วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

"บูโต" เริงระบำวิปัสสนา





ภาพ/ Dusa Gabor และ  Butoh Bangkok at Thong Lor Art Space
คมชัดลึก วันพระ อาทิตย์ 24 สิงหาคม 2557.
Email : shine6819 [@] gmail.com







            บางครั้งการชมมหรสพอาจไม่ได้นำคนดูไปสู่ความสนุกสนานมัวเมาแต่เพียงด้านเดียวแต่อาจนำไปสู่การเข้าถึงความของจริงของชีวิตได้ด้วย เหมือนอย่างที่อุปติสสะและโกลิตะสองสหายชักชวนกันไปชมมหรสพในค่ำคืนหนึ่ง แต่ค่ำคืนนั้นสองสหายไม่ได้รู้สึกสนุกสนานเหมือนอย่างเคย หากแต่เขาทั้งสองเกิดการตระหนักรู้ภายในขึ้นมาว่าตัวละครที่กำลังแสดงอยู่บนเวทีนั้นมีชีวิตอยู่ไม่ถึงร้อยปีก็ต้องตาย เขาสองคนจะมาหลงดูอยู่ทำไมควรออกแสวงหาโมกขธรรมอันประเสริฐเพื่อความหลุดพ้นจะดีกว่า ด้วยธรรมสังเวชที่เกิดขึ้นทำให้เพื่อนรักทั้งสองตัดสินใจชวนกันออกบวชเพื่อหาหนทางพ้นทุกข์จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ อุปติสสะก็คือพระสารีบุตร ส่วนโกลิตะก็คือพระโมคคัลลานะ




            เมื่อการชมมหรสพพาคนดูไปสู่การเข้าถึงความจริงของชีวิตดังตัวอย่างที่เคยมีมาในสมัยพุทธกาล โซโนโกะ พราว จึงมีมุมมองว่ามหรสพที่ดีไม่น่าจะให้ความสนุกสนานบันเทิงแต่เพียงด้านเดียว มหรสพที่ดีควรทำคนดูให้ตื่นรู้และสามารถเข้าถึงความจริงของชีวิตได้ด้วย โซโนโกะเป็นนักแสดงละครสาวลูกครึ่งไทยญี่ปุ่นที่สนใจการปฏิบัติธรรมมานานหลายปีแล้ว เธอเคยเข้าคอร์สวิปัสสนาของท่านโคเอ็นก้าอย่างน้อย ๓ ครั้ง เคยปฏิบัติภาวนากับหมู่บ้านพลัม เคยใช้ชีวิตเป็นสามเณรีอยู่ ๓ เดือน ด้วยชีวิตที่ผ่านการภาวนามานานเธอมองเห็นว่าวิปัสสนาสามารถนำมาใช้กับการแสดงละครได้ด้วยและเธอเชื่อว่าคนดูสามารถตื่นรู้ได้จากการชมละคร เธอกับเพื่อนสนิทชาวฮังการี ริต้า บาทาริต้า และกลุ่มศิลปะขันธาจึงร่วมกันจัดแสดง “ระบำวิปัสสนา” ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพาคนดูให้เข้าถึงความจริงของชีวิต

            ค่ำคืนหนึ่งในต้นเดือนสิงหาคมการแสดงของเธอกับเพื่อนจึงเกิดขึ้น  ณ ห้องแสดงละครทองหล่ออาร์ตสเปซ เป็นโรงละครขนาดเล็กจุคนดูได้ ๕๐ คน คนดูจึงมีโอกาสชมการแสดงอย่างใกล้ชิด การแสดงแบ่งออกเป็น ๓ องค์



                                                                    (ริต้า บาทาริต้า)

องก์ที่หนึ่ง การแสดงเดี่ยวโดย ริต้า บาทาริต้า เธอออกมาบนเวทีพร้อมกับการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเชื่องช้าราวกับอยู่ในห้วงอวกาศ แสงไฟสาดส่องไปบนเรือนร่างของเธอ มีเงาทาบลงบนฝาผนังด้านหลัง เป็นการแสดงที่เล่นกับแสงเงา ดนตรีพาเข้าสู่ห้วงอารมณ์แห่งความฉงนฉงาย บางครั้งเธอเปล่งเสียงร้องอย่างไม่เป็นภาษาราวกับเธอเป็นผู้มีอำนาจ สักพักต่อมาเธอดูอ่อนละโหยไปกับพลังอำนาจที่มากล้นเกินประมาณ ความมัวเมาในอำนาจพาเธอไปสู่ความพ่ายแพ้แก่ตนเอง เธอกำลังแสดงให้เห็นภาวะโลภโกรธหลงไปกับอำนาจที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ในที่สุดเธอค้นพบว่าวิธีเดียวที่จะทำตัวให้บริสุทธิ์คือการชำระกายใจให้สะอาด เธอจบการแสดงด้วยท่าบิดตัวโยกพริ้วไหวโอนเอนไปตามเสียงดนตรี


