วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แกะ เปลือก แม่


กรุงเทพธุรกิจ , สนามวิจารณ์ , อังคาร 14 สิงหาคม 2555 

(เกริ่น : บทความนี้เขียนไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ยังไม่ได้เอาไปลงที่ไหน พอดีถึงเทศกาลวันแม่ปีนี้ ก็เลยเอามาเกลาใหม่ แล้วส่งไปที่ กรุงเทพธุรกิจ ก็เลยได้ลง ด้วยประการฉะนี้)



ผู้เขียนเองบ่อยครั้งก็รู้สึกสับสนไปกับคุณค่าและความหมายที่สังคมไทยมีให้กับผู้หญิงไทย ยกตัวอย่างถ้าบ้านใดมีลูกสาวก็จะมีคำเปรียบเปรยว่า มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน  ซึ่งฟังดูไม่ค่อยให้เกียรติสถานะของลูกสาวสักเท่าไร หรือไม่ก็มีคำพูดเหน็บแนมว่า ผู้หญิงข้าวสาร ผู้ชายข้าวเปลือก หมายความว่าข้าวสารตกถึงพื้นดินก็สกปรกเอาไปใช้ทำประโยชน์อะไรไมได้ แต่ถ้าเป็นข้าวเปลือกหากไปตกหล่นที่ไหนก็มีแต่จะงอกงามออกมาเป็นต้นกล้า อุปมาเปรียบเหมือนผู้ชายไปไหนมีแต่ได้ ในขณะที่ผู้หญิงไปไหนมีแต่เสีย นั่นเป็นความหมายที่สังคมไทยมีให้กับหญิงไทย

แต่พอถึงวันที่ ๑๒ สิงหาคม ซึ่งถูกกำหนดให้เป็น วันแม่แห่งชาติ เพศหญิงก็ถูกเทิดทูนเสียจนเราแทบจะลืมคำเหน็บแนมต่างๆ นานาเหล่านั้นไปเสียสิ้น หรือว่านี่คือการ ตบหัวแล้วลูบหลังของสังคมไทยที่กระทำต่อผู้หญิง 

แต่การ ลูบหลัง ที่สังคมไทยกระทำกับผู้หญิงก็ยังมีอะไรที่ควรเข้าไปสำรวจตรวจสอบเมื่อการลูบหลังผู้หญิงเป็นการนำเอาผู้หญิงกับ ความเป็นแม่ มาปรุงแต่งผสมรวมกัน ทั้งๆ ที่สองคำนี้อาจจะเป็นคนละเรื่องกันก็ได้

ที่ผู้เขียนพูดเช่นนี้ก็เพราะผู้หญิงก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีทั้งด้านดีและด้านเลวปะปนอยู่ในคนๆ เดียวกัน ในขณะที่ ความเป็นแม่ เป็นคุณสมบัติที่สังคมประดิดประดอยหรือสร้างขึ้นมาเพื่อมอบให้ผู้หญิงแล้วคาดหวังให้ผู้หญิงต้องมีความเป็นแม่ นั่นหมายความว่าในทางปฏิบัติผู้หญิงถูกคาดหวังให้ต้องมีสามี ต้องมีลูก แต่ความเป็นจริงก็คือไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนจะสามารถทำเช่นนั้นได้

ในโลกของความเป็นจริงมีผู้หญิงบางคนคลอดลูกออกมาแล้วรู้ตัวว่าไม่สามารถจะเลี้ยงลูกได้ก็ทิ้งลูกไว้ที่กองขยะ บางคนคลอดลูกปุ๊บก็ทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลทันที ผู้หญิงบางคนทิ้งลูกไว้ให้สามีเลี้ยงหรือไม่ก็ทิ้งลูกไว้ให้พ่อแม่เลี้ยงแล้วก็ไปมีสามีใหม่ ผู้หญิงบางคนก็ตัดสินใจทำแท้ง หรือถ้าไม่ทำแท้งก็เลี้ยงลูกด้วยความรุนแรงมีการตบตีลูกอย่างไม่ปรานี 







         ผู้หญิงบางคนต้องการสามีมากกว่าจะต้องการลูก ผู้หญิงบางคนมีหลายสามีในเวลาเดียวกัน ผู้หญิงบางคนต้องการมีอะไรกับใครโดยไม่ต้องการมีพันธะ ผู้หญิงบางคนจึงไม่ต้องการเป็นเมียและไม่ต้องการเป็นแม่ใคร ผู้หญิงบางคนก็พึงพอใจที่จะอยู่กินกับผู้หญิงด้วยกัน ในขณะที่บางคนก็พอใจที่จะอยู่เป็นโสด 

เราจะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วในสังคมไทยมีผู้หญิงหลายประเภทและหลายคนทีเดียวที่ไม่ได้ทำหน้าที่แม่อย่างที่สังคมคาดหวัง ดังนั้นเราพอจะเริ่มมองเห็นชัดขึ้นแล้วหรือยังว่าผู้หญิงกับความเป็นแม่นั้นเป็นคนละเรื่องกัน

