วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กินเจมีที่มาจากแดนภารตะ ตอน 2 (จบซะที)

พระชาย วรธัมโม เขียน
คมชัดลึก วันพระ เสาร์ 12 ตุลาคม 2556




การที่เราจะกินเนื้อสัตว์ได้โดยไม่บาปมีอยู่ ๒ วิธีคือ ปล่อยให้มันสิ้นอายุขัยไปเองหรือสัตว์นั้นตายโดยอุบัติเหตุ แต่ความจริงก็คือไม่มีใครรอให้สัตว์ตายเองด้วย ๒ วิธีแบบนั้น มีวิธีเดียวที่เราปฏิบัติกันคือจัดการฆ่าทันทีแล้วนำศพมันมาปรุงอาหารซึ่งเป็นการละเมิดศีลข้อปาณาติบาตเรื่องการทำชีวิตผู้อื่นให้ตกร่วง แนวคิดเรื่องการกินเจจึงมีที่มาจากความเมตตากรุณาต่อสัตว์อันเป็นแนวทางของพุทธศาสนาสายมหายาน


กินเจไม่ใช่แค่กินเจเฉยๆ
คำว่า “เจ” ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาสายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า ‘อุโบสถ’ ของเถรวาท คือการถือศีล ๘ รักษากายวาจาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ แต่การถือศีล ๘ ของมหายานเป็นการกินเจด้วยจึงมีคำเรียกติดปากว่า “ถือศีลกินเจ” ครั้นจะให้คนหันมาถือศีล ๘ กินเจแล้วยังอดอาหารเย็นด้วยคงเป็นไปได้ยาก จึงมีการประยุกต์ใหม่เป็นการเชิญชวนให้คนหันมาหยุดบริโภคเนื้อสัตว์ในเทศกาลกินเจเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น ๙ พระองค์ กำหนดให้มีการกินเจ ๙ วันในเดือน ๙ เรียกว่า ‘เก๊าอ่วงเจ’ ที่โรงเจมีการทำอาหารเจให้ประชาชนได้กินฟรี ๓ มื้อ
คนที่สมาทานกินเจก็ให้นุ่งขาวห่มขาว ๑ วันเพื่อไปไหว้ ‘ฮุดโจ้ว’  

          ฮุดแปลว่าพระ 
          โจ้วแปลว่าปู่ 
          ฮุดโจ้วจึงหมายถึงผู้สำเร็จมรรคผลหลุดพ้นจากสังสารวัฏ  

ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์นั่นเอง ใครไม่ว่างไปไหว้ฮุดโจ้วหรือไม่แต่งชุดขาวก็ไม่ถือเป็นเรื่องเคร่งครัด แต่ที่สำคัญระหว่างกินเจ ๙ วันให้รักษากายวาจาใจให้บริสุทธิ์หรือถือศีล ๕ ให้เคร่งครัด นี่คือความหมายของเทศกาลกินเจไม่ใช่แค่กินเจเฉยๆ


เจเกี่ยวข้องกับเต๋า
           ประเพณีการกินเจของชาวจีนนอกจากจะมีที่มาจากพุทธศาสนาสายมหายานแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋าอีกด้วย เต๋าสอนการดำเนินชีวิตที่สอดรับกับธรรมชาติ ผู้ให้กำเนิดเต๋าคือ เล่าจื๊อ เกิดเมื่อ ๖๑ ปีก่อนพุทธศักราช คัมภีร์ของเต๋ามีชื่อเรียกว่า เต๋าเต็กเก็ง เต๋าแปลว่าทาง เต็กแปลว่าคุณธรรมความดี เก็งแปลว่าพระสูตร รวมความเต๋าเต็กเก็งแปลว่าคัมภีร์แห่งคุณธรรม
           เต๋าคือหลักการดำเนินชีวิตที่ถือเอาธรรมชาติเป็นใหญ่ เต๋าไม่นับถือเทพเจ้า เทพเจ้าใดๆ ไม่อาจมีอิทธิพลกับชีวิตมนุษย์ มนุษย์ควรดำเนินชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติ คนทำดีหรือเลวธรรมชาติจะให้คุณและโทษเอง การเชื่อในธรรมชาติและเชื่อในกฎแห่งการกระทำทำให้เต๋ามีลักษณะคล้ายพุทธศาสนา มีผู้เปรียบเปรยว่าเล่าจื๊อคือปัจเจกพุทธะ รู้แต่สอนใครไม่ได้ คำสอนเต๋าจึงไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นศาสนาแต่เป็นแค่หลักปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่มีคำสอนคล้ายพุทธ






สัญลักษณ์ของเต๋าคือหยินหยางบ่งบอกถึงความสมดุล ด้วยแนวคิดที่ถือเอาธรรมชาติและการกระทำเป็นใหญ่ เต๋าจึงมีแนวคิดเรื่องการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ เต๋าสอนเรื่องการกินเจ โรงเจมักมีเครื่องหมายหยินหยางประดับอยู่ ไม่ต้องสงสัยว่าคำสอนของเต๋าได้แทรกซึมอยู่ในโรงเจด้วย ในโรงเจจึงมีทั้งแนวคำสอนของพุทธแบบมหายานและเต๋าผสมกัน


