ตอนที่ไปดูละครเรื่องนี้เป็นความ "บังเอิญ" มากกว่า เพราะวันนั้น (15 พฤศจิกายน) เปิดดู facebook ในห้องคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย แล้วหน้าโฆษณาละคร "คอยคุณปุณ" ก็กระเด้งดึ๋งขึ้นมาที่หน้าจอก็เลยรีบอ่านด้วยความสนใจว่ามันคืออะไร ที่แท้ก็คือละครนั่นเอง
วันนั้นข้าพเจ้ายังอยู่ที่มหาวิทยาลัย (มจร. วังน้อย อยุธยา) แต่บังเอิญช่วงบ่ายไม่มีเรียน (รู้สึกคุณครูจะไม่มาสอนพอดี) ก็เลยเป็นโอกาสอันดีพร้อมกับเป็นเรื่องฟลุ๊คที่วันที่เห็นโฆษณาบังเอิญเป็นวันสุดท้ายของการแสดงในเดือนพฤศจิกายนพอดี เพราะมันเหลือการแสดงในเดือนธันวาคมอีกครั้ง และรู้ว่าถ้าไม่ดูวันนี้คงไม่ได้ดูอีกแล้วเพราะช่วงเดือนธันวาคมไม่ว่าง ในที่สุดก็จึงไปดูในตอนเย็นของวันนั้น และไม่นึกเลยว่าละครจะมีความยาวถึง 3 ชั่วโมง !
หลังจากดูละครจบก็คิดว่าน่าจะเขียนอะไรสักหน่อย เพราะเป็นละครมีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่น่าพูดถึง ปรากฏว่ามีงานเขียนค้างส่งอยู่หลายเจ้าด้วยกัน พร้อมทั้งมีบทความเร่งด่วนแทรกเข้ามา ก็เลยผลัดการเขียนมาเรื่อย จนเกือบจะไม่ได้เขียนอยู่แล้ว... จนวินาทีสุดท้ายของวันที่ 16 ธันวาคม ที่ต้องไปเข้ากัมมัฏฐาน บทความก็ถูกเขียนจนสำเร็จในเช้าวันนั้น แล้วก็รีบส่งทางอีเมล์ทันใด !
(คือถ้าไม่ได้ส่งในเช้าวันนั้นก็จะพลาดอะไรหลาย ๆ อย่าง เนื่องจากกว่าจะออกจากกัมมัฏฐานก็คือ 27 ธันวาคม แล้วกว่าจะได้เขียนกว่าจะได้ลงก็คงจะเลื่อนไปอีกหลายวาระ เพราะฉะนั้นอย่าให้มันเลื่อนลอยไปกว่านี้เลย รีบเขียนและรีบส่งดีกว่า)
แต่พอมาอ่านบทความตอนหลังก็พบว่ามีความผิดพลาดบางประการ ตอนดูละครรู้สึกจะหูเพี้ยน ได้ยินชื่อตัวละคร "ปารมี" เป็น "บารมี" และมาเช็คดูในสูจิบัตรละครเค๊าก็เขียนว่า "ปารมี" เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ว่าตัวละครจะชื่อ "ปารมี" แล้วได้ยินผิดเป็น "บารมี" ความจริงคำว่า "ปารมี" ก็คือคำว่า "บารมี" นั่นเอง เพียงแต่คำว่า "ปารมี" เป็นคำดั้งเดิมมาจากภาษาบาลี ซึ่งพอมาเป็นคำไทยก็จะกลายเป็นคำว่า "บารมี"
แต่ไม่แน่ใจว่าผู้กำกับเค๊าจงใจสื่อคำว่า "ปารมี" ในเชิงล้อเลียน เสียดสี วิพากษ์วิจารณ์คำว่า "บารมี" ในทางพุทธศาสนาอย่างที่เราเข้าใจหรือเปล่า แต่ก็ถือว่าเป็นมุมมองจากคนดูละครคนหนึ่งละกัน
ในบทความที่เอามาลงใน Blog ก็เลยไม่ได้เปลี่ยนคำว่า "บารมี" เป็น "ปารมี" เพราะถือว่าเขียนผิดไปแล้วก็แล้วกันไป และอย่างที่บอกก็คือ คำว่า "บารมี" กับคำว่า "ปารมี" ก็เป็นคำๆ เดียวกันอยู่แล้ว