ความเป็นแม่เป็นอาการผสมปรุงแต่ง ถูกผลิตและให้ความหมายขึ้นมาโดยสังคม เป็นความคาดหวังมากกว่าจะเป็นความจริงเพราะไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะรับบทบาทความเป็นแม่ได้ ความเป็นแม่เป็นคุณลักษณะที่เป็นกันได้ยาก กล่าวคือหากมีสุภาพสตรีสักคนอยากจะรับบทบาทการเป็นแม่ขึ้นมา สุภาพสตรีท่านนั้นต้องเป็นผู้หญิงที่มีสามีเป็นตัวเป็นตน สามารถอุ้มท้องได้นาน 9 เดือนโดยไม่ทำแท้งเสียก่อน เมื่อคลอดลูกออกมาก็สามารถเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่จนกว่าลูกจะดูแลตัวเองได้ นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปีทีเดียวกว่าลูกจะดูแลตัวเองได้ซึ่งระหว่างนั้นความอดทนที่จะเป็นแม่อย่างสมบูรณ์แบบของสุภาพสตรีท่านนั้นอาจจะขาดผึ่งขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุภาพสตรีท่านนั้นก็ต้องมีปัจจัยสี่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่ได้ การเป็นแม่จึงไม่ใช่เรื่องที่จู่ๆ ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาเป็นกันได้ทุกคน
 
ที่สำคัญการจะเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบอีกปัจจัยหนึ่งก็คือต้องอาศัยสามีที่มีความเสียสละ หากไม่มีสามีที่มีความเสียสละคอยดูแลเอาใจใส่ ผู้หญิงที่ต้องการจะเป็นแม่ท่านนั้นก็อาจจะเป็นแม่ด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะการเลี้ยงลูกไม่ใช่อะไรที่ง่ายดายแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากสามีมาช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อซื้อนมซื้อผ้าอ้อมให้ลูกน้อย การเป็นแม่ลูกอ่อนคงไม่สามารถเอาเวลาไปทำงานหาเงินเพื่อเอามาเลี้ยงลูกได้ ลำพังการพักฟื้นหลังคลอดก็ต้องหมดเวลาไปกับการเยียวยาร่างกายหลังคลอดและการดูแลเอาใจใส่ลูก ภาวะเช่นนี้จะเอาเวลาที่ไหนไปทำงานหาเงิน คงต้องอาศัยสามีที่เสียสละทำหน้าที่ออกไปทำงานหาเงินนอกบ้าน ใช่ว่าสามีที่ดีในสมัยนี้จะหาได้ง่ายๆ สามีจำนวนไม่น้อยมักจะเลิกราแล้วทิ้งให้ผู้หญิงต้องเลี้ยงลูกโดยลำพังหรือไม่ก็เร่ร่อนขอทานอยู่ตามท้องถนนกับลูกน้อย การเป็นแม่จึงไม่ใช่บทบาทที่จะเป็นกันได้ง่ายนัก

จึงเป็นไปได้ว่าทุกครั้งที่มีการเฉลิมฉลองวันแม่แห่งชาติในวันที่ ๑๒ สิงหาคมของทุกปี มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองได้รับการเฉลิมฉลองสดุดีไปด้วย พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมไปกับการเฉลิมฉลองวันแม่แห่งชาติดังกล่าว รวมทั้งไม่ได้รู้สึกว่าตนเองต้องรับบทบาทความเป็นแม่อย่างที่สังคมคาดหวังและเฉลิมฉลองให้ เพราะการเป็นแม่เป็นเรื่องยากลำบาก การเป็นโสดอยู่คนเดียวไม่มีพันธะอะไรกับใครเป็นเรื่องที่น่าจะสบายกว่ากันเยอะ

ความเป็นแม่ที่สังคมคาดหวังจึงออกจะดูสวนทางกับวิถีชีวิตของผู้หญิงหลายๆ คนในเวลานี้และดูเหมือนว่าพวกเธอก็เมินที่จะทำตัวตามความคาดหวังของสังคมเช่นกัน

ในขณะที่ผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้เมินแต่อยากทำตัวให้เป็นที่คาดหวังของสังคมแต่ก็ไม่สามารถกระทำได้ และคงรู้สึกอึดอัดและกดดันที่ตนเองไม่ได้เป็น แม่สมดังความคาดหวังของสังคมและคงมีความทุกข์ใจอยู่ลึกๆ ด้วยเพราะอาจมีเหตุปัจจัยบางประการทำให้ไม่สามารถเป็นแม่ได้ เช่น เป็นหมัน ยังไม่มีใครมาเป็นสามีจนกระทั่งอายุมากเกินไป หรือบังเอิญมีสามีตอนอายุเลยวัยที่เหมาะสมจะมีบุตรไปแล้ว 

เราคงเริ่มเห็นภาพแล้วว่าความเป็นแม่ที่สังคมคาดหวังได้กดทับอิสรภาพและความรู้สึกของผู้หญิงอย่างไร

แทนที่เราจะมองผู้หญิงอย่างที่เธอเป็น มองเห็นความดี มองเห็นความไม่ดีอย่างปกติที่เธอเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของเธอ เรากลับมองเธอด้วยอาการปรุงแต่งพร้อมด้วยความคาดหวัง

เนื้อตัวของผู้หญิงไทยจึงดูเหมือนจะพะรุงพะรังไปด้วยความเป็นเปลือกที่เรียกว่า แม่ซึ่งผู้หญิงอาจจะทำตัวให้เป็นแม่ได้บ้างไม่ได้บ้าง พร้อมกันนั้นก็พะรุงพะรังไปด้วยความหมายเชิงลบเกี่ยวกับ ส้วมหน้าบ้าน หรือ ข้าวสารข้าวเปลือก  ผสมปนเปกันไป 

