วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อย่าผิดนาน...มันไม่ดี !


คอลัมน์ พึ่งตนพึ่งธรรม่
คมชัดลึก
วันพระ ศุกร์ 17 สิงหาคม 2555

หมายเหตุบทความ : ในการทำงานประเด็น "ธรรมะกับเพศวิถี" ทำให้เรามองเห็นว่า มีคนมากมายต้องเป็นทุกข์ไป  กับเรื่องเพศและการทำพลาดในเรื่องเพศ  ซึ่งเป็นอดีตไปแล้วแต่คนก็ยังเป็นทุกข์อยู่

          ข้าพเจ้าตั้งใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อต้องการให้คนที่กำลังเป็นทุกข์ไปกับประเด็นเรื่องเพศได้ "ปลดล็อค" ตัวเอง ไปสู่อิสรภาพทางจิตใจ หรือจิตวิญญาณภายใน แล้วหันมาเริ่มต้นชีวิตใหม่

          บางทีบทความเล็ก ๆ ชิ้นนี้อาจช่วยเหลือใคร ๆ หลายคนที่กำลังเป็นทุกข์อยู่ ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ใจไปได้เสียที...

 




            เราทุกคนต่างเคยทำผิดพลาดในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญคืออย่าปล่อยให้ความรู้สึกผิดนั้นคาใจนานเกินไปเพราะทำให้บั่นทอนกำลังใจในการดำเนินชีวิตโดยเปล่าประโยชน์ ความรู้สึกทุกข์ใจร้อนใจอยู่ไม่เป็นสุขอันเนื่องมาจากความผิดที่ตนเคยทำไว้เรียกว่า วิปฏิสาร(อ่านว่า วิบ ปะ ติ สาน) บ่อยครั้งคนเรามักเก็บวิปฏิสารไว้นานจนเวลาล่วงผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ว่าความผิดนั้นจะร้ายแรงเพียงใดเราควรละวางวิปฏิสารนั้นแล้วเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นใหม่

            ในพระไตรปิฎกมีเรื่องเล่าว่าในสมัยพระพุทธเจ้านามว่ากัสสปะ ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ในถ้ำติดชายทะเลอยู่เพียงรูปเดียว วันหนึ่งขณะสรงน้ำมีเรือแล่นผ่านมา ท่านเห็นตะไคร่น้ำเป็นพุ่มยาวออกมาจากใต้ท้องเรือจึงนึกสนุกโผกายเข้าไปจับตะไคร่น้ำแล้วปล่อยให้เรือลากตัวท่านไปจนตะไคร่น้ำขาดออกจากกัน ขณะนั้นท่านรู้ตัวว่าตนเองต้องอาบัติเสียแล้วเพราะมีพุทธบัญญัติข้อหนึ่งระบุว่าห้ามภิกษุพรากของเขียว หมายถึงห้ามภิกษุตัดต้นไม้หรือทำพืชทุกชนิดขาดออกจากกัน หากทำเช่นนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์
 
            อาบัติปาจิตตีย์จะระงับได้ต่อเมื่อภิกษุได้แสดงอาบัตินั้นแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่ง แต่ภิกษุรูปนี้จำพรรษาอยู่ในถ้ำริมทะเลเพียงรูปเดียวยังหาภิกษุอื่นมาร่วมแสดงอาบัติไม่ได้ ท่านจึงตั้งใจไว้ว่าหากพบเจอภิกษุท่านใดผ่านมาจะแสดงอาบัติทันทีเมื่อมีโอกาส จนกระทั่งมีเหตุให้ภิกษุรูปนี้เสียชีวิตไปในขณะที่ยังหาภิกษุรูปอื่นมาปลงอาบัติไม่ได้ ในใจก็ยังติดข้องอยู่ในอาบัตินั้น ความติดข้องนี้เป็นเหตุให้ภิกษุรูปดังกล่าวไปเกิดเป็นพญานาคทั้งๆ ที่ท่านบำเพ็ญเพียรมานานน่าจะไปจุติบนพรหมโลกหรือไปสู่ภพภูมิที่สูงกว่า แต่ก็ไม่สามารถไปเกิดได้เพราะจิตติดข้องอยู่กับอาบัติเพียงตัวเดียว 