มีหลายตอนทีเดียวที่ข้าพเจ้าดูไม่รู้เรื่อง - ไม่เข้าใจเหมือนกัน แต่อาศัยว่าละครเป็นจินตนาการร่วมของคนดู หากดูไม่เข้าใจยังไงก็อาศัยช่วงไม่เข้าใจนั้นแหละตีความตามความเข้าใจของคนดูก็แล้วกัน จะได้ดูแล้วรู้เรื่อง ไม่เก็บไปปวดหัวต่อที่บ้าน
สำหรับบทความวิเคราะห์ละครเรื่องนี้ คิดว่าใครที่ไม่ได้ดูละครเรื่องนี้ หลังจากได้อ่านก็เหมือนได้นั่งดูละครด้วยกันแหละเพราะบทความเปิดเผยเรื่องราวหมดเลย ไม่มีแอ๊บ ไม่มีแอบ และถึงจะอ่านไปก็คงไม่เป็นการเสียบรรยากาศและอรรถรสเพราะคุณผู้อ่านก็คงไม่มีโอกาสได้ดูละคระเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะเขาปิดการแสดงรอบสุดท้ายไปเมื่อบ่ายวันที่ 27 ธันวาคม ไปเรียบร้อยโรงเรียนบาลีแล้ว
ฉะนั้นถึงจะรู้เรื่องตอนจบก็ไม่ได้ทำให้เสียอรรถรส เพราะคุณก็ไม่มีโอกาสได้ดูละครเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะละครแสดงจบไปเรียบร้อยโรงเรียนบาลีแล้ว
สุดท้าย ใครที่สนใจประเด็นพุทธศาสนา ถึงจะไม่ได้ดูละครเรื่องนี้ แต่ก็สามารถเก็บข้อมูล เนื้อหา และความรู้จากบทความนี้ได้เหมือนกัน....
ส่วนคอลัมน์ที่เขียนส่งไปลงเป็นคอลัมน์ "สนามวิจารณ์" เป็นคอลัมน์เปิดให้ใครส่งบทความวิจารณ์มหรสพไปลงก็ได้ ... ...
ส่วนคอลัมน์ที่เขียนส่งไปลงเป็นคอลัมน์ "สนามวิจารณ์" เป็นคอลัมน์เปิดให้ใครส่งบทความวิจารณ์มหรสพไปลงก็ได้ ... ...
................................................
................................................
คอยคุณปุณ : การรอคอยที่ ไร้จุดหมายและไม่มีวันสิ้นสุด
พระชาย วรธัมโม
กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 25 ธันวาคม 2555 คอลัมน์ สนามวิจารณ์
ตอนที่ได้ยินชื่อละคร “คอยคุณปุณ” รู้สึกสงสัยว่าใครคือ “คุณปุณ” และ “คุณปุณ” มีความหมายอะไรให้รอคอย หลังชมละครเรื่องนี้จบถึงได้เข้าใจว่า “คุณปุณคือใคร”
ทราบมาว่าละครเรื่องนี้เป็นละครดัดแปลงจากต้นฉบับบทประพันธ์ของฝรั่งเรื่อง Waiting for Godot และเคยมีการนำมาแสดงในภาคภาษาไทยหลายครั้งด้วยกัน แต่ข้าพเจ้าไม่เคยชมแม้แต่ครั้งเดียว นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ชมและเป็นการแสดงที่ผ่านการแปลงบทละครให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาด้วย หากไม่ทราบมาก่อนว่าละครเรื่องนี้เป็นละครดัดแปลงมาจากต้นฉบับต่างประเทศคงต้องบอกว่าละครเรื่องนี้มีเนื้อหาท้าทาย เสียดสี และวิพากษ์วิจารณ์อะไรๆ ในพุทธศาสนาไม่น้อย