จะเป็นการดีกว่าหรือไม่หากเราจะมองผู้หญิงอย่างที่เธอเป็นเธอจริงๆ โดยปราศจากความคาดหวังว่าเธอต้องเป็นนั่นเป็นนี่อันเป็นการจำกัดอิสรภาพของเธอ ตัวผู้หญิงเองก็จะสามารถมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของเธอชัดขึ้นว่าแท้จริงแล้วเธอก็ไม่ได้เป็นอะไรนอกจากเป็น มนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง หรือลึกไปกว่านั้นก็คือเธอเป็นเพียง ก้อนธรรมชาติก้อนหนึ่งที่มาประชุมรวมกัน

            หากเธอมีลูกแล้วทำหน้าที่แม่ได้ดีก็ถือว่าเธอทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ที่ดี แต่ถ้าหากเธอมีลูกแล้วไม่อาจทำหน้าที่เป็นแม่เหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะเป็นแม่ที่ไม่ดี หรือหากเธอไม่ได้มีลูก ไม่ได้แสดงบทบาทความเป็นแม่ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ไม่สมบูรณ์ เพราะอย่างน้อยเธอก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง

และบางทีเราจะได้เห็น ผู้หญิง ที่เป็น ตัวตนจริงๆ ของเธอที่ไม่ได้เกิดจากการเสแสร้งปรุงแต่งโดยความคาดหวังของสังคม ได้มองเห็น แม่ ที่เป็น แม่จริงๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการเสแสร้งปรุงแต่งจากความคาดหวังของสังคมเช่นกัน 

          เมื่อนั้นเราจะได้ไม่ผิดหวังไปกับ แม่กำมะลอ เพราะมันเป็นเพียงเปลือกที่เราและสังคมต่างก็ร่วมกันสร้างมันขึ้นมาแค่นั้นเอง.

.

It gets better : พุทธศาสนาเป็นของฅนทุกเพศ

กรุงเทพธุรกิจ / สนามวิจารณ์ / อังคาร 20 มีนา 2555

(บทความเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ / โปรดระวัง) 


สาวประเภทสองนางหนึ่งกำลังนั่งร้องไห้อยู่หน้าประตูโบสถ์ สามเณรเดินออกจากโบสถ์มาเห็นเข้าจึงถามเธอว่าเป็นอะไรถึงร้องไห้ เธอเล่าให้สามเณรฟังว่าเพิ่งโดนแฟนหนุ่มทิ้ง ด้วยความช้ำใจเธอเอามีดกรีดข้อมือหวังฆ่าตัวตาย รู้สึกตัวอีกทีก็พบว่าตัวเองกำลังนอนซมอยู่ในโรงพยาบาลมีแม่กับพ่อนั่งเฝ้าอยู่ข้างเตียง เธออยากตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยการบวชพระ แต่พอเธอมาถึงวัดหลวงตาก็ปฏิเสธความต้องการของเธอเพียงเพราะว่าเธอไปทำหน้าอกและผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว ...

                นั่นเป็นฉากหนึ่งในหนัง "ไม่ได้ขอให้มารัก" ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าไปดูรอบพิเศษสำหรับคนทำงานประเด็นทางสังคม

                ผู้กำกับธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ กำลังหยิบยกเอาประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับ "กะเทยห้ามบวช" มาใส่ไว้ในหนังตั้งแล้วเป็นคำถามอย่างตรงไปตรงมา ดูเหมือนว่าเราไม่เคยได้ยินเสียงของสาวประเภทสองเลยว่าพวกเธอจะรู้สึกอย่างไรกันบ้างเมื่อถูกปฏิเสธ "ห้ามบวช" ในขณะที่พวกเธอก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

                ที่จริงแล้วการบวชเป็นเรื่องดีเป็นเรื่องประเสริฐ หากใครอยากบวชก็ควรได้รับการสนับสนุนให้บวช คนที่กำลังมีทุกข์ต้องการที่พึ่งพิงทางใจควรได้รับการเปิดโอกาส ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นเพศอะไร มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน พวกเขาควรได้รับการสนับสนุน  อัตลักษณ์ทางเพศเป็นแค่ "เปลือกนอก" เท่านั้นเอง

                การที่คณะสงฆ์ไม่สามารถเปิดโอกาสให้สาวประเภทสองบวชได้ ผู้เขียนมองอยู่ ๒ ประเด็นคือ ความรู้สึกตะขิดตะขวงใจประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งคือไม่รู้ว่าจะจัดการปรับเปลี่ยนระบบสังฆะให้เกิดการรองรับบุคคลที่แตกต่างอย่างไร

                ความรู้สึกตะขิดตะขวงใจพูดง่ายๆ ก็คือความรู้สึก Transphobia  หรือรู้สึกรังเกียจกะเทยนั่นเอง จะว่าไปความรู้สึกรังเกียจกะเทยมักจะมีด้วยกันเกือบทุกคน มากบ้าง น้อยบ้าง แต่บางคนก็ไม่มี บางคนมีแล้วรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง บางคนรู้ตัวก็พยายามกำจัดความรู้สึกรังเกียจนั้นออกไป หรือไม่ก็พัฒนาความรังเกียจให้กลายเป็นยอมรับ แต่บางคนก็ปล่อยให้ความรู้สึกรังเกียจกะเทยเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นมะเร็งทางทัศนคติโดยไม่คิดจะทำลายมันลงไป ตรงนี้ต่างหากที่เราควรหันมาปรับเปลี่ยนความรู้สึกรังเกียจให้กลายมาเป็นความเข้าใจและยอมรับ

                สำหรับ คณะสงฆ์เองเมื่อรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับสาวประเภทสองจึงเป็นเหตุให้เกิดข้อที่ สองตามมาคือไม่รู้จะจัดการปรับเปลี่ยนระบบสังฆะให้เกิดพื้นที่สำหรับคนที่ แตกต่างอย่างไร เพราะติดขัดเรื่องการตีความพระธรรมวินัย 

