วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กินเจมีที่มาจากแดนภารตะ

ตอนที่ 1 จากฮินดูสู่มหายาน
พระชาย วรธัมโม เขียน
คมชัดลึก หน้าวันพระ  ศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2556



             

                 ผู้เขียนเกิดและเติบโตมาในครอบครัวชาวจีน ทุกปีเมื่อเทศกาลกินเจมาถึงเราจะเห็นแม่แยกโต๊ะอาหารออกมากินข้าวต่างหากอีกโต๊ะหนึ่ง เป็นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ แล้วแม่ก็จะนุ่งขาวไปโรงเจเพื่อไหว้ ฮุดโจ้ว เราไม่รู้อะไรมากไปกว่าความเข้าใจพื้นๆ ว่านั่นคือการกินเจ ๙ วัน เป็นช่วงเวลาจำศีลของชาวจีนที่เคร่งครัด จุดมุ่งหมายเพื่อละเว้นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์โดยหันมาบริโภคผัก เวลานั้นเราไม่คิดว่าการกินเจจะเกี่ยวอะไรกับศาสนาเพราะไม่เห็นมีศาสนาใดระบุไว้แม้แต่พุทธศาสนาก็ตาม เราคิดว่าการกินเจเป็นแนวทางการบำเพ็ญบุญของคนจีนมากกว่า แม่บอกว่าแม่เริ่มกินเจเมื่ออายุ ๕๐ ตอนนี้แม่ ๘๖ แล้ว แม่หันมากินเจเพราะอาเหล่าม่าหรือคุณยายแนะนำให้กิน

                           
                        
          เราเห็นแม่กินเจอยู่อย่างนั้นทุกปีจนเกิดความรู้สึกอยากบำเพ็ญเพียรแบบแม่บ้าง ในช่วงเทศกาลกินเจเราจึงละเว้นเนื้อสัตว์ หันมากินผักแบบเดียวกับแม่ จำได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทรมาน เพราะร่างกายคุ้นเคยกับอาหารหนักๆ อย่างเนื้อสัตว์ พอหันมากินผักก็ทำให้กระเพาะอาหารย่อยเร็วขึ้น หิวเร็วขึ้น เจออะไรที่เป็นเนื้อสัตว์ก็อยากจะกินมากขึ้นเป็นสองเท่า ทำให้รู้ว่าการกินเจต้องอาศัยขันติธรรมอย่างสูงและเป็นทุกข์สุดๆ การได้บุญคงมาจากความเพียรตรงนี้

                    
                             คุชราตีถาลี อาหารมังสวิรัติที่ขึ้นชื่อของชาวอินเดีย 
                            ประกอบไปด้วยแป้ง แกงถั่ว ไม่มีเนื้อสัตว์เจือปนปน    

ชาวฮินดูไม่กินเนื้อสัตว์
          เราเคยพบบทความที่พูดถึงพระพุทธเจ้าว่าท่านฉันมังสวิรัติ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะมีเหตุผลสนับสนุนว่าดินแดนที่พระพุทธเจ้าเคยมีชีวิตอยู่คือชมพูทวีปเป็นดินแดนของชาวฮินดู โดยปกติแล้วชาวฮินดูไม่กินเนื้อสัตว์เพราะชาวฮินดูมีคุณธรรมเรื่อง อหิงสาในเมื่อชาวฮินดูไม่กินเนื้อสัตว์อาหารที่ชาวฮินดูถวายนักบวชย่อมไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน หากใครไปอินเดียจะพบว่าอาหารหลักของชาวอินเดียเป็นอาหารประเภทแป้งและถั่ว หากนึกภาพไม่ออกว่าอาหารของชาวอินเดียเป็นอย่างไรขอให้นึกถึงโรตีที่แขกบ้านเราทอดขายตอนเย็นๆ หรือนึกถึงแขกที่เดินขายถั่วคั่วในลังไม้ หรือนึกถึงข้าวทิพย์ที่มีการกวนกันในวันวิสาขบูชาเพื่อระลึกถึงการถวายข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา โรตี ถั่วคั่ว ข้าวทิพย์เป็นตัวอย่างอาหารมังสวิรัติจากแดนภารตะที่เราอาจจะเห็นกันบ่อยแต่ไม่ได้นึกถึงว่ามันคืออาหารมังสวิรัตินั่นเอง

