วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

It gets better : พุทธศาสนาเป็นของฅนทุกเพศ

กรุงเทพธุรกิจ / สนามวิจารณ์ / อังคาร 20 มีนา 2555

(บทความเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ / โปรดระวัง) 


สาวประเภทสองนางหนึ่งกำลังนั่งร้องไห้อยู่หน้าประตูโบสถ์ สามเณรเดินออกจากโบสถ์มาเห็นเข้าจึงถามเธอว่าเป็นอะไรถึงร้องไห้ เธอเล่าให้สามเณรฟังว่าเพิ่งโดนแฟนหนุ่มทิ้ง ด้วยความช้ำใจเธอเอามีดกรีดข้อมือหวังฆ่าตัวตาย รู้สึกตัวอีกทีก็พบว่าตัวเองกำลังนอนซมอยู่ในโรงพยาบาลมีแม่กับพ่อนั่งเฝ้าอยู่ข้างเตียง เธออยากตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยการบวชพระ แต่พอเธอมาถึงวัดหลวงตาก็ปฏิเสธความต้องการของเธอเพียงเพราะว่าเธอไปทำหน้าอกและผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว ...

                นั่นเป็นฉากหนึ่งในหนัง "ไม่ได้ขอให้มารัก" ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าไปดูรอบพิเศษสำหรับคนทำงานประเด็นทางสังคม

                ผู้กำกับธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ กำลังหยิบยกเอาประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับ "กะเทยห้ามบวช" มาใส่ไว้ในหนังตั้งแล้วเป็นคำถามอย่างตรงไปตรงมา ดูเหมือนว่าเราไม่เคยได้ยินเสียงของสาวประเภทสองเลยว่าพวกเธอจะรู้สึกอย่างไรกันบ้างเมื่อถูกปฏิเสธ "ห้ามบวช" ในขณะที่พวกเธอก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

                ที่จริงแล้วการบวชเป็นเรื่องดีเป็นเรื่องประเสริฐ หากใครอยากบวชก็ควรได้รับการสนับสนุนให้บวช คนที่กำลังมีทุกข์ต้องการที่พึ่งพิงทางใจควรได้รับการเปิดโอกาส ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นเพศอะไร มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน พวกเขาควรได้รับการสนับสนุน  อัตลักษณ์ทางเพศเป็นแค่ "เปลือกนอก" เท่านั้นเอง

                การที่คณะสงฆ์ไม่สามารถเปิดโอกาสให้สาวประเภทสองบวชได้ ผู้เขียนมองอยู่ ๒ ประเด็นคือ ความรู้สึกตะขิดตะขวงใจประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งคือไม่รู้ว่าจะจัดการปรับเปลี่ยนระบบสังฆะให้เกิดการรองรับบุคคลที่แตกต่างอย่างไร

                ความรู้สึกตะขิดตะขวงใจพูดง่ายๆ ก็คือความรู้สึก Transphobia  หรือรู้สึกรังเกียจกะเทยนั่นเอง จะว่าไปความรู้สึกรังเกียจกะเทยมักจะมีด้วยกันเกือบทุกคน มากบ้าง น้อยบ้าง แต่บางคนก็ไม่มี บางคนมีแล้วรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง บางคนรู้ตัวก็พยายามกำจัดความรู้สึกรังเกียจนั้นออกไป หรือไม่ก็พัฒนาความรังเกียจให้กลายเป็นยอมรับ แต่บางคนก็ปล่อยให้ความรู้สึกรังเกียจกะเทยเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นมะเร็งทางทัศนคติโดยไม่คิดจะทำลายมันลงไป ตรงนี้ต่างหากที่เราควรหันมาปรับเปลี่ยนความรู้สึกรังเกียจให้กลายมาเป็นความเข้าใจและยอมรับ

                สำหรับ คณะสงฆ์เองเมื่อรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับสาวประเภทสองจึงเป็นเหตุให้เกิดข้อที่ สองตามมาคือไม่รู้จะจัดการปรับเปลี่ยนระบบสังฆะให้เกิดพื้นที่สำหรับคนที่ แตกต่างอย่างไร เพราะติดขัดเรื่องการตีความพระธรรมวินัย 

