วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กินเจมีที่มาจากแดนภารตะ ตอน 2 (จบซะที)

พระชาย วรธัมโม เขียน
คมชัดลึก วันพระ เสาร์ 12 ตุลาคม 2556




การที่เราจะกินเนื้อสัตว์ได้โดยไม่บาปมีอยู่ ๒ วิธีคือ ปล่อยให้มันสิ้นอายุขัยไปเองหรือสัตว์นั้นตายโดยอุบัติเหตุ แต่ความจริงก็คือไม่มีใครรอให้สัตว์ตายเองด้วย ๒ วิธีแบบนั้น มีวิธีเดียวที่เราปฏิบัติกันคือจัดการฆ่าทันทีแล้วนำศพมันมาปรุงอาหารซึ่งเป็นการละเมิดศีลข้อปาณาติบาตเรื่องการทำชีวิตผู้อื่นให้ตกร่วง แนวคิดเรื่องการกินเจจึงมีที่มาจากความเมตตากรุณาต่อสัตว์อันเป็นแนวทางของพุทธศาสนาสายมหายาน


กินเจไม่ใช่แค่กินเจเฉยๆ
คำว่า “เจ” ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาสายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า ‘อุโบสถ’ ของเถรวาท คือการถือศีล ๘ รักษากายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ แต่การถือศีล ๘ ของมหายานเป็นการกินเจด้วยจึงมีคำเรียกติดปากว่า “ถือศีลกินเจ” ครั้นจะให้คนหันมาถือศีล ๘ กินเจแล้วยังอดอาหารเย็นด้วยคงเป็นไปได้ยาก จึงมีการประยุกต์ใหม่เป็นการเชิญชวนให้คนหันมาหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ในเทศกาลกินเจเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น ๙ พระองค์ กำหนดให้มีการกินเจ ๙ วันในเดือน ๙ เรียกว่า ‘เก๊าอ่วงเจ’ ที่โรงเจมีการทำอาหารเจให้ประชาชนได้กินฟรี ๓ มื้อ
คนที่สมาทานกินเจก็ให้นุ่งขาวห่มขาว ๑ วันเพื่อไปไหว้ ‘ฮุดโจ้ว’  

          ฮุดแปลว่าพระ 
          โจ้วแปลว่าปู่ 
          ฮุดโจ้วจึงหมายถึงผู้สำเร็จมรรคผลหลุดพ้นจากสังสารวัฏ  

ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์นั่นเอง ใครไม่ว่างไปไหว้ฮุดโจ้วหรือไม่แต่งชุดขาวก็ไม่ถือเป็นเรื่องเคร่งครัด แต่ที่สำคัญระหว่างกินเจ ๙ วันให้รักษากายวาจาใจให้บริสุทธิ์หรือถือศีล ๕ ให้เคร่งครัด นี่คือความหมายของเทศกาลกินเจไม่ใช่แค่กินเจเฉยๆ


เจเกี่ยวข้องกับเต๋า
           ประเพณีการกินเจของชาวจีนนอกจากจะมีที่มาจากพุทธศาสนาสายมหายานแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋าอีกด้วย เต๋าสอนการดำเนินชีวิตที่สอดรับกับธรรมชาติ ผู้ให้กำเนิดเต๋าคือ เล่าจื๊อ เกิดเมื่อ ๖๑ ปีก่อนพุทธศักราช คัมภีร์ของเต๋ามีชื่อเรียกว่า เต๋าเต็กเก็ง เต๋าแปลว่าทาง เต็กแปลว่าคุณธรรมความดี เก็งแปลว่าพระสูตร รวมความเต๋าเต็กเก็งแปลว่าคัมภีร์แห่งคุณธรรม
           เต๋าคือหลักการดำเนินชีวิตที่ถือเอาธรรมชาติเป็นใหญ่ เต๋าไม่นับถือเทพเจ้า เทพเจ้าใดๆ ไม่อาจมีอิทธิพลกับชีวิตมนุษย์ มนุษย์ควรดำเนินชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติ คนทำดีหรือเลวธรรมชาติจะให้คุณและโทษเอง การเชื่อในธรรมชาติและเชื่อในกฎแห่งการกระทำทำให้เต๋ามีลักษณะคล้ายพุทธศาสนา มีผู้เปรียบเปรยว่าเล่าจื๊อคือปัจเจกพุทธะ รู้แต่สอนใครไม่ได้ คำสอนเต๋าจึงไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นศาสนาแต่เป็นแค่หลักปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่มีคำสอนคล้ายพุทธ