                ในทางตรงกันข้ามหากคณะสงฆ์สามารถเข้าไปจัดการกับความรู้สึกตะขิดตะขวงใจได้เมื่อไร เมื่อนั้นคณะสงฆ์ก็จะสามารถตีความพระธรรมวินัยให้เกิดพื้นที่สำหรับบุคคลที่แตกต่างได้เมื่อนั้น เหมือนกับที่มีการตีความพระธรรมวินัยให้เกิดพื้นที่สำหรับ "เพศชาย" ในหลายๆ เรื่องมาแล้ว แต่ปัญหาก็คือพุทธศาสนาไม่เคยถูกตีความให้เกิดพื้นที่ให้คนที่แตกต่างได้มีที่เหยียบที่ยืน จึงดูเหมือนว่าพุทธศาสนาเป็นของเพศชายเท่านั้น ซึ่งในที่สุดประเด็น "กะเทยห้ามบวช" ก็เป็นประเด็นเดียวกันกับ "ผู้หญิงห้ามบวช" คือ คณะสงฆ์ยังคงรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับผู้หญิงห่มจีวรจึงไม่สามารถทำลายกำแพงอคติที่มีต่อผู้หญิงลงไปได้ ผู้หญิงจึงยังไม่ได้รับการยอมรับให้บวชเป็นภิกษุณีอย่างเป็นทางการ ในขณะที่พุทธศาสนาเป็นของคนทุกเพศ ไม่ว่าเขา/เธอคนนั้นจะเป็นเพศอะไร พวกเขาควรมีส่วนร่วมในพุทธศาสนาเพราะพุทธศาสนาไม่ใช่ของคนเพศใดเพศหนึ่ง

ส่วนกรณีที่เธอบวชเข้ามาแล้วมีการแต่งหน้าทาปากจนภาพหลุดออกมาในอินเตอร์เน็ตบ่อยๆ ในระยะหลังๆ ผู้เขียนมอง ๓ ประเด็นด้วยกันก็คือ 

หนึ่ง การแต่งหน้าเป็นอาบัติเบายังไม่ใช่อาบัติหนักหรือความผิดอย่างหนัก สามารถตักเตือนแนะนำกันได้ ซึ่งหน้าที่การตักเตือนแนะนำควรเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสหรืออุปัชฌาย์เพราะท่านมีหน้าที่ดูแลพระเณรในวัดโดยตรง
 
สอง การที่ข่าวของพวกเธอถูกนำมาลงตามหน้าหนังสือพิมพ์อย่างน้อยก็เป็นการบ่งบอกว่าพวกเธอมีตัวตนอยู่จริงในพุทธศาสนา การที่ภาพของพวกเธอหลุดออกมาจนตกเป็นข่าวตามสื่อก็ถือว่าเป็นการเข้าไป "แนะนำ-ตักเตือน" จากสาธารณะโดยอัตโนมัติ คงไม่มีใครอยากตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ และคงไม่มีใครอยากเห็นหน้าตัวเองตกเป็นข่าวโชว์หราอยู่ในจอโทรทัศน์แน่ๆ

สาม การที่พวกเธอแต่งหน้าทาปากก็เป็นพฤติกรรมคล้ายๆ กับเด็ก "หัวโปก" ในโรงเรียนที่ชอบแต่งหน้าทาปาก เพียง แต่ว่าพวกเธออาจจะอยู่ในสถานะที่ไม่ควรทำเช่นนั้น พอภาพเณรแต่งหน้าทาปากหลุดออกไปก็สามารถตกเป็นข่าวได้ทันทีเพราะเรื่องราว ของพระเณรเป็นข่าวเด่นที่ทำให้ยอดขายหนังสือพิมพ์พุ่งกระฉูดได้กำไรดีอยู่ แล้ว

ในขณะที่ภิกษุสามเณรสาวชอบแต่งหน้าทาปาก ส่วนภิกษุสามเณรชายก็ชอบรวมกลุ่มแอบไปเตะบอลกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าวัยรุ่นไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศอะไรต่างก็มีสิ่งที่ตนสนใจอยากเรียนรู้พัฒนาตัวตนกันไปตามช่วงวัย แต่การอยู่ในโลกศาสนาทำให้การเจริญเติบโตในด้านนี้ถูกมองในแง่ลบมากกว่าจะถูกมองด้วยความเข้าใจ พอมีข่าวเกี่ยวกับพระเณรทำผิดวินัยออกมา ชาวพุทธส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่นุ่งเหลืองห่มเหลืองนั้นก็ยังมีความเป็น "มนุษย์อยู่" ยังสามารถทำผิดกันได้

กลับไปคุยเรื่องหนัง It gets better กันต่อ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มีกลิ่นไอปรัชญาทางพุทธศาสนาแฝงอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ชื่อตัวละครที่พยายามเข้าไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ 

"น้ำ" กะเทยรุ่นปลดระวางที่ทำให้คนดูเห็นว่า  "ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง เมื่อเธอล้างเมคอัพบนใบหน้าก็เผยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วความสวยเป็นเพียงการแต่งเติมจากภายนอกแค่นั้นเอง ร่างกายที่กำลังเข้าสู่ปัจฉิมวัยไม่เต่งตึงเหมือนสมัยสาวๆ ก็เผยให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร
 