                                               (การแสดงของ "กลุ่มศิลปะขันธา" )

            องก์ที่สอง การแสดงโดยกลุ่มศิลปะขันธา การแสดงเริ่มต้นด้วยเสียงสวดมนต์ท่ามกลางความมืดมิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัดนี้เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด...”  เสียงสวดค่อย ๆ หายไป สุภาพสตรีถือโคมเทียนเดินผ่านไปอย่างเชื่องช้าจนหายลับไปในความมืด นักแสดง ๕ คนคอยอยู่บนพื้นเวที พวกเขาใช้ร่างกายแสดงออกให้เห็นถึงความน่ากลัวของสังสารวัฏฏ์ผ่านการบิดตัวเกลือกกลิ้งไปบนพื้นราวกับอสุรกาย เป็นการใช้ร่างกายที่ผสมผสานกับท่าโยคะทำให้เกิดลักษณะร่างกายที่บิดเบี้ยวแปลกประหลาดราวกับเป็นร่างกายของปีศาจ แท้จริงแล้วร่างกายมนุษย์ที่เรามีอยู่เป็นอยู่ก็คืออสุรกายที่คอยกลืนกินมนุษย์ในเวลาเดียวกัน มันคือความตายที่คืบคลานเข้ามาหาอย่างเชื่องช้าโดยไม่มีใครตระหนักรู้ แต่ไม่ว่าสังสารวัฏฏ์จะมีความน่ากลัวสักปานใด มนุษย์นั่นเองที่จะต้องเป็นฝ่ายเอาชนะอสุรกายที่สิงสถิตอยู่ภายในร่างกายนี้ให้ได้ด้วยการเพ่งดูกิเลสตนเองผ่านการทำสมาธิวิปัสสนา เมื่อมนุษย์หมั่นฝึกฝนทำความเพียรก็จะสามารถเข้าถึงความหลุดพ้นได้ในบัดดล



                                                             (โซโนโกะ พราว)


          องก์สุดท้าย เป็นการแสดงเดี่ยวโดย โซโนโกะ เธออยู่ในชุดสีดำลึกลับ เธอกำลังแสดงออกถึงภาวะทุกข์ที่มีอยู่ของมนุษย์ที่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เธอเห่กล่อมลูก เธอพูดถึง “นิพพาน” เธอเต้นท่าทางที่เย้าย้วยไปมาดูไม่เป็นจังหวะ เธอบอกกับคนดูว่าเธอรู้สึกอย่างไรผ่านลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกาย เธอพูดถึงชื่ออาหารฟาสฟู้ดบางอย่างที่เธอหลงใหล เหมือนเธอกำลังบอกกับคนดูว่ามันคือบริโภคนิยมที่ครอบงำชีวิตมนุษย์ การแสดงจบลง นักแสดงทั้งหมดออกมาโค้งคำนับ คนดูปรบมือให้กับนักแสดง 






  ทั้งหมดเป็นการแสดงประมาณ ๑ ชั่วโมงที่เรียกว่า 
 “บูโต” บูโตเป็นศิลปะการแสดงที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นการแสดงที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายและการแสดงอารมณ์ทางใบหน้า บางครั้งนักแสดงซ่อนใบหน้าของพวกเขาไว้ภายใต้แป้งสีขาวเพื่อเป็นการง่ายต่อการสะกดอารมณ์คนดู นักแสดงอาจแสดงสีหน้าตกใจสุดขีดหรือสลดหดหู่ราวกับจะร้องไห้ออกมาเป็นสายเลือด มีคนกล่าวว่าเพราะบูโตเป็นศิลปะการแสดงที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังทนทุกข์ทรมานไปกับการแพ้สงครามอย่างยับเยิน ละครบูโตจึงออกมาในลักษณะอึมครึมเศร้าโศก แต่นั่นเป็นเพียงความหมายหนึ่งเท่านั้น
 