พระเทวทัต การปรากฏแนวคิดงดเนื้อสัตว์ในคัมภีร์เถรวาท
ในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาทมีเรื่องราวที่พูดถึงการงดเนื้อสัตว์เช่นกัน เมื่อพระเทวทัตซึ่งเป็นญาติของพระพุทธเจ้าทูลขอให้พระพุทธองค์บัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์ ใครฉันเป็นอาบัติ แต่พระองค์ปฏิเสธ พระองค์มองว่าการปฏิบัติของภิกษุควรเป็นทางสายกลางมีชีวิตเป็นไปด้วยความเลี้ยงง่าย ชีวิตของภิกษุขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ชาวบ้านกินอะไรภิกษุก็ควรฉันเช่นนั้น แล้วตรัสถึงเนื้อที่ภิกษุไม่ควรบริโภคคือเนื้อที่ภิกษุได้เห็นได้ยินว่าเนื้อที่เขานำมาถวายนี้เขาฆ่าเพื่อภิกษุโดยเฉพาะ หรือเพียงแต่สงสัยว่าเนื้อนี้เขาฆ่าเพื่อถวายภิกษุก็ถือว่าเนื้อนี้ห้ามฉัน ส่วนเนื้อที่ภิกษุฉันได้คือเนื้อที่ภิกษุไม่ได้เห็นไม่ได้ยินไม่ได้สงสัยหากอยู่ในเงื่อนไขนี้ถือว่าฉันได้ อีกเหตุผลที่เป็นไปได้ก็คือผู้คนส่วนใหญ่ในชมพูทวีปบริโภคแป้งกับถั่วกันอยู่แล้วพระองค์จึงไม่ทรงกำหนดสิกขาบทข้อนี้ตามข้อเสนอของพระเทวทัต


ลังกาวตารสูตร’ ต้นกำเนิดของมหายานไม่กินเนื้อสัตว์
           คัมภีร์ลังกาวตารสูตรเป็นพระสูตรของพุทธศาสนาสายมหายาน นิกายโยคาจาร คัมภีร์นี้กล่าวกันว่าเป็นรากฐานของพุทธศาสนานิกายเซ็น คัมภีร์นี้มีการรวบรวมขึ้นในช่วง พ.. ๙๐๐-๑๒๐๐ ประกอบไปด้วย ๙ บท บทที่ ๘ เป็นบทที่กล่าวถึงคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าภิกษุไม่ควรบริโภคเนื้อสัตว์ใดๆ เพราะเหตุว่าสังสารวัฏนี้ไม่มีสัตว์ตนใดไม่เคยเป็นญาติกับเรามาก่อน แล้วตรัสถึงโทษของการฉันเนื้อสัตว์ว่าเนื้อสัตว์มีกลิ่นเหม็นทำให้ผู้บริโภคเนื้อสัตว์เป็นที่หวาดระแวงของหมู่สัตว์ เมื่อไปยังที่ใดสัตว์เหล่านั้นจะหวาดกลัววิ่งหนีเพราะประสาทสัมผัสของสัตว์เหล่านั้นได้กลิ่นคาวจากผู้บริโภคเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์เกิดจากน้ำอสุจิและเลือดภิกษุไม่ควรบริโภค ผู้บริโภคเนื้อสัตว์มักนอนหลับไม่สบายมีจิตกระสับกระส่าย ร่างกายก็เป็นที่สะสมของโรคภัยไข้เจ็บ เป็นผู้นำทุกข์มาสู่ตน แล้วตรัสถึงรายชื่ออาหารที่สาวกควรฉัน มี ข้าวสาลี ถั่วราชมาสและถั่วต่างๆ เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม น้ำตาล น้ำอ้อย เหล่านี้เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับพระสาวก

           อย่างไรก็ตามคัมภีร์ลังกาวตารสูตรมิได้กล่าวถึงผักต้องห้ามทั้ง ๕ ประเภทและยังอนุญาตผลิตภัณฑ์จากสัตว์เช่น เนยใส น้ำผึ้ง สันนิษฐานว่าการห้ามผลิตภัณฑ์จากสัตว์และผักต้องห้ามทั้ง ๕ น่าจะถูกเพิ่มเข้าไปหลังจากที่พุทธศาสนาได้เข้าสู่ประเทศจีน โดยเข้าไปผสมกับลัทธิเต๋าซึ่งเป็นลัทธิที่เผยแพร่การกินเจอยู่ก่อนหน้าแล้ว ลัทธิเต๋ามีความเชื่อเรื่องพลังธรรมชาติย่อมมีความเชื่อเกี่ยวกับพลังด้านลบของผักต้องห้ามและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ในที่สุดเมื่อพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศจีนจึงรวมการห้ามกินผัก ๕ ประเภทรวมทั้งห้ามผลิตภัณฑ์จากสัตว์เข้าไปด้วยทำให้การงดเนื้อสัตว์ของพุทธศาสนามหายานกลายเป็นการกินเจไปในที่สุด 




 
การกินเจมีจุดเริ่มต้นมาจากแป้งกับถั่วของชาวฮินดูในดินแดนชมพูทวีป ต่อมาพัฒนาเป็นคำสอนเรื่องการไม่บริโภคเนื้อสัตว์ผ่านคัมภีร์ลังกาวตารสูตรของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แล้วเดินทางข้ามภูเขาเข้าไปในจีนผสมผสานกับลัทธิเต๋าของเล่าจื้อ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการกินเจในที่สุด 
 
เทศกาลกินเจปีนี้ขอให้เรากินเจอย่างเข้าใจที่มาแห่งความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและความเชื่อซึ่งเดินทางมายาวไกลหลายหมื่นลี้ และอย่าลืมรักษากายวาจาใจของท่านให้บริสุทธิ์.


.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น