      "น้ำ"   ชื่อของเธอยังเป็นสัญลักษณ์ว่าร่างกายของเธอมาจากธรรมชาติ เมื่อร่างกายของเธอหลงเหลือแต่เถ้าถ่าน ท้ายสุดเธอก็ต้องกลับไปสู่ธรรมชาติคือ  "น้ำ ดังเดิม

               "ไฟ"   ตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของความเร่าร้อนในกามารมณ์ ในที่สุดน้ำก็เรียนรู้ถึงความทุกข์จากความร้อนของไฟอันเนื่องมาจากกามารมณ์เมื่อเธอเอาจิตเข้าไปยึดติดคาดหวัง   ไฟจึงไม่ใช่ตัวละครที่ถูกใส่เข้ามาลอยๆ แต่เป็นสัญลักษณ์ให้คนดูได้ตระหนักรู้ถึงความทุกข์ร้อนจากความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยการยึดติดและคาดหวังในความรักความสัมพันธ์

               "ดิน"   ตัวละครที่มีชื่อตามธาตุธรรมชาติอีกตัวที่มาเฉลยในตอนจบว่าทั้งดินและน้ำต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างไร   

        "ต้นไม้"   ตัวละครที่เจริญเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่มีแต่ความ  "รังเกียจกะเทย" เขาจึงซึมซับเอาความรังเกียจกะเทยเข้ามาโดยไม่รู้ตัว คนดูจึงได้แต่หวังว่าว่าในอนาคตต้นไม้จะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นไม้ที่ ปราศจากความรังเกียจกะเทยในที่สุด

โปรดสังเกตว่าคนเขียนบทใช้ชื่อตัวละครอย่างมีความหมาย  เมื่อ "ดิน"  "น้ำ" และ "ต้นไม้" ต่างก็เป็นสามสิ่งที่เกื้อกูลสัมพันธ์กัน หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป  "การเจริญเติบโต ก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อทั้งสามสิ่งอยู่ในภาวะสมดุล ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตงอกงามในที่สุด  


     เรื่องราวของตัวละครที่ดำเนินไปทั้งหมดที่ดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องซ้อนๆ กันอยู่ มาคลายปมตอนจบว่าแท้จริงแล้วตัวละครทุกตัวต่างมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทุกตัวละคร ไม่ต่างกับกฎ "ปฏิจจสมุปบาท"  ที่หมายความว่า ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กันและกันต่อเนื่องเป็นวงจรหมุนเป็นวงวน  โดยมี   "น้ำ" เป็นตัวละครหลักทำหน้าที่ร้อยเรื่องราวตัวละครทั้งหมดให้เชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน

ลักษณะของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันเป็น "ปฏิจจสมุปบาท" ของตัวละครเป็นเหมือนกับการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครที่ในชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับสาวประเภทสอง หรือในชีวิตนี้ไม่มีใครที่ชีวิตนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างน้อยเราทุกคนต่างก็ต้องมีคนใกล้ตัวเป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันทั้งสิ้น 

เขาอาจจะเป็นเพื่อบ้าน เป็นเพื่อนที่ทำงาน เป็นเพื่อนในโรงเรียน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของเราก็ได้  เราไม่ควรรังเกียจพวกเขาเพราะพวกเขาก็อยู่ใกล้ๆ เรา หนังเรื่องนี้จึงเหมาะสำหรับทุกคนได้เรียนรู้เพื่อเข้าใจคนอื่นที่แตกต่างจากเรา


ลักษณะอีกประการหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ทำให้รู้สึกว่าเป็นหนังที่มีปรัชญาพุทธในสายตาผู้เขียนก็คือ หนังบรรยายชีวิตของคนๆ หนึ่งที่พบเจอความทุกข์ตั้งแต่วัยเยาว์ ต้องถูกพ่อจับส่งไปบวชเณรหลังจากพ่อรู้ว่าเป็นกะเทย โดยพ่อหวังว่าการบวชเณรจะทำให้ลูกชายหายจากการเป็นกะเทย พอไปบวชเณรก็ตกหลุมรักหลวงพี่ในวัดเดียวกัน แต่ต้องมาพบกับข้อห้ามทางพุทธศาสนาที่คอยกัดกร่อนความรู้สึกของตนเอง เมื่อโตขึ้นมีลูกมีเมีย เมียจับได้ว่าเป็นกะเทยก็ต้องเลิกร้างกันไป แต่ก็ต้องบอกเมียให้ปิดบังไม่ให้ลูกรู้ว่าพ่อเป็นสาวประเภทสอง รวมทั้งปิดบังพ่อของตัวเองไม่ให้รับรู้ด้วย ทั้งหมดนี้หนังกำลังฉายภาพ "ทุกขสัจจ์" ให้คนดูได้มองเห็นว่าสาวประเภทสองต้องเจอกับมรสุมทุกข์จากสังคมและผู้คนรอบตัวเธออย่างไรบ้าง สังคมจึงควรเรียนรู้ที่จะไม่ทำร้ายคนที่แตกต่างให้เกิดทุกข์ซ้ำซ้อน

แต่ใครจะรู้ว่าทั้งผู้กำกับและโปรดิวเซอร์หนังเรื่องนี้ต่างก็สนใจในพุทธศาสนาด้วยกันทั้งคู่ ทั้งคุณธัญญ์วารินผู้กำกับก็เคยบวชศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นพระภิกษุในช่วงหนึ่งของชีวิต ณ วัดที่มีชื่อเสียงด้านกัมมัฏฐานแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ส่วนคุณฐิติพันธ์ รักษาสัตย์ โปรดิวเซอร์ ก็สนใจการปฏิบัติสมาธิภาวนา จึงไม่น่าสงสัยว่าเหตุใด It gets better  จึงมีแนวคิดปรัชญาพุทธแฝงอยู่เกือบตลอดทั้งเรื่อง