                ในทางตรงกันข้ามหากคณะสงฆ์สามารถเข้าไปจัดการกับความรู้สึกตะขิดตะขวงใจได้เมื่อไร เมื่อนั้นคณะสงฆ์ก็จะสามารถตีความพระธรรมวินัยให้เกิดพื้นที่สำหรับบุคคลที่แตกต่างได้เมื่อนั้น เหมือนกับที่มีการตีความพระธรรมวินัยให้เกิดพื้นที่สำหรับ "เพศชาย" ในหลายๆ เรื่องมาแล้ว แต่ปัญหาก็คือพุทธศาสนาไม่เคยถูกตีความให้เกิดพื้นที่ให้คนที่แตกต่างได้มีที่เหยียบที่ยืน จึงดูเหมือนว่าพุทธศาสนาเป็นของเพศชายเท่านั้น ซึ่งในที่สุดประเด็น "กะเทยห้ามบวช" ก็เป็นประเด็นเดียวกันกับ "ผู้หญิงห้ามบวช" คือ คณะสงฆ์ยังคงรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับผู้หญิงห่มจีวรจึงไม่สามารถทำลายกำแพงอคติที่มีต่อผู้หญิงลงไปได้ ผู้หญิงจึงยังไม่ได้รับการยอมรับให้บวชเป็นภิกษุณีอย่างเป็นทางการ ในขณะที่พุทธศาสนาเป็นของคนทุกเพศ ไม่ว่าเขา/เธอคนนั้นจะเป็นเพศอะไร พวกเขาควรมีส่วนร่วมในพุทธศาสนาเพราะพุทธศาสนาไม่ใช่ของคนเพศใดเพศหนึ่ง

ส่วนกรณีที่เธอบวชเข้ามาแล้วมีการแต่งหน้าทาปากจนภาพหลุดออกมาในอินเตอร์เน็ตบ่อยๆ ในระยะหลังๆ ผู้เขียนมอง ๓ ประเด็นด้วยกันก็คือ 

หนึ่ง การแต่งหน้าเป็นอาบัติเบายังไม่ใช่อาบัติหนักหรือความผิดอย่างหนัก สามารถตักเตือนแนะนำกันได้ ซึ่งหน้าที่การตักเตือนแนะนำควรเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสหรืออุปัชฌาย์เพราะท่านมีหน้าที่ดูแลพระเณรในวัดโดยตรง
 
สอง การที่ข่าวของพวกเธอถูกนำมาลงตามหน้าหนังสือพิมพ์อย่างน้อยก็เป็นการบ่งบอกว่าพวกเธอมีตัวตนอยู่จริงในพุทธศาสนา การที่ภาพของพวกเธอหลุดออกมาจนตกเป็นข่าวตามสื่อก็ถือว่าเป็นการเข้าไป "แนะนำ-ตักเตือน" จากสาธารณะโดยอัตโนมัติ คงไม่มีใครอยากตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ และคงไม่มีใครอยากเห็นหน้าตัวเองตกเป็นข่าวโชว์หราอยู่ในจอโทรทัศน์แน่ๆ

สาม การที่พวกเธอแต่งหน้าทาปากก็เป็นพฤติกรรมคล้ายๆ กับเด็ก "หัวโปก" ในโรงเรียนที่ชอบแต่งหน้าทาปาก เพียง แต่ว่าพวกเธออาจจะอยู่ในสถานะที่ไม่ควรทำเช่นนั้น พอภาพเณรแต่งหน้าทาปากหลุดออกไปก็สามารถตกเป็นข่าวได้ทันทีเพราะเรื่องราว ของพระเณรเป็นข่าวเด่นที่ทำให้ยอดขายหนังสือพิมพ์พุ่งกระฉูดได้กำไรดีอยู่ แล้ว

ในขณะที่ภิกษุสามเณรสาวชอบแต่งหน้าทาปาก ส่วนภิกษุสามเณรชายก็ชอบรวมกลุ่มแอบไปเตะบอลกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าวัยรุ่นไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศอะไรต่างก็มีสิ่งที่ตนสนใจอยากเรียนรู้พัฒนาตัวตนกันไปตามช่วงวัย แต่การอยู่ในโลกศาสนาทำให้การเจริญเติบโตในด้านนี้ถูกมองในแง่ลบมากกว่าจะถูกมองด้วยความเข้าใจ พอมีข่าวเกี่ยวกับพระเณรทำผิดวินัยออกมา ชาวพุทธส่วนใหญ่จึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่นุ่งเหลืองห่มเหลืองนั้นก็ยังมีความเป็น "มนุษย์อยู่" ยังสามารถทำผิดกันได้