            “ณ เวลานั้นประเทศญี่ปุ่นกำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม มีแต่ความทุกข์กระจายไปทุกหย่อมหญ้าทำให้นักแสดงละครหันมาตั้งคำถามกับตนเองว่า ตัวเราในฐานะนักแสดงคือใครกันแน่ และชีวิตคืออะไร พวกเขาจึงย้อนกลับไปฟังเสียงของร่างกาย ร่างกายซึ่งประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นธาตุตามธรรมชาติ พื้นฐานดั้งเดิมของคนญี่ปุ่นเป็นชาวนานับถือศาสนาชินโตอันเป็นศาสนาที่ให้ความเคารพนับถือธรรมชาติ เมื่อย้อนกลับไปหาธรรมชาติในตัวเรา ตัวเรานั้นไร้ตัวตน การแสดงจึงควรปราศจากตัวตน ไม่มีความเป็น “ตัวฉัน” ที่อยากแสดง เป็นการแสดงที่ฟังเสียงจากภายใน มีเพียงอารมณ์ปัจจุบัน ณ ปัจจุบันอารมณ์เป็นเช่นไรก็แสดงอารมณ์นั้นออกมา อาจไม่สวยงาม ไม่ถูกใจคนดู แต่มันก็คือการแสดงที่ออกมาจากความจริงที่ปรากฏอยู่ภายใน นักแสดงไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างหน้าตาดี ไม่จำเป็นต้องเต้นรำสวยงามตามแบบมาตรฐานสากลเพราะนั่นคือการประดิดประดอย มันไม่ธรรมชาติ เรารู้สึกอย่างไรก็แสดงออกไปเช่นนั้น เป็นการเต้นรำที่ไร้รูปแบบ นักแสดงอาจทำหน้าตาหน้าเกลียด มีท่าเต้นที่ไม่น่าดู แต่นี่ก็คือภาวะไร้การเสแสร้งในแบบบูโต” โซโนโกะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของละครบูโตให้เราฟัง 





“การที่ละครบูโตแสดงอารมณ์ความรู้สึกหวาดกลัวหรือแสดงหน้าตาที่บ่งบอกถึงความทุกข์ความเศร้าใจออกมาเพราะมันเป็นการแสดงที่มาจากจิตใต้สำนึก เมื่อพูดถึงจิตใต้สำนึกแล้วทุกคนมีความคล้ายคลึงกันหมดคือมีความทุกข์ที่สั่งสมอยู่ภายใน” โซโนโกะกล่าวเสริม ในเมื่อมันคือการแสดงออกของความทุกข์ที่ถูกสั่งสมอยู่ใต้จิตใต้สำนึกเราอาจเรียกละครบูโตได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ระบำวิปัสสนา” หรือ “การเต้นรำที่มาจากความจริงแท้ภายใน” เพราะละครกำลังเผยให้คนดูเห็นอริยสัจข้อที่หนึ่งคือความทุกข์ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน 

การแสดงบูโตทั้งสามรอบของเธอจึงไม่เหมือนกันเลย นี่อาจทำให้คนดูเข้าใจยากว่าการแสดงนี้กำลังสื่ออะไร โซโนโกะเฉลยว่า “ที่จริงก็ไม่ยากเพียงดูละครโดยไม่ต้องคิดมาก แค่ตามอารมณ์ไปกับนักแสดงว่านักแสดงกำลังแสดงอารมณ์อะไรออกมาแล้วร่วมค้นหาไปด้วยกัน”  

            สำหรับคนที่เคยฝึกวิปัสสนามาแล้ว การเฝ้าดูความรู้สึกตนเองว่าขณะชมละครนั้นอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเป็นอย่างไรแล้วสะท้อนการเฝ้าดูนั้นไปที่ตัวละคร ให้เห็นตามความเป็นจริงว่าตัวละครมีอารมณ์ผันแปรไปไม่หยุดนิ่ง มีแต่ความเป็นอนัตตา ปราศจากความเป็นตัวตน อาจทำให้การชมบูโตมีอะไรที่น่าค้นหามากยิ่งขึ้น ในที่สุดแล้วด้วยวิธีการดูละครเช่นนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกรูปแบบการแสดงที่ผ่านเข้ามายังดวงตาทั้งสองข้างของเรา นั่นอาจทำให้เราได้เห็นอะไรที่ลึกซึ้งมากไปกว่าความบันเทิงที่ฉาบทาอยู่ภายนอก และบางทีอาจทำให้เรามองเห็นความจริงของชีวิตอย่างที่อุปติสสะและโกลิตะเคยเห็นมาแล้ว.   








