ภาพ/ Dusa Gabor และ Butoh Bangkok at Thong Lor Art Space
คมชัดลึก วันพระ อาทิตย์ 24 สิงหาคม 2557.
Email : shine6819 [@] gmail.com
บางครั้งการชมมหรสพอาจไม่ได้นำคนดูไปสู่ความสนุกสนานมัวเมาแต่เพียงด้านเดียวแต่อาจนำไปสู่การเข้าถึงความของจริงของชีวิตได้ด้วย
เหมือนอย่างที่อุปติสสะและโกลิตะสองสหายชักชวนกันไปชมมหรสพในค่ำคืนหนึ่ง
แต่ค่ำคืนนั้นสองสหายไม่ได้รู้สึกสนุกสนานเหมือนอย่างเคย หากแต่เขาทั้งสองเกิดการตระหนักรู้ภายในขึ้นมาว่าตัวละครที่กำลังแสดงอยู่บนเวทีนั้นมีชีวิตอยู่ไม่ถึงร้อยปีก็ต้องตาย
เขาสองคนจะมาหลงดูอยู่ทำไมควรออกแสวงหาโมกขธรรมอันประเสริฐเพื่อความหลุดพ้นจะดีกว่า
ด้วยธรรมสังเวชที่เกิดขึ้นทำให้เพื่อนรักทั้งสองตัดสินใจชวนกันออกบวชเพื่อหาหนทางพ้นทุกข์จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ อุปติสสะก็คือพระสารีบุตร ส่วนโกลิตะก็คือพระโมคคัลลานะ
เมื่อการชมมหรสพพาคนดูไปสู่การเข้าถึงความจริงของชีวิตดังตัวอย่างที่เคยมีมาในสมัยพุทธกาล
โซโนโกะ พราว จึงมีมุมมองว่ามหรสพที่ดีไม่น่าจะให้ความสนุกสนานบันเทิงแต่เพียงด้านเดียว
มหรสพที่ดีควรทำคนดูให้ตื่นรู้และสามารถเข้าถึงความจริงของชีวิตได้ด้วย โซโนโกะเป็นนักแสดงละครสาวลูกครึ่งไทยญี่ปุ่นที่สนใจการปฏิบัติธรรมมานานหลายปีแล้ว
เธอเคยเข้าคอร์สวิปัสสนาของท่านโคเอ็นก้าอย่างน้อย ๓ ครั้ง เคยปฏิบัติภาวนากับหมู่บ้านพลัม
เคยใช้ชีวิตเป็นสามเณรีอยู่ ๓ เดือน ด้วยชีวิตที่ผ่านการภาวนามานานเธอมองเห็นว่าวิปัสสนาสามารถนำมาใช้กับการแสดงละครได้ด้วยและเธอเชื่อว่าคนดูสามารถตื่นรู้ได้จากการชมละคร
เธอกับเพื่อนสนิทชาวฮังการี ริต้า บาทาริต้า และกลุ่มศิลปะขันธาจึงร่วมกันจัดแสดง
“ระบำวิปัสสนา” ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพาคนดูให้เข้าถึงความจริงของชีวิต
ค่ำคืนหนึ่งในต้นเดือนสิงหาคมการแสดงของเธอกับเพื่อนจึงเกิดขึ้น
ณ ห้องแสดงละครทองหล่ออาร์ตสเปซ เป็นโรงละครขนาดเล็กจุคนดูได้ ๕๐ คน คนดูจึงมีโอกาสชมการแสดงอย่างใกล้ชิด
การแสดงแบ่งออกเป็น ๓ องค์
(ริต้า บาทาริต้า)
องก์ที่หนึ่ง การแสดงเดี่ยวโดย ริต้า บาทาริต้า
เธอออกมาบนเวทีพร้อมกับการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเชื่องช้าราวกับอยู่ในห้วงอวกาศ
แสงไฟสาดส่องไปบนเรือนร่างของเธอ มีเงาทาบลงบนฝาผนังด้านหลัง เป็นการแสดงที่เล่นกับแสงเงา
ดนตรีพาเข้าสู่ห้วงอารมณ์แห่งความฉงนฉงาย บางครั้งเธอเปล่งเสียงร้องอย่างไม่เป็นภาษาราวกับเธอเป็นผู้มีอำนาจ
สักพักต่อมาเธอดูอ่อนละโหยไปกับพลังอำนาจที่มากล้นเกินประมาณ ความมัวเมาในอำนาจพาเธอไปสู่ความพ่ายแพ้แก่ตนเอง
เธอกำลังแสดงให้เห็นภาวะโลภโกรธหลงไปกับอำนาจที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ในที่สุดเธอค้นพบว่าวิธีเดียวที่จะทำตัวให้บริสุทธิ์คือการชำระกายใจให้สะอาด
เธอจบการแสดงด้วยท่าบิดตัวโยกพริ้วไหวโอนเอนไปตามเสียงดนตรี