 


ดังนั้น การที่พระพุทธเจ้าฉันมังสวิรัติน่าจะมีเค้าความเป็นจริง ข้อน่าสังเกตคือพระพุทธเจ้าสมัยที่ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะท่านเป็นชาวฮินดูมาก่อนเป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์ไม่น่าจะฉันเนื้อสัตว์
          สมัยนั้นเรายังเป็นวัยรุ่นไม่ได้ศึกษาเรื่องศาสนา เวลานั้นเรายังไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าฉันอะไร ไม่รู้ว่าแต่เดิมพระพุทธเจ้าเป็นชาวฮินดู ไม่รู้ว่าชาวฮินดูกินมังสวิรัติ ทั้งไม่เคยคิดว่าการกินเจของชาวจีนจะเกี่ยวอะไรกับการกินมังสวิรัติของชาวฮินดูหรือเกี่ยวอะไรกับพระพุทธเจ้า แต่ทั้งหมดนี้ต่างมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

ข้อแตกต่างระหว่างอาหารเจกับอาหารมังสวิรัติ
อาหารมังสวิรัติคือการงดเนื้อสัตว์ทั่วไป แต่อาหารเจนอกจากจะงดเนื้อสัตว์แล้วยังมีการงดนม เนย ไข่ และผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ทุกประเภท พร้อมด้วยการหลีกเลี่ยงผักที่มีกลิ่นฉุน ๕ ประเภท ได้แก่ หัวหอม กระเทียม หลักเกียว (กระเทียมโทน) กุยช่าย และใบยาสูบในฐานะเป็นสิ่งเสพติดมึนเมา เพราะถือว่าพืชผักทั้ง ๕ ประเภทบริโภคหรือสูบเข้าไปแล้วมีผลลบกับธาตุในร่างกายและความกำหนัด

การกินเจมีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนามหายาน
          เรามีโอกาสไปเวียดนาม ๒ ครั้ง พุทธศาสนาที่นั่นเป็นนิกายมหายาน เราพบว่าพระสงฆ์มหายานฉันเจเหมือนกับที่ชาวจีนกินเจอันเป็นแนวทางการปฏิบัติเดียวกัน ถึงแม้ในเชิงปฏิบัติจะพบว่าพระสงฆ์เวียดนามบางรูปอาจจะไม่ได้เคร่งครัดนักในเรื่องนม เนย ไข่ แต่ในทางหลักการแล้วคือการกินเจเหมือนกัน เราจึงค่อยๆ เห็นความเชื่อมโยงว่าแท้จริงแล้วเทศกาลกินเจในเมืองไทยมีที่มาจากพุทธศาสนาสายมหายานนี่เอง แม้แต่วัดมหายานในไทยอย่างเช่นวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ซึ่งเป็นจีนนิกาย พระสงฆ์สามเณรก็ฉันเจกันเป็นปกติ ในช่วงเทศกาลกินเจวัดมหายานสายจีนนิกายในไทยจึงจัดงานเทศกาลกินเจกันอย่างเอิกเกริก รวมทั้งวัดอนัมนิกายซึ่งเป็นมหายานสายเวียดนามก็จัดงานเทศกาลกินเจเช่นกัน การกินเจจึงมีที่มาจากพุทธศาสนาสายมหายาน