            แท้จริงแล้วอาบัติปาจิตตีย์เป็นเพียงอาบัติเล็กน้อย การทำตะไคร่น้ำขาดมิได้เป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจึงไม่น่ามีผลให้ภิกษุรูปดังกล่าวต้องไปเกิดเป็นพญานาค พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ขึ้นมามีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันมิให้ภิกษุทำลายต้นไม้ทำลายธรรมชาติ แต่ด้วยจิตที่ติดข้องอยู่กับอาบัติเพียงเล็กน้อยทำให้ต้องไปเกิดเป็นพญานาค และเป็นพญานาคที่มีลักษณะแตกต่างจากพญานาคทั่วไป ตามลำตัวมีเกล็ดเหมือนตะไคร่น้ำลุ่มล่ามนุงนังไปหมด เนื่องจากขณะวาระจิตใกล้ดับจิตปรุงแต่งแต่เรื่องที่ตนเคยทำตะไคร้น้ำฉีกขาดเมื่อไปเกิดเป็นพญานาคจึงทำให้มีเกล็ดคล้ายตะไคร่น้ำไปด้วย หากภิกษุรูปดังกล่าวสามารถทำความเข้าใจได้ว่าอาบัติข้อนี้พระพุทธองค์บัญญัติขึ้นมาเพื่อป้องกันมิให้ภิกษุตัดไม้ทำลายป่า และการทำตะไคร่น้ำฉีกขาดก็ไม่ได้เป็นบาปกรรมอะไรก็คงไม่ต้องไปเกิดเป็นพญานาคเช่นนั้น
            เมื่อไม่นานมานี้เพื่อนสนิทของผู้เขียนที่เรียนมาด้วยกันตอนมัธยมเพิ่งมาเล่าให้ฟังว่าตอนอยู่ ม.ปลายตนเองท้องแล้วไปทำแท้ง สาเหตุเนื่องจากเวลานั้นพ่อแม่ทะเลาะกันรุนแรงตั้งแต่เช้าวันหนึ่งไปจนถึงรุ่งเช้าของอีกวัน  (พ่อแม่ที่ชอบทะเลาะกันให้ลูกเห็นควรหยุดพฤติกรรมดังกล่าวเสีย เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบกับเด็กๆ เหมือนอย่างกรณีนี้) ตนเองรู้สึกทุกข์ใจมากที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันรุนแรงทุกวัน จึงไม่อยากกลับบ้านเพราะบ้านกลายเป็นนรกไปแล้ว ด้วยความเป็นวัยรุ่นยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอจึงไปอยู่กับแฟนซึ่งเรียนอยู่ระดับเดียวกัน ในที่สุดก็ตั้งท้องขึ้นมา เวลานั้นตนเองตัดสินใจว่าถ้าไม่ยุติการตั้งครรภ์อนาคตของตนเองและของแฟนคงดับวูบเพราะยังเรียนหนังสือกันอยู่ พ่อแม่ก็พึ่งไม่ได้เพราะเอาแต่ทะเลาะกันทุกวัน ในที่สุดจึงตัดสินใจไปทำแท้ง

            ผู้เขียนได้ฟังก็รู้สึกสงสารที่เพื่อนต้องพบเจอกับประสบการณ์ที่รุนแรงในชีวิตและเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่เพื่อนก็ยังเก็บความรู้สึกผิดที่ตนเคยทำแท้งไว้ในใจตลอดมา ผู้เขียนจึงให้ธรรมะไปว่าให้ละความรู้สึกผิดนั้นไปเสีย เหตุการณ์ได้ผ่านมานานแล้ว การที่เรารู้สึกผิดมาตลอด ๒๐ กว่าปีก็ถือว่าเป็นการสำนึกผิดที่นานพอแล้ว ระหว่างนั้นเราทำบุญมาตลอด เชื่อว่าป่านนี้ดวงวิญญาณคงไปเกิดเป็นลูกคนอื่นไปแล้วเพราะในสังสารวัฏฏ์นี้มีการหมุนเวียนกันตลอดเวลา ไม่มีใครอยู่ในภพภูมิใดภพภูมิหนึ่งอย่างถาวร เมื่อถึงเวลาทุกดวงวิญญาณก็ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนภพภูมิกันไป แต่ถ้าเรายังรู้สึกไม่ดีก็ควรแผ่เมตตาให้กับดวงวิญญาณที่เราได้ทำพลาดไป แผ่เมตตาให้เขาทุกวันเท่าที่เราสามารถระลึกได้ ไม่จำเป็นต้องไปทำบุญแก้กรรมเสียเงินเป็นหมื่นเหมือนอย่างที่บางวัดจัดงานแก้กรรมทำแท้งกันเอิกเกริก แค่เราสวดมนต์เจริญเมตตาภาวนาให้เขาทุกๆ วันก็ถือว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมและเป็นสัมมาทิฏฐิที่สุด แล้วดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความมีเมตตากรุณากับคนอื่นๆ ช่วยเหลือคนทุกข์ยากเท่าที่เราจะช่วยได้ แล้วเรียนรู้ที่จะไม่ทำพลาดอีก