หนัง It gets better ยังมีลักษณะของ "หนังครอบครัว" เมื่อเนื้อหาของหนังแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง "พ่อกับลูก" และ "ลูกกับพ่อ" เมื่อตัวละคร "สายธาร" ผ่านการแปลงเพศไปแล้วแต่ไม่กล้ากลับไปหาพ่อของตัวเองเพราะเกรงว่าพ่อจะรับไม่ได้ ได้แต่แอบซุ่มดูอยู่ห่างๆ ในเวลาเดียวกันเมื่อตนเองมีลูกเปลี่ยนบทบาทมาเป็นพ่อ ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยให้ลูกรับรู้ได้ว่าตนเป็นสาวประเภทสองเพราะกลัวลูกจะรับไม่ได้เช่นกัน 

หนังสะท้อนความจริง ความจริงก็สะท้อนออกมาเป็นหนัง บางทีเราอาจจะสงสัยว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ หรือที่คนเป็นลูกไปผ่าตัดแปลงเพศมาแล้วไม่กล้ากลับไปหาพ่อแม่อีกเลย ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยทีเดียวที่อาจจะเป็นมากกว่าในหนังเสียอีก คือไม่สามารถพัฒนาความรักความเข้าใจที่มีต่อลูกที่เป็นกะเทยไปจนถึงขั้นยอมรับได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีน้อยมากที่ยอมรับได้อย่างจริงใจ

บางครอบครัวก็ไม่เคยหยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยเพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจกันเลย นอกเหนือไปจากคนทั่วไปที่ควรดูหนังเรื่องนี้แล้ว พ่อแม่ที่มีลูกเป็นสาวประเภทสองจึงเป็นคนดูอีกกลุ่มที่ควรไปดูหนังเรื่องนี้

"ไม่ได้ขอให้มารัก" จึงเป็น "หนังครอบครัว" ที่อยากเชิญชวนให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นกะเทยได้ดู คงจะดีไม่น้อยหากพ่อแม่ลูกได้ดูหนังเรื่องนี้ร่วมกันแล้วนำประเด็นในหนังมา พูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจในกันและกันให้มากขึ้น

 เหมือนอย่างที่ธัญญ์วารินผู้กำกับหนังเรื่องนี้บอกว่า "ไม่ได้ขอให้มารัก . . . แค่เข้าใจก็พอ".

อย่าผิดนาน...มันไม่ดี !


คอลัมน์ พึ่งตนพึ่งธรรม่
คมชัดลึก
วันพระ ศุกร์ 17 สิงหาคม 2555

หมายเหตุบทความ : ในการทำงานประเด็น "ธรรมะกับเพศวิถี" ทำให้เรามองเห็นว่า มีคนมากมายต้องเป็นทุกข์ไป  กับเรื่องเพศและการทำพลาดในเรื่องเพศ  ซึ่งเป็นอดีตไปแล้วแต่คนก็ยังเป็นทุกข์อยู่

          ข้าพเจ้าตั้งใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการให้คนที่กำลังเป็นทุกข์ไปกับประเด็นเรื่องเพศได้ "ปลดล็อค" ตัวเอง ไปสู่อิสรภาพทางจิตใจ หรือจิตวิญญาณภายใน แล้วหันมาเริ่มต้นชีวิตใหม่

          บางทีบทความเล็ก ๆ ชิ้นนี้อาจช่วยเหลือใคร ๆ หลายคนที่กำลังเป็นทุกข์อยู่ ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ใจไปได้เสียที...

 




            เราทุกคนต่างเคยทำผิดพลาดในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญคืออย่าปล่อยให้ความรู้สึกผิดนั้นคาใจนานเกินไปเพราะทำให้บั่นทอนกำลังใจในการดำเนินชีวิตโดยเปล่าประโยชน์ ความรู้สึกทุกข์ใจร้อนใจอยู่ไม่เป็นสุขอันเนื่องมาจากความผิดที่ตนเคยทำไว้เรียกว่า วิปฏิสาร(อ่านว่า วิบ ปะ ติ สาน) บ่อยครั้งคนเรามักเก็บวิปฏิสารไว้นานจนเวลาล่วงผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ว่าความผิดนั้นจะร้ายแรงเพียงใดเราควรละวางวิปฏิสารนั้นแล้วเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นใหม่

            ในพระไตรปิฎกมีเรื่องเล่าว่าในสมัยพระพุทธเจ้านามว่ากัสสปะ ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ในถ้ำติดชายทะเลอยู่เพียงรูปเดียว วันหนึ่งขณะสรงน้ำมีเรือแล่นผ่านมา ท่านเห็นตะไคร่น้ำเป็นพุ่มยาวออกมาจากใต้ท้องเรือจึงนึกสนุกโผกายเข้าไปจับตะไคร่น้ำแล้วปล่อยให้เรือลากตัวท่านไปจนตะไคร่น้ำขาดออกจากกัน ขณะนั้นท่านรู้ตัวว่าตนเองต้องอาบัติเสียแล้วเพราะมีพุทธบัญญัติข้อหนึ่งระบุว่าห้ามภิกษุพรากของเขียว หมายถึงห้ามภิกษุตัดต้นไม้หรือทำพืชทุกชนิดขาดออกจากกัน หากทำเช่นนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์
 
