วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

The Great Transformation การแปรเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่


พระชาย วรธัมโม                                  คมชัดลึก    เสาร์  8  มิถุนายน  2556


          สามปีที่แล้วตอนเรียนวิชาศาสนาต่างๆ (Religions) อาจารย์ดิออน พีเพิ่ล (Dion Peoples) ให้นักเรียนใช้หนังสือการแปรเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ (The Great Transformation) ของคาเรน อาร์มสตรอง (Karen Armstrong) เราเห็นว่าเป็นหนังสือที่อ่านยากจึงนำไปให้เพื่อนชาวออสเตรเลียฟิลลิป บราวฮิล (Phillip Brownhill) ช่วยแปลให้บางส่วน จึงค้นพบว่าชื่อหนังสือ The Great Transformation มีความหมายที่ยิ่งใหญ่และน่าสนใจมากพอๆ กับเนื้อหาข้างใน

          ต่อมาเราไปเจอบทความแปลของอาจารย์มัทนา เกษตระทัต ในบล็อก Go to know อาจารย์แปลบางตอนของหนังสือแล้วนำเผยแพร่ในบล็อก จึงมีโอกาสสนทนากับอาจารย์เกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น บทความนี้เกิดขึ้นได้เพราะ อ.ดิออน อ.มัทนาและเพื่อนฟิลลิป ขอบคุณสามท่านมากๆ

          หนังสือ The Great Transformation เป็นหนังสือที่พูดถึงประวัติศาสตร์การเกิดศาสนาต่างๆ บนโลก โดยเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่ายุคเอเซียล (Axial Age) ซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณ ๔๐๐ ปีก่อนพุทธกาลจนถึงประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จึงเปรียบเสมือนขนมเค้กก้อนโต ในขณะที่ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เรามีเปรียบเหมือนขนมเค้กชิ้นเล็กๆ ที่ถูกตัดแบ่งออกมาจากขนมเค้กก้อนโต้อีกที การได้อ่านหนังสือเล่มนี้เท่ากับเรากำลังเติมเต็มความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของศาสนาในส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจศาสนาที่เรากำลังนับถืออยู่มากยิ่งขึ้น




                                          หนังสือ The Great Transformation




                บทแรกของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงชาวอารยันที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบตอนใต้แถบรัสเซีย ต่อมาชาวอารยันได้แยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งย้ายถิ่นฐานลงไปทางใต้ไปปักหลักอยู่แถวอิหร่านตะวันออก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งย้ายถิ่นฐานลงไปอาศัยในแถบลุ่มน้ำสินธุซึ่งก็คือประเทศอินเดียกับปากีสถานในปัจจุบัน ใครที่เคยอ่านพุทธประวัติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรส จะพบว่าในหน้าแรกก็พูดถึงชาวอารยันที่อพยพมาจากตอนเหนือของภูเขาหิมาลัยลงมาอาศัยแถบชมพูทวีปซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันเลย ชาวอารยันกลุ่มนี้คือบรรพบุรุษของกษัตริย์ศากยะวงศ์ เจ้าชายสิทธัตถะก็มีเชื้อสายมาจากชาวอารยันกลุ่มนี้

          ช่วงที่ชาวอารยันยังคงอยู่ที่ทุ่งราบแถบรัสเซีย ช่วงเวลานั้นยังมีความสงบสุขปราศจากสงคราม พวกเขานับถือเทพเจ้าบนฟากฟ้า ต่อมาประมาณ ๗๐๐ ปีก่อนพุทธกาลพวกเขาทำการสู้รบเบียดเบียนทำร้ายกันเองจนกลายเป็นสงคราม ทำให้กลุ่มที่ถูกเบียดเบียนที่เคยนับถือเทพเจ้าบนฟากฟ้าหันมาบูชาเทพเจ้าชื่อมาสด้าแล้ววิวัฒนาการเป็นศาสนาชื่อโซโรอัสเตอร์ กลุ่มที่ถูกเบียดเบียนเชื่อว่าเทพเจ้ามาสด้าสามารถปกป้องพวกเขาจากการถูกเบียดเบียนจากฝ่ายตรงข้าม ศาสนาโซโรอัสเตอร์จึงถือกำเนิดขึ้น ณ บัดนั้น