            โอวาทปาติโมกข์ที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมในวันมาฆบูชาก็กล่าวไว้ชัดเจนว่าให้ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ในขณะที่เรายังเป็นปุถุชนบางครั้งก็ยังทำผิดพลาดกันได้ การทำจิตใจให้ผ่องใสเบิกบานจึงเป็นหัวใจของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชีวิตของคนเราจะดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพก็ต่อเมื่อมีจิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน หากจิตใจติดขัดด้วยความรู้สึกผิดอันเกิดจากการทำพลาดในอดีต ชีวิตทั้งชีวิตก็เปรียบเหมือนกับการตกนรกทั้งเป็น หากจิตใจไร้ความสุขเสียแล้วจะมีผลกระทบกับการดำเนินชีวิต ดังนั้นเราควรเรียนรู้ที่จะละทิ้งความรู้สึกผิดในตัวเองออกไปเสีย

       ผู้เขียนเคยไปเที่ยววัดๆ หนึ่ง ในวัดแขวนป้ายไว้น่ากลัวว่า 

ทำแท้ง รีดลูกบาป ตกนรก ตกอับ หากินไม่เจริญ
 
       ผู้เขียนเข้าใจดีถึงเจตนารมณ์ของคนเขียนป้ายว่าคงเป็นห่วงผู้หญิงและชีวิตน้อยๆ ในครรภ์ แต่ป้ายคำสอนลักษณะนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการซ้ำเติมคนที่กำลังเป็นทุกข์ ทำให้คนที่ทุกข์ใจอยู่แล้วไม่สามารถหลุดพ้นไปจากความทุกข์ได้ หากบังเอิญมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งเคยทำแท้งมาเจอป้ายนี้เข้า การมาวัดของเธอเพื่อหวังจะได้ความสงบใจก็อาจจะตกนรกไปในบัดดล เพราะหลังจากเธอเห็นป้ายนั้นเธอคงตราตรึงไปกับความรู้สึกผิดบาปไปอีกนานจนยากจะแกะออก และอย่าเข้าใจผิดว่าผู้หญิงเท่านั้นที่รู้สึกผิด แม้ผู้ชายเองก็รู้สึกผิดได้เช่นกัน เคยมีโยมผู้ชายคนหนึ่งเล่าความทุกข์ใจให้ผู้เขียนฟังว่าตนเองเคยสนับสนุนภริยาให้ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์เพราะเศรษฐกิจในครอบครัวเวลานั้นยังไม่พร้อมจะมีบุตร ซึ่งในที่สุดผู้เขียนก็ต้องให้ธรรมะปลอบใจไม่ซ้ำเติมเพื่อให้ชายคนนั้นมีกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป ชายผู้นั้นจึงรู้สึกดีขึ้น

            การเป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดามักเผชิญกับความทุกข์ใจจากการทำผิดพลาดในอดีตอยู่เสมอ การรักษาจิตใจให้แจ่มใสเบิกบานจึงเป็นสิ่งจำเป็น จิตใจที่แจ่มใสเบิกบานเป็นที่มาของชีวิตที่เป็นสุข จิตใจที่แจ่มใสเบิกบานยังเป็นมงคลข้อสุดท้ายในมงคล ๓๘ ประการ นั่นคือมี จิตอันเกษม

แต่การจะมี จิตอันเกษมได้ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เราทำลงไป ชีวิตของแต่ละคนมักตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทดสอบให้ทำผิดพลาดกันได้เสมอ หากเราไม่อยากเผชิญกับวิปฏิสารจากเรื่องผิดพลาด เราควรมีสติคิดถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังกับทุกเรื่องที่เรากำลังตัดสินใจกระทำลงไป เพราะเมื่อพลาดไปแล้วเราก็ต้องกลับไปสู่วังวนของความทุกข์ใจที่ยากจะหลุดพ้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการดำเนินชีวิตด้วยความมีสติรอบคอบ มีชีวิตที่ไม่ประมาท แต่หากพลาดพลั้งไปก็ควรเริ่มต้นใหม่ด้วยการทำความดีและไม่หวนกลับไปพลาดซ้ำอีก

หากผู้เขียนเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น เราจะนำป้ายนั้นออกแล้วเขียนเสียใหม่ว่า

            สิ่งใดทำไปแล้ว มันผ่านไปแล้ว
                มันเป็นอดีตไปแล้ว
                ลืมๆ มันไปเสียเถิด
                แล้วเริ่มต้นทำความดีกันใหม่

                บางทีป้ายใหม่อันนี้อาจช่วยแก้ปมวิปฏิสารของคนที่เข้ามาวัดได้มากมายมหาศาลทีเดียว ขณะเดียวกันก็อย่าเผลอทำผิดซ้ำ...ผิดซ้ำผิดนานมันไม่ดี.          







          

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น