.

วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ฉันพาแม่กลับบ้านที่ "ปาดังเบซาร์"



คมชัดลึก วันพระ อาทิตย์ 10 สิงหาคม 2557
shine6819 [@] gmail.com

                                                        


          “ปาดังเบซาร์”  ไม่ได้เป็นหนังที่พูดถึงความตายและการพลัดพรากเป็นประเด็นหลัก แต่เนื้อหาหลักที่หนังเรื่องนี้กำลังพูดถึงคือปมความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งภายในครอบครัวที่ประกอบไปด้วยแม่และลูกสองคน 

            แม่อยู่ที่ปาดังเบซาร์ ตำบลหนึ่งในจังหวัดสงขลา ป่านลูกสาวคนเล็กเรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพฯ โดยพักอาศัยอยู่กับน้าต้อยซึ่งเป็นน้องสาวแม่ ปิ่นลูกสาวคนโตทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ ความซับซ้อนของปมปัญหาภายในครอบครัวนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากลูกห่างเหินแม่ด้วยการไปใช้ชีวิตในเมือง(นอก)แล้วทิ้งแม่ให้อยู่ต่างจังหวัดเท่านั้น แต่ปมปัญหาของครอบครัวนี้มีความเหินห่างทางใจเป็นปัจจัยหลัก ความเหินห่างทางใจได้กลายเป็นปมความขัดแย้งสามคู่ความสัมพันธ์ระหว่างป่านกับแม่ ป่านกับปิ่น และปิ่นกับแม่

ป่านกับแม่ : จริง ๆ แล้วป่านกับแม่ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรต่อกันมากนักเมื่อเทียบกับความขัดแย้งระหว่างปิ่นกับแม่ แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวป่านเองมากกว่า ป่านเป็นเด็กติดเพื่อน โดดเรียน สูบบุหรี่ โกหกผู้ใหญ่ แม่ในสายตาของป่านคือบุคคลผู้ให้เงินใช้ แม้ว่าแม่จะสู้อุตส่าห์เดินทางไกลจากต่างจังหวัดมาเยี่ยมป่านถึงกรุงเทพฯ แต่ป่านก็ไม่ได้รู้สึกดีใจอะไรนัก เธอกลับรู้สึกเบื่อที่ต้องมาเห็นแม่ร้องเพลงที่ดูเป็นตัวตลกเพราะเสียงอันเพี้ยนและผิดคีย์ของแม่ เธอจึงบอกลาแม่ด้วยการอ้างว่าต้องไปเรียนพิเศษแต่แท้จริงแล้วเธอไปเล่นตู้เกมและแอบสูบบุหรี่กับเพื่อน วินาทีที่แม่เสียชีวิตป่านเพิ่งสำนึกได้ว่าเธอทำดีกับแม่น้อยเกินไป เธอไม่น่าโกหกแม่ว่าต้องไปเรียนพิเศษทั้ง ๆ ที่เพิ่งเจอแม่ไม่ถึงห้านาที สิ่งที่เธอทำได้ก็คือร้องไห้สะอึกสะอื้นในห้องน้ำเพราะรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่สายเกินไป




ป่านกับปิ่น : พี่น้องคู่นี้ไม่ได้เห็นหน้ากันมานานหลายปีแล้ว คนหนึ่งอยู่เมืองไทยอีกคนหนึ่งออกจากบ้านไปใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกจนไม่คิดจะกลับมาเมืองไทยแล้วถ้าไม่เกิดเหตุด่วนกับแม่เสียก่อน ความห่างไกลทางกายนำมาซึ่งความเหินห่างทางจิตใจ โทรศัพท์ทางไกลข้ามประเทศที่ป่านน้องสาวพยายามโทรหาปิ่นพี่สาวเพื่อบอกข่าวร้ายเรื่องแม่แสดงสัญญาณอยู่นาน แต่เพราะปิ่นยุ่งกับงานจึงไม่ได้รับสาย กว่าจะทราบข่าวว่าแม่ป่วยอยู่ในห้องไอซียูก็ต่อเมื่อเธอกลับมาถึงห้องพักแล้ว ป่านคาดหวังว่าพี่สาวจะมาดูใจแม่ทันในวินาทีสุดท้าย แต่กว่าปิ่นจะบินมาถึงกรุงเทพฯ แม่ก็จากไปเสียแล้ว ตอนที่ปิ่นเซ็นชื่อรับศพแม่ออกจากโรงพยาบาล ปิ่นยังทักนางพยาบาลว่านี่ไม่ใช่ชื่อแม่ ปิ่นไม่รู้แม้กระทั่งว่าแม่ได้เปลี่ยนชื่อไปแล้ว มันเป็นความแปลกแยกที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัวไม่เฉพาะกับครอบครัวนี้เท่านั้น




