแต่ก็ปฏิเสธไป แต่คราวนี้เห็นว่าเป็นการรวมตัวกันของนักปั่นจาก ๔ ภาคซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ หากเราไม่มาก็คงพลาดโอกาสในการพบเจอนักปั่นที่มีอุดมการณ์ต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน รวมทั้งเป็นการปั่นเพื่อถวายพระพรแด่ในหลวงก็เลยยอมเสี่ยงเข้ามา ถึงจะเสี่ยงแต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี ถ้าเราไม่มาก็คงไม่มีวันนี้
          พระอาจารย์สมบูรณ์เผยถึงความรู้สึกขณะปั่นจักรยานในกรุงให้ฟังว่า รู้สึกดี สุดยอด การปั่นเข้ามาในกรุงเทพฯ ต้องมีสติเต็มร้อย ตอนแรกเรารู้สึกวิตกกังวล กลัวนู่น กลัวนี่ กลัวคนประท้วงไม่ยอมรับ พอเอาเข้าจริงก็ไม่มีอะไร เราตีตนไปก่อนไข้เอง บางคนก็ตาค้าง บางคนพนมมือไหว้ก็มี

                   พระอาจารย์สมบูรณ์ (ซ้าย) พระศุภชัย (ขวา) และ แม่ชีสมสวัสดิ์

          พระสงฆ์รูปถัดมา หลวงพี่หมู หรือ พระศุภชัย สิริปัญโญ อายุ ๔๐ ปี พรรษา ๑๔ แห่งวัดเชิงผา จ.สุโขทัย เป็นพระภิกษุอีกรูปหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ ๔ ทิศรวมใจไทยเป็นหนึ่งเดียว หลวงพี่หมูรู้จักพระอาจารย์สมบูรณ์จากการเข้าไปเป็นนักเรียนของกลุ่มเสขิยธรรม รุ่นปี ๒๕๔๐ ท่านให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกที่มีต่อพระอาจารย์สมบูรณ์ว่า ผมศรัทธาพระที่ทำจริง ท่านจับแล้วไม่ปล่อย พระที่ลงมือทำเพื่อสังคมแล้วมีคำตอบให้กับสังคมชัดเจนแบบนี้หายาก ผมจึงศรัทธา

          กับคำถามว่าเหนื่อยไหมกับระยะทาง ๔๕๐ กิโลเมตรกว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ หลวงพี่หมูตอบว่า ทรมานมากกว่า โดนแดดเผาทั้งวัน ผมไม่ได้สวมหมวกกันน็อคเพราะเห็นว่าหมวกมันป้องกันผิวทำให้เกิดความสบาย เราออกธุดงค์ด้วยจักรยานควรจะเรียนรู้ความทุกข์ เราควรเผชิญกับความทุกข์ ไม่หวั่นไหวไปกับความทุกข์ แต่ในที่สุดก็ต้องใส่หมวกเพราะมันทุกข์จนเกินจะทน

          เมื่อถามถึงความรู้สึกเมื่อตอนปั่นจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังโรงพยาบาลศิริราช หลวงพี่หมูเล่าว่า รู้สึกกดดัน ในเมืองใหญ่ๆ ไม่เคยมีวัฒนธรรมให้พระปั่นจักรยาน มันเสี่ยงกับความเข้าใจของชาวพุทธที่นี่ ผมต้องรู้สึกกดดันถึง ๓ ครั้งทีเดียว คือ กับวัดที่เราเข้าไปพัก ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และที่โรงพยาบาลศิริราช ผมได้ยินเสียงพูดว่า เฮ้ย นั่นพระรึเปล่า ?และมีเสียงตอบว่าไม่ใช่ ๆและบางคนก็มองตาค้างด้วยความงง ทำให้ผู้คนมีแต่ความสงสัยไม่ได้คำตอบ

          ผมอยากสื่อสารว่าสังคมต้องการคนรับผิดชอบร่วมกันในทุกส่วน เช่น การพึ่งตนเอง ทุกวันนี้คนติดเทคโนโลยีกันมากติดสบายกัน การปั่นจักรยานเป็นการทำให้ชาวพุทธหันกลับมาพึ่งตนเอง เราควรพึ่งตนเองในทุกมิติของชีวิต การที่พระออกมาปั่นจักรยานก็เพื่อกระตุกสังคมให้หันกลับมาทบทวนหลักธรรมเรื่องการพึ่งตนเอง ผมจำคำพูดของพระพรหมคุณาภรณ์ได้ว่า ชาวพุทธสูญเสียความสามารถในการพึ่งตนเอง จักรยานเป็นเครื่องมือหนึ่งในการกลับมาพึ่งตน มันคือจิตสำนึก ทุกฝ่ายต้องหันกลับมาดูแลโลก หากพระสงฆ์เราหันมารณรงค์เรื่องจักรยานจะช่วยสังคมได้มาก พระสงฆ์ก็ยังเป็นหนี้บุญคุณโลก หากมีคำถามว่านี่ใช่กิจสงฆ์หรือไม่ ผมตอบได้ทันทีว่านี่แหละเป็นหน้าที่ของสงฆ์โดยตรงเลย