                                โรงเจ เซียงเฮงตั้ว  คลอง 7  รังสิต  ปทุมธานี

มีอะไรในโรงเจ
            ตอนที่ชาวจีนอพยพมาอยู่เมืองไทยชาวจีนไม่มีศาสนสถานสำหรับรวมจิตใจ จึงมีการสร้างศาลเจ้าหรือโรงเจขึ้นมาในชุมชนชาวจีนเพื่อให้ชาวจีนมีกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน โรงเจกับศาลเจ้าจึงเป็นศูนย์รวมด้านจิตใจของคนจีนเหมือนกับที่คนไทยมีวัดเป็นศูนย์รวมด้านจิตใจนั่นเอง 








                    รูปปั้นเทพเเจ้าในศาลเจ้า จะมีทั้งเทพเจ้าผู้หญิงและเทพเจ้าผู้ชาย
                                     ดูเเล้วหน้าตาน่ารักเหมือนกับตุ๊กตา

ด้วยความสงสัยว่าในโรงเจจะมีอะไรที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาสายมหายานบ้างหรือไม่ เราจึงเข้าไปสำรวจโรงเจอย่างน้อย ๔ แห่ง คือ โรงเจเชียงเฮงตั้ว โรงเจไต่ฮงกง ศาลเจ้าพ่อกวนอู  จ.ปทุมธานี และโรงเจพุทธธรรม จ.อยุธยา โดยปกติโรงเจจะมีเทพเจ้าจีนให้ชาวจีนได้สักการบูชาซึ่งมีทั้งเทพผู้ชายและเทพผู้หญิง แต่เทพเจ้าในโรงเจจะไม่รับเซ่นไหว้เนื้อสัตว์ จะรับเซ่นไหว้เฉพาะผลไม้และอาหารเจเท่านั้น

 
                                จิตรกรรมฝาผนังในโรงเจไต่ฮงกงมีรูปพระถังซัมจั๋ง
                           ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในตำนานไซอิ๋วของสายมหายาน    

          เราพบว่าโรงเจเชียงเฮงตั้วมีรูปเจ้าแม่กวนอิมให้สักการบูชาด้วย นั่นหมายความว่าโรงเจเผยแผ่คำสอนพุทธศาสนามหายาน ในขณะที่โรงเจไต่ฮงกงเป็นชื่อของพระสงฆ์จีนที่เคยมีชีวิตอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีคุณความดี ชาวจีนที่อพยพมาเมืองไทยจึงนำชื่อของท่านมาตั้งเป็นชื่อโรงเจไว้เป็นที่ระลึกถึงพร้อมกับมีรูปเคารพของท่าน ที่ฝาผนังยังมีภาพวาดพระถังซัมจั๋งอันเป็นพระสงฆ์จีนที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของสายมหายานในเรื่องการเดินทางไปนำพระไตรปิฎกจากประเทศอินเดียมาประดิษฐานที่ประเทศจีน 

                                                



                                      พระพุทธเจ้าศากยมุนีในโรงเจพุทธธรรม 
             ท่ามกลางเทพเจ้าต่างๆ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับการกินเจ


          ศาลเจ้าพ่อกวนอูเป็นทั้งศาลเจ้าและโรงเจ นอกจากจะมีเจ้าพ่อกวนอูแล้วยังมีรูปท่านตั๊กม้อปรมจารย์เซ็นผู้มีชื่อเสียง มีพระพุทธรูปเป็นพระประธาน ในขณะที่โรงเจพุทธธรรมมีพระพุทธรูปศากยมุนีเป็นประธานอยู่ในโรงเจ โรงเจจึงเป็นศาสนสถานที่เผยแพร่คำสอนพุทธศาสนาสายมหายานเรื่องการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์และยังเป็นสถานที่สร้างแรงจูงใจให้ชาวจีนหันมาปฏิบัติธรรมด้วยการกินเจ 

แม้เมืองไทยจะเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท มีวัดมหายานอยู่เพียงน้อยนิดแต่เรียกได้ว่าโรงเจที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศกำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมพุทธศาสนาแบบมหายานก็ว่าได้.

(อ่านตอนจบวันพระหน้า)


.

.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น