วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คำถามของชีวิต ... กับจิตที่สงบ


คำถามของชีวิต กับ จิตที่สงบ
พระชาย วรธัมโม                                คมชัดลึก  6  ธันวาคม 2555








                สมัยเรียน ม.๑ ในชั่วโมงแนะแนวคุณครูแจกกระดาษให้คนละ ๑ แผ่นพร้อมกับถามว่า ถ้าเปิดโอกาสให้นักเรียนตั้งคำถาม ๑ คำถาม นักเรียนจะถามว่าอะไร ให้นักเรียนเขียนคำถามนั้นลงในกระดาษ จำได้ว่าผู้เขียนเขียนลงไปในกระดาษว่า คนเราเกิดมาทำไม

            พอคุณครูได้รับกระดาษไปอ่านก็ถามว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังคำถามนี้หรือเปล่า ก็ตอบคุณครูไปตรงๆ ว่า รู้สึกว่าช่วงที่ผ่านมาชีวิตมันยุ่งเหยิง พอจบ ป.๖ ก็ต้องจากเพื่อนเก่าๆ ที่สนิทกันเพื่อไปสอบเข้า ม.๑ ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ พอเข้าโรงเรียนใหม่ก็ต้องเจอกับระบบระเบียบของโรงเรียนที่เคร่งครัดไปจากเดิม ต้องเจอเพื่อนที่มีนิสัยแตกต่างไปจากเพื่อนตอน ป.๖ ต้องปรับตัวหลายอย่างกับเพื่อนใหม่ ครูคนใหม่ และโรงเรียนใหม่ หนำซ้ำยังต้องเรียนแผนการเรียนที่ตัวเองไม่ชอบ อยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนไม่ได้ อยากไปเรียนโรงเรียนที่ชอบก็ไม่ได้ไป  

คุณครูคงรู้สึกว่าเด็ก ม.๑ ไม่น่าถามอะไรซีเรียสจริงจังขนาดนั้น แต่ด้วยความที่ชีวิตในช่วงนั้นถือว่าเป็นอะไรที่สับสนและยุ่งเหยิงสุดๆ คำถามว่า เกิดมาทำไม จึงผุดขึ้นมาในความคิดทันที

            คุณครูยังอุตส่าห์ถามว่าในชีวิตชอบอ่านหนังสือธรรมะหรือเปล่า เพราะคนที่ตั้งคำถามว่า เกิดมาทำไมมักถูกมองว่าเป็นคนสนใจธรรมะ ซึ่งการตั้งคำถามว่าเกิดมาทำไมอาจจะไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการสนใจหรือไม่สนใจธรรมะก็ได้ แค่รู้สึกข้องใจเฉยๆ แค่นั้นเองว่าทำไมคนเราต้องเกิดมาเพื่อมาเจอกับความสับสนวุ่นวายบนโลกนี้ด้วย จึงตอบคุณครูไปตามความจริงว่าไม่ได้ชอบอ่านหนังสือธรรมะเลย

            หลังจากนั้นคำถามว่า คนเราเกิดมาทำไมก็ค่อยๆ จางหายไปจากชีวิตประจำวันของผู้เขียน เพราะชีวิตในช่วงถัดมาก็มีอะไร ๆ เปลี่ยนผ่านเข้ามาในชีวิตตลอดเวลาทั้งสุขและทุกข์ จนทำให้ผู้เขียนลืมคำถามคาใจนั้นไปในที่สุด   

จากนั้นผ่านไป ๘ ปี ชีวิตของผู้เขียนก็หันเหเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา การเข้ามาบวชทำให้ได้พบกับสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต สิ่งแปลกใหม่ที่ว่าก็คือพุทธศาสนาภาคปฏิบัติที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน ต้องโกนหัว ต้องนุ่งห่มผ้าเหลือง ต้องถือศีลวัตรปฏิบัติ ๒๒๗ ข้อในแบบที่เราเองก็ไม่คุ้นเคย ต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในวัด วันๆ ไม่ได้ไปไหน การที่กิจวัตรประจำวันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการบิณฑบาต ฉัน สวดมนต์ ปฏิบัติสมาธิภาวนาแล้วก็จำวัตรในเวลาค่ำ เป็นวงจรชีวิตที่วนเวียนอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เราอยู่ในภาวะที่สงบ เพียงระยะเวลาอันสั้นของการเข้ามาบวชก็หล่อหลอมให้จิตของเรารู้สึกสงบไปโดยอัตโนมัติ เมื่อเทียบกับตอนเป็นฆราวาสผู้เขียนก็เคยฝึกสมาธิภาวนาอยู่บ้างแต่จิตใจก็ไม่เคยเข้าถึงความสงบเลย คงเพราะตอนเป็นฆราวาสเราไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมและสถานะที่เอื้อให้จิตใจของเราได้สัมผัสกับความสงบนั่นเอง