(การแสดงของ "กลุ่มศิลปะขันธา" )
องก์ที่สอง
การแสดงโดยกลุ่มศิลปะขันธา การแสดงเริ่มต้นด้วยเสียงสวดมนต์ท่ามกลางความมืดมิด
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัดนี้เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด...” เสียงสวดค่อย
ๆ หายไป สุภาพสตรีถือโคมเทียนเดินผ่านไปอย่างเชื่องช้าจนหายลับไปในความมืด นักแสดง
๕ คนคอยอยู่บนพื้นเวที พวกเขาใช้ร่างกายแสดงออกให้เห็นถึงความน่ากลัวของสังสารวัฏฏ์ผ่านการบิดตัวเกลือกกลิ้งไปบนพื้นราวกับอสุรกาย
เป็นการใช้ร่างกายที่ผสมผสานกับท่าโยคะทำให้เกิดลักษณะร่างกายที่บิดเบี้ยวแปลกประหลาดราวกับเป็นร่างกายของปีศาจ
แท้จริงแล้วร่างกายมนุษย์ที่เรามีอยู่เป็นอยู่ก็คืออสุรกายที่คอยกลืนกินมนุษย์ในเวลาเดียวกัน
มันคือความตายที่คืบคลานเข้ามาหาอย่างเชื่องช้าโดยไม่มีใครตระหนักรู้ แต่ไม่ว่าสังสารวัฏฏ์จะมีความน่ากลัวสักปานใด
มนุษย์นั่นเองที่จะต้องเป็นฝ่ายเอาชนะอสุรกายที่สิงสถิตอยู่ภายในร่างกายนี้ให้ได้ด้วยการเพ่งดูกิเลสตนเองผ่านการทำสมาธิวิปัสสนา
เมื่อมนุษย์หมั่นฝึกฝนทำความเพียรก็จะสามารถเข้าถึงความหลุดพ้นได้ในบัดดล
(โซโนโกะ พราว)
องก์สุดท้าย เป็นการแสดงเดี่ยวโดย โซโนโกะ เธออยู่ในชุดสีดำลึกลับ
เธอกำลังแสดงออกถึงภาวะทุกข์ที่มีอยู่ของมนุษย์ที่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย
เธอเห่กล่อมลูก เธอพูดถึง “นิพพาน” เธอเต้นท่าทางที่เย้าย้วยไปมาดูไม่เป็นจังหวะ
เธอบอกกับคนดูว่าเธอรู้สึกอย่างไรผ่านลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกาย
เธอพูดถึงชื่ออาหารฟาสฟู้ดบางอย่างที่เธอหลงใหล เหมือนเธอกำลังบอกกับคนดูว่ามันคือบริโภคนิยมที่ครอบงำชีวิตมนุษย์
การแสดงจบลง นักแสดงทั้งหมดออกมาโค้งคำนับ คนดูปรบมือให้กับนักแสดง
ทั้งหมดเป็นการแสดงประมาณ ๑ ชั่วโมงที่เรียกว่า
“บูโต” บูโตเป็นศิลปะการแสดงที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นการแสดงที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายและการแสดงอารมณ์ทางใบหน้า บางครั้งนักแสดงซ่อนใบหน้าของพวกเขาไว้ภายใต้แป้งสีขาวเพื่อเป็นการง่ายต่อการสะกดอารมณ์คนดู นักแสดงอาจแสดงสีหน้าตกใจสุดขีดหรือสลดหดหู่ราวกับจะร้องไห้ออกมาเป็นสายเลือด มีคนกล่าวว่าเพราะบูโตเป็นศิลปะการแสดงที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังทนทุกข์ทรมานไปกับการแพ้สงครามอย่างยับเยิน ละครบูโตจึงออกมาในลักษณะอึมครึมเศร้าโศก แต่นั่นเป็นเพียงความหมายหนึ่งเท่านั้น
“บูโต” บูโตเป็นศิลปะการแสดงที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นการแสดงที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายและการแสดงอารมณ์ทางใบหน้า บางครั้งนักแสดงซ่อนใบหน้าของพวกเขาไว้ภายใต้แป้งสีขาวเพื่อเป็นการง่ายต่อการสะกดอารมณ์คนดู นักแสดงอาจแสดงสีหน้าตกใจสุดขีดหรือสลดหดหู่ราวกับจะร้องไห้ออกมาเป็นสายเลือด มีคนกล่าวว่าเพราะบูโตเป็นศิลปะการแสดงที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังทนทุกข์ทรมานไปกับการแพ้สงครามอย่างยับเยิน ละครบูโตจึงออกมาในลักษณะอึมครึมเศร้าโศก แต่นั่นเป็นเพียงความหมายหนึ่งเท่านั้น