ศาสนาโซโรอัสเตอร์จัดเป็นศาสนาแรกๆ ที่เกิดชึ้นในยุคเอเซียล ต่อมาชาวอารยันกลุ่มที่ย้ายไปตั้งถิ่นฐานแถบอิหร่านตะวันออกได้นำเอาศาสนาโซโรแอสเตอร์ไปด้วย ศาสนาโซโรแอสเตอร์จึงเจริญอยู่ที่อิหร่านจนวิวัฒนาการกลายมาเป็นศาสนายูดาย คริสต์และอิสลามในดินแดนอิสราเอลซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ใกล้เคียงในเวลาต่อมา 

          ในยุคเอเซียลนอกจากดินแดนอิสราเอลซึ่งให้กำเนิดศาสนาขึ้นมาแล้ว ยังมีดินแดนอีก ๓ แห่งที่มีวิวัฒนาการเกี่ยวกับศาสนาและการค้นหาความจริง ในจีนเกิดลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า ในชมพูทวีปเกิดศาสนาฮินดูและพุทธ ในขณะที่กรีกเกิดนักคิดนักปรัชญา โซเครติส เพลโต้ อริสโตเติล มันเป็นเรื่องน่าประหลาดที่จู่ๆ ผู้คนในส่วนต่างๆ ของโลกทั้ง ๔ ดินแดนต่างให้ความสนใจในเรื่องศาสนาและการแสวงหาความจริงของชีวิตขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

          The Great Transformation หรือ การแปรเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ ที่คาเรน อาร์มสตรอง นำมาใช้เป็นชื่อหนังสือ อ.มัทนาให้ความเห็นว่ามีความหมาย ๓ นัยยะด้วยกัน

๑)   หมายถึงยุคที่มนุษย์หันมาให้ความสนใจในเรื่องการค้นหาความจริงของชีวิต การเข้าถึงพระเจ้า จนทำให้เกิดศาสนาและปรัชญาขึ้นมาในช่วงเวลานั้น

๒)  หมายถึงศาสนาเกิดขึ้นมาแล้วไม่ได้คงความเป็นศาสนานั้นตลอดไปแต่มีวิวัฒนาการแปรเปลี่ยนไปเป็นศาสนาต่างๆ เช่น จากโซโรอัสเตอร์พัฒนาเป็นยูดาย จากยูดายพัฒนาเป็นคริสต์และอิสลาม ในขณะที่ฮินดูก็พัฒนาเป็นพุทธ

๓)  หมายถึงการแปรเปลี่ยนตัวเองของผู้นับถือศาสนา คือการเข้าถึงพระเจ้า เข้าถึงพรหม เข้าถึงนิพพาน
คาเรนได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกศาสนาต่างมีข้อความบางอย่างที่ต้องการสื่อสารคล้ายๆ กัน นั่นก็คือ หากท่านไม่ชอบให้ผู้อื่นทำกับท่านอย่างไร ท่านก็จงอย่าทำเช่นนั้นกับผู้อื่น พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือมนุษย์จงอย่าเบียดเบียนกัน อย่าทำร้ายกัน จงมีเมตตากรุณาต่อกัน ศาสนาและศีลธรรมได้เกิดขึ้น ณ ยุคเอเซียลนี้เอง นั่นหมายความว่าช่วงเวลาก่อนหน้านั้นมนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขมาตลอด ความไม่สงบหรือสงครามเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีที่ผ่านมาจนเป็นเหตุให้เกิดศาสนาขึ้น

ดังนั้น ความหมายของศาสนาจึงมีอยู่ ๒ ประการ คือ หล่อหลอมให้มนุษย์มีความเมตตากรุณาต่อกัน และมุ่งหวังให้มนุษย์ละทิ้งอัตตาตัวตนและความเห็นแก่ตัวออกไป แต่เมื่อพูดมาถึงบรรทัดนี้เรากลับพบว่าหลังจากที่เราเริ่มมีศาสนากันมากลับทำให้มนุษย์เราทำสงครามกันในนามศาสนากันมาตลอด คงเพราะเรายึดติดในศาสนามากเกินไปจนทำให้เราลืมความหมายเดิมแท้ของศาสนาว่าศาสนาสอนให้ละวางไม่ใช่สอนให้เรายึดติด บางทีการเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นก็คือการก้าวข้ามผ่านฉลากศาสนาที่แปะอยู่กลางหน้าผากแห่งความยึดติดของเราเอง

