วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

'นารีวงศ์' ประวัติศาสตร์วัตร์ภิกษุณีตอน ๓

     
     ‘นารีวงศ์  ประวัติศาสตร์วัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม
     ตอนที่ ๓ ปัจจุบันของวัตร์นารีวงศ์
                                                                           พระวรธรรม เรื่อง / ภาพปัจจุบัน
                                                                                       อุสาห์ รงคสุวรรณ ภาพอดีต
                                                            คมชัดลึก วันพระ  อาทิตย์ 23 กันยายน 2555


            ห่างจากสะพานพระราม ๕ จังหวัดนนทบุรีไปไม่ไกลคืออดีต วัตร์นารีวงศ์ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยของวัตร์นารีวงศ์ให้เห็นอีกแล้ว หากถามผู้คนแถวนั้นว่า วัตร์นารีวงศ์ไปทางไหน พวกเขาจะสั่นหัวและตอบว่า ไม่รู้จัก บริเวณที่เคยเป็นวัตร์นารีวงศ์ปัจจุบันยังคงเป็นบ้านของนรินทร์ ภาษิต เจ้าของบ้านคนปัจจุบันคือลูกหลานผู้ไม่ต้องการเปิดเผยหน้าตาและชื่อเสียงให้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณะ เราจึงไม่สามารถเปิดเผยหน้าตาและชื่อเสียงของเจ้าของบ้านให้เป็นที่รับรู้ได้

นรินทร์ ภาษิต ได้ถึงแก่กรรม ณ บ้านหลังนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ด้วยอายุ ๗๗ ปี นางสาระบุตรสาวได้ถึงแก่กรรมไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ ด้วยอายุ ๘๘ ปี ในขณะที่นางจงดีผู้น้องอยู่ในวัยชราและได้ย้ายไปอยู่กับลูกหลานที่ต่างจังหวัด ส่วนน้องชายอีก ๓ คนของนางสาระได้ล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา ผู้เขียนมีโอกาสเดินสำรวจรอบๆ บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งวัตร์นารีวงศ์ บัดนี้กลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า บางส่วนเป็นกอหญ้าป่ารก และพบว่าอดีตวัตร์นารีวงศ์แห่งนี้ยังคงหลงเหลือเศษสิ่งก่อสร้างบางอย่างให้ได้รับรู้ว่าในอดีตที่นี่เคยเป็นวัดมาก่อนอย่างน้อยก็ ๓ สิ่ง นั่นคือ ภูเขาจำลอง ซากโบสถ์ และศาลาท่าน้ำ

                     
  ภูเขาจำลอง สิ่งก่อสร้างรูปทรงภูเขาขนาดเล็ก ความสูงประมาณ ๒ เมตร มีต้นไม้ปกคลุมไปทั่ว ภูเขาถูกตกแต่งด้วยไหและโอ่ง บ่งบอกให้รู้ว่าบ้านหลังนี้เคยมีอาชีพปั้นหม้อดินขาย บนภูเขามีโบสถ์ขนาดจิ๋วสร้างประดิษฐานไว้ แต่ปัจจุบันโบสถ์จิ๋วได้พังทลายลงมา 

..........................................................................................................................................

                * โบสถ์ขนาดเล็กบนภูเขาจำลอง ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑
         บนภูเขามีโบสถ์ขนาดจิ๋วเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าที่แห่งนี้เป็นพุทธสถาน
         ปัจจุบันโบสถ์จิ๋วได้พังทลายลงมาในค่ำคืนที่มีพายุฝนเดือนกันยายน ๒๕๔๖
            ................................................................................................................
                     
 ซากผนังโบสถ์ เป็นส่วนของผนังโบสถ์ที่พังทลายลงมาจากภูเขา เป็นศิลปะปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้าปางป่าเลไลยก์ มีรูปช้างกับลิงนั่งหมอบอยู่เคียงข้าง ลายปูนปั้นมีลักษณะสมบูรณ์ 
                    
                     
         *   โบสถ์พังลงมาคงเหลือแต่ผนังโบสถ์ เป็นศิลปะปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้า
                                ปางป่าเลไลยก์ ยังคงความสมบูรณ์สวยงาม 
        ...............................................................................................................................
 
                ศาลาท่าน้ำ สิ่งก่อสร้างชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น หากนั่งเรือจากท่าน้ำนนทบุรีเพื่อเข้ากรุงเทพฯ แล้วหันหน้าไปทางนนทบุรีฝั่งตะวันตกจะแลเห็นศาลาท่าน้ำนี้  เป็นศาลาท่าน้ำสีน้ำตาลทราย ไม่มีการตกแต่งทาสีใดๆ เป็นศาลารูปทรงโบราณที่ดูแปลกตา
                      
                         
                  * ศาลาท่าน้ำ สิ่งก่อสร้างชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุดที่เหลือให้เห็นยามนั่งเรือผ่าน
                                                        เป็นศาลารูปทรงโบราณ ดูแปลกตา 

                    ...........................................................................................................................