สัญลักษณ์ของเต๋าคือหยินหยางบ่งบอกถึงความสมดุล ด้วยแนวคิดที่ถือเอาธรรมชาติและการกระทำเป็นใหญ่ เต๋าจึงมีแนวคิดเรื่องการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ เต๋าสอนเรื่องการกินเจ โรงเจมักมีเครื่องหมายหยินหยางประดับอยู่ ไม่ต้องสงสัยว่าคำสอนของเต๋าได้แทรกซึมอยู่ในโรงเจด้วย ในโรงเจจึงมีทั้งแนวคำสอนของพุทธแบบมหายานและเต๋าผสมกัน


พระเทวทัต การปรากฏแนวคิดงดเนื้อสัตว์ในคัมภีร์เถรวาท
ในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทมีเรื่องราวที่พูดถึงการงดเนื้อสัตว์เช่นกัน เมื่อพระเทวทัตซึ่งเป็นญาติของพระพุทธเจ้าทูลขอให้พระพุทธองค์บัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์ ใครฉันเป็นอาบัติ แต่พระองค์ปฏิเสธ พระองค์มองว่าการปฏิบัติของภิกษุควรเป็นทางสายกลางมีชีวิตเป็นไปด้วยความเลี้ยงง่าย ชีวิตของภิกษุขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ชาวบ้านกินอะไรภิกษุก็ควรฉันเช่นนั้น แล้วตรัสถึงเนื้อที่ภิกษุไม่ควรบริโภคคือเนื้อที่ภิกษุได้เห็นได้ยินว่าเนื้อที่เขานำมาถวายนี้เขาฆ่าเพื่อภิกษุโดยเฉพาะ หรือเพียงแต่สงสัยว่าเนื้อนี้เขาฆ่าเพื่อถวายภิกษุก็ถือว่าเนื้อนี้ห้ามฉัน ส่วนเนื้อที่ภิกษุฉันได้คือเนื้อที่ภิกษุไม่ได้เห็นไม่ได้ยินไม่ได้สงสัยหากอยู่ในเงื่อนไขนี้ถือว่าฉันได้ อีกเหตุผลที่เป็นไปได้ก็คือผู้คนส่วนใหญ่ในชมพูทวีปบริโภคแป้งกับถั่วกันอยู่แล้วพระองค์จึงไม่ทรงกำหนดสิกขาบทข้อนี้ตามข้อเสนอของพระเทวทัต


ลังกาวตารสูตร’ ต้นกำเนิดของมหายานไม่กินเนื้อสัตว์
           คัมภีร์ลังกาวตารสูตรเป็นพระสูตรของพุทธศาสนาสายมหายาน นิกายโยคาจาร คัมภีร์นี้กล่าวกันว่าเป็นรากฐานของพุทธศาสนานิกายเซ็น คัมภีร์นี้มีการรวบรวมขึ้นในช่วง พ.. ๙๐๐-๑๒๐๐ ประกอบไปด้วย ๙ บท บทที่ ๘ เป็นบทที่กล่าวถึงคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าภิกษุไม่ควรบริโภคเนื้อสัตว์ใดๆ เพราะเหตุว่าสังสารวัฏนี้ไม่มีสัตว์ตนใดไม่เคยเป็นญาติกับเรามาก่อน แล้วตรัสถึงโทษของการฉันเนื้อสัตว์ว่าเนื้อสัตว์มีกลิ่นเหม็นทำให้ผู้บริโภคเนื้อสัตว์เป็นที่หวาดระแวงของหมู่สัตว์ เมื่อไปยังที่ใดสัตว์เหล่านั้นจะหวาดกลัววิ่งหนีเพราะประสาทสัมผัสของสัตว์เหล่านั้นได้กลิ่นคาวจากผู้บริโภคเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์เกิดจากน้ำอสุจิและเลือดภิกษุไม่ควรบริโภค ผู้บริโภคเนื้อสัตว์มักนอนหลับไม่สบายมีจิตกระสับกระส่าย ร่างกายก็เป็นที่สะสมของโรคภัยไข้เจ็บ เป็นผู้นำทุกข์มาสู่ตน แล้วตรัสถึงรายชื่ออาหารที่สาวกควรฉัน มี ข้าวสาลี ถั่วราชมาสและถั่วต่างๆ เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำตาล น้ำอ้อย เหล่านี้เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับพระสาวก

           อย่างไรก็ตามคัมภีร์ลังกาวตารสูตรมิได้กล่าวถึงผักต้องห้ามทั้ง ๕ ประเภทและยังอนุญาตผลิตภัณฑ์จากสัตว์เช่น เนยใส น้ำผึ้ง สันนิษฐานว่าการห้ามผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผักต้องห้ามทั้ง ๕ น่าจะถูกเพิ่มเข้าไปหลังจากที่พุทธศาสนาได้เข้าสู่ประเทศจีน โดยเข้าไปผสมกับลัทธิเต๋าซึ่งเป็นลัทธิที่เผยแพร่การกินเจอยู่ก่อนหน้าแล้ว ลัทธิเต๋ามีความเชื่อเรื่องพลังธรรมชาติย่อมมีความเชื่อเกี่ยวกับพลังด้านลบของผักต้องห้ามและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ในที่สุดเมื่อพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีนจึงรวมการห้ามกินผัก ๕ ประเภทรวมทั้งห้ามผลิตภัณฑ์จากสัตว์เข้าไปด้วยทำให้การงดเนื้อสัตว์ของพุทธศาสนามหายานกลายเป็นการกินเจไปในที่สุด 




 
การกินเจมีจุดเริ่มต้นมาจากแป้งกับถั่วของชาวฮินดูในดินแดนชมพูทวีป ต่อมาพัฒนาเป็นคำสอนเรื่องการไม่บริโภคเนื้อสัตว์ผ่านคัมภีร์ลังกาวตารสูตรของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แล้วเดินทางข้ามภูเขาเข้าไปในจีนผสมผสานกับลัทธิเต๋าของเล่าจื้อ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการกินเจในที่สุด 
 
เทศกาลกินเจปีนี้ขอให้เรากินเจอย่างเข้าใจที่มาแห่งความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและความเชื่อซึ่งเดินทางมายาวไกลหลายหมื่นลี้ และอย่าลืมรักษากายวาจาใจของท่านให้บริสุทธิ์.


.

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กินเจมีที่มาจากแดนภารตะ

ตอนที่ 1 จากฮินดูสู่มหายาน
พระชาย วรธัมโม เขียน
คมชัดลึก หน้าวันพระ  ศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556



             

                 ผู้เขียนเกิดและเติบโตมาในครอบครัวชาวจีน ทุกปีเมื่อเทศกาลกินเจมาถึงเราจะเห็นแม่แยกโต๊ะอาหารออกมากินข้าวต่างหากอีกโต๊ะหนึ่ง เป็นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ แล้วแม่ก็จะนุ่งขาวไปโรงเจเพื่อไหว้ ฮุดโจ้ว เราไม่รู้อะไรมากไปกว่าความเข้าใจพื้นๆ ว่านั่นคือการกินเจ ๙ วัน เป็นช่วงเวลาจำศีลของชาวจีนที่เคร่งครัด จุดมุ่งหมายเพื่อละเว้นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์โดยหันมาบริโภคผัก เวลานั้นเราไม่คิดว่าการกินเจจะเกี่ยวอะไรกับศาสนาเพราะไม่เห็นมีศาสนาใดระบุไว้แม้แต่พุทธศาสนาก็ตาม เราคิดว่าการกินเจเป็นแนวทางการบำเพ็ญบุญของคนจีนมากกว่า แม่บอกว่าแม่เริ่มกินเจเมื่ออายุ ๕๐ ตอนนี้แม่ ๘๖ แล้ว แม่หันมากินเจเพราะอาเหล่าม่าหรือคุณยายแนะนำให้กิน

                           
                        
          เราเห็นแม่กินเจอยู่อย่างนั้นทุกปีจนเกิดความรู้สึกอยากบำเพ็ญเพียรแบบแม่บ้าง ในช่วงเทศกาลกินเจเราจึงละเว้นเนื้อสัตว์ หันมากินผักแบบเดียวกับแม่ จำได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทรมาน เพราะร่างกายคุ้นเคยกับอาหารหนักๆ อย่างเนื้อสัตว์ พอหันมากินผักก็ทำให้กระเพาะอาหารย่อยเร็วขึ้น หิวเร็วขึ้น เจออะไรที่เป็นเนื้อสัตว์ก็อยากจะกินมากขึ้นเป็นสองเท่า ทำให้รู้ว่าการกินเจต้องอาศัยขันติธรรมอย่างสูงและเป็นทุกข์สุดๆ การได้บุญคงมาจากความเพียรตรงนี้

                    
                             คุชราตีถาลี อาหารมังสวิรัติที่ขึ้นชื่อของชาวอินเดีย 
                            ประกอบไปด้วยแป้ง แกงถั่ว ไม่มีเนื้อสัตว์เจือปนปน    