ป่านยังคงมีอารมณ์ค้างที่พี่สาวไม่ยอมรับสายตอนที่ตนโทรไปหาอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุนี้ป่านจึงยังคงมึนตึงไม่ยอมพูดยอมจา ด้วยความเหินห่างที่ต่างคนต่างใช้ชีวิตอยู่กันคนละที่ความสัมพันธ์ของพี่น้องคู่นี้แทบจะไม่หลงเหลืออะไรให้รู้สึกผูกพันกันอีกแล้ว เรื่องราวนำไปสู่สถานการณ์ที่สองพี่น้องต้องนั่งรถยนต์คันเดียวกันเพื่อนำศพแม่กลับไปทำพิธีที่บ้านเกิดคือปาดังเบซาร์ แม้จะต้องเดินทางไปในรถคันเดียวกันแต่สองพี่น้องก็ไม่ได้พูดคุยกันเลย ป่านเอาแต่ฟังเพลงผ่านหูฟังแม้ว่าปิ่นพยายามจะหาเรื่องคุย  แม้ตอนแวะพักรับประทานอาหารต่างคนต่างนั่งกินข้าวกันคนละโต๊ะราวกับไม่รู้จักกัน



 
          ปิ่นกับแม่ : ปิ่นกับแม่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงซึ่งถูกขมวดปมไว้เป็นปริศนา ตอนที่ปิ่นมาถึงโรงพยาบาลแม่ได้หมดลมหายใจไปแล้ว ปิ่นไม่ได้รู้สึกเสียใจ ไม่มีแม้น้ำตาสักหยดให้เห็น ผิดกับน้าต้อยที่ร้องไห้เสียใจอย่างสุดซึ้งตลอดทั้งเรื่อง สะท้อนให้เห็นว่าน้าต้อยรักพี่สาวมากกว่าหลานสองคนรักแม่ตนเอง ในขณะเดียวกันความรักของน้าต้อยที่มีต่อพี่สาวก็ดูเป็นความรักฉันท์พี่น้องของคนรุ่นเก่าที่ดูจริงจังกว่าความรักฉันท์พี่น้องของปิ่นกับป่านซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่แต่หาความรักฉันท์พี่น้องแทบไม่เจอ




            เมื่อรถล่องมาถึงสุราษฎร์ธานีก็มีเหตุให้ถูกด่านตำรวจกักไว้เนื่องจากศพไม่มีใบมรณะบัตรติดมาด้วย  คืนนั้นหลังจากตำรวจจดบันทึกประจำวันไว้ ปิ่นและป่านต้องฝากศพแม่ไว้ที่โรงพยาบาลและต้องพักค้างคืนในโรงแรมหนึ่งคืนรอการเดินทางต่อในเช้าวันรุ่งขึ้น การต้องพักห้องเดียวกันทำให้สองคนพี่น้องมีเรื่องให้ต้องหันมาพูดจากัน ขณะเดียวกันก็ทำให้ป่านเริ่มสงสัยว่าพี่สาวของตนมีความสัมพันธ์ลับ ๆ กับใครคนหนึ่งที่สิงคโปร์เมื่อเธอสังเกตเห็นสายโทรเข้ามือถือขณะที่พี่สาวกำลังอาบน้ำอยู่ในห้องน้ำ
                    

            รุ่งเช้าคนขับรถยังคงมีอาการอ่อนเพลียที่ต้องขับรถคนเดียวมาตลอดทาง ปิ่นจึงต้องขับรถให้โดยมีป่านนั่งข้าง ๆ นั่นยิ่งทำให้สองพี่น้องมีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น กว่าพี่น้องคู่นี้จะพูดคุยกันได้ก็ผ่านไปแล้วครึ่งเรื่อง