แต่เมื่อทราบว่าละครเรื่องนี้เป็นละครดัดแปลงจากต้นฉบับอีกทีก็ยิ่งรู้สึกประหลาดใจที่คนเขียนบทมีจินตนาการในแปลงบทให้สอดรับกับบริบทของพุทธศาสนาในบ้านเรา หลังจากดูละครเรื่องนี้จบอาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าแท้จริงแล้วไม่ว่าศาสนาไหนๆ ก็มี “คุณปุณ” อยู่ทุกศาสนานั่นเอง
ดุษฎี (ซ้าย) กับ ก้องเกียรติ (ขวา) ปรากฏตัวในฉากแรก กับบทสนทนาที่่แฝงเลศนัย ? |
เช้าวันหนึ่งก้องเกียรติกับดุษฎีพบกันที่สี่แยกมีต้นไม้ยืนต้นตายโดดเด่นเป็นที่สังเกต การปรากฏตัวของทั้งคู่ด้วยเสื้อผ้าสกปรกมอมแมมมีรอยปะทำให้คนดูอย่างข้าพเจ้ารู้สึกงงๆ ที่การแต่งตัวของตัวละครสองตัวนี้ขัดกับในภาพโฆษณาซึ่งทั้งสองแต่งกายด้วยชุดสูทสวยหรูสะอาดสะอ้าน
ก้องเกียรติกับดุษฎีเป็นเพื่อนกัน เขาทั้งสองพูดคุยกันด้วยเรื่องราวที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไรแต่บางครั้งก็แฝงเลศนัยผ่านคำถามที่ชวนให้คนดูคิดตามอย่างน่าฉงน ดุษฏีเอ่ยถามก้องเกียรติว่า ‘ทำไมองคุลิมาลฆ่าคนมากมายและเกือบจะฆ่าพระพุทธเจ้าแต่ได้เป็นพระอรหันต์ ในขณะที่พระเทวทัตแค่คิดจะฆ่าพระพุทธเจ้าก็ตกนรกเสียแล้ว’ หรือ ‘เหตุใดนายจุนทะถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้าด้วยสุกรมัทวะจนพระพุทธเจ้าอาพาธและปรินิพพานจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ถวายทานอันมีผลบุญยิ่งใหญ่’
คำถามแปลกๆ จากดุษฎีน่าจะทำให้คนดูถูกกระตุกด้วยความคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องราวในพุทธประวัติที่เคยเรียนรู้กันมา สนทนากันไปได้สักพักทั้งดุษฎีและก้องเกียรติก็ทำให้คนดูทราบว่าทั้งคู่นัดเจอกันที่นี่เพื่อมาพบ “คุณปุณ” ตามที่ได้นัดกันไว้
เวลาผ่านไปครู่ใหญ่คุณปุณไม่ได้มาตามนัด มีแต่ชายหนุ่มรูปร่างอ้วนท้วน ผิวพรรณดี แต่งกายภูมิฐานในชุดสูทสีน้ำเงินสดใส พิจารณาดูแล้วเขามีฐานะกว่าก้องเกียรติและดุษฎี เขาเดินผ่านสี่แยกแห่งนั้นพร้อมด้วยคนรับใช้ชื่อ “บุญโชค” ที่เขาใช้เชือกลากจูงราวกับเป็นสัตว์เลี้ยง
ก้องเกียรติและดุษฎีเข้าใจผิดคิดว่าเขาคือ “คุณปุณ” ชายวัยกลางคนรูปร่างอ้วนท้วนดูดีมีสง่าราศีแนะนำตัวเองว่าเขาชื่อ “บารมี” ไม่ใช่ “คุณปุณ” อย่างที่คนทั้งสองคิด ด้วยการแต่งกายของ “บารมี” ที่ดูมีฐานะคนละเกรดกับก้องเกียรติและดุษฎี และด้วยชื่อ “บารมี” ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าตัวละครตัวนี้เป็นภาพแทนคำว่า “บารมี” ในความหมายของชาวพุทธที่มักจะหมายถึงคนรูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์แต่งตัวดี มีอำนาจ มีเงิน มีฐานะ มีบริวาร ด้วยนัยยะของ “บารมี” ในความหมายนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าละครเรื่องนี้กำลังวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีความหมายของ “บารมี” ได้อย่างแสบสันต์