              จากการค้นคว้าพบว่าวัตร์นารีวงศ์ในอดีตประกอบไปด้วยที่พักสงฆ์รูปทรงตึกสูง ๗ ชั้น ประกอบด้วยชั้นใต้ดิน ๑ ชั้น บนดิน ๔ ชั้น, ดาดฟ้า ๑ ชั้น, หอคอย ๑ ชั้น รวมเป็น ๗ ชั้น แล้วยังมีป้อมซึ่งเป็นบันไดเวียนขึ้นไปบนยอดเสาประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ทั้งหมดมีมูลค่าอยู่ที่หลักแสนสำหรับการก่อสร้างในเวลานั้น 

                      
                     *    ภาพถ่ายวัตร์นารีวงศ์ ริมน้ำเจ้าพระยาที่มีความสมบูรณ์ที่สุด

                               .................................................................................................

ในอดีต ๘๐ ปีที่แล้วใครสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีความสูงขนาดนี้ได้ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะต้องเป็นคนมีฐานะ เรียกได้ว่าวัตร์นารีวงศ์เป็นสิ่งก่อสร้างที่สะดุดตาที่สุดในแถบริมน้ำเจ้าพระยา หากใครพายเรือผ่านไปมาแถวนั้นก็ต้องฉงนสนเท่ห์ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีการสร้างตึกสูงๆ นอกเสียจากเจดีย์หรือสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ตึกที่สูงที่สุดในเวลานั้นคือตึกที่เยาวราชมีความสูง ๙ ชั้น

น่าสังเกตว่าตึกวัตร์นารีวงศ์ที่นรินทร์สร้างมีความหมายของ พระรัตนตรัยแฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมนี้ กล่าวคือ ยอดบนสุดเป็นป้อมประดิษฐาน พระพุทธ  ชั้นสองรองลงมาเป็นหอคอยหรือหอไตรเป็นสัญลักษณ์ของ พระธรรม ในขณะที่ชั้นล่างถัดลงไปเป็นที่พักสงฆ์ หมายถึง พระสงฆ์  นับว่านรินทร์มีหัวคิดในการสร้างมิใช่น้อย เพราะเป็นการนำความหมายของ พระรัตนตรัย มาใส่ไว้ในสิ่งก่อสร้าง น่าเสียดายที่สิ่งก่อสร้างถูกทำลายไปเสียหมด ไม่หลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ เวลานั้นนรินทร์ถูกจำคุกอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช (๒๔๘๖-๒๔๘๘) ซึ่งเป็นการติดคุกครั้งสุดท้ายของเขาในช่วงปัจฉิมวัย ประกอบกับอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ 

ขณะนั้นลูกๆ ทั้ง ๕ คนของนรินทร์โตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว ลูก ๔ คนลงความเห็นว่าให้ทำลายตึกเสียเหตุผลเพราะจะเป็นจุดเด่นให้เครื่องบินมาทิ้งระเบิดได้ ในขณะที่นางสาระเป็นเพียงเสียงเดียวที่ต้องการให้เก็บรักษาไว้ เมื่อเป็นเพียงเสียงเดียวสิ่งก่อสร้างอันมหัศจรรย์ความสูง ๗ ชั้นของนรินทร์จึงถูกทุบทิ้งตามเสียงข้างมาก ขณะนั้นตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ น่าจะเป็นช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ๒๔๘๘ ที่มีการทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ เหลือเพียงภูเขาจำลอง ซากโบสถ์ และศาลาท่าน้ำ ซึ่งเจ้าของบ้านบอกว่าจะเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงนายนรินทร์นักต่อสู้

                ผู้เขียนถามเจ้าของบ้านว่าอยากพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าที่อดีตเคยเป็นวัตร์นารีวงศ์แห่งนี้ให้เป็นอย่างไร เจ้าของบ้านตอบว่าถ้ามีเงินมากพอก็อยากพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้เป็นสถานปฏิบัติธรรม เพราะตัวเธอเองสนใจการปฏิบัติธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

                สุภาพสตรีท่านดังกล่าวได้เล่าเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ทางราชการมีโครงการจะอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นอนุสรณ์สถานให้กับนายนรินทร์ ภาษิต แต่เนื่องจากเกิดอุปสรรคบางอย่างทำให้โครงการที่จะสร้างอนุสรณ์สถานต้องถูกระงับไป จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายว่าบุคคลผู้ริเริ่มสิ่งดีๆ ให้กับสังคมต้องถูกลืมเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ มีเพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีความหมายในอดีต

                แต่ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งที่นรินทร์ ภาษิต ได้ทำไว้ไม่เคยสูญเปล่า ชาวบ้านละแวกนี้ยังคงระลึกถึงคุณงามความดีของเขาจึงไม่ลืมที่จะตั้งชื่อถนนซอยทางเข้าบ้านของเขาว่า ซอยนรินทร์ (กลึง) ผู้เขียนเชื่อมั่นอยู่เสมอว่าคนที่ทำความดีเพื่อสังคมอย่างน้อยก็ต้องมีคนมองเห็นคุณงามความดีของเขาอย่างแน่นอน เหมือนอย่างที่มีการนำชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อถนนไว้เป็นอนุสรณ์ แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตมานาน ๖๒ ปีแล้วก็ตาม

         
                          *  ชื่อนรินทร์ ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อถนนทางเข้าบ้านว่า
                                         "ซอยนรินทร์ (กลึง)"  เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ นรินทร์ ภาษิต
                           ......................................................................................................

                แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง ณ สถานที่แห่งนี้ย้อนหลังกลับไปเมื่อ ๘๐ กว่าปีที่แล้วเคยมลังเมลืองด้วยความหมายว่าเป็นวัดแห่งแรกของนักบวชหญิง หากแต่วันนี้หลงเหลือเพียงชื่อและเศษซากของโบราณวัตถุที่ยังคงพอหลงเหลือไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาว่า วัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในพุทธศาสนา เคยอยู่ที่นี่

แม้ว่าสถานที่แห่งนี้จะมิได้ไปสู่การรับรู้จากสาธารณะว่านายนรินทร์ ภาษิต และที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอดีตอย่างไร แต่เชื่อว่าผลงานและวีรกรรมของเขาก็ไม่เคยสูญเปล่า เพราะคนที่ตั้งใจทำดีเพื่อสังคมไม่เคยตายไปจากโลกนี้จริงๆ ... เช่นเดียวกับ นรินทร์ ภาษิต คนนี้.

 
หมายเหตุ : ใจความ แถลงการณ์คณะสงฆ์ ๒๔๗๑
๑. แถลงการณ์คณะสงฆ์ ๒๔๗๑ ขัดกับพุทธบัญญัติ พระพุทธเจ้ามิได้ยกเลิกการบวชภิกษุณี-สามเณรี
๒. แถลงการณ์คณะสงฆ์ ๒๔๗๑ ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมายความว่า กฎหมายลูกขัดกับกฎหมายแม่
นอกจากจะขัดกับพุทธบัญญัติแล้วยังขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตามหลักกฎหมายแล้ว แถลงการณ์คณะสงฆ์นี้เป็นโมฆะตั้งแต่แรกแล้ว
๓. ถึงแม้คณะสงฆ์จะห้ามภิกษุ-สามเณรบวชหญิงให้เป็นภิกษุณี แต่ไม่สามารถห้ามหญิงมิให้ไปบวชจากต่างประเทศได้



วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555

'นารีวงศ์' ประวัติศาสตร์วัตร์ภิกษุณี ตอน ๒

                                                                                       
                                                          คมชัดลึก วันพระ 15 กันยายน 2555

     ‘นารีวงศ์  ประวัติศาสตร์วัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม ตอน ๒
         พาลูกสาวออกบวชเป็นสามเณรี
                                                                                               พระวรธรรม / เล่าเรื่อง
                                                                                               อุสาห์ รงคสุวรรณ  / ภาพ

  การพาลูกสาวออกบวชเป็นสามเณรีกลายเป็นข่าวคึกโครมในช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๑-๒๔๗๒ เหตุการณ์ครั้งนั้นมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ใช่ว่านรินทร์จะพาลูกสาวออกบวชโดยไม่มีหลักการใดๆ นรินทร์ให้เหตุผลการบวชลูกสาวของตนเป็นสามเณรีไว้ว่า 

๑)  เพื่อบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญถาวรในแผ่นดินสยาม  
         ๒)  เพื่อตอบแทนบุญคุณของแม่   
         ๓)  เพื่อตอบแทนบุญคุณแก่พระนางประชาบดีโคตมี 
         ๔)  เพื่อภิกขุณีปาฏิโมกข์ (วินัยของภิกษุณี) จะได้ไม่เป็นหมัน  
         ๕)  เพื่อผู้หญิงจะได้ไม่ต้องไปบวชเป็นชีคอยรับใช้พระ   
         ๖)  เพื่อเปิดโอกาสให้หญิงผู้มีศรัทธาได้มีโอกาสบวชเรียนปฏิบัติ   
         ๗)  เพื่อจะได้ไม่อายต่างชาติว่าที่นี่สยามประเทศผู้หญิงก็บวชได้   
         ๘)  เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีต่อหลักธรรมเรื่องหลักตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการหรือโคตมีสูตร  
         ๙)  เมื่อบวชเป็นสามเณรีแล้วจะได้พัฒนาบวชเป็นภิกษุณีต่อไปจนครบพุทธบริษัท ๔   

