วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ที่นี่หมู่บ้านพลัมไม่สนใจของขลัง (ตอน ๒ ตอนจบ)


ตอนจบ  "ภาวนากับก้อนกรวด"
พระชาย วรธัมโม / เรื่อง,ภาพ                    คมชัดลึก   พฤหัสบดี  9  พฤษภาคม  2556


 

ทำงานกับลมหายใจ
            นักบวชหมู่บ้านพลัมนอกจากจะมาจากหลายชาติหลายภาษาแล้ว ยังมาจากหลายสาขาอาชีพ บางท่านเป็นสถาปนิก บางท่านเป็นนักจิตวิทยา บางท่านเป็นบุรุษพยาบาล บางท่านเป็นเจ้าของกิจการ หลายท่านมีเงินเดือนสูงไม่ใช่บุคคลว่างงานหรือบุคคลไร้อาชีพ แต่ทุกท่านสมัครใจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมาเป็นนักบวชแล้วหันมา ทำงานกับลมหายใจแทนที่จะทำงานเพื่อเงิน

          การทำงานกับลมหายใจของนักบวชหมู่บ้านพลัมเป็นการทำงานที่ไม่มีเงินเดือนให้ (มีเพียงเงินติดกระเป๋าจากสังฆะให้ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น) สิ่งที่นักบวชหมู่บ้านพลัมต้องทำงานให้กับสังฆะคือการใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่กับลมหายใจเข้าออก ไม่ว่าอดีตท่านจะเคยประกอบอาชีพอะไรมา แต่อาชีพใหม่ของท่านเวลานี้คือการอยู่กับลมหายใจ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ไม่ว่าจะทำสิ่งใดในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดคือการใช้ชีวิตอยู่กับลมหายใจตลอดเวลา ยิ่งอยู่กับลมหายใจได้นานเท่าไรสติก็ยิ่งมีการต่อเนื่องมากขึ้นเท่านั้น นี่คือการทำงานกับลมหายใจ

          ทุกครั้งที่เสียงระฆังดังขึ้นนั่นคือสัญญาณให้นักบวชและผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านอยู่นิ่งๆ แล้วตามความรู้ตัวทั่วพร้อม อยู่กับลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้งก่อนจะเคลื่อนไหวกายทำสิ่งอื่นต่อไปตามปกติ นี่เป็นสิ่งที่อยู่ในการปฏิบัติภาวนาทุกครั้งของหมู่บ้านพลัมจนเรียกได้ว่านี่คือเอกลักษณ์ของสำนักปฏิบัติธรรมสำนักนี้ ไม่ว่าเสียงระฆังจะดังขึ้นเมื่อไรก็ตามทุกคนต้องหยุดดูลมหายใจตัวเองทุกครั้ง




    วงสนทนากลุ่มย่อยเรื่อง เทคนิคการฝึกสมาธิสำหรับเด็กๆ ผู้เข้าร่วมประมาณ ๓๕ ท่าน



ภาวนากับก้อนกรวด
            ค่ำวันที่ ๔ ของการภาวนามีการแบ่งกลุ่มการเรียนรู้ออกเป็น ๑๑ กลุ่มย่อยให้เลือกตั้งแต่ ๑) การมีสติในชีวิตประจำวัน ๒) การสร้างกลุ่มเพื่อการปฏิบัติธรรม ๓) การแปรเปลี่ยนความตึงเครียดและความกดดันในที่ทำงาน ๔) การฟังอย่างลึกซึ้งและการสื่อสารด้วยความกรุณา ๕) การบ่มเพาะความเบิกบานและความสุขในชีวิตประจำวัน ๖) การเอาชนะความกลัวในการพลัดพรากและการสูญเสีย ๗) เทคนิคการฝึกสมาธิสำหรับเด็กๆ  ๘) วิธีนำการผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ ๙) การภาวนาด้วยเพลงและเกมสำหรับเด็กทุกวัย ๑๐) การช่วยเหลือเด็กให้สามารถดูแลอารมณ์ที่รุนแรง และ ๑๑) การเริ่มต้นใหม่

          แต่ละกลุ่มมีพระภิกษุภิกษุณีเข้าไปเป็นผู้นำกระบวนการกลุ่มโดยใช้วิธีแบ่งปันการเล่าประสบการณ์ว่าใครมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นอย่างไรบ้าง

          ผู้เขียนเลือกหัวข้อ เทคนิคการฝึกสมาธิสำหรับเด็กๆมีผู้นำกลุ่มเป็นภิกษุณี ท่านได้เล่าถึงเทคนิควิธีการ ภาวนากับก้อนกรวด ที่เคยทำกับเด็กเล็กๆ ให้ฟังว่า 

ก่อนอื่นให้เราพาเด็กไปเดินเล่นนอกบ้านแล้วบอกกับเด็กว่าเรามีเกมสนุกๆ จะให้เล่นโดยให้เด็กเก็บก้อนกรวดมา ๔ ก้อน ถ้าไม่มีก้อนกรวดอาจจะเป็นอะไรก็ได้เช่น ใบไม้ ลูกไม้ ให้ได้จำนวน ๔ ชิ้น จากนั้นก็หาที่นั่งที่สะดวกทำกิจกรรมกัน
 
เราให้เด็กนั่งลงกับพื้นหรือนั่งบนเก้าอี้ ให้เด็กแบมือขวาออก นำก้อนกรวดวางที่มือเด็กเป็นเม็ดที่ ๑ แล้วบอกกับเด็กให้หลับตาพร้อมพูดนำเด็กให้ระลึกว่า ลมหายใจต่อไปนี้เปรียบเหมือนดอกไม้ที่มีความสดชื่น แล้วให้เด็กนับลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้ง จากนั้นให้เด็กลืมตาแล้วหยิบก้อนกรวดออกวางไว้บนพื้น

          เราวางก้อนกรวดเม็ดที่ ๒ ลงบนฝ่ามือของเด็ก ให้เด็กหลับตาพร้อมพูดนำเด็กให้ระลึกว่า ลมหายใจต่อไปนี้เปรียบเหมือนภูเขาที่มั่นคงแข็งแรง แล้วให้เด็กนับลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้ง จากนั้นให้เด็กลืมตาแล้วหยิบก้อนกรวดออกวางไว้บนพื้น

          เราวางก้อนกรวดเม็ดที่ ๓ ลงบนฝ่ามือของเด็ก ให้เด็กหลับตาพร้อมพูดนำเด็กให้ระลึกว่า ลมหายใจต่อไปนี้เปรียบเหมือนสายน้ำที่ฉ่ำเย็น แล้วให้เด็กนับลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้ง จากนั้นให้เด็กลืมตาแล้วหยิบก้อนกรวดออกวางไว้บนพื้น

เราวางก้อนกรวดเม็ดที่ ๔ ลงบนฝ่ามือของเด็ก ให้เด็กหลับตาพร้อมพูดนำเด็กให้ระลึกว่า ลมหายใจต่อไปนี้เปรียบเหมือนท้องฟ้าที่ว่างเปล่า แล้วให้เด็กนับลมหายใจเข้าออก ๓ ครั้ง จากนั้นให้เด็กลืมตาแล้วหยิบก้อนกรวดออกวางไว้บนพื้น การภาวนาจบลง จากนั้นให้ถามเด็กว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง หรือได้ประสบการณ์อะไรที่น่าสนใจระหว่างที่หลับตานับลมหายใจ






คำตอบของเด็กไม่จำเป็นต้องมีความหมายสูงส่ง เพราะคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่จะทำให้เด็กได้เปิดเผยจินตนาการของตนเอง และคำถามได้ทำหน้าที่เป็นตัวสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับเด็กที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการพูดคุยถามความรู้สึกกัน การภาวนากับก้อนกรวดเป็นกุศโลบายให้เด็กๆ ได้รู้จักลมหายใจของตัวเองตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนไปจนถึงเด็กชั้นประถม เด็กวัยนี้ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการทำสมาธิคืออะไร เพราะเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาที่จะทำสมาธิ อย่างน้อยการให้เขาได้หลับตาสูดลมหายใจเข้าออกแล้วระลึกถึงธรรมชาติรอบตัว เช่น ดอกไม้ ภูเขา สายน้ำ ท้องฟ้า ย่อมบ่มเพาะให้เขาเข้าใจธรรมชาติในลมหายใจของเขามากขึ้นว่ามีลักษณะผ่อนคลายอย่างไร

          แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงเทคนิควิธี ยังไม่สำคัญเท่ากับความเมตตา กรุณาและการไม่ใช้อำนาจที่เราควรมีให้กับเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองมักตั้งความคาดหวังกับเด็กไว้สูงและใช้อำนาจจนเด็กไม่มีความสุข การเลี้ยงดูเด็กที่ดีคือการมีความเมตตา กรุณา ฝึกฝนที่จะไม่ใช้อำนาจกับเด็กๆ เปิดโอกาสให้เด็กเติบโตผ่านความคิดและจินตนาการของเขาเอง เมื่อนั้นเด็กก็จะมีความสุข ผู้ใหญ่ก็ได้ปฏิบัติธรรมดูแลจิตใจตนเองไปด้วย พระภิกษุณีสรุปในตอนท้าย


รับศีลวันสุดท้ายของการภาวนา
            เป็นธรรมเนียมของการภาวนาของหมู่บ้านพลัมที่สนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติได้เกิดความต่อเนื่องไปกับการปฏิบัติ จึงสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติมีการสมาทานรับข้อฝึกอบรมสติ ๕ ประการ หรือศีล ๕ ไปปฏิบัติต่ออย่างเป็นกิจจะลักษณะ สังเกตว่าเป็นการสมาทานศีลในวันสุดท้ายของการปฏิบัติแทนที่จะเป็นวันแรก และยังเป็นการเปิดโอกาสให้สมาทานตามความสมัครใจไม่ใช่การบังคับ มีการมอบบัตรแสดงตนยืนยันการปฏิบัติมั่นคงในข้อฝึกอบรมสติ ๕ ประการให้กับผู้สมาทานไว้เป็นหลักฐานด้วย

          หมู่บ้านพลัมใช้หลักการนี้เพราะถือว่าการปฏิบัติธรรมไม่มีใครบังคับใครได้ คนๆ นั้นต้องพร้อมจะปฏิบัติด้วยตนเอง การสมาทานศีล ๕ จึงไม่ใช่สิ่งที่จะมาสมาทานกันบ่อยๆ พร่ำเพรื่อ จะทำบุญหรือถวายสังฆทานก็สมาทานศีลกันทีนึง รับศีลไปแล้วก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติแต่วางกองไว้ตรงนั้น นั่นไม่ใช่ลักษณะของหมู่บ้านพลัม เพราะการปฏิบัติศีล ๕ ต้องมีความจริงใจ อย่างน้อยการมาร่วมภาวนากับหมู่บ้านพลัมก็ทำให้หลายคนหันมาตระหนักรู้และปฏิบัติศีล ๕ กันมากขึ้น 

          ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นแนวทางและรูปแบบการปฏิบัติภาวนาของหมู่บ้านพลัมซึ่งได้ประยุกต์คำสอนในพุทธศาสนาไปสู่ความเรียบง่ายในชีวิตประจำวัน ไม่มอมเมาด้วยเครื่องรางของขลังแต่ลัดตรงสู่การปฏิบัติจริงๆ  ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้เขียนอาจจะไม่ได้พูดถึง หากคุณผู้อ่านอยากรู้มากกว่านี้มีทางเดียวคือต้องไปปฏิบัติกับหมู่บ้านพลัมด้วยตนเอง แล้วจะรู้ว่าหมู่บ้านพลัมไม่สนใจของขลังจริงๆ.  

 


.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น