"บารมี" (หรือ "ปารมี") เดินทางผ่าน 4 แยกแห่งนั้นพร้อมด้วย "บุญโชค" คนรับใช้ |
ก้องเกียรติและดุษฎีเข้าใจผิดคิดว่าเขาคือ “คุณปุณ” ชายวัยกลางคนรูปร่างอ้วนท้วนดูดีมีสง่าราศีแนะนำตัวเองว่าเขาชื่อ “บารมี” ไม่ใช่ “คุณปุณ” อย่างที่คนทั้งสองคิด ด้วยการแต่งกายของ “บารมี” ที่ดูมีฐานะคนละเกรดกับก้องเกียรติและดุษฎี และด้วยชื่อ “บารมี” ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าตัวละครตัวนี้เป็นภาพแทนคำว่า “บารมี” ในความหมายของชาวพุทธที่มักจะหมายถึงคนรูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์แต่งตัวดี มีอำนาจ มีเงิน มีฐานะ มีบริวาร ด้วยนัยยะของ “บารมี” ในความหมายนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าละครเรื่องนี้กำลังวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีความหมายของ “บารมี” ได้อย่างแสบสันต์
เหตุการณ์ถัดจากนี้ไป “บารมี” ก็โชว์ “บารมี” ในการมี “บุญโชค” ซึ่งเป็นคนรับใช้ให้ดูว่า “บุญโชค” ไม่ได้เป็นแค่คนรับใช้แบกสิ่งของให้เขาหรือเป็นเก้าอี้ที่แสนดีให้เขานั่งทับเท่านั้น แต่ “บุญโชค” ยังมีความสามารถพิเศษเมื่อมีการพยายามจับ “บุญโชค” ใส่เสื้อกันฝนสีส้มสด “บุญโชค” ก็จะสาธยายข้อมูลต่างๆ นานาแต่ไม่ใช่ข้อมูลที่จะฟังรู้เรื่องนัก นอกจาก “บุญโชค” จะเป็นคนรับใช้แล้วเขายังดูเป็น “สัตว์เลี้ยง” หรือไม่ก็ “ของเล่น” ของ “บารมี” จนเราแทบจะลืมไปเลยว่าบุญโชคก็เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีคนหนึ่ง
"บุญโชค" ในชุดเสื้อกันฝนสีส้มสดกำลังแสดงความสามารถพิเศษ |
ดูเหมือนละครกำลังสะท้อนภาพ “คนมีบารมี” ใช้อำนาจกดขี่ “คนที่ไม่มีบารมี” ได้อย่างน่าขบขันปนสมเพชเวทนาและน่าเจ็บปวดในเวลาเดียวกัน ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งเรามักจะเห็นภาพเช่นนี้ในสังคมของเราเอง “บุญโชค” อาจจะเป็นใครก็ได้ที่เป็นชนชั้นล่าง ในขณะที่คนแต่งตัวภูมิฐานอย่าง “บารมี” ก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย
แล้ว “บารมี” กับ “บุญโชค” ก็เดินจากไปปล่อยให้ก้องเกียรติกับดุษฎีนั่งคอย “คุณปุณ” อยู่ ณ สี่แยกแห่งนั้น ไม่นานนักก็มีชายชราเดินผ่านมา ก้องเกียรติกับดุษฎีรู้สึกดีใจที่มีคนเดินผ่านมาอีก พวกเขาคิดว่าอาจจะเป็น “คุณปุณ” ที่รอคอยก็ได้ แต่ชายชราปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่ “คุณปุณ” แต่ “คุณปุณ” ได้ฝากเขาให้มาบอกชายหนุ่มทั้งสองว่า “เย็นนี้คุณปุณมาไม่ได้ แต่พรุ่งนี้มาแน่”