สิ่งแวดล้อมที่สงบกับศีลวัตรปฏิบัติที่มากขึ้นมีผลให้จิตสงบได้เหมือนกัน




การที่จิตเปลี่ยนภาวะจากความสนุกสนานลิงโลดในภาคฆราวาสมาเป็นความสงบในแบบนักบวช ทำให้เกิดการสัมผัสความสุขภายในในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความสุขทางโลกที่เคยสัมผัสมา ทำให้เกิดการรับรู้อย่างแจ่มชัดว่าความสุขที่มีเหตุปัจจัยมาจากความสงบทางจิตนั้นเป็นความสุขที่ประณีต ซึ่งไม่สามารถอธิบายผ่านตัวหนังสือให้คุณผู้อ่านที่ไม่เคยสัมผัสกับความสุขสงบชนิดนี้ให้เข้าใจได้ แต่อยากอธิบายว่าเป็นความสุขภายในที่ทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าแท้จริงแล้วความสุขของชีวิตก็คือ จิตที่สงบ นี่เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุขทางโลกที่เราเสพๆ กันอยู่เทียบกันไม่ได้เลย

ผู้เขียนระลึกย้อนหลังกลับไปตอน ม.๑ ที่เคยเขียนคำถามลงในกระดาษว่า คนเราเกิดมาทำไมจึงค้นพบว่าแท้จริงแล้วคนเราเกิดมาเพื่อค้นพบ จิตสงบนี่เอง ชีวิตคนเราเกิดมากว่าจะได้พบเจอกับความสงบทางจิตก็ต้องติดข้องกับการดิ้นรนเรื่องปากท้องและความอยากมากมายในชีวิตที่แทรกตัวเข้ามา บางคนเกิดมาไม่นานก็พบกับจิตสงบทันที บางคนกว่าจะพบจิตสงบก็ในบั้นปลายชีวิต แต่บางคนก็ไม่เจอและไม่เคยรู้เลยว่าจิตสงบคืออะไร

            เมื่อมองย้อนกลับไปตอน ม.๑ หากเทียบกับ อริยสัจ ๔  ผู้เขียนเข้าใจตัวเองในตอนนั้นมากขึ้นว่าเวลานั้นเรากำลังเจอ ความทุกข์นั่นเอง ความทุกข์ ซึ่งเป็นข้อที่ ๑ ในอริยสัจ ๔ แต่เวลานั้นเรายังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจอริยสัจอีก ๓ ข้อที่เหลือ คือ สมุทัย นิโรธ และมรรค

            ในช่วงเวลานั้นเรารู้สึกทุกข์เพราะมีหลายเรื่องที่ไม่ได้ดังใจหวังทำให้ชีวิตดูสับสนวุ่นวาย เมื่อเจออะไรที่ไม่สมหวังเยอะเข้าๆ จึงทนไม่ไหวเกิดความข้องใจสุดขีดว่าตกลงชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไร เพื่อมาเจอกับความทุกข์เท่านั้นหรือ
            สมุทัย แปลว่า สาเหตุของทุกข์ คือจิตที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดติดกับความคาดหวังต่างๆ นานา ยึดติดเพื่อน ยึดติดโรงเรียนเก่า คาดหวังกับแผนการเรียนที่อยากเรียน คาดหวังไปกับโรงเรียนในฝันที่ตัวเองอยากไปเรียน เมื่อจิตยึดติดกับความคาดหวังเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสมหวังไปเสียทุกเรื่อง เมื่อผิดความคาดหวังขึ้นมาจิตก็เสียศูนย์ มีการซัดส่ายไปตามความผิดหวังหลายเรื่องที่ประดังประเดเข้ามา

            นิโรธ แปลว่า ความดับไปแห่งทุกข์ คือภาวะจิตที่ไร้ทุกข์ มีแต่ความสงบ ซึ่งในเวลานั้นผู้เขียนก็ยังไม่รู้จักว่าเป็นอย่างไร

            มรรค แปลว่า หนทางแห่งการดับทุกข์ คือ การฝึกจิตให้ละคลายจากการยึดติดต่างๆ เมื่อจิตคลายความยึดติดไปเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นจิตที่อิสระ ซึ่งในเวลานั้นผู้เขียนก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าการฝึกจิตต้องทำอย่างไร