ชาวฮินดูไม่กินเนื้อสัตว์
          เราเคยพบบทความที่พูดถึงพระพุทธเจ้าว่าท่านฉันมังสวิรัติ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะมีเหตุผลสนับสนุนว่าดินแดนที่พระพุทธเจ้าเคยมีชีวิตอยู่คือชมพูทวีปเป็นดินแดนของชาวฮินดู โดยปกติแล้วชาวฮินดูไม่กินเนื้อสัตว์เพราะชาวฮินดูมีคุณธรรมเรื่อง อหิงสาในเมื่อชาวฮินดูไม่กินเนื้อสัตว์อาหารที่ชาวฮินดูถวายนักบวชย่อมไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน หากใครไปอินเดียจะพบว่าอาหารหลักของชาวอินเดียเป็นอาหารประเภทแป้งและถั่ว หากนึกภาพไม่ออกว่าอาหารของชาวอินเดียเป็นอย่างไรขอให้นึกถึงโรตีที่แขกบ้านเราทอดขายตอนเย็นๆ หรือนึกถึงแขกที่เดินขายถั่วคั่วในลังไม้ หรือนึกถึงข้าวทิพย์ที่มีการกวนกันในวันวิสาขบูชาเพื่อระลึกถึงการถวายข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา โรตี ถั่วคั่ว ข้าวทิพย์เป็นตัวอย่างอาหารมังสวิรัติจากแดนภารตะที่เราอาจจะเห็นกันบ่อยแต่ไม่ได้นึกถึงว่ามันคืออาหารมังสวิรัตินั่นเอง

 


ดังนั้น การที่พระพุทธเจ้าฉันมังสวิรัติน่าจะมีเค้าความเป็นจริง ข้อน่าสังเกตคือพระพุทธเจ้าสมัยที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะท่านเป็นชาวฮินดูมาก่อนเป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์ไม่น่าจะฉันเนื้อสัตว์
          สมัยนั้นเรายังเป็นวัยรุ่นไม่ได้ศึกษาเรื่องศาสนา เวลานั้นเรายังไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าฉันอะไร ไม่รู้ว่าแต่เดิมพระพุทธเจ้าเป็นชาวฮินดู ไม่รู้ว่าชาวฮินดูกินมังสวิรัติ ทั้งไม่เคยคิดว่าการกินเจของชาวจีนจะเกี่ยวอะไรกับการกินมังสวิรัติของชาวฮินดูหรือเกี่ยวอะไรกับพระพุทธเจ้า แต่ทั้งหมดนี้ต่างมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

ข้อแตกต่างระหว่างอาหารเจกับอาหารมังสวิรัติ
อาหารมังสวิรัติคือการงดเนื้อสัตว์ทั่วไป แต่อาหารเจนอกจากจะงดเนื้อสัตว์แล้วยังมีการงดนม เนย ไข่ และผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ทุกประเภท พร้อมด้วยการหลีกเลี่ยงผักที่มีกลิ่นฉุน ๕ ประเภท ได้แก่ หัวหอม กระเทียม หลักเกียว (กระเทียมโทน) กุยช่าย และใบยาสูบในฐานะเป็นสิ่งเสพติดมึนเมา เพราะถือว่าพืชผักทั้ง ๕ ประเภทบริโภคหรือสูบเข้าไปแล้วมีผลลบกับธาตุในร่างกายและความกำหนัด

การกินเจมีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนามหายาน
          เรามีโอกาสไปเวียดนาม ๒ ครั้ง พุทธศาสนาที่นั่นเป็นนิกายมหายาน เราพบว่าพระสงฆ์มหายานฉันเจเหมือนกับที่ชาวจีนกินเจอันเป็นแนวทางการปฏิบัติเดียวกัน ถึงแม้ในเชิงปฏิบัติจะพบว่าพระสงฆ์เวียดนามบางรูปอาจจะไม่ได้เคร่งครัดนักในเรื่องนม เนย ไข่ แต่ในทางหลักการแล้วคือการกินเจเหมือนกัน เราจึงค่อยๆ เห็นความเชื่อมโยงว่าแท้จริงแล้วเทศกาลกินเจในเมืองไทยมีที่มาจากพุทธศาสนาสายมหายานนี่เอง แม้แต่วัดมหายานในไทยอย่างเช่นวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ซึ่งเป็นจีนนิกาย พระสงฆ์สามเณรก็ฉันเจกันเป็นปกติ ในช่วงเทศกาลกินเจวัดมหายานสายจีนนิกายในไทยจึงจัดงานเทศกาลกินเจกันอย่างเอิกเกริก รวมทั้งวัดอนัมนิกายซึ่งเป็นมหายานสายเวียดนามก็จัดงานเทศกาลกินเจเช่นกัน การกินเจจึงมีที่มาจากพุทธศาสนาสายมหายาน