“ณ
เวลานั้นประเทศญี่ปุ่นกำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม มีแต่ความทุกข์กระจายไปทุกหย่อมหญ้าทำให้นักแสดงละครหันมาตั้งคำถามกับตนเองว่า
ตัวเราในฐานะนักแสดงคือใครกันแน่ และชีวิตคืออะไร
พวกเขาจึงย้อนกลับไปฟังเสียงของร่างกาย ร่างกายซึ่งประกอบไปด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ
อันเป็นธาตุตามธรรมชาติ พื้นฐานดั้งเดิมของคนญี่ปุ่นเป็นชาวนานับถือศาสนาชินโตอันเป็นศาสนาที่ให้ความเคารพนับถือธรรมชาติ
เมื่อย้อนกลับไปหาธรรมชาติในตัวเรา ตัวเรานั้นไร้ตัวตน การแสดงจึงควรปราศจากตัวตน ไม่มีความเป็น
“ตัวฉัน” ที่อยากแสดง เป็นการแสดงที่ฟังเสียงจากภายใน มีเพียงอารมณ์ปัจจุบัน ณ
ปัจจุบันอารมณ์เป็นเช่นไรก็แสดงอารมณ์นั้นออกมา อาจไม่สวยงาม ไม่ถูกใจคนดู แต่มันก็คือการแสดงที่ออกมาจากความจริงที่ปรากฏอยู่ภายใน
นักแสดงไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างหน้าตาดี ไม่จำเป็นต้องเต้นรำสวยงามตามแบบมาตรฐานสากลเพราะนั่นคือการประดิดประดอย
มันไม่ธรรมชาติ เรารู้สึกอย่างไรก็แสดงออกไปเช่นนั้น เป็นการเต้นรำที่ไร้รูปแบบ
นักแสดงอาจทำหน้าตาหน้าเกลียด มีท่าเต้นที่ไม่น่าดู แต่นี่ก็คือภาวะไร้การเสแสร้งในแบบบูโต”
โซโนโกะอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของละครบูโตให้เราฟัง
“การที่ละครบูโตแสดงอารมณ์ความรู้สึกหวาดกลัวหรือแสดงหน้าตาที่บ่งบอกถึงความทุกข์ความเศร้าใจออกมาเพราะมันเป็นการแสดงที่มาจากจิตใต้สำนึก
เมื่อพูดถึงจิตใต้สำนึกแล้วทุกคนมีความคล้ายคลึงกันหมดคือมีความทุกข์ที่สั่งสมอยู่ภายใน”
โซโนโกะกล่าวเสริม ในเมื่อมันคือการแสดงออกของความทุกข์ที่ถูกสั่งสมอยู่ใต้จิตใต้สำนึกเราอาจเรียกละครบูโตได้อีกอย่างหนึ่งว่า
“ระบำวิปัสสนา” หรือ “การเต้นรำที่มาจากความจริงแท้ภายใน” เพราะละครกำลังเผยให้คนดูเห็นอริยสัจข้อที่หนึ่งคือความทุกข์ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน
การแสดงบูโตทั้งสามรอบของเธอจึงไม่เหมือนกันเลย นี่อาจทำให้คนดูเข้าใจยากว่าการแสดงนี้กำลังสื่ออะไร โซโนโกะเฉลยว่า “ที่จริงก็ไม่ยากเพียงดูละครโดยไม่ต้องคิดมาก แค่ตามอารมณ์ไปกับนักแสดงว่านักแสดงกำลังแสดงอารมณ์อะไรออกมาแล้วร่วมค้นหาไปด้วยกัน”
การแสดงบูโตทั้งสามรอบของเธอจึงไม่เหมือนกันเลย นี่อาจทำให้คนดูเข้าใจยากว่าการแสดงนี้กำลังสื่ออะไร โซโนโกะเฉลยว่า “ที่จริงก็ไม่ยากเพียงดูละครโดยไม่ต้องคิดมาก แค่ตามอารมณ์ไปกับนักแสดงว่านักแสดงกำลังแสดงอารมณ์อะไรออกมาแล้วร่วมค้นหาไปด้วยกัน”
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น