            อาบัติปาจิตตีย์จะระงับได้ต่อเมื่อภิกษุได้แสดงอาบัตินั้นแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่ง แต่ภิกษุรูปนี้จำพรรษาอยู่ในถ้ำริมทะเลเพียงรูปเดียวยังหาภิกษุอื่นมาร่วมแสดงอาบัติไม่ได้ ท่านจึงตั้งใจไว้ว่าหากพบเจอภิกษุท่านใดผ่านมาจะแสดงอาบัติทันทีเมื่อมีโอกาส จนกระทั่งมีเหตุให้ภิกษุรูปนี้เสียชีวิตไปในขณะที่ยังหาภิกษุรูปอื่นมาปลงอาบัติไม่ได้ ในใจก็ยังติดข้องอยู่ในอาบัตินั้น ความติดข้องนี้เป็นเหตุให้ภิกษุรูปดังกล่าวไปเกิดเป็นพญานาคทั้งๆ ที่ท่านบำเพ็ญเพียรมานานน่าจะไปจุติบนพรหมโลกหรือไปสู่ภพภูมิที่สูงกว่า แต่ก็ไม่สามารถไปเกิดได้เพราะจิตติดข้องอยู่กับอาบัติเพียงตัวเดียว 

            แท้จริงแล้วอาบัติปาจิตตีย์เป็นเพียงอาบัติเล็กน้อย การทำตะไคร่น้ำขาดมิได้เป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจึงไม่น่ามีผลให้ภิกษุรูปดังกล่าวต้องไปเกิดเป็นพญานาค พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ขึ้นมามีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันมิให้ภิกษุทำลายต้นไม้ทำลายธรรมชาติ แต่ด้วยจิตที่ติดข้องอยู่กับอาบัติเพียงเล็กน้อยทำให้ต้องไปเกิดเป็นพญานาค และเป็นพญานาคที่มีลักษณะแตกต่างจากพญานาคทั่วไป ตามลำตัวมีเกล็ดเหมือนตะไคร่น้ำลุ่มล่ามนุงนังไปหมด เนื่องจากขณะวาระจิตใกล้ดับจิตปรุงแต่งแต่เรื่องที่ตนเคยทำตะไคร้น้ำฉีกขาดเมื่อไปเกิดเป็นพญานาคจึงทำให้มีเกล็ดคล้ายตะไคร่น้ำไปด้วย หากภิกษุรูปดังกล่าวสามารถทำความเข้าใจได้ว่าอาบัติข้อนี้พระพุทธองค์บัญญัติขึ้นมาเพื่อป้องกันมิให้ภิกษุตัดไม้ทำลายป่า และการทำตะไคร่น้ำฉีกขาดก็ไม่ได้เป็นบาปกรรมอะไรก็คงไม่ต้องไปเกิดเป็นพญานาคเช่นนั้น
            เมื่อไม่นานมานี้เพื่อนสนิทของผู้เขียนที่เรียนมาด้วยกันตอนมัธยมเพิ่งมาเล่าให้ฟังว่าตอนอยู่ ม.ปลายตนเองท้องแล้วไปทำแท้ง สาเหตุเนื่องจากเวลานั้นพ่อแม่ทะเลาะกันรุนแรงตั้งแต่เช้าวันหนึ่งไปจนถึงรุ่งเช้าของอีกวัน  (พ่อแม่ที่ชอบทะเลาะกันให้ลูกเห็นควรหยุดพฤติกรรมดังกล่าวเสีย เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบกับเด็กๆ เหมือนอย่างกรณีนี้) ตนเองรู้สึกทุกข์ใจมากที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันรุนแรงทุกวัน จึงไม่อยากกลับบ้านเพราะบ้านกลายเป็นนรกไปแล้ว ด้วยความเป็นวัยรุ่นยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอจึงไปอยู่กับแฟนซึ่งเรียนอยู่ระดับเดียวกัน ในที่สุดก็ตั้งท้องขึ้นมา เวลานั้นตนเองตัดสินใจว่าถ้าไม่ยุติการตั้งครรภ์อนาคตของตนเองและของแฟนคงดับวูบเพราะยังเรียนหนังสือกันอยู่ พ่อแม่ก็พึ่งไม่ได้เพราะเอาแต่ทะเลาะกันทุกวัน ในที่สุดจึงตัดสินใจไปทำแท้ง

            ผู้เขียนได้ฟังก็รู้สึกสงสารที่เพื่อนต้องพบเจอกับประสบการณ์ที่รุนแรงในชีวิตและเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่เพื่อนก็ยังเก็บความรู้สึกผิดที่ตนเคยทำแท้งไว้ในใจตลอดมา ผู้เขียนจึงให้ธรรมะไปว่าให้ละความรู้สึกผิดนั้นไปเสีย เหตุการณ์ได้ผ่านมานานแล้ว การที่เรารู้สึกผิดมาตลอด ๒๐ กว่าปีก็ถือว่าเป็นการสำนึกผิดที่นานพอแล้ว ระหว่างนั้นเราทำบุญมาตลอด เชื่อว่าป่านนี้ดวงวิญญาณคงไปเกิดเป็นลูกคนอื่นไปแล้วเพราะในสังสารวัฏฏ์นี้มีการหมุนเวียนกันตลอดเวลา ไม่มีใครอยู่ในภพภูมิใดภพภูมิหนึ่งอย่างถาวร เมื่อถึงเวลาทุกดวงวิญญาณก็ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนภพภูมิกันไป แต่ถ้าเรายังรู้สึกไม่ดีก็ควรแผ่เมตตาให้กับดวงวิญญาณที่เราได้ทำพลาดไป แผ่เมตตาให้เขาทุกวันเท่าที่เราสามารถระลึกได้ ไม่จำเป็นต้องไปทำบุญแก้กรรมเสียเงินเป็นหมื่นเหมือนอย่างที่บางวัดจัดงานแก้กรรมทำแท้งกันเอิกเกริก แค่เราสวดมนต์เจริญเมตตาภาวนาให้เขาทุกๆ วันก็ถือว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมและเป็นสัมมาทิฏฐิที่สุด แล้วดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความมีเมตตากรุณากับคนอื่นๆ ช่วยเหลือคนทุกข์ยากเท่าที่เราจะช่วยได้ แล้วเรียนรู้ที่จะไม่ทำพลาดอีก