                                โรงเจ เซียงเฮงตั้ว  คลอง 7  รังสิต  ปทุมธานี

มีอะไรในโรงเจ
            ตอนที่ชาวจีนอพยพมาอยู่เมืองไทยชาวจีนไม่มีศาสนสถานสำหรับรวมจิตใจ จึงมีการสร้างศาลเจ้าหรือโรงเจขึ้นมาในชุมชนชาวจีนเพื่อให้ชาวจีนมีกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน โรงเจกับศาลเจ้าจึงเป็นศูนย์รวมด้านจิตใจของคนจีนเหมือนกับที่คนไทยมีวัดเป็นศูนย์รวมด้านจิตใจนั่นเอง 








                    รูปปั้นเทพเเจ้าในศาลเจ้า จะมีทั้งเทพเจ้าผู้หญิงและเทพเจ้าผู้ชาย
                                     ดูเเล้วหน้าตาน่ารักเหมือนกับตุ๊กตา

ด้วยความสงสัยว่าในโรงเจจะมีอะไรที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาสายมหายานบ้างหรือไม่ เราจึงเข้าไปสำรวจโรงเจอย่างน้อย ๔ แห่ง คือ โรงเจเชียงเฮงตั้ว โรงเจไต่ฮงกง ศาลเจ้าพ่อกวนอู  จ.ปทุมธานี และโรงเจพุทธธรรม จ.อยุธยา โดยปกติโรงเจจะมีเทพเจ้าจีนให้ชาวจีนได้สักการบูชาซึ่งมีทั้งเทพผู้ชายและเทพผู้หญิง แต่เทพเจ้าในโรงเจจะไม่รับเซ่นไหว้เนื้อสัตว์ จะรับเซ่นไหว้เฉพาะผลไม้และอาหารเจเท่านั้น

 
                                จิตรกรรมฝาผนังในโรงเจไต่ฮงกงมีรูปพระถังซัมจั๋ง
                           ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในตำนานไซอิ๋วของสายมหายาน    

          เราพบว่าโรงเจเชียงเฮงตั้วมีรูปเจ้าแม่กวนอิมให้สักการบูชาด้วย นั่นหมายความว่าโรงเจเผยแผ่คำสอนพุทธศาสนามหายาน ในขณะที่โรงเจไต่ฮงกงเป็นชื่อของพระสงฆ์จีนที่เคยมีชีวิตอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีคุณความดี ชาวจีนที่อพยพมาเมืองไทยจึงนำชื่อของท่านมาตั้งเป็นชื่อโรงเจไว้เป็นที่ระลึกถึงพร้อมกับมีรูปเคารพของท่าน ที่ฝาผนังยังมีภาพวาดพระถังซัมจั๋งอันเป็นพระสงฆ์จีนที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของสายมหายานในเรื่องการเดินทางไปนำพระไตรปิฎกจากประเทศอินเดียมาประดิษฐานที่ประเทศจีน 

                                                



                                      พระพุทธเจ้าศากยมุนีในโรงเจพุทธธรรม 
             ท่ามกลางเทพเจ้าต่างๆ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับการกินเจ


          ศาลเจ้าพ่อกวนอูเป็นทั้งศาลเจ้าและโรงเจ นอกจากจะมีเจ้าพ่อกวนอูแล้วยังมีรูปท่านตั๊กม้อปรมจารย์เซ็นผู้มีชื่อเสียง มีพระพุทธรูปเป็นพระประธาน ในขณะที่โรงเจพุทธธรรมมีพระพุทธรูปศากยมุนีเป็นประธานอยู่ในโรงเจ โรงเจจึงเป็นศาสนสถานที่เผยแพร่คำสอนพุทธศาสนาสายมหายานเรื่องการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์และยังเป็นสถานที่สร้างแรงจูงใจให้ชาวจีนหันมาปฏิบัติธรรมด้วยการกินเจ 

แม้เมืองไทยจะเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท มีวัดมหายานอยู่เพียงน้อยนิดแต่เรียกได้ว่าโรงเจที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศกำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมพุทธศาสนาแบบมหายานก็ว่าได้.

(อ่านตอนจบวันพระหน้า)


.

.