เมื่อรถวิ่งมาถึงปาดังเบซาร์ก็เข้าสู่ย่านที่แม่คุ้นเคย เสียงปิ่นกับป่านพูดบอกทางกับแม่สลับกันไป เมื่อรถวิ่งมาถึงบ้านปิ่นกับป่านพูดพร้อมกันว่า “แม่...ถึงบ้านเราแล้วนะ” เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าพี่น้องคู่นี้กลับมามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้ว




การบอกทางกับคนตายไปตลอดเส้นทางของการเคลื่อนย้ายศพไปสู่ที่หมายไม่ได้แปลว่าถ้าเราไม่บอกเส้นทางกับคนตายแล้ววิญญาณจะหลงทางไปที่อื่น คนโบราณใช้อุบายนี้อย่างมีความหมายว่านี่คือการสื่อสารครั้งสุดท้ายระหว่างคนเป็นกับคนตาย ตอนที่มีชีวิตอยู่เราอาจจะไม่เคยมีโอกาสพูดคุยกับผู้ตายไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะได้พูดคุยกับผู้ตายเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีและเป็นการแสดงออกถึงการเอาใจใส่ผู้ตายเป็นครั้งสุดท้ายผ่านการพูดบอกทางจนถึงที่หมาย ดังนั้นในฉากนี้ทั้งปิ่นและป่านจึงไม่ได้สื่อสารกับแม่ด้วยวาจาเท่านั้นแต่ทั้งคู่กำลังสื่อสารด้วยความรู้สึกภายในที่ไม่เคยเปิดใจพูดกับแม่มาก่อน ทั้งคู่จึงรู้สึกตื้นตันจนร้องไห้ออกมา    




เมื่อปมความขัดแย้งที่มีต่อแม่คลี่คลาย ความสัมพันธ์ระหว่างพี่กับน้องก็เริ่มดีขึ้น ป่านจึงเริ่มเข้าไปสำรวจความลับของพี่สาวที่ปิดบังมานาน ป่านพบว่าสาเหตุที่พี่สาวหนีงานแต่งงานที่แม่จัดให้เป็นเพราะพี่สาวไม่ได้ชอบผู้ชายแต่ไม่รู้จะบอกแม่ยังไงดีจึงตัดปัญหาด้วยการหนีงานแต่งไปอยู่สิงคโปร์กับคนรักที่เป็นผู้หญิงโดยไม่ติดต่อทางบ้านอีกเลย การหนีงานแต่งสร้างความเคืองใจให้กับแม่มาตลอดจนกระทั่งแม่ได้ตายจากไป คำถามที่ป่านถามพี่สาวว่า “ทำไมไม่บอกแม่ เรื่องแค่นี้แม่ไม่ว่าหรอก” สะท้อนแง่มุมให้คนดูได้เก็บไปคิดต่อว่าสิ่งสำคัญในครอบครัวคือการเปิดใจสื่อสารถึงความรู้สึกที่แท้จริงในขณะที่อีกฝ่ายยังมีชีวิตอยู่ ถ้าปิ่นเปิดใจพูดกับแม่ตรง ๆ ก็คงไม่เกิดความเหินห่างจนกลายเป็นปมขัดแย้งระหว่างแม่กับลูก เช่นเดียวกันถ้าป่านแสดงความรักความใกล้ชิดกับแม่มากกว่านี้ตั้งใจเรียนมากกว่านี้ เธอก็คงไม่ต้องรู้สึกเสียใจที่ทำดีกับแม่น้อยเกินไป สิ่งที่ปิ่นกับป่านปฏิบัติกับแม่ในช่วงที่ผ่านมาคงไม่ใช่แบบอย่างที่ดีนักแต่เป็นสิ่งที่หนังกำลังสื่อสารกับคนดูว่าแท้จริงแล้วสิ่งสำคัญภายในครอบครัวคือช่วงเวลาที่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ อย่าปล่อยวันเวลาให้ผ่านไปจนใครคนใดคนหนึ่งต้องจากไปโดยขาดความเอาใจใส่และไม่เห็นคุณค่าของกันและกัน เพราะเมื่อเวลานั้นมาถึงมันอาจสายเกินกว่าจะกลับไปแก้ไขอะไร ๆ ให้ดีขึ้น 




สุดท้ายปิ่นกับป่านได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างกันให้กลับมาดีดังเดิม แม้ว่าเธอทั้งคู่จะกลับไปแก้ไขอดีตที่ทำกับแม่ไว้ไม่ได้ แต่นี่คือสิ่งสุดท้ายที่พี่กับน้องจะสามารถทำให้กันได้ในขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่.