เห็นได้ว่าแนวคิดรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีของนรินทร์มีความก้าวหน้ามากที่กล้าปฏิวัติให้ผู้หญิงห่มผ้าเหลืองในขณะที่พระสงฆ์ยังไม่กล้าคิดเช่นนั้น นรินทร์ไม่มีอคติต่อเพศหญิงหากเพศหญิงจะห่มจีวรแต่เทิดทูนเพศหญิงในฐานะที่ตนเองอาศัยท้องของเพศหญิงมาเกิดแล้วเรียกการสนับสนุนให้เพศหญิงได้บวชพระว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณแม่ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของสังคมว่าผู้ชายต้องบวชพระเพื่อตอบแทนบุญคุณแม่

จากหลักฐานพบว่านรินทร์มีแนวคิดรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีมาตั้งแต่ก่อตั้งพุทธบริษัทสมาคม เมื่อปี ๒๔๕๕ แล้ว เขาเขียนลงในวารสาร สาระธรรมเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๖  ไว้ว่า ยั่วหญิงสัมมาทิฏฐิให้ริคิด ประกอบกิจกู้ชาติศาสนา ตามเยี่ยงอย่างโคตมีมีแบบมา เพื่อพาลาจะได้ว่าน้อยลงเอย เวลานั้นลูกสาวคนแรกของเขามีอายุเพียง ๓ ขวบ บางทีแนวคิดภิกษุณีของนรินทร์อาจมีมาตั้งแต่เขาบวชเป็นสามเณรอายุ ๑๕ แล้วก็ได้ เพราะนรินทร์ก็เหมือนคนอื่นๆ เมื่อศึกษาพุทธศาสนาก็ต้องพบเจอคำว่า "ภิกษุณี" แล้วก็ชวนให้สงสัยต่อว่าจะเป็นอย่างไรหากผู้หญิงได้บวชภิกษุณีกันอีกครั้ง นี่จึงเป็นความคิดที่สั่งสมเรื่อยมาของนรินทร์ เมื่อถึงเวลาอันเหมาะเขาจึงพาลูกสาว สาระวัย ๑๘ และ จงดีวัย ๑๓ ออกบวชเป็นสามเณรี
 
ก่อนที่จะมีการพาลูกสาวออกบวชนรินทร์สัมภาษณ์ความเห็นของพระภิกษุหลายรูปว่าคิดเห็นอย่างไรหากมีการริเริ่มให้ผู้หญิงอุปสมบทเป็นภิกษุณี มีทั้งพระที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พระที่เห็นด้วยบางรูปถึงกับออกปากว่าจะเป็นอุปัชฌาย์บวชให้ก็มี ผู้เขียนประเมินจากหลักฐานว่าการบรรพชาลูกสาวของนรินทร์น่าจะเกิดขึ้นราวปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นรินทร์เปลี่ยนตึก ๗ ชั้นทำบ้านให้เป็นวัดแล้วตั้งชื่อว่า วัตร์นารีวงศ์ แปลว่าตระกูลของผู้หญิง ใช้คำว่าวัตร์หมายถึงวัตรปฏิบัติแทนคำว่าวัด ต่อมามีสตรีอีก ๖ คนเต็มใจออกบวช รวมเป็นสามเณรีทั้งหมด ๘ รูป เป็นสามเณรีอาวุโส ๔ รูป สามเณรีรุ่นเยาว์ ๔ รูป 



                                         สามเณรีรุ่นเยาว์ ๔  รูป  ออกบิณฑบาตทางเรือในยามเช้า
           

              อุปัชฌาย์ถูกปิดเป็นความลับไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นใคร เมื่อบวชแล้วมีการเดินทางไปปรากฏตัวสร้างความเข้าใจในจังหวัดใกล้เคียง เช่น อยุธยา สุพรรณบุรี สระบุรี โดยทางเรือซึ่งเป็นการคมนาคมที่สะดวกที่สุดในสมัยนั้น เมื่อการบวชหญิงให้เป็นสามเณรีเป็นข่าวแพร่สะพัดออกไป หนังสือพิมพ์หลายฉบับไม่ว่าจะเป็น ไทยหนุ่ม ศรีกรุง หลักเมือง ต่างพากันใส่ไข่โจมตีว่าการบวชสามเณรีของลูกสาวนายนรินทร์เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนาควรมีการกำจัดหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง

ด้วยการตีไข่ใส่ข่าวของหนังสือพิมพ์ เดือนมิถุนายนปีถัดมาพระสังฆราชในเวลานั้นคือกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์จึงออกประกาศแถลงการณ์คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๗๑ ห้ามพระภิกษุสามเณรบวชหญิงให้เป็นสามเณรี-ภิกษุณี ใครบวชให้มีความผิดถือเป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา แถลงการณ์คณะสงฆ์ฉบับนี้ออกมาเพื่อกันมิให้มีการบวชสามเณรีเพิ่มขึ้นและยังกันมิให้สามเณรีอุปสมบทขึ้นเป็นภิกษุณี แต่แถลงการณ์ฉบับนี้ไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายวัตร์นารีวงศ์ คณะสามเณรีจึงอยู่กันต่อมา



        สามเณรีอาวุโส ๔ รูป ออกเดินบิณฑบาตยามเช้า มีเด็กวัดเป็นผู้หญิงเดินถือปิ่นโตตามหลัง 
        สร้างวัฒนธรรมนักบวชหญิงแบบใหม่ให้กับสังคมสยามในสมัยนั้น (พ.ศ. ๒๔๗๑)


นรินทร์เริ่มเห็นว่าเหตุการณ์ไม่สู้ดีจึงนำเรื่องยกที่ดินและบ้านของตนให้กับแผ่นดินซึ่งเคยทำเรื่องไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๐ แต่ยังไม่มีคำตอบจากราชการด้วยการนำกลับมาปัดฝุ่นทำเรื่องใหม่อีกครั้งโดยเสนอยกที่ดินและวัตร์นารีวงศ์ให้เป็นสมบัติของสงฆ์พร้อมด้วยสามเณรีอีก ๘ รูปเป็นบรรพชิตพำนักในอาราม ส่วนตนกับครอบครัวจะขอเช่าอยู่ปีละ ๑ บาทโดยมัดจำค่าเช่า ๙๙ บาทเป็นค่าเช่าล่วงหน้า ๙๙ ปี นรินทร์ทำเช่นนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคณะสงฆ์เพื่อน้อมเอาสังฆะสามเณรีและวัตร์นารีวงศ์ไปไว้ใต้ปีกคณะสงฆ์หวังคณะสงฆ์จะให้การคุ้มครองและยอมรับ นรินทร์ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงธรรมการแต่กระทรวงธรรมการกลับปฏิเสธให้นรินทร์นำเรื่องนี้ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชๆ มีรับสั่งให้รอมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อประชุมเสร็จมีมติออกมาว่ามหาเถรสมาคมไม่อาจยอมรับข้อเสนอของนรินทร์เนื่องจากนรินทร์ประพฤติตนอุตรินอกรีตเป็นปฏิปักษ์แก่คณะสงฆ์ๆ ไม่ต้องการคบหานายนรินทร์ในกาลทุกเมื่อ

เหตุการณ์ยิ่งกดดันเมื่อพระภิกษุอาจ วัย ๖๙ ปี พรรษา ๒๒ สายธรรมยุติ จำพรรษาอยู่ที่เขาย้อย จ.เพชรบุรี ถูกปักปรำว่าเป็นอุปัชฌาย์ให้ลูกสาวนรินทร์ ท่านถูกจับสึกโดยไม่มีการไต่สวน ภายหลังท่านพิสูจน์ว่าท่านมิได้เป็นอุปัชฌาย์จึงได้กลับเข้าไปบวชใหม่ 

คณะสามเณรียังคงดำรงความเป็นบรรพชิตอยู่เช่นนั้นอย่างต่อเนื่องถึง พ.ศ.๒๔๗๒ มีการนำเรื่องสามเณรีเข้าสู่ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีหลายรอบทำให้สถานการณ์กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง เป็นเหตุให้สามเณรีอาวุโส ๔ รูปตัดสินใจชิงสึกไปเสียก่อนเพราะเกรงจะมีภัย เหลือเพียงสามเณรีรุ่นเยาว์ ๔ รูปยังคงดำรงสมณเพศ จนกระทั่งวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๒ เจ้าหน้าที่ได้มาจับกุมสามเณรี ๔ รูปถึงที่วัตร์เพื่อไปว่าความกันในชั้นศาลที่ศาลเมืองนนทบุรี ผลของคดีศาลตัดสินให้สึก สามเณรี ๓ รูปยอมเปลี่ยนชุดโดยดีแต่สามเณรีสาระไม่ยอม เธอพยายามขัดขืนจนในที่สุดผู้คุมสั่งให้นักโทษหญิงร่างใหญ่สองคนพากันจับเธอกดพื้นแล้วดึงจีวรออกในที่สาธารณะ เธอต่อสู้จนเป็นลมสลบไป นรินทร์เห็นว่าทางราชการทำเกินกว่าเหตุ จึงเขียนโทรเลขไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เพื่อให้ทรงทราบความรุนแรงที่เกิดขึ้นหวังความเมตตาขณะนั้นทรงเสด็จประพาสชวาแต่ก็ไม่มีผลอะไร สามเณรีสาระถูกจับให้เปลี่ยนชุดและถูกจำคุกเพียงรูปเดียวเป็นเวลา ๗ วันข้อหาไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาล

หลังจากถูกตัดสินให้สึกคงเหลือเพียงสามเณรี ๓ รูป คือสาระ จงดีกับสามเณรีรุ่นเยาว์อีก ๑ รูปยังคงดำรงเพศบรรพชิตเช่นเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเธอทั้งสามได้เปลี่ยนชุดเป็นนักบวชแบบญี่ปุ่น 

             หลังศาลตัดสินให้สึก คงเหลือเพียงสามเณรี ๓ รูป ยังคงสมัครใจดำรงตนเป็นสามเณรี
             แล้วเปลี่ยนการนุ่งห่มเป็นจีวรแบบญี่ปุ่น



        ต่อมาก็กลับไปห่มจีวรแบบเดิม เมื่อสามเณรีสาระอายุครบ ๒๐ ก็อุปสมบทเป็นภิกษุณีโดยไม่มีการเปิดเผยว่าใครเป็นอุปัชฌาย์ สามเณรีและภิกษุณีดำรงอยู่ต่อมาอีก ๒-๓ ปีในที่สุดก็ลาสิกขา เนื่องจากพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ ๗ มีใจความว่าให้นรินทร์เลิกล้มความคิดฟื้นฟูภิกษุณีเสียพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยซึ่งเวลานั้นยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เหลือเพียงตำนานสามเณรี-ภิกษุณีในภาพถ่ายเก่า ๆ กับความทรงจำของคนร่วมสมัยที่เกิดยุคเดียวกับนรินทร์ ภาษิต ซึ่งก็แทบไม่เหลือใครอีกแล้ว...

               
           เข้าใจว่าเมื่อเวลาผ่านไปน่าจะเหลือเพียง ๒ รูป คือ สามเณรีสาระและสามเณรีจงดี 
           ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ แสดงว่ามีการกลับมาห่มจีวรแบบเดิมหลังจากห่มแบบญี่ปุ่นได้ไม่นาน 
          โปรดสังเกตว่าภาพนี้สามเณรีสาระพาดสังฆาฏิไว้ที่ไหล่ซ้าย แสดงว่ามีการอุปสมบทเป็นภิกษุณีเรียบร้อยแล้ว
          เวลานั้นภิกษุณีสาระอายุ ๒๑ ปี ในขณะที่สามเณรีจงดีก็มีรูปร่างสูงใหญ่ขึ้น อายุ ๑๖ ปี


          ติดตามอ่านตอนจบของบทความนี้ได้ในวันพระหน้า ทางหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
       

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

‘นารีวงศ์’ ประวัติศาสตร์วัตร์ภิกษุณี ตอน ๑


                                                           คมชัดลึก  วันพระ  อาทิตย์   9  กันยายน  2555

   'นารีวงศ์' ประวัติศาสตร์วัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม
     ตอนที่ 1

   “ใครคือนรินทร์กลึง ?
        
บ่ายวันหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านของนักต่อสู้ในอดีตนาม นรินทร์ ภาษิต บ้านของเขาตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา เมืองนนทบุรี ที่นั่นผู้เขียนสอบถามถึงเรื่องราวในอดีตของ นายนรินทร์และ นางสาระจากสุภาพสตรีผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อและตัวตนของเธอ เราจึงไม่อาจเปิดเผยที่มาที่ไปของเธอได้เพราะเธอต้องการเป็นเพียงบุคคลธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่สำคัญเธอมอบภาพถ่ายเก่าๆ ไว้ใช้ประกอบงานเขียนชิ้นนี้ซึ่งเป็นภาพถ่ายโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จนไม่อาจประเมินราคาได้ ข้อมูลต่างๆ ในบทความนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์เธอ เอกสารที่พอจะหาได้จากบุคคลต่างๆ คือ อ.ศักดินา ฉัตรกุล อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคุณปุ้มปุ้ย

ย้อนหลังกลับไป ๘๔ ปีที่แล้ว หรือราว พ.ศ. ๒๔๗๑ เรื่องราวการพาลูกสาวออกบวชเป็นสามเณรีของ นรินทร์ ภาษิต กลายเป็นประเด็นร้อนในเมืองสยาม ณ ช่วงเวลานั้นไม่มีใครไม่รู้จัก นรินทร์ ภาษิต เพราะเขาสร้างวีรกรรมไว้หลายอย่างเพื่อช่วยเหลือสังคมให้เกิดความเป็นธรรม เราจะย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ด้านที่ไม่มีการจดบันทึกไว้ซึ่งกำลังจะถูกลืมเลือนไปจากสังคมไทย


                            
                                                              นรินทร์ ภาษิต หรือนรินทร์กลึง
                                                          ผู้สร้างวัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม



นรินทร์ ภาษิต ชื่อนี้คือใคร  
หากจะนิยามบุรุษผู้มีนามว่า นรินทร์ ภาษิต หรือที่ใครๆ มักเรียกขานชื่อจริงผสมชื่อเล่นของเขาว่า นรินทร์กลึงนั้นคือใคร ก็อาจนิยามได้ว่านรินทร์เป็นประชาชนชาวสยามคนหนึ่งที่ต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับชนชั้นล่าง ชนชั้นล่างที่มักถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐ เขาไม่ต้องการให้รัฐรีดนาทาเร้นคนยากจนจึงออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมอยู่เสมอ เขามุ่งมั่นเรียกร้องความจริงจากผู้มีอำนาจจนความจริงที่เขาพูดออกไปทำให้เขาติดคุก เขาเป็นชาวพุทธที่อยากเห็นพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองจึงเสนอให้มีการสังคายนากำจัดอลัชชี เปลี่ยนคำว่าวัดเป็นวัตร์ พาผู้หญิงออกบวชห่มเหลือง เสนอให้ยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตและปล่อยตัวนักโทษเพื่อเปิดโอกาสให้คนได้กลับตัว ทั้งหมดนี้น่าจะนิยามได้ว่านรินทร์เป็นโพธิสัตว์แห่งสยามสมัยผู้เกิดมาเพื่อช่วยคนให้พ้นทุกข์เปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความยุติธรรมทั้งก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงแม้หลายเรื่องที่เขาทำจะยังไม่สำเร็จก็ตาม

นรินทร์ ภาษิต เกิดในตระกูลสามัญชน เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๑๗ ๒๔๙๓ เขามีชีวิตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๙   อายุ ๑๕ ได้บวชเป็นสามเณร หลังลาสิกขาเข้าทำงานในวงราชการตลอด ได้เป็นเสมียนสังกัดกระทรวงต่างๆ ได้ยศเป็น หลวงศุภมาตรา แล้วเลื่อนเป็น หลวงรามบุรานุกิจ จนเป็น พระพนมสารนรินทร์ มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองนครนายก ที่นี่นรินทร์ได้แต่งงานกับนางผิว มีบุตร ๕ คน เป็นหญิง ๒ ชาย ๓ คือ สาระ ณรงค์ จงดี ศรีไทย และไชยโย
นรินทร์ลาออกจากข้าราชการเมื่ออายุ ๓๕ ปี แล้วพาครอบครัวหันไปปั้นหม้อดินขาย ส่วนตัวเขาเองสนใจเรื่องพัฒนาสังคม เขาจัดตั้งพุทธบริษัทสมาคมเป็นองค์กรพุทธองค์กรแรกที่ดำเนินงานโดยคฤหัสถ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแผ่พุทธธรรม ปฏิรูปพุทธศาสนา ปราศจากความงมงายให้เข้าถึงแก่น มีการออกวารสารธรรมะ ๒ เล่มคือ สารธรรม และ โลกกับธรรม 
 
           
เคยจัดตั้งคณะยินดีการคัดค้านเพื่อช่วยใครก็ได้ที่ถูกกลั่นแกล้ง ถูกกดขี่หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมให้มาแจ้ง คณะของเขาจะช่วยให้ได้รับความเป็นธรรม และยังออกวารสาร เหมาะสมัย รวมเรื่องราวของบุคคลที่มาร้องทุกข์เพื่อนำเสนอแก่เจ้าพนักงาน

เขาเคยผลิต ยาดองตรานกเขาคู่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนกลายเป็นเศรษฐีแล้วนำกำไรไปสร้างตึก ๗ ชั้น ต่อมาตึกนี้ได้กลายเป็นวัตร์นารีวงศ์ วัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม

เพราะเป็นคนฉลาดอ่านออกเขียนได้ อาวุธที่เขาใช้ในการตอบโต้ผู้มีอำนาจคือ ใบปลิว ทุกครั้งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสิ่งที่เขาลงมือทำทันทีคือการเผยแพร่ใบปลิว ใบปลิวของเขาแรง ถึงขนาดถูกห้ามแจก แต่เขาก็แค่วางทิ้งไว้บนพื้นแล้วมันก็หมดไปในพริบตา ในชีวิตของเขาก่อตั้งองค์กรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมาแล้วประมาณ ๑๐ องค์กร เขียนหนังสือและเผยแพร่ใบปลิวเพื่อปฏิวัติสังคมในแต่ละช่วงเวลาจนนับจำนวนไม่ได้ว่าออกหนังสือมาแล้วกี่เล่ม แจกใบปลิวไปแล้วกี่แผ่น


                                                             
                                               สามเณรีสาระวัย 18 ถ่ายรูปร่วมกับหญิงวัยรุ่นในสมัยนั้น


วีรกรรมจำคุก ๖ ครั้งในชีวิต

จะมีใครถูกตัดสินจำคุกได้มากครั้งเท่าเขาคนนี้ การติดคุกแต่ละครั้งก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวเองแต่ติดคุกเพราะเข้าไปช่วยเหลือคนอื่นทั้งสิ้น