          นักบวชท่านสุดท้ายของโครงการ ๔ ทิศรวมใจไทยเป็นหนึ่งเดียวครั้งนี้เป็นนักบวชหญิงและเป็นสุภาพสตรีคนเดียวในกลุ่มที่ปั่นมาจากภาคอีสาน เธอชื่อแม่ชีต้อยหรือแม่ชีสมสวัสดิ์ มหาโคตร อายุ ๓๖ ปี พรรษา ๕ แม่ชีรู้จักพระอาจารย์สมบูรณ์เมื่อปี ๒๕๕๒ โดยเพื่อนแม่ชีแนะนำให้มาจำพรรษาที่วัดป่าลานหินตัด ครั้งแรกที่รู้จักพระอาจารย์สมบูรณ์แม่ชีเล่าว่า รู้สึกแปลกใจ ที่มีพระทำกิจกรรมกับเยาวชน ปกติเคยเห็นแต่พระประกอบพิธีกรรม สวดมนต์ แล้วก็เทศน์ 

           แม่ชีต้อย หรือ แม่ชีสมสวัสดิ์ มหาโคตร กับจักรยานคู่ใจที่ปั่นมาจาก จ.บุรีรัมย์

          แม่ชีให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนจักรยาตราถวายพระพรครั้งนี้ว่า ตัดสินใจว่าไม่กลัวลำบากเป็นไงเป็นกัน ไปธุดงค์อยู่ป่าอยู่เขาก็เคยมาแล้ว ปั่นจักรยานธุดงค์คงไม่ยากเท่าไหร่ ปกติแม่ชีปั่น ๒๐ กม.ต่อชั่วโมง พอปั่นเข้ากลุ่มใหญ่ช่วงถึงชานเมืองก่อนเข้ากรุงเทพฯ ต้องเร่งเป็น ๓๐ กม.ต่อชั่วโมงเพราะกลุ่มใหญ่เขาปั่นกันเร็วมากก็เลยปวดขาบ้างแต่ก็อยู่ตัว โดยเฉพาะเส้นทางในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยคุ้นเหมือนในชนบท

          กับคำถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการปั่นที่พระบรมรูปทรงม้าไปยังโรงพยาบาลศิริราชในวันนั้น แม่ชีตอบว่า ไม่ได้รู้สึกกดดันเหมือนกับพระอาจารย์ทั้งสอง คงเพราะแม่ชีไม่ได้ถูกคาดหวังอะไรจากสังคม เป็นแค่นักบวชชั้นสองคล้ายๆ กับพลเมืองชั้นสองเหมือนบางคนบอกว่าเป็นไส้ติ่งของศาสนาก็เลยไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่ถามว่าเป็นพระเป็นชีปั่นจักรยานผิดหรือไม่ ก็ตอบได้ว่ามันไม่ผิด ขอให้มองย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาลนักบวชอาจมีการขี่ช้างขี่ม้าเป็นพาหนะ ถ้าสมัยพุทธกาลมีจักรยานก็น่าจะขี่ได้เพราะใช้พลังงานจากกายเราเอง ถ้าเราไปขี่หลังสัตว์ก็ทำให้สัตว์ต้องทรมานอีก

แต่วันนั้นกลับรู้สึกตื่นเต้น สนุกดี ใครๆ ก็เห็นเราชัดเจน มีแต่คนมองมาที่พระและแม่ชีเป็นจุดเดียวแถมมีจักรยานตามมาอีกเป็นฝูงมีรถตำรวจนำอีกต่างหากเลยกลายเป็นจุดสนใจ รู้สึกภูมิใจและเป็นวาระพิเศษที่ได้ปั่นจักรยานถวายพระพรแด่ในหลวงและน่าจะเป็นตัวอย่างให้แม่ชีในชนบทได้หันมาใช้จักรยานกัน มีเพื่อนแม่ชีที่สุรินทร์เห็นพระอาจารย์สมบูรณ์ขี่จักรยาน ก็เลยกลับไปสร้างความเข้าใจกับญาติโยมในหมู่บ้านว่าแม่ชีจะขี่จักรยานกลับไปดูแลแม่ชราภาพที่บ้านทุกวัน แม่ชีไม่มีรายได้ไม่มีกิจนิมนต์การสัญจรในชนบทก็ลำบาก จึงขอให้ญาติโยมเข้าใจในกิจอันนี้ญาติโยมก็เข้าใจยอมรับได้ เพื่อนแม่ชีจึงขี่จักรยานกลับไปดูแลแม่ทุกวัน

นั่นเป็นประสบการณ์และความรู้สึกของนักบวชทั้งสามท่านกับการปั่นจักรยานถวายพระพรแด่ในหลวงเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ภารกิจของทั้งสามท่านยังไม่จบเท่านี้ พวกท่านยังมีสถิติ ๒,๖๐๐ กิโลเมตรรอสะสมให้ครบเนื่องในโอกาสโคตมะพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒,๖๐๐ ปี พวกเขาวางเส้นทางไปสู่ภาคตะวันออกแล้ววกขึ้นสู่ภาคอีสานเพื่อกลับถึงวัดในที่สุด

เราขอให้คณะธุดงค์จักรยาตราคณะนี้เดินทางโดยสะดวกปลอดภัย และกลับถึงวัดโดยสวัสดิภาพ.

1 ความคิดเห็น:

  1. แท้จริงแล้ว.....ไม่ใช่กิจของสงฆ์.....พระคือผู้ที่ละแล้วซึ่งกิเลศทั้งปวง.....กิจของพระคือการอะไร.....สิ่งที่ทำอยู่เป็นกิจกรรมของฆารวาสไม่ใช่ของพระ.....พระภิกษุที่พายเรือ ขี่ม้า หรือแม้แต่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซร์เพื่อออกบิณฑบาตในตอนเช้าเหล่านี้ยังถือว่าท่านทำโดยกิจของสงฆ์.....แต่ที่....ปั่นเพื่อโลก....มันอะไรกัน.....พุทธศาสนาจะไปกันใหญ่แล้ว

    ตอบลบ