กลับไปคุยเรื่องหนัง It gets better กันต่อ หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มีกลิ่นไอปรัชญาทางพุทธศาสนาแฝงอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ชื่อตัวละครที่พยายามเข้าไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ 

"น้ำ" กะเทยรุ่นปลดระวางที่ทำให้คนดูเห็นว่า  "ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง เมื่อเธอล้างเมคอัพบนใบหน้าก็เผยให้เห็นว่าแท้จริงแล้วความสวยเป็นเพียงการแต่งเติมจากภายนอกแค่นั้นเอง ร่างกายที่กำลังเข้าสู่ปัจฉิมวัยไม่เต่งตึงเหมือนสมัยสาวๆ ก็เผยให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร
 
      "น้ำ"   ชื่อของเธอยังเป็นสัญลักษณ์ว่าร่างกายของเธอมาจากธรรมชาติ เมื่อร่างกายของเธอหลงเหลือแต่เถ้าถ่าน ท้ายสุดเธอก็ต้องกลับไปสู่ธรรมชาติคือ  "น้ำ ดังเดิม

               "ไฟ"   ตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของความเร่าร้อนในกามารมณ์ ในที่สุดน้ำก็เรียนรู้ถึงความทุกข์จากความร้อนของไฟอันเนื่องมาจากกามารมณ์เมื่อเธอเอาจิตเข้าไปยึดติดคาดหวัง   ไฟจึงไม่ใช่ตัวละครที่ถูกใส่เข้ามาลอยๆ แต่เป็นสัญลักษณ์ให้คนดูได้ตระหนักรู้ถึงความทุกข์ร้อนจากความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยการยึดติดและคาดหวังในความรักความสัมพันธ์

               "ดิน"   ตัวละครที่มีชื่อตามธาตุธรรมชาติอีกตัวที่มาเฉลยในตอนจบว่าทั้งดินและน้ำต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างไร   

        "ต้นไม้"   ตัวละครที่เจริญเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่มีแต่ความ  "รังเกียจกะเทย" เขาจึงซึมซับเอาความรังเกียจกะเทยเข้ามาโดยไม่รู้ตัว คนดูจึงได้แต่หวังว่าว่าในอนาคตต้นไม้จะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นไม้ที่ ปราศจากความรังเกียจกะเทยในที่สุด

โปรดสังเกตว่าคนเขียนบทใช้ชื่อตัวละครอย่างมีความหมาย  เมื่อ "ดิน"  "น้ำ" และ "ต้นไม้" ต่างก็เป็นสามสิ่งที่เกื้อกูลสัมพันธ์กัน หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป  "การเจริญเติบโต ก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อทั้งสามสิ่งอยู่ในภาวะสมดุล ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตงอกงามในที่สุด  


     เรื่องราวของตัวละครที่ดำเนินไปทั้งหมดที่ดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องซ้อนๆ กันอยู่ มาคลายปมตอนจบว่าแท้จริงแล้วตัวละครทุกตัวต่างมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทุกตัวละคร ไม่ต่างกับกฎ "ปฏิจจสมุปบาท"  ที่หมายความว่า ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กันและกันต่อเนื่องเป็นวงจรหมุนเป็นวงวน  โดยมี   "น้ำ" เป็นตัวละครหลักทำหน้าที่ร้อยเรื่องราวตัวละครทั้งหมดให้เชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน

ลักษณะของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันเป็น "ปฏิจจสมุปบาท" ของตัวละครเป็นเหมือนกับการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครที่ในชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับสาวประเภทสอง หรือในชีวิตนี้ไม่มีใครที่ชีวิตนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างน้อยเราทุกคนต่างก็ต้องมีคนใกล้ตัวเป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันทั้งสิ้น 

เขาอาจจะเป็นเพื่อบ้าน เป็นเพื่อนที่ทำงาน เป็นเพื่อนในโรงเรียน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของเราก็ได้  เราไม่ควรรังเกียจพวกเขาเพราะพวกเขาก็อยู่ใกล้ๆ เรา หนังเรื่องนี้จึงเหมาะสำหรับทุกคนได้เรียนรู้เพื่อเข้าใจคนอื่นที่แตกต่างจากเรา


ลักษณะอีกประการหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ทำให้รู้สึกว่าเป็นหนังที่มีปรัชญาพุทธในสายตาผู้เขียนก็คือ หนังบรรยายชีวิตของคนๆ หนึ่งที่พบเจอความทุกข์ตั้งแต่วัยเยาว์ ต้องถูกพ่อจับส่งไปบวชเณรหลังจากพ่อรู้ว่าเป็นกะเทย โดยพ่อหวังว่าการบวชเณรจะทำให้ลูกชายหายจากการเป็นกะเทย พอไปบวชเณรก็ตกหลุมรักหลวงพี่ในวัดเดียวกัน แต่ต้องมาพบกับข้อห้ามทางพุทธศาสนาที่คอยกัดกร่อนความรู้สึกของตนเอง เมื่อโตขึ้นมีลูกมีเมีย เมียจับได้ว่าเป็นกะเทยก็ต้องเลิกร้างกันไป แต่ก็ต้องบอกเมียให้ปิดบังไม่ให้ลูกรู้ว่าพ่อเป็นสาวประเภทสอง รวมทั้งปิดบังพ่อของตัวเองไม่ให้รับรู้ด้วย ทั้งหมดนี้หนังกำลังฉายภาพ "ทุกขสัจจ์" ให้คนดูได้มองเห็นว่าสาวประเภทสองต้องเจอกับมรสุมทุกข์จากสังคมและผู้คนรอบตัวเธออย่างไรบ้าง สังคมจึงควรเรียนรู้ที่จะไม่ทำร้ายคนที่แตกต่างให้เกิดทุกข์ซ้ำซ้อน

แต่ใครจะรู้ว่าทั้งผู้กำกับและโปรดิวเซอร์หนังเรื่องนี้ต่างก็สนใจในพุทธศาสนาด้วยกันทั้งคู่ ทั้งคุณธัญญ์วารินผู้กำกับก็เคยบวชศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นพระภิกษุในช่วงหนึ่งของชีวิต ณ วัดที่มีชื่อเสียงด้านกัมมัฏฐานแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ส่วนคุณฐิติพันธ์ รักษาสัตย์ โปรดิวเซอร์ ก็สนใจการปฏิบัติสมาธิภาวนา จึงไม่น่าสงสัยว่าเหตุใด It gets better  จึงมีแนวคิดปรัชญาพุทธแฝงอยู่เกือบตลอดทั้งเรื่อง

หนัง It gets better ยังมีลักษณะของ "หนังครอบครัว" เมื่อเนื้อหาของหนังแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง "พ่อกับลูก" และ "ลูกกับพ่อ" เมื่อตัวละคร "สายธาร" ผ่านการแปลงเพศไปแล้วแต่ไม่กล้ากลับไปหาพ่อของตัวเองเพราะเกรงว่าพ่อจะรับไม่ได้ ได้แต่แอบซุ่มดูอยู่ห่างๆ ในเวลาเดียวกันเมื่อตนเองมีลูกเปลี่ยนบทบาทมาเป็นพ่อ ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยให้ลูกรับรู้ได้ว่าตนเป็นสาวประเภทสองเพราะกลัวลูกจะรับไม่ได้เช่นกัน 

หนังสะท้อนความจริง ความจริงก็สะท้อนออกมาเป็นหนัง บางทีเราอาจจะสงสัยว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ หรือที่คนเป็นลูกไปผ่าตัดแปลงเพศมาแล้วไม่กล้ากลับไปหาพ่อแม่อีกเลย ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยทีเดียวที่อาจจะเป็นมากกว่าในหนังเสียอีก คือไม่สามารถพัฒนาความรักความเข้าใจที่มีต่อลูกที่เป็นกะเทยไปจนถึงขั้นยอมรับได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีน้อยมากที่ยอมรับได้อย่างจริงใจ

บางครอบครัวก็ไม่เคยหยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยเพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจกันเลย นอกเหนือไปจากคนทั่วไปที่ควรดูหนังเรื่องนี้แล้ว พ่อแม่ที่มีลูกเป็นสาวประเภทสองจึงเป็นคนดูอีกกลุ่มที่ควรไปดูหนังเรื่องนี้

"ไม่ได้ขอให้มารัก" จึงเป็น "หนังครอบครัว" ที่อยากเชิญชวนให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นกะเทยได้ดู คงจะดีไม่น้อยหากพ่อแม่ลูกได้ดูหนังเรื่องนี้ร่วมกันแล้วนำประเด็นในหนังมา พูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจในกันและกันให้มากขึ้น

 เหมือนอย่างที่ธัญญ์วารินผู้กำกับหนังเรื่องนี้บอกว่า "ไม่ได้ขอให้มารัก . . . แค่เข้าใจก็พอ".

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น