            ณ เวลานั้นถึงแม้ความทุกข์ของเด็ก ม.๑ จะไม่ได้รับการเยียวยาด้วยสมาธิภาวนา แต่เมื่อเวลาผ่านไปความทุกข์เหล่านั้นก็จางคลายเลือนหายไปเองเหลือไว้แต่ความทรงจำ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเด็กคนนั้นก็จบ ม.๓ มีการเปลี่ยนโรงเรียนใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนโรงเรียนใหม่ความทุกข์เก่าหายไปความทุกข์ใหม่เข้ามาแทนที่ เมื่อเราโตขึ้น กิเลส ความต้องการ ความใฝ่ฝันของเราก็เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไป ความทุกข์ก็มีพัฒนาการเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาไปตามการเติบโตของเรา ความทุกข์ในวัยเด็กไม่สามารถทำให้เราทุกข์ได้อีกต่อไปเพราะกิเลสและความต้องการของเราเปลี่ยนแปลงหน้าตาไปแล้วแต่ก็ยังคงมีความทุกข์อันใหม่สัญจรเข้ามาเหมือนเดิม ใครหลายคนต่างก็ตกอยู่ในสังสารวัฏแห่งการเกิดดับของความทุกข์ลักษณะนี้เรื่อยมา และไม่สามารถค้นหาวิธีการดับทุกข์ที่ชะงัดได้สักที 

วิธีการดับทุกข์ที่ชะงัดก็คือการทำจิตให้สงบ เมื่อนั้นเราจะรู้เองว่าทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามหน้าที่ของมัน มีเพียงจิตใจของเราเท่านั้นที่เข้าไปยึดติดข้องเกี่ยว

            การทำจิตให้สงบไม่ได้หมายความว่าเราต้องละทิ้งการงานแล้วออกบวช จิตที่สงบมีได้ทั้งในเพศนักบวชและเพศฆราวาส นักบวชบางท่านบวชมานานแต่ไม่รู้จักจิตสงบก็เป็นไปได้ ฆราวาสบางคนมีจิตที่สงบกว่านักบวชก็มี

วิธีการทำจิตให้สงบเพียงแค่เราจัดช่วงเวลาสั้นๆ ให้ชีวิตได้อยู่ในที่ๆ สงบหรือไปเรียนรู้กัมมัฏฐานที่วัด ที่นั่นเราอาจได้ลิ้มรสของจิตสงบว่าเป็นอย่างไร เราไม่จำเป็นต้องมีจิตสงบแบบถาวรในทันที เพียงแค่รับรู้ประสบการณ์จิตสงบแบบชิมลางเพื่อเป็นจุดเปรียบเทียบให้เรารู้จักมากขึ้นว่าจิตสงบมีรสชาติเป็นความสุขที่ประณีตกว่าความสุขทางโลก เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของความสุขอย่างโลกๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาหลอกเราทุกเมื่อเชื่อวัน เพื่อที่เราจะได้มีจิตสงบแบบถาวรในที่สุด

            จิตสงบไม่ได้หมายความว่าเราต้องหันไปใช้ชีวิตในชนบทหรือใช้ชีวิตอยู่แต่ในวัดเท่านั้น แต่จิตที่สงบยังสามารถทำงานอยู่ในเมืองที่ยุ่งเหยิงได้ เมื่อเราผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีจิตสงบก็สามารถอยู่กับเราและไปกับเราได้ทุกๆ ที่ เพียงแค่เราจัดเวลาชีวิตให้มีช่วงเวลาฝึกปฏิบัติให้จิตได้รู้วิธีสงบอย่างชำนาญ

            จิตสงบยังเป็น ๑ ในมงคล ๓๘ ประการ และใช่ว่าจิตสงบจะมีในพุทธศาสนาเท่านั้น จิตสงบมีอยู่ในทุกศาสนา จิตสงบเป็นสิ่งสากลไม่ว่าชนชาติใดหรือศาสนาใดก็สามารถเข้าถึงจิตสงบได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

            สำหรับผู้เขียนแล้วจิตที่สงบไม่ได้ให้คำตอบแค่ว่า เกิดมาทำไมเท่านั้น แต่จิตสงบยังให้คำตอบที่กว้างขวางกว่านั้นมาก

คำตอบที่กว้างกว่านั้นคืออะไร อยากให้คุณผู้อ่านได้ค้นหาด้วยตนเอง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น