เมื่ออายุ ๔๗ ปี ติดคุกครั้งแรก พ.ศ.๒๔๖๐ เวลานั้นมีการจี้ปล้นของโจรผู้ร้ายเกิดขึ้นในหลายท้องที่ เขาจึงแจกใบปลิว สงบอยู่ไม่ได้ ประณามการทำงานของรัฐบาลและข้าราชการที่กินเงินภาษีราษฎรแต่ไม่เอาใจใส่ปกป้องดูแลความปลอดภัยของประชาชน รัฐบาลตั้งข้อหาว่าเขาแจกใบปลิวใส่ร้ายรัฐ ยุยงประชาชนให้เกลียดชังรัฐ นี่เป็นการติดคุกครั้งแรกในชีวิตเป็นเวลา ๒ ปี ๑ เดือน 

เมื่ออายุ ๕๗ ปี พ.ศ.๒๔๗๔ เวลานั้นเศรษฐกิจตกต่ำ เขาเขียนหนังสือทูลเกล้าฯ ถึงสมเด็จพระสังฆราชขอให้พระสังฆราชและพระสงฆ์ทุกรูปสละทรัพย์และนิตยภัตคืนแก่ประเทศชาติเพื่อช่วยเศรษฐกิจของชาติและขอให้พระองค์ช่วยกำจัดพระอลัชชีที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย จดหมายนี้ทำให้เขาถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นพระสังฆราชเป็นเหตุให้ถูกจำคุกเป็นครั้งที่ ๒ เป็นเวลา ๒ ปี

เมื่ออายุ ๕๙ ปี เขาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการอันเป็นเงินภาษีเก็บจากชายไทยทุกคนปีละ ๖ บาท ไม่เว้นแม้คนยากจน ใครไม่จ่ายถูกปรับเป็น ๑๒ บาท ใครไม่ชำระต้องจำคุก เขาจึงแจกใบปลิว ไทยไม่ใช่ทาสมีเนื้อหาประณามรัฐบาลว่ามีใจเหี้ยมโหดยิ่งกว่ามหาโจรปล้นได้กระทั่งคนยากจนและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการ เขาถูกจับเข้าคุกเป็นเวลา ๒ ปี ๘ เดือนในข้อหากบฏ แม้อยู่ในคุกก็ยังประท้วงต่อด้วยการอดอาหารนาน ๒๑ วัน เขาเป็นบุคคลแรกที่นำวิธีการอดอาหารมาใช้ ในที่สุดรัฐบาลยอมยกเลิกเก็บเงินรัชชูปการ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๖ สร้างความดีใจให้กับชายไทยที่ยากจนทุกคน 

การติดคุก ๓ ครั้งสุดท้ายครั้งละ ๒ ปีเป็นการติดคุกเพราะมีเรื่องกับนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นรินทร์ออกหนังสือ แนวหน้า วิจารณ์จอมพล ป.เป็นเผด็จการณ์เรื่องห้ามนุ่งจุงกระเบนห้ามเคี้ยวหมาก ออกใบปลิวและเขียนจดหมายใช้ถ้อยคำหยาบคายถึงจอมพล ป. โดยตรง พร้อมกับท้าให้จอมพล ป.สละตำแหน่งนายกฯ แล้วให้ตนขึ้นเป็นนายกฯ แทน เขาเข้าคุกครั้งสุดท้ายเมื่อปัจฉิมวัย ๖๙ ปี ออกจากคุกเมื่ออายุ ๗๑ ปี

นรินทร์เคยพูดไว้ว่า คนเราอย่างมากที่เขาจะทำกับเราได้คือจับไปฆ่าเสียเท่านั้นนี่จึงเป็นคติประจำใจที่ทำให้เขามีแรงต่อสู้กับผู้มีอำนาจโดยไม่สนว่าตัวเองจะถูกลงโทษอย่างไร.




                                        สามเณรีจงดีวัย ๑๓ ขวบภายในวัตร์นารีวงศ์
                                       นรินทร์จงใจใช้คำว่าวัตร์ซึ่งมาจากคำว่าวัตร หมายถึงการประพฤติปฏิบัติ


                                       ขอบคุณ คุณอุสาห์ รงคสุวรรณ  เจ้าของภาพ
                                     ติดตามอ่านตอน 2  ใน  น.ส.พ. คมชัดลึก  วันพระหน้า เสาร์ 15 กันยายน  2555 
                          เนื้อเรื่องตอนถัดไป  เข้มข้นด้วยเหตุการณ์ พาลูกสาวออกบวช ปี  2470 -2474 (กินเวลา 5 ปี)