            คาเรนในอดีตเมื่ออายุ ๑๗ เธอตัดสินใจใช้ชีวิตเป็นแม่ชีแคทอลิคเพราะเธอต้องการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า เวลาผ่านไป ๗ ปี ระบบในคอนแวนต์ไม่สามารถสนับสนุนให้เธอเข้าใจในพระเจ้าได้ เพราะที่นั่นต้องการศรัทธาเป็นที่ตั้งในขณะที่คาเรนยังมีความสงสัย หลายคำถามที่เธอมีไม่อาจพบกับความกระจ่างได้ ในที่สุดเธอจึงออกมาใช้ชีวิตฆราวาสเมื่ออายุ ๒๔ หลังจากนั้นเธอเริ่มศึกษาศาสนาต่างๆ จนเกิดแรงบันดาลใจให้เธอเขียนหนังสือเกี่ยวกับศาสนาออกมา ๑๖ เล่ม หนึ่งในนั้นมีพุทธศาสนารวมอยู่ด้วย จนบางครั้งเธอแทบจะรู้ดีกว่าเจ้าของศาสนานั้นๆ ด้วยซ้ำ ในที่สุดเธอก็ค้นพบการเปลี่ยนผ่านอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับความเข้าใจในศาสนา เธอพบว่าแท้จริงแล้วจุดหมายปลายทางของทุกศาสนาแม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน เช่น พระเจ้า พรหม เต๋า ความว่าง ความเป็นหนึ่งเดียว อัลเลาะห์ หรือแม้แต่นิพพาน แท้จริงแล้วมันคือความจริงที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด แต่สามารถเข้าถึงได้ด้วยจิตใจและความรู้สึก



                      คาเรน อาร์มสตรอง (๖๙ ปี) ผู้เขียนหนังสือ The Great Transformation

          มีคนเคยถามคาเรนว่าเธอนับถือศาสนาอะไร เธอตอบว่า 
โดยปกติแล้วฉันมักจะตอบแบบเล่นๆ ว่าฉันเป็นคนนับถือพระเจ้าไม่จำกัดศาสนา ฉันอยู่กับพระเจ้าแห่งอับราฮัมทั้งสาม (ยูดาย คริสต์ อิสลาม) ฉันไม่เห็นว่าพระเจ้าองค์ใดจะมีเอกสิทธิ์ในความจริงกว่าองค์ใด หรือไม่เห็นว่าพระเจ้าองค์หนึ่งจะใหญ่กว่าอีกองค์หนึ่ง พระเจ้าแต่ละองค์ต่างมีปรีชาญาณและต่างก็มีหลุมพรางให้เราตกลงไปได้เท่าๆ กัน เมื่อเร็วๆ นี้ฉันเขียนบทความสั้นๆ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และฉันก็รู้สึกหลงใหลในสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาจิตวิญญาณ ความเมตตากรุณา การละวางตัวตนก่อนเข้าสู่นิพพาน ในมุมมองของฉันแล้วความเชื่อที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายเหล่านั้นกำลังพูดเรื่องเดียวกัน บนหนทางเดียวกัน แม้จะมีรูปลักษณ์ภายนอกแตกต่างกันก็ตาม มันคือเรื่องเดียวกัน

          ถึงที่สุดแล้ว การแปรเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ ในความหมายของ คาเรน อาร์มสตรอง คือการเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับทุกศาสนา ไม่ว่าจุดหมายปลายทางของศาสนานั้นจะมีชื่อเรียกว่าอะไรก็ตาม.








ที่นี่หมู่บ้านพลัมไม่สนใจของขลัง (ตอน ๒ ตอนจบ)


ตอนจบ  "ภาวนากับก้อนกรวด"
พระชาย วรธัมโม / เรื่อง,ภาพ                    คมชัดลึก   พฤหัสบดี  9  พฤษภาคม  2556


 

ทำงานกับลมหายใจ
            นักบวชหมู่บ้านพลัมนอกจากจะมาจากหลายชาติหลายภาษาแล้ว ยังมาจากหลายสาขาอาชีพ บางท่านเป็นสถาปนิก บางท่านเป็นนักจิตวิทยา บางท่านเป็นบุรุษพยาบาล บางท่านเป็นเจ้าของกิจการ หลายท่านมีเงินเดือนสูงไม่ใช่บุคคลว่างงานหรือบุคคลไร้อาชีพ แต่ทุกท่านสมัครใจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมาเป็นนักบวชแล้วหันมา ทำงานกับลมหายใจแทนที่จะทำงานเพื่อเงิน