แล้วชายชราก็เดินผ่าน 4 แยกแห่งนั้น |
ก้องเกียรติและดุษฎีถามชายชราว่า “แล้วคุณปุณได้มอบหนังสือเดินทางให้ลุงด้วยหรือไม่” ดูเหมือน ”คุณปุณ” จะมีอำนาจหน้าที่บางอย่างที่สามารถพาใครๆ ไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการได้ผ่านการมอบ “หนังสือเดินทาง” และดูเหมือนว่าก้องเกียรติกับดุษฎีต้องการ “หนังสือเดินทาง” จาก “คุณปุณ” เพื่อเดินทางไปไหนสักแห่ง
แต่คำตอบของชายชราก็ทำให้บุคคลทั้งสองคนต้องงุนงงไปพร้อมๆ กับคนดูเมื่อชายชราตอบว่า “ลุงก็ไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับคุณปุณหรอก” แล้วชายชราก็เดินจากไปปล่อยให้ก้องเกียติกับดุษฎีรอคอยคุณปุณ ณ สี่แยกนั้นจนกระทั่งเวลาหมดไปอีกหนึ่งวัน
เช้าวันถัดมาก้องเกียรติกับดุษฎียังคงรอคอย “คุณปุณ” ณ สี่แยกแห่งนั้น เหตุการณ์เหมือนเดิม แต่คราวนี้ต้นไม้ที่ยืนต้นตายกลับมีใบสีเขียวปลิออกมาจากยอดที่แห้งเหี่ยว หรือพวกเขามีความหวังจะได้เจอ “คุณปุณ” เหมือนกับซากต้นไม้ยืนต้นตายที่จู่ๆ วันนี้แตกหน่อเขียวออกมาให้เห็น
แล้ว “บารมี” กับ “บุญโชค” ก็เดินทางผ่านมายังสี่แยกแห่งนั้นอีกครั้งเช่นเดียวกับเมื่อวาน แต่วันนี้แปลกกว่าวันวานตรงที่ “บารมี” กลายเป็นคนตาบอด “บุญโชค” กลายเป็นใบ้ นี่เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาทั้งสอง มันช่างเป็นอะไรที่ดู ‘อนิจจัง’ สิ้นดี เหตุการณ์กลับดูสับสนยิ่งขึ้นเมื่อก้องเกียรติจำบารมีและบุญโชคไม่ได้ เขาแค่คับคล้ายคับคลาว่าเหมือนเคยเจอกันที่ไหนสักแห่งทั้งๆ ที่เขาเพิ่งเจอกันเมื่อวาน บารมีบอกว่าเขาตาบอดมานานแล้ว ส่วนบุญโชคก็เป็นใบ้มานานแล้วด้วย หรือเมื่อวานคืออดีตชาติ ส่วนวันนี้คือชาติใหม่ที่ “บารมี” และ “บุญโชค” ก็ไม่ได้เกิดมามีอาการครบ ๓๒ เหมือนชาติที่แล้ว แต่ “บารมี” ก็ยังมี “บารมี” เหมือนเดิม ในขณะที่ก้องเกียรติก็ไม่สามารถจำคนทั้งสองได้เพราะนี่คือชาติใหม่ แต่ถึงจะเป็นภพใหม่ชาติใหม่ทั้งก้องเกียรติและดุษฎีก็ต้องกลับมาคอย “คุณปุณ” ณ สี่แยกแห่งนี้เหมือนเดิมทุกประการ
ด้วยอาการที่ก้องเกียรติบอกว่าเหมือนเคยเจอบารมีกับบุญโชคที่ไหนสักแห่งแต่จำไม่ได้ ในสังสารวัฏอันยาวไกลนี้หรือเปล่าที่บ่อยครั้งคนเรามักมีความรู้สึกเหมือนกับเคยพบเจอใครคนหนึ่งมาก่อน หรือรู้สึกเหมือนเคยทำอะไรบางอย่างซ้ำๆ แล้วตัวละครก็ต้องทำในสิ่งซ้ำๆ เดิมๆ ก้องเกียรติกับดุษฎีมาคอยคุณปุณอยู่ที่สี่แยกเดิม บารมีกับบุญโชคก็เดินผ่านมายังสี่แยกเดิม ชายชราคนเดิมผ่านมาอีกครั้งเพียงเพื่อจะบอกคนทั้งสองเช่นเดิมว่า “วันนี้คุณปุณมาไม่ได้ วันพรุ่งนี้เขาจะมาแน่นอน”