            โอวาทปาติโมกข์ที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมในวันมาฆบูชาก็กล่าวไว้ชัดเจนว่าให้ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ในขณะที่เรายังเป็นปุถุชนบางครั้งก็ยังทำผิดพลาดกันได้ การทำจิตใจให้ผ่องใสเบิกบานจึงเป็นหัวใจของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชีวิตของคนเราจะดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพก็ต่อเมื่อมีจิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน หากจิตใจติดขัดด้วยความรู้สึกผิดอันเกิดจากการทำพลาดในอดีต ชีวิตทั้งชีวิตก็เปรียบเหมือนกับการตกนรกทั้งเป็น หากจิตใจไร้ความสุขเสียแล้วจะมีผลกระทบกับการดำเนินชีวิต ดังนั้นเราควรเรียนรู้ที่จะละทิ้งความรู้สึกผิดในตัวเองออกไปเสีย

       ผู้เขียนเคยไปเที่ยววัดๆ หนึ่ง ในวัดแขวนป้ายไว้น่ากลัวว่า 

ทำแท้ง รีดลูกบาป ตกนรก ตกอับ หากินไม่เจริญ
 
       ผู้เขียนเข้าใจดีถึงเจตนารมณ์ของคนเขียนป้ายว่าคงเป็นห่วงผู้หญิงและชีวิตน้อยๆ ในครรภ์ แต่ป้ายคำสอนลักษณะนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการซ้ำเติมคนที่กำลังเป็นทุกข์ ทำให้คนที่ทุกข์ใจอยู่แล้วไม่สามารถหลุดพ้นไปจากความทุกข์ได้ หากบังเอิญมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งเคยทำแท้งมาเจอป้ายนี้เข้า การมาวัดของเธอเพื่อหวังจะได้ความสงบใจก็อาจจะตกนรกไปในบัดดล เพราะหลังจากเธอเห็นป้ายนั้นเธอคงตราตรึงไปกับความรู้สึกผิดบาปไปอีกนานจนยากจะแกะออก และอย่าเข้าใจผิดว่าผู้หญิงเท่านั้นที่รู้สึกผิด แม้ผู้ชายเองก็รู้สึกผิดได้เช่นกัน เคยมีโยมผู้ชายคนหนึ่งเล่าความทุกข์ใจให้ผู้เขียนฟังว่าตนเองเคยสนับสนุนภริยาให้ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์เพราะเศรษฐกิจในครอบครัวเวลานั้นยังไม่พร้อมจะมีบุตร ซึ่งในที่สุดผู้เขียนก็ต้องให้ธรรมะปลอบใจไม่ซ้ำเติมเพื่อให้ชายคนนั้นมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป ชายผู้นั้นจึงรู้สึกดีขึ้น

            การเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดามักเผชิญกับความทุกข์ใจจากการทำผิดพลาดในอดีตอยู่เสมอ การรักษาจิตใจให้แจ่มใสเบิกบานจึงเป็นสิ่งจำเป็น จิตใจที่แจ่มใสเบิกบานเป็นที่มาของชีวิตที่เป็นสุข จิตใจที่แจ่มใสเบิกบานยังเป็นมงคลข้อสุดท้ายในมงคล ๓๘ ประการ นั่นคือมี จิตอันเกษม

แต่การจะมี จิตอันเกษมได้ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เราทำลงไป ชีวิตของแต่ละคนมักตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทดสอบให้ทำผิดพลาดกันได้เสมอ หากเราไม่อยากเผชิญกับวิปฏิสารจากเรื่องผิดพลาด เราควรมีสติคิดถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังกับทุกเรื่องที่เรากำลังตัดสินใจกระทำลงไป เพราะเมื่อพลาดไปแล้วเราก็ต้องกลับไปสู่วังวนของความทุกข์ใจที่ยากจะหลุดพ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการดำเนินชีวิตด้วยความมีสติรอบคอบ มีชีวิตที่ไม่ประมาท แต่หากพลาดพลั้งไปก็ควรเริ่มต้นใหม่ด้วยการทำความดีและไม่หวนกลับไปพลาดซ้ำอีก

หากผู้เขียนเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น เราจะนำป้ายนั้นออกแล้วเขียนเสียใหม่ว่า

            สิ่งใดทำไปแล้ว มันผ่านไปแล้ว
                มันเป็นอดีตไปแล้ว
                ลืมๆ มันไปเสียเถิด
                แล้วเริ่มต้นทำความดีกันใหม่

                บางทีป้ายใหม่อันนี้อาจช่วยแก้ปมวิปฏิสารของคนที่เข้ามาวัดได้มากมายมหาศาลทีเดียว ขณะเดียวกันก็อย่าเผลอทำผิดซ้ำ...ผิดซ้ำผิดนานมันไม่ดี.