          การทำงานกับลมหายใจของนักบวชหมู่บ้านพลัมเป็นการทำงานที่ไม่มีเงินเดือนให้ (มีเพียงเงินติดกระเป๋าจากสังฆะให้ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น) สิ่งที่นักบวชหมู่บ้านพลัมต้องทำงานให้กับสังฆะคือการใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่กับลมหายใจเข้าออก ไม่ว่าอดีตท่านจะเคยประกอบอาชีพอะไรมา แต่อาชีพใหม่ของท่านเวลานี้คือการอยู่กับลมหายใจ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ไม่ว่าจะทำสิ่งใดในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดคือการใช้ชีวิตอยู่กับลมหายใจตลอดเวลา ยิ่งอยู่กับลมหายใจได้นานเท่าไรสติก็ยิ่งมีการต่อเนื่องมากขึ้นเท่านั้น นี่คือการทำงานกับลมหายใจ

          ทุกครั้งที่เสียงระฆังดังขึ้นนั่นคือสัญญาณให้นักบวชและผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านอยู่นิ่งๆ แล้วตามความรู้ตัวทั่วพร้อม อยู่กับลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้งก่อนจะเคลื่อนไหวกายทำสิ่งอื่นต่อไปตามปกติ นี่เป็นสิ่งที่อยู่ในการปฏิบัติภาวนาทุกครั้งของหมู่บ้านพลัมจนเรียกได้ว่านี่คือเอกลักษณ์ของสำนักปฏิบัติธรรมสำนักนี้ ไม่ว่าเสียงระฆังจะดังขึ้นเมื่อไรก็ตามทุกคนต้องหยุดดูลมหายใจตัวเองทุกครั้ง




    วงสนทนากลุ่มย่อยเรื่อง เทคนิคการฝึกสมาธิสำหรับเด็กๆ ผู้เข้าร่วมประมาณ ๓๕ ท่าน



ภาวนากับก้อนกรวด
            ค่ำวันที่ ๔ ของการภาวนามีการแบ่งกลุ่มการเรียนรู้ออกเป็น ๑๑ กลุ่มย่อยให้เลือกตั้งแต่ ๑) การมีสติในชีวิตประจำวัน ๒) การสร้างกลุ่มเพื่อการปฏิบัติธรรม ๓) การแปรเปลี่ยนความตึงเครียดและความกดดันในที่ทำงาน ๔) การฟังอย่างลึกซึ้งและการสื่อสารด้วยความกรุณา ๕) การบ่มเพาะความเบิกบานและความสุขในชีวิตประจำวัน ๖) การเอาชนะความกลัวในการพลัดพรากและการสูญเสีย ๗) เทคนิคการฝึกสมาธิสำหรับเด็กๆ  ๘) วิธีนำการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ ๙) การภาวนาด้วยเพลงและเกมสำหรับเด็กทุกวัย ๑๐) การช่วยเหลือเด็กให้สามารถดูแลอารมณ์ที่รุนแรง และ ๑๑) การเริ่มต้นใหม่

          แต่ละกลุ่มมีพระภิกษุภิกษุณีเข้าไปเป็นผู้นำกระบวนการกลุ่มโดยใช้วิธีแบ่งปันการเล่าประสบการณ์ว่าใครมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นอย่างไรบ้าง

          ผู้เขียนเลือกหัวข้อ เทคนิคการฝึกสมาธิสำหรับเด็กๆมีผู้นำกลุ่มเป็นภิกษุณี ท่านได้เล่าถึงเทคนิควิธีการ ภาวนากับก้อนกรวด ที่เคยทำกับเด็กเล็กๆ ให้ฟังว่า 

ก่อนอื่นให้เราพาเด็กไปเดินเล่นนอกบ้านแล้วบอกกับเด็กว่าเรามีเกมสนุกๆ จะให้เล่นโดยให้เด็กเก็บก้อนกรวดมา ๔ ก้อน ถ้าไม่มีก้อนกรวดอาจจะเป็นอะไรก็ได้เช่น ใบไม้ ลูกไม้ ให้ได้จำนวน ๔ ชิ้น จากนั้นก็หาที่นั่งที่สะดวกทำกิจกรรมกัน
 
เราให้เด็กนั่งลงกับพื้นหรือนั่งบนเก้าอี้ ให้เด็กแบมือขวาออก นำก้อนกรวดวางที่มือเด็กเป็นเม็ดที่ ๑ แล้วบอกกับเด็กให้หลับตาพร้อมพูดนำเด็กให้ระลึกว่า ลมหายใจต่อไปนี้เปรียบเหมือนดอกไม้ที่มีความสดชื่น แล้วให้เด็กนับลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้ง จากนั้นให้เด็กลืมตาแล้วหยิบก้อนกรวดออกวางไว้บนพื้น

          เราวางก้อนกรวดเม็ดที่ ๒ ลงบนฝ่ามือของเด็ก ให้เด็กหลับตาพร้อมพูดนำเด็กให้ระลึกว่า ลมหายใจต่อไปนี้เปรียบเหมือนภูเขาที่มั่นคงแข็งแรง แล้วให้เด็กนับลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้ง จากนั้นให้เด็กลืมตาแล้วหยิบก้อนกรวดออกวางไว้บนพื้น

          เราวางก้อนกรวดเม็ดที่ ๓ ลงบนฝ่ามือของเด็ก ให้เด็กหลับตาพร้อมพูดนำเด็กให้ระลึกว่า ลมหายใจต่อไปนี้เปรียบเหมือนสายน้ำที่ฉ่ำเย็น แล้วให้เด็กนับลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้ง จากนั้นให้เด็กลืมตาแล้วหยิบก้อนกรวดออกวางไว้บนพื้น

เราวางก้อนกรวดเม็ดที่ ๔ ลงบนฝ่ามือของเด็ก ให้เด็กหลับตาพร้อมพูดนำเด็กให้ระลึกว่า ลมหายใจต่อไปนี้เปรียบเหมือนท้องฟ้าที่ว่างเปล่า แล้วให้เด็กนับลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้ง จากนั้นให้เด็กลืมตาแล้วหยิบก้อนกรวดออกวางไว้บนพื้น การภาวนาจบลง จากนั้นให้ถามเด็กว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง หรือได้ประสบการณ์อะไรที่น่าสนใจระหว่างที่หลับตานับลมหายใจ






คำตอบของเด็กไม่จำเป็นต้องมีความหมายสูงส่ง เพราะคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่จะทำให้เด็กได้เปิดเผยจินตนาการของตนเอง และคำถามได้ทำหน้าที่เป็นตัวสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับเด็กที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการพูดคุยถามความรู้สึกกัน การภาวนากับก้อนกรวดเป็นกุศโลบายให้เด็กๆ ได้รู้จักลมหายใจของตัวเองตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนไปจนถึงเด็กชั้นประถม เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการทำสมาธิคืออะไร เพราะเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะทำสมาธิ อย่างน้อยการให้เขาได้หลับตาสูดลมหายใจเข้าออกแล้วระลึกถึงธรรมชาติรอบตัว เช่น ดอกไม้ ภูเขา สายน้ำ ท้องฟ้า ย่อมบ่มเพาะให้เขาเข้าใจธรรมชาติในลมหายใจของเขามากขึ้นว่ามีลักษณะผ่อนคลายอย่างไร

          แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงเทคนิควิธี ยังไม่สำคัญเท่ากับความเมตตา กรุณาและการไม่ใช้อำนาจที่เราควรมีให้กับเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองมักตั้งความคาดหวังกับเด็กไว้สูงและใช้อำนาจจนเด็กไม่มีความสุข การเลี้ยงดูเด็กที่ดีคือการมีความเมตตา กรุณา ฝึกฝนที่จะไม่ใช้อำนาจกับเด็กๆ เปิดโอกาสให้เด็กเติบโตผ่านความคิดและจินตนาการของเขาเอง เมื่อนั้นเด็กก็จะมีความสุข ผู้ใหญ่ก็ได้ปฏิบัติธรรมดูแลจิตใจตนเองไปด้วย พระภิกษุณีสรุปในตอนท้าย


รับศีลวันสุดท้ายของการภาวนา
            เป็นธรรมเนียมของการภาวนาของหมู่บ้านพลัมที่สนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติได้เกิดความต่อเนื่องไปกับการปฏิบัติ จึงสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติมีการสมาทานรับข้อฝึกอบรมสติ ๕ ประการ หรือศีล ๕ ไปปฏิบัติต่ออย่างเป็นกิจจะลักษณะ สังเกตว่าเป็นการสมาทานศีลในวันสุดท้ายของการปฏิบัติแทนที่จะเป็นวันแรก และยังเป็นการเปิดโอกาสให้สมาทานตามความสมัครใจไม่ใช่การบังคับ มีการมอบบัตรแสดงตนยืนยันการปฏิบัติมั่นคงในข้อฝึกอบรมสติ ๕ ประการให้กับผู้สมาทานไว้เป็นหลักฐานด้วย

          หมู่บ้านพลัมใช้หลักการนี้เพราะถือว่าการปฏิบัติธรรมไม่มีใครบังคับใครได้ คนๆ นั้นต้องพร้อมจะปฏิบัติด้วยตนเอง การสมาทานศีล ๕ จึงไม่ใช่สิ่งที่จะมาสมาทานกันบ่อยๆ พร่ำเพรื่อ จะทำบุญหรือถวายสังฆทานก็สมาทานศีลกันทีนึง รับศีลไปแล้วก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติแต่วางกองไว้ตรงนั้น นั่นไม่ใช่ลักษณะของหมู่บ้านพลัม เพราะการปฏิบัติศีล ๕ ต้องมีความจริงใจ อย่างน้อยการมาร่วมภาวนากับหมู่บ้านพลัมก็ทำให้หลายคนหันมาตระหนักรู้และปฏิบัติศีล ๕ กันมากขึ้น 

          ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นแนวทางและรูปแบบการปฏิบัติภาวนาของหมู่บ้านพลัมซึ่งได้ประยุกต์คำสอนในพุทธศาสนาไปสู่ความเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน ไม่มอมเมาด้วยเครื่องรางของขลังแต่ลัดตรงสู่การปฏิบัติจริงๆ  ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้เขียนอาจจะไม่ได้พูดถึง หากคุณผู้อ่านอยากรู้มากกว่านี้มีทางเดียวคือต้องไปปฏิบัติกับหมู่บ้านพลัมด้วยตนเอง แล้วจะรู้ว่าหมู่บ้านพลัมไม่สนใจของขลังจริงๆ.  

 


.

ที่นี่หมู่บ้านพลัม..ไม่สนใจของขลัง (ตอนที่ ๑)



"สังฆะในความหมายใหม่"
                                                                             พระชาย วรธัมโม / เรื่อง               
                                                                           พระสมบูรณ์ สุมังคโล / ภาพ
คมชัดลึก  ศุกร์  3  พฤษภาคม 2556

            เคยมีคนถามว่าการอบรมปฏิบัติธรรมของหมู่บ้านพลัมเขาปฏิบัติอะไรกันบ้าง รู้สึกว่าเป็นคำถามที่ตอบยากเพราะการปฏิบัติธรรมของหมู่บ้านพลัมไม่ใช่การสอนให้รู้จักการภาวนาเจริญสติเพียงอย่างเดียวแต่ยังรวมเรื่องอื่นๆ เข้าไปไว้ในการปฏิบัติธรรมด้วย ที่สำคัญก็คือหมู่บ้านพลัมไม่สนใจพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์หรือของขลัง แต่สนใจให้คนลงมือปฏิบัติธรรมเข้าถึงธรรมกันจริงๆ มากกว่า

          การมาเยือนเมืองไทยของหลวงปู่ติชนัทฮันห์ในวัย ๘๗ ปีครั้งนี้ ยังคงชักชวนให้คนไทยมาลิ้มรสธรรมะโดยปราศจากเครื่องรางของขลังเช่นเคย ภายใต้หัวข้อการปฏิบัติธรรม จริยธรรมประยุกต์ มีเนื้อหาเหมาะสำหรับผู้เข้าร่วมที่เป็นครู อาจารย์ หรือบุคลากรที่ทำงานด้านการสอน 

การปฏิบัติธรรมครั้งนี้เกิดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วังน้อย พระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ ๔-๘ เมษายนที่ผ่านมา รายการปฏิบัติธรรมที่เหลืออีกสองรายการที่นครนายกถูกจองเต็มทันทีที่เปิดให้จองเพียงสัปดาห์แรก

                                   




เริ่มต้นด้วยการร้องเพลง
วันแรกของการปฏิบัติธรรมเริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๑ ทุ่ม การปฏิบัติธรรมของหมู่บ้านพลัมไม่ได้เริ่มต้นด้วยการสมาทานศีล ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ตามรูปแบบที่มักปฏิบัติกัน แต่เริ่มต้นด้วยการร้องเพลงประสานเสียงของคณะนักบวชชายหญิงจากหมู่บ้านพลัม เป็นการปลุกผู้ฟังให้ตื่นจากความหลับไหลไปกับเสียงร้องเพลงธรรมะที่ไพเราะยากจะหาฟังได้จากที่ไหน 

การร้องเพลงขัดกับวินัยที่พระพุทธเจ้าห้ามนักบวชร้องเพลงมิใช่หรือ ทำไมนักบวชหมู่บ้านพลัมจึงร้องเพลงกันได้ คำตอบคือการร้องเพลงของนักบวชหมู่บ้านพลัมไม่ได้ร้องเพื่อกระตุ้นอารมณ์เหมือนเพลงประโลมโลกทั่วไป แต่เป็นการร้องที่นำไปสู่การตระหนักรู้ในการปฏิบัติ เป็นบทเพลงที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตระหนักรู้ในความเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว เป็นบทสวดที่กล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์ผู้มีเมตตาต่อการรับฟังความทุกข์ยากของสรรพสัตว์ ถ้าบทเพลงจะทำให้การหยั่งรู้ลงในธรรมของผู้ร้องหรือผู้ฟังมีมากขึ้นการร้องเพลงนั้นก็คือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งเช่นกัน ใครก็ตามที่เข้ามาปฏิบัติภาวนากับหมู่บ้านพลัมสิ่งที่แรกๆ ที่ต้องทำก็คือการร้องเพลง

การร้องเพลงในขณะที่เรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ในความหมายหนึ่งคือการได้ปลดปล่อยความทุกข์ทางใจออกไป ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเพิ่มพลังในการปฏิบัติธรรมไปด้วยเมื่อเนื้อหาของเพลงจูงใจผู้ร้องและปลุกใจผู้ฟังในเกิดความมั่นคงในการปฏิบัติ หนทางของมหายานอาจจะมีความแตกต่างจากเถรวาทด้วยมุมมองธรรมะที่กลับด้านออกไป

เมื่อร้องเพลงจบหลวงปู่ลงมาบรรยายธรรมข้างล่างแทนที่จะพูดบนเวทีเพื่อความใกล้ชิดคนฟังยิ่งขึ้น
หลวงปู่กล่าวถึงความสุขว่า ถ้าเรามีความสุขเราจะสามารถทำให้คนที่อยู่รอบๆ ตัวเรามีความสุขไปด้วย แต่เมื่อใดที่เรามีทุกข์ เรามีความโกรธ มีความหงุดหงิด สิ่งเหล่านั้นจะกระจายไปยังคนที่อยู่รอบๆ ตัวเราด้วยเหมือนกัน ถ้าเราไม่มีความสุขเราก็ไม่มีอะไรจะให้คนอื่น ถ้าเรามีความสุขเราก็สามารถทำให้คนอื่นมีความสุขได้ด้วยพร้อมยกตัวอย่างให้ฟังว่าพระพุทธเจ้าเป็นครูที่มีความสุขที่สุดในโลกคนหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้ามีความสุขมากมาย พระองค์ก็สามารถช่วยให้คนมากมายเหล่านั้นหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ด้วยเช่นกัน นี่เป็นคำสอนง่ายๆ ที่ทำให้เห็นว่าเรามีส่วนช่วยให้บุคคลรอบๆ ตัวเรามีความสุขได้เพียงเราทำตัวเองให้มีความสุขภายในเสียก่อน เมื่อนั้นความสุขจากภายในของเราก็จะแผ่กระจายออกไปยังบุคคลรอบข้าง




สังฆะในความหมายใหม่
          ทุกครั้งที่หลวงปู่เดินทางไปจัดภาวนาที่ไหนก็ตามท่านจะไปพร้อมกับภิกษุภิกษุณีจำนวนมากมาย ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ท่านมากันเป็นคณะใหญ่พร้อมด้วยนักบวชชายหญิงจำนวน ๑๖๐ รูป เพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมจำนวน ๗๐๐ คน ผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมจำนวนมากขนาดนี้ถ้าไม่ใช่มืออาชีพคงจัดการให้เพลิดเพลินไปกับการปฏิบัติธรรม ๕ วันไม่ได้แน่ แต่ใครจะรู้ว่าที่ต้องมากันเป็นคณะใหญ่ก็เพราะหลวงปู่ต้องการให้ผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจคำว่า สังฆะ ในความหมายใหม่ว่าหมายถึง การอยู่ร่วมกันของผู้ปฏิบัติธรรม โดยไม่จำกัดว่าต้องหมายถึง คณะสงฆ์ อย่างที่ชาวพุทธทั่วไปเข้าใจกัน อาจเป็นกลุ่มฆราวาสด้วยกันก็ได้

          ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมประมาณ ๗๐๐ คนได้ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มสังฆะย่อยซึ่งเรียกว่า กลุ่มครอบครัวประมาณ ๒๐ กลุ่ม โดยมีนักบวชจากหมู่บ้านพลัมเข้าไปกำกับดูแลกลุ่มสังฆะย่อยทุกกลุ่มคล้ายเป็นพี่เลี้ยงธรรมะในกลุ่มสังฆะนั้นเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมมีโอกาสพูดคุยกับนักบวชและแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันอย่างทั่วถึง นี่คือเหตุผลว่าทำไมหลวงปู่ต้องพานักบวชติดตามไปด้วยมากมาย เพื่อเป็นการแบ่งงานกันทำตามความหมายของ สังฆะ เมื่อนักบวชมีโอกาสนำภาวนาในกลุ่มย่อย ก็ทำให้นักบวชเกิดการเจริญเติบโตจากการได้เป็นผู้นำ ไม่ใช่หลวงปู่เก่งเพียงคนเดียวแต่ลูกศิษย์ไม่เอาไหนเลย นี่เป็นวิธีการฝึกลูกศิษย์ที่ชาญฉลาดของอาจารย์ทีเดียว

          นั่นเป็นส่วนของการบริหารจัดการผู้เข้าร่วมจำนวนมาก หมู่บ้านพลัมยังต้องบริหารจัดการเรื่องเครื่องเสียงที่นำไปเองด้วย ใครจะรู้ว่าแต่ละครั้งที่หลวงปู่ไปจัดกิจกรรมภาวนาที่ไหนก็ต้องพกพาเครื่องเสียงไปเองทั้งไมโครโฟน ลำโพง เครื่องขยายเสียง หูฟังสำหรับการแปลภาษาในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมเป็นชาวต่างประเทศ และยังต้องจัดหาอาสาสมัครมาเป็นล่ามแปลเป็นภาษาต่างๆ บางครั้งนักบวชในหมู่บ้านพลัมก็เป็นล่ามให้เพราะนักบวชในหมู่บ้านพลัมมาจากหลายชาติหลายภาษา และยังมีการบันทึกวิดีโอ บันทึกภาพนิ่ง เหล่านี้เป็นหน้าที่ของนักบวชในหมู่บ้านพลัมจัดการเองทั้งสิ้น

          ถามว่าทำไมต้องมีเครื่องเสียงไปเอง เพราะหลวงปู่ให้ความสำคัญกับการฟังมาก ธรรมะดีแต่ถ้าเครื่องเสียงไม่ดีการบรรยายธรรมะก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง ในเมื่องานหลักของหมู่บ้านพลัมคือการเผยแพร่ธรรมะ การมีครื่องเสียงไปเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น เหมือนกับวงดนตรีที่ต้องการให้คนฟังประทับใจก็ต้องมีเครื่องเสียงที่มีคุณภาพ ทั้งหมดคือความหมายของ สังฆะ คือการทำงานเป็นทีมร่วมกัน


กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
          แนวทางการปฏิบัติธรรมของหมู่บ้านพลัมอีกอันหนึ่งคือต้องการให้ผู้ปฏิบัติกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง คำว่ากลับไปเป็นเด็กคือกลับไปสู่ความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ไม่เสแสร้ง ไม่มายา

          ตอนที่เราเป็นเด็กเราดีใจเราก็หัวเราะออกมาดังๆ เราเสียใจเราก็ร้องไห้มีน้ำตาไหลออกมา แต่เมื่อเราโตขึ้นเราถูกความเป็นผู้ใหญ่กดทับความรู้สึกบริสุทธิ์นี้ไว้ เราถูกความมีหน้ามีตากดทับไว้ เราถูกหน้าที่การงานความรับผิดชอบกดทับไว้ ทำให้บางครั้งเราดีใจมากๆ เราก็แสดงออกมาไม่ได้ บางครั้งเราเสียใจจนอยากร้องไห้เราก็ไม่สามารถทำได้ เพราะคนรอบข้างจะบอกกับเราว่า โตแล้วยังร้องไห้อีก’ 

          แต่สำหรับหมู่บ้านพลัมแล้ว เราดีใจเราก็หัวเราะออกมาดังๆ ได้ เราเสียใจเราก็ร้องไห้ได้ นักบวชในหมู่บ้านพลัมทั้งชายหญิงร้องไห้เป็นกันทุกรูป เพราะทุกคนเรียนรู้จากหลวงปู่ว่าเราไม่ควรเสแสร้งกับอารมณ์ความรู้สึกของเรา เมื่อเราหัวเราะเราก็มีสติระลึกรู้ไปกับการหัวเราะ เมื่อเราร้องไห้เราก็มีสติไปกับการร้องไห้ เพราะเราตระหนักรู้ว่ามันเป็นเพียงภาวะชั่วคราว ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป การกดทับอารมณ์เหล่านั้นไว้มีแต่จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพจิต การได้ปลดปล่อยอารมณ์เหล่านั้นออกไปอย่างเหมาะสมและมีการระลึกรู้เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง.           

.