ชายชราเดินผ่าน 4 แยกแห่งนั้นอีกครั้ง เพื่อจะมาบอกดุษฎีว่า . . . |
เมื่อละครจบลงข้าพเจ้าเข้าใจมากขึ้นว่า “คุณปุณ” ในละครเป็นสัญลักษณ์ของคุณค่าบางอย่างที่ชาวพุทธเฝ้าหวังว่าจะไปให้ถึง ในที่นี้อาจหมายถึง “นิพพาน” ที่ชาวพุทธรอคอยแต่ไม่มีวันไปถึงได้จริง เหมือนกับที่ชาวพุทธอธิษฐานก่อนการทำบุญทุกครั้งว่า “ขอให้เข้าถึงนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ” ด้วยคำอธิษฐานเช่นนี้จึงทำให้เราไม่สามารถเข้าถึง “นิพพาน” ที่แท้จริงได้สักที เกิดภพใหม่ชาติใหม่เราก็รอคอย “นิพพาน” ในชาติหน้าอยู่ร่ำไป
ละครยังกระตุก “ธาตุตื่นรู้” ของคนดูด้วยการให้แง่คิดคล้ายๆ จะเสียดสีหรือสะท้อนอะไรบางอย่างออกมา อย่างเช่นตอนที่ก้องเกียรติกับดุษฎีเห็นชะตากรรมอันเลวร้ายของ “บุญโชค” ที่ถูกใช้งานเยี่ยงสัตว์ แล้วทั้งสองก็สนทนากันว่าเห็นบุญโชคแล้วดีใจที่ยังมีคนที่แย่กว่าเรา เวลาที่เรามองดูคนอื่นที่ย่ำแย่กว่าเราแล้วเรารู้สึกดีขึ้นนั้น ตกลงอาการเช่นนี้เท่ากับว่าเรากำลังดีใจที่เห็นคนอื่นทุกข์กว่าเราอย่างนั้นหรือ นี่เหมือนเป็นการตรวจสอบคำพูดปลอบโยนที่เราชอบพูดกันอยู่เสมอเวลามีความทุกข์
ละครยังมีกลิ่นไอคำสอนของท่านพุทธทาสที่พูดว่าวันหนึ่งๆ เราเกิด ‘ภพชาติ’ กันหลายครั้ง เกิดกิเลสครั้งหนึ่งเท่ากับเกิดภพชาติขึ้นมาครั้งหนึ่งโดยไม่ต้องรอให้ตายแล้วไปเกิดใหม่ เพราะนี่คือภพชาติที่เกิดขึ้นหลายครั้งในวันเดียวซึ่งน่าจะย้ำเตือนให้คนเข้าใจ ‘ภพชาติ’ ในความหมายใหม่มากขึ้น
ละครยังสะท้อนกำเนิด ๔ จำพวก คือ ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ อัณฑชะ เกิดในไข่ สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคลที่ชื้นแฉะสกปรก โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้นทันที เมื่อจู่ๆ ตัวละครทั้ง ๔ คือ ก้องเกียรติ ดุษฎี บารมี และบุญโชคต้องลงไปนอนเกือกกลั้วกับพื้นลุกขึ้นไม่ได้ ดูราวกับพวกเขาไปเกิดในเถ้าไคลเมื่อดุษฎีพูดถึงกำเนิดทั้ง ๔
“สี่แยก” จุดเกิดเหตุที่ก้องเกียรติและดุษฎีมาพบกันเพื่อรอคอย “คุณปุณ” เลข ๔ เป็นสัญลักษณ์หมายถึง “อริยสัจ ๔” ที่พูดถึงการวนเวียนอยู่ในความทุกข์แต่ยังไปไม่ถึง “การหลุดพ้นจากความทุกข์” การที่ละครจับเอาด้านทุกข์มานำเสนอเพียงด้านเดียวเข้าใจว่าละครต้องการสะท้อนโศกนาฏกรรมของมนุษย์ และต้องการบทจบที่มีผลสะเทือนต่อความรู้สึกทางใจของคนดู ละครอาจจะจบแบบแฮ้ปปี้เอนดิ้งก็ได้โดยให้ “คุณปุณ” ปรากฏตัวในตอนท้าย แล้วให้ก้องเกียรติกับดุษฎีก็พบกับความสมหวัง แต่การจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งอาจไม่ทำให้เกิดผลสะเทือนทางความคิดกับคนดูมากเท่ากับปล่อยให้ตัวละครทั้งสองต้องรอคอยต่อไป
“คอยคุณปุณ” ละครความยาว ๓ ชั่วโมงเป็นละครที่นำเสนอผ่านการซ่อนคติทางพุทธศาสนาไว้อย่างน่าสนใจ แต่ความจริงแล้ว “คุณปุณ” อาจจะไม่จำเป็นต้องหมายถึง “นิพพาน” ก็ได้ “คุณปุณ” อาจหมายถึงอะไรบางอย่างที่มนุษย์เราเฝ้ารอคอยมาเป็นเวลายาวนานแต่ไม่เคยมีวันสมหวังหรือเป็นจริงสักที
เมื่อละครเรื่องนี้จบลงข้าพเจ้ารู้สึกได้ว่าก้องเกียรติกับดุษฎีไม่ได้รอคุณปุณที่สี่แยกแห่งนี้เพียงครั้งสองครั้งเท่านั้น แต่ก้องเกียรติกับดุษฎีมารอ “คุณปุณ” หลายครั้งหลายหนแล้วเมื่อก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะเข้าไปนั่งชมละครเรื่องนี้เสียอีก และเมื่อข้าพเจ้าลุกออกจากโรงละครไป ทั้งก้องเกียรติและดุษฎีก็ยังคงรอคอย “คุณปุณ” อยู่ ณ สี่แยกแห่งนั้นตลอดมา...และเขาทั้งสองไม่เคยพบเจอ “คุณปุณ” ตัวจริงเลยสักที ...
หมายเหตุคุณปุณ :
“คอยคุณปุณ” เป็นละครที่ดัดแปลงมาจากละครตะวันตกเรื่อง Waiting for Godot จากบทประพันธ์ของ Samuel Beckett ชาวไอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นละครคลาสสิคที่ ‘ขึ้นหิ้ง’ ในเรื่องความเป็นอมตะของบทประพันธ์ด้วยการที่ละครได้รับการยอมรับในวงกว้างทั้งในแวดวงวิชาการและในกลุ่มนักการละคร มีการนำบทประพันธ์ไปแปลเป็นภาษาต่างๆ และมีการแสดงซ้ำในหลายประเทศทั่วโลกอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เคยมีการนำละครเรื่องนี้มาแสดงซ้ำหลายครั้งหลายหนมาแล้ว
ละคร Waiting for Godot แสดงครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ Theatre de Babylone กรุงปารีส ฝรั่งเศส จนกระทั่งล่าสุด พ.ศ. ๒๕๕๕ ผศ.ชุติมา มณีวัฒนา แห่งภาควิชาศิลปะการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้นำมาดัดแปลงตีความใหม่ในบริบทพุทธศาสนาแต่ยังคงโครงเรื่องเดิมไว้ในชื่อไทยว่า “คอยคุณปุณ” โดยจัดแสดงที่ หอจดหมายเหตุพุทธทาส (สวนรถไฟ) The Style by Toyota ระหว่างพฤศจิกายน-ธันวาคม ๒๕๕๕
และรอบสุดท้าย 27 ธันวาคม 2555 ที่ Blue Box Studio
ขอบคุณภาพประกอบมากมายก่ายกอง จาก Facebook/SSRUPA
ขอบคุณภาพประกอบมากมายก่ายกอง จาก Facebook/SSRUPA