วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จิตวิญญาณผู้หญิง ความจริงเหนือศาสนา


พระชาย  วรธัมโม                 คมชัดลึก อังคาร  5  มีนาคม  2556




             ๕  มีนาคมเป็นวันสตรีสากลทำให้นึกถึงครั้งหนึ่งเมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว เพศหญิงเคยได้รับการเคารพบูชาในฐานะเทพีแห่งการให้กำเนิดและความอุดมสมบูรณ์

            มนุษย์มีวิวัฒนาการและประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาแล้วเป็นเวลา ๕ ล้านปี หลักฐานที่บ่งบอกว่ามนุษย์อยู่บนโลกใบนี้มาช้านานมากที่สุดคือ ถ้ำลาสโกซ์ อยู่ในประเทศอังกฤษ เป็นถ้ำที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังถึง ๒,๐๐๐ ภาพ นักโบราณคดีวิเคราะห์ว่าภาพเหล่านี้มีอายุอยู่ที่ ๑๗,๐๐๐ ปีทีเดียว เราเรียกช่วงเวลานั้นว่า ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นยุคที่มนุษย์ยังไม่รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ ช่วงเวลานั้นมนุษย์ยังไม่มีศาสนา ศาสนาเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา

            ในเมื่อศาสนายังไม่ถือกำเนิดขึ้นมา สิ่งเคารพบูชาสูงสุดของมนุษย์ในยุคสมัยนั้นจึงเป็นธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์ที่มาในรูปของ เทพี หรือ เทพผู้หญิง (Mother Goddess) วันนี้เราจะย้อนกลับไปศึกษาความเชื่อของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ว่าพวกเขาคิดหรือเชื่ออะไรในการดำรงอยู่ของชีวิต

            ...................................................................

เมื่อประมาณ 5 ล้านปีที่แล้วหลังจากที่มนุษย์วิวัฒนาการจากการใช้ชีวิตบนต้นไม้ด้วยการลงมาอยู่บนพื้นดิน มนุษย์ก็ใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน อยู่ไม่เป็นที่ ต่อมาจึงเริ่มปักหลักอยู่เป็นที่เป็นทาง มีการเข้าไปอาศัยอยู่ในถ้ำ แล้วต่อมามนุษย์ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง 

เมื่อมนุษย์รู้จักสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง มนุษย์ก็เริ่มรู้จักทำการเพาะปลูก เพศชายออกไปล่าเหยื่อในขณะที่เพศหญิงเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรกรรมด้วยการนำเมล็ดพันธุ์ฝังไว้ใต้ดินรอวันแตกหน่องอกงาม นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มนุษย์หันมาให้ความเคารพบูชาจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติซึ่งอยู่ในรูปของ เทพผู้หญิงผู้ให้กำเนิดความอุดมสมบูรณ์แห่งพืชพรรณธัญญาหาร

มนุษย์ยุคโบราณปั้นรูปเคารพจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ให้อยู่ในรูปร่างของเพศหญิง มีเต้านม มีสรีระอ้วนท้วนสมบูรณ์ มีเครื่องเพศเด่นชัด  คนโบราณให้ความยกย่องเพศหญิงว่าเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ผิดกับสมัยนี้ที่มองเพศหญิงว่าเป็นเพียงวัตถุทางเพศ คนยุคปัจจุบันมองเพศหญิงว่ามีคุณสมบัติที่ด้อยกว่าเพศชาย บางทีคนโบราณอาจมีจิตใจสูงส่งกว่าคนในยุคปัจจุบันก็ได้ถึงแม้ยุคโบราณจะยังไม่มีศาสนาเกิดขึ้น อีกทั้งความอ้วนก็ไม่ได้ถูกมองว่าน่าเกลียด แต่ความอ้วนหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ที่ช่วยเหลือมนุษย์ให้รอดพ้นจากความอดอยาก

อวัยวะเพศหญิงคืออวัยวะที่ให้กำเนิดทารกถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการก่อกำเนิด  
เต้านมเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งอาหารเมื่อทรวงอกของแม่ทำหน้าที่ผลิตน้ำนมให้ลูกดื่มกิน



 รูปปั้นเทพผู้หญิงที่มีชื่อเสียง "วีนัสแห่งวิเลนดอร์ฟ"  มีอายุ ๒๗,๐๐๐ ปี แกะจากหินปูน พบบริเวณลุ่มแม่น้ำดานูบในทวีปยุโรป วีนัสแห่งวิเลนดอร์ฟ มีนมและเครื่องเพศเด่นชัดหมายถึงการให้กำเนิดและความอุดมสมบูรณ์ เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย มีความสูง 4 นิ้วครึ่ง 



คนสมัยโบราณปั้นรูปเทพีผู้หญิงขนาดเล็กเป็นรูปเคารพด้วยความคาดหวังว่าความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติจะดลบันดาลให้พืชพรรณธัญญาหารที่เพาะปลูกมีความเจริญงอกงามให้ดอกออกผลเหมือนกับสรีระของเพศหญิงที่มีเต้านมคือแหล่งอาหารและอวัยวะเพศคือการให้กำเนิดชีวิต

มีการขุดพบรูปปั้นเทพีตามจุดต่างๆ ของโลก รูปปั้นเหล่านี้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กกระทัดรัดเท่าฝ่ามือหรือบางครั้งก็อาจใหญ่กว่านั้น มีลักษณะเปลือยเน้นที่รูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ ทำด้วยวัสดุง่ายๆ เช่นดินเผาหรือแกะสลักจากหิน ตัวอย่างเช่น รูปปั้นวีนัสแห่งวิเลนดอร์ฟในทวีปยุโรป รูปปั้นเทพีนั่งห้อยเท้าแห่งชาทาโฮยุคในประเทศตุรกี รูปปั้นเทพีดอกไม้แห่งคันธาระพบในปากีสถาน และยังพบรูปปั้นลักษณะคล้ายกันนี้อีกหลายแห่งกระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของโลก




เทพีดอกไม้แห่งคันธาระ ทำจากดินเผา บนศีรษะของเทพีเต็มไปด้วยดอกไม้ มีใบไม้พาดกลางลำตัวหมายถึงความอุดมสมบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร พบที่ปากีสถาน มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ ปี ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต สหราชอาณาจักร



          รูปปั้นเทพีเหล่านี้ถือเป็นรูปเคารพแห่งความอุดมสมบูรณ์ ยังไม่มีความหมายลึกซึ้งไปถึงระบบ ศีลธรรม ความดีความชั่ว เป็นเพียงรูปเคารพของความศรัทธาในพลังธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะดลบันดาลให้พืชพรรณธัญญาหารออกดอกออกผลอย่างอุดมสมบูรณ์ เพื่อมนุษย์จะได้มีอาหารบริโภครอดพ้นจากความอดอยาก

แม้บ้านเราจะมีอารยธรรมบ้านเชียง จ.อุดรธานี อายุ ๕,๐๐๐ ปี แหล่งอารยธรรมผาแต้ม จ.อุบลราชธานี อายุ ๔,๐๐๐ ปี  หรืออุทยานแห่งชาติออบหลวง จ.เชียงใหม่ อายุ ๘,๕๐๐ ปี แต่ยังไม่พบรูปปั้นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ในดินแดนแถบนี้ จะมีก็แต่การเคารพบูชา พระแม่ ปรากฏอยู่ในพิธีกรรมต่างๆ ที่สืบทอดกันมาช้านาน เช่น:



   เทพผู้หญิงทำจากดินเผา นั่งบนบัลลังก์ห้อยเท้า มีเสือสองตัวขนาบข้างแสดงถึงบริวารและความมีอำนาจ รูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ พบที่เมืองโบราณชาทาโฮยุค ประเทศตุรกี มีอายุประมาณ ๖,๐๐๐ ปี

   


ประเพณีลอยกระทงคือการบูชาพระแม่คงคา ประเพณีทำขวัญข้าวคือการบูชาพระแม่โพสพ หลังการทำบุญตักบาตรเรามีการกรวดน้ำลงดินฝากพระแม่ธรณีนำไปให้ดวงวิญญาณที่ล่วงลับ ในพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าผจญมาร พระแม่ธรณีได้บีบมวยผมให้น้ำไหลหลั่งออกมาช่วยพระพุทธองค์จากเหล่ามารที่มาผจญ จนมารเหล่านั้นต้องพ่ายแพ้ไป พระแม่ธรณีถือได้ว่าเป็นเทพีที่คอยสนับสนุนการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้ามาช้านานหลายพระองค์แล้วนับแต่อดีตกาลอันยาวไกล

แม้เราจะไม่พบหลักฐานรูปปั้นเทพีใดๆ ในดินแดนแถบนี้ แต่นี่คือการสืบทอดทางวัฒนธรรมความเชื่อเรื่อง เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยพิธีกรรมที่สืบทอดกันมายาวนานนับตั้งแต่ดินแดนแห่งนี้ยังไม่มีศาสนากำเนิดขึ้น จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าในอดีตกาลมนุษย์เรามีวัฒนธรรมการนับถือเทพผู้หญิงแห่งความอุดมสมบูรณ์อยู่ทั่วทุกมุมโลกทั้งแถบยุโรปและเอเชีย

ก่อนรับประทานข้าวในวันนี้ เราขอขอบคุณพระแม่โพสพที่ทำให้เราได้มีเมล็ดข้าวบริโภค ทำให้เราไม่อดอยาก เราขอขอบคุณพระแม่ธรณีที่มอบผืนดินอันอบอุ่นให้เราได้หลับนอนผ่อนพัก และยังมอบผืนดินให้เราได้เพาะปลูกพืชพรรณธัญญาหารอย่างอุดมสมบูรณ์  เราขอขอบคุณพระแม่คงคาที่คอยหล่อเลี้ยงเราและโลกให้ฉ่ำเย็นด้วยหยดน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้ง 

เพราะ 'พระคุณแม่' มีเมตตากรุณาต่อมนุษย์จึงดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารให้มนุษย์ได้บริโภคใช้สอยมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้เพราะเป็นหนี้บุญคุณเทพีแห่งธรรมชาติ วันนี้ท่านยังคงทำหน้าที่แม้วันเวลาจะผ่านล่วงเลยมานานนับล้านปีมาแล้วก็ตาม

มนุษย์ควรฝึกฝนตนเองให้มีเมตตากรุณาเช่นเดียวกับท่านด้วยการมีเมตตากรุณากับมนุษย์ด้วยกันเองไม่ว่ามนุษย์นั้นจะเป็นชนเผ่าใด ผิวสีไหน เป็นชนชาติใด พูดภาษาใด มีความแตกต่างทางความคิดกันเพียงไหน มนุษย์ก็มิควรรังเกียจกดขี่ข่มเหงกัน เพื่อเราจะได้อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ด้วยความสงบสุข เช่นเดียวกับ 'แม่' ก็มีเมตตากรุณากับมนุษย์ทุกหมู่เหล่า มอบความอุดมสมบูรณ์ให้กับมนุษย์ทุกซีกโลกมาช้